อังกฤษ ควรสำเหนียกว่า ตนเองไม่ใช่มหาอำนาจสำคัญอะไร ในสายตาของชาวจีน

“นายกฯคาเมรอน” ถูก “จีน” ทวงสมบัติที่ปล้นไป แถมสื่อมังกรเย้ย “อังกฤษ” ไม่ใช่ “มหาอำนาจ”



ระหว่างการเดินทางเยือนจีน 3 วันคราวนี้ นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ได้ไปเยือนนครเซี่ยงไฮ้ และไปพูดที่มหาวิทยาลัยเจียวถง ของมหานครของแดนมังกรแห่งนั้นเมื่อวันอังคาร (3 ธ.ค.) อันเป็นวันเดียวกับที่หนังสือพิมพ์สำคัญของจีนออกบทบรรณาธิการระบุว่า อังกฤษควรยอมรับว่า ตนเองไม่ใช่มหาอำนาจสำคัญของโลก แต่ “เป็นเพียงชาติยุโรปยุคเก่าซึ่งเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและการศึกษา” เท่านั้น


  เอเอฟพี – นายกฯ เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษตกอยู่ในอาการไปไม่เป็น หลังถูกกลุ่มคลังสมองจีนทวงถามผ่านเว็บเพจบนซินล่าง เว่ยโป๋ ว่า เมื่อไรจะคืนศิลปะวัตถุที่กองทัพอังกฤษปล้นไปจากจีนตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มิหนำซ้ำบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชั้นนำยังตอกหน้าว่า ปักกิ่งจะไม่หลงคารมคาเมรอนที่ปีที่แล้วยอมพบปะเจรจากับทะไลลามะเด็ดขาด
      
           คาเมรอน เดินทางสู่เมืองเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางภาคตะวันตกของจีนในวันนี้ (4 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันที่ 3 และวันสุดท้ายในการเยือนแดนมังกร โดยเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษระบุว่า คณะตัวแทนการค้าซึ่งติดตามคาเมรอนมาในเที่ยวนี้ นับเป็นคณะใหญ่ที่สุดเท่าที่อังกฤษเคยขนมาแดนมังกร โดยประกอบด้วยนักธุรกิจกว่า 100 คน ซึ่งรวมถึงผู้บริหารสูงสุดของจากัวร์ แลนด์ โรเวอร์, โรลสรอยซ์, โรยัล ดัตช์ เชลล์ และประธานบริหารตลาดหุ้นลอนดอน เป็นต้น
      
           เจ้าหน้าที่อังกฤษเผยว่า ระหว่างการเยือนครั้งนี้มีการทำข้อตกลงมูลค่าถึง 9,200 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี คาเมรอนก็ถูกตอกหน้าอย่างแรงๆ ทั้งจากสื่อของรัฐจีนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตฝีปากกล้า
      
           ทั้งนี้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (29 พ.ย.) คาเมรอนได้เปิดเพจในซินล่าง เว่ยโป๋ ซึ่งก็คือทวิตเตอร์เวอร์ชันภาษาจีน และปรากฏว่านับจนถึงวันพุธ สามารถดึงดูดผู้ติดตามได้กว่า 230,000 คน
      
           ผู้นำแดนสิงโตคำรามเชิญชวนพลเมืองชาวเน็ตจีนซักถามข้อสงสัย โดยบอกว่า ตั้งใจจะตอบคำถามเหล่านั้นระหว่างที่เยือนจีน
      
           ปรากฏว่าหนึ่งในคำถามยอดฮิต มาจากทีมคลังสมองชื่อดังแดนมังกรคือ ศูนย์เพื่อการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีนที่บริหารโดยอดีตรองนายกรัฐมนตรี เจิง เผยเอียน และมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำเป็นสมาชิก
      
           “เมื่อไรอังกฤษจะคืนศิลปะวัตถุที่ปล้นไป?” ทีมคลังสมองจีนอ้างอิงถึงศิลปวัตถุ 23,000 รายการที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อังกฤษ “บริติช มิวเซียม” ในเวลานี้ ซึ่งกองทัพอังกฤษที่เข้าร่วมกับกองกำลังนานาชาติปล้นเอาไปจากจีน ระหว่างการปราบ “กบฏนักมวย” ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยกบฏคราวนั้นเป็นการลุกฮือของชาวจีนเพื่อต่อต้านการรุกล้ำของพวกมหาอำนาจจักรวรรดินิยม
      
           สำหรับคนจีน การปล้นพระราชวังต้องห้าม รวมถึงการทำลายพระราชวังฤดูร้อน “หยวนหมิงหยวน” ในปักกิ่งในปี 1860 ซึ่งแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่อังกฤษผู้หนึ่งยังเขียนบรรยายไว้ว่า เป็นความทุกข์ระทมที่ต้องเผาพระราชวังอันโอ่อ่าสง่างามแห่งนั้น ยังคงเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สะท้อนภาพการที่จีนในอดีตเคยถูกมหาอำนาจต่างชาติปล้นสะดมและแบ่งพื้นที่ยึดครอง
      
           แม้กระทั่งขณะนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังใช้ลัทธิชาตินิยมเพื่อเสริมสร้างความนิยมที่มีต่อพรรค
      
           ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับจีนในช่วงหลังๆ มานี้นั้น ปักกิ่งรู้สึกไม่พอใจอย่างมากที่เมื่อปีที่แล้วคาเมรอนพบกับทะไลลามะ ประมุขทางจิตวิญญาณของทิเบต ซึ่งจีนกล่าวหาว่าเป็นนักแบ่งแยกดินแดนที่มีอันตรายยิ่ง และเรื่องนี้ก็ทำให้สัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศเย็นชาถึงขีดสุด
      
           ดังนั้น ในระหว่างการเยือนจีนครั้งนี้ที่อังกฤษระบุว่า เป็นภารกิจทางการค้า จึงกลับถูกมองอย่างกว้างขวางว่า เป็นความพยายามเยียวยาความสัมพันธ์กับจีน
      
           กระนั้น หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ได้กล่าวโจมตีคาเมรอนชนิดไม่ไว้หน้า เอาไว้ในบทบรรณาธิการฉบับวันอังคาร (3) ที่พาดหัวว่า “จีนจะไม่หลงเชื่อความจริงใจของคาเมรอน” โดยบอกว่า อังกฤษควรสำเหนียกว่า ตนเองไม่ใช่มหาอำนาจสำคัญอะไรในสายตาของชาวจีน หากแต่ “เป็นเพียงชาติยุโรปยุคเก่าซึ่งเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและการศึกษา” เท่านั้น
      
           บทบรรณาธิการนี้ย้ำว่า การเยือนจีนของคาเมรอนคราวนี้ “แทบไม่สามารถที่จะยุติความขัดแย้งระหว่างจีนกับอังกฤษ” และ “ปักกิ่งจำเป็นต้องเร่งฝีก้าวในการแปรความเข้มแข็งของตนให้กลายเป็นทรัพยากรทางการทูต และทำให้ลอนดอนต้องชำระราคาจากการแทรกแซงจุ้นจ้านเข้ามาในผลประโยชน์ของจีน”

ขอบคุณข่าวจาก www.manager.co.th
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่