สำหรับคนที่ต้องการแรงบันดาลใจ

20 สุดยอดคนหัวใจแกร่ง ปลุกพลัง แรงบันดาลใจให้สังคม



ในรอบปี 2555 ที่ผ่านมา นิตยสารหลายเล่ม ตลอดจนรายการโทรทัศน์หลายช่อง ได้นำเสนอเรื่องราวของบุคคลต่าง ๆ ที่มีหลักการในการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องของความมีคุณธรรม การอุทิศตัวเพื่อสังคม ความอดทนต่อความยากลำบากเพื่อต่อสู้กับอุปสรรคนานับประการ ชีวิตของใครหลาย ๆ คนที่ถูกถ่ายทอดออกมาสามารถเป็นแบบอย่างในความพยายาม และความมุ่งมั่นที่จะนำพาชีวิตของตนเองและผู้อื่นให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างน่าสนใจ

อย่างเช่นเรื่องราวของทั้ง 20 คนหัวใจแกร่งต่อไปนี้ หากใครกำลังท้อแท้ เบื่อหน่ายกับปัญหาที่ถาโถมอยู่รอบตัว ลองเปิดใจอ่านเรื่องราวของพวกเขา แล้วคุณจะได้รับกำลังใจดี ๆ ที่จะช่วยปลุกพลังคุณขึ้นมาอีกครั้ง หากเรายึดมั่นและศรัทธาในสิ่งดี ๆ ที่เรากำลังทำ และก้าวต่อไปอย่างมุ่งมั่น เหมือนกับพวกเขาเหล่านี้....


พัทธยา เทศทอง


รุ่งโรจน์ ไทยนิยม





นักกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ทีมชาติไทย

แม้ร่างกายจะเป็นอุปสรรค แต่หัวใจของเหล่านักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทยนั้นกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น อย่างที่พวกเขาพิสูจน์ให้คนไทยประจักษ์ในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ที่ประเทศอังกฤษ ว่า  พวกเขาสามารถทำได้จริงๆ จากผลงานอันยอดเยี่ยมที่กวาดมาถึง 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง จาก พัทธยา เทศทอง และทีมบ็อคเซีย, รุ่งโรจน์ ไทยนิยม, สายสุนีย์ จ๊ะนะ, ประวัติ วะโฮรัมย์, สายชล คนเจน, โสภา อินทเสน และ ศุภชัย โกยทรัพย์ ขณะที่นักกีฬาคนอื่น ๆ ที่แม้จะไม่ได้เหรียญรางวัลติดมือกลับมา แต่การที่พวกเขาแต่ละคนต้องฝึกฝนอย่างหนักหน่วงเหนือกว่าคนร่างกายครบ 32 กว่าจะได้ก้าวออกไปต่อสู้ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ก็ทำให้คนไทยภาคภูมิใจ และพร้อมจะปรบมือส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจพวกเขาตลอดไป





สามารถ สุทะ...คุณครูผู้เสียสละแห่งโรงเรียนเรือนแพ  

ไม่บ่อยนักที่จะเห็นใครคนสักคนยอมทิ้งความสุขสบายในเมือง เข้าไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสั่งสอนวิชาความรู้ให้กับอนาคตของชาติ แต่ "สามารถ สุทะ" ก็คือคน ๆ หนึ่งที่คิดเช่นนั้น ทุก ๆ วัน ครูสามารถจะใช้เวลาเกือบ ๆ 7 ชั่วโมง ในการขับรถและพายเรือเข้าไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าแก่งก้อ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง สถานที่ตั้งของ "โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร ห้องเรียนสาขาเรือนแพ" กระท่อมไม้ไผ่กลางน้ำแม่ปิง เพื่อขัดเกลาลูกศิษย์ตัวน้อย ๆ ให้มีวิชาความรู้ติดตัว

ตลอด 24 ชั่วโมง ครูสามารถซึ่งเป็นทั้ง "ครู", "ผู้ปกครอง" หรือแม้กระทั่ง "ภารโรง" ของโรงเรียนจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันกับเด็ก ๆ ที่โรงเรียนแห่งนี้ โดยสอนทั้งวิชาการ และกิจกรรมฝึกทักษะชีวิต เพื่อให้เด็ก ๆ ช่วยเหลือตัวเองได้ในอนาคต ซึ่งแรงผลักดันที่ทำให้ ครูสามารถ อุทิศชีวิตและทุ่มเทกายใจเพื่อเด็ก ๆ เหล่านี้ ก็เป็นเพราะในอดีตเขาเคยขาดโอกาสเหมือนกับเด็ก ๆ เขาจึงอยากจะเติมเต็มโอกาสให้กับคนอื่นด้วยเช่นกัน ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูผู้ให้อย่างแท้จริง

"ผมมองตัวเองว่า ผมทำงานที่นี่ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นมืออาชีพ แต่ผมเต็มที่ในสิ่งที่ผมทำ มุ่งมั่นเพื่อเด็ก มุ่งมั่นที่จะเปิดโอกาสให้เด็กมากกว่าที่อยากจะเป็นครูมืออาชีพ" ครูสามารถ ยืนยัน





ชอบ รุ่งเรือง สุดยอดโค้ชภารโรงวอลเลย์บอล

จากนักการภารโรงธรรมดาคนหนึ่งของโรงเรียนบ้านไทยสันติสุข ในแถบชายแดนจังหวัดสุรินทร์..."ชอบ รุ่งเรือง" ได้ผันตัวมาเป็นโค้ชสอนวอลเลย์บอลให้กับเด็ก ๆ ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะเห็นเด็กนักเรียนบ้านไทยสันติสุขแข่งขันกีฬาไม่แพ้เด็กโรงเรียนอื่นอีกต่อไป นั่นจึงทำให้เวลาส่วนใหญ่ของโค้ชชอบหมดไปกับการฝึกสอนวอลเลย์บอลให้กับเด็ก ๆ และยังแบ่งเวลาตอนกลางคืนมาอ่านหนังสือเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของโค้ชชอบในช่วงแรกก็คือ เขาไม่ได้มีความรู้เรื่องวอลเลย์บอลเลย แต่ก็หมั่นเรียนรู้ด้วยใจรักไปพร้อมกับเด็ก ๆ และได้ทหารพรานที่มาประจำการแถบชายแดนมาร่วมฝึกสอน ทำให้โค้ชชอบจดจำเก็บเกี่ยวเอาความรู้ต่าง ๆ มาปรับใช้ จนกระทั่งสามารถสอนให้เด็กนักเรียนมีความเป็นเลิศทางกีฬาวอลเลย์บอล จากโรงเรียนที่ได้อันดับบ๊วยในการแข่งขันระดับโรงเรียน ก็สามารถไต่เต้าขึ้นมาจนกวาดรางวัลนับไม่ถ้วน ทั้งแชมป์ตำบล แชมป์อำเภอ แชมป์จังหวัด และแชมป์ระดับภาค สร้างความภูมิใจให้กับตัวเอง และโรงเรียนอย่างที่สุด



ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ อดีตเด็กเร่ร่อน ดิ้นรนจนเรียนจบดอกเตอร์

ใครจะคิดบ้างว่า เด็กเร่ร่อนที่เที่ยวขอข้าวชาวบ้านกิน ประทังชีพด้วยเก็บขยะขายมาตลอดชีวิตในวัยเด็กจะสามารถดิ้นรนต่อสู้กับอดีตที่แสนโหดร้ายของตัวเองจนกลายมาเป็น "ด็อกเตอร์" อย่างเช่น "ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ" อาจารย์ภาควิชาวิศวอุตสาหการ ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ชีวิตในวัยเด็กของ ดร.กุลชาติ ราวกับนิยายน้ำเน่าที่ผู้ประพันธ์ฝีมือดีบรรจงเขียนขึ้น หากแต่ทุกอย่างคือโลกแห่งความจริง ดร.กุลชาติ ในวัยเด็กไม่ได้เป็นคนรักการเรียนเลยแม้แต่นิดเดียว แต่เพราะทนเห็นแม่ลำบากมาตลอดชีวิต เขาจึงตัดสินใจ "เรียน" เพื่อหวังให้การศึกษาช่วยยกระดับของพวกเขาสองแม่ลูกให้ดีขึ้น และความตั้งใจจริงของ ดร.กุลชาติ ก็ทำให้เขาขวนขวายจนคว้าปริญญาเอกจากประเทศญี่ปุ่นมาได้สำเร็จ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณแม่ของ ดร.กุลชาติ คือคนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้อาจารย์หนุ่มคนนี้เป็นอย่างทุกวันนี้ ด้วยคำสอนที่พร่ำบอกเสมอ ๆ ว่า "คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้" ยังคงเป็นคำที่ ดร.กุลชาติ จดจำไว้ในใจเสมอมา และนี่ไม่ใช่คำพูดที่เกินความจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะจากต้นทุนชีวิตติดลบที่ต้องเกิดมากลายเป็นเด็กเร่ร่อน ขออาหารคนอื่นกินประทังหิวไปวัน ๆ แต่มาถึงวันหนึ่ง เขาตัดสินใจเลือกเดินในเส้นทางที่จะเป็นคนดี และใฝ่เรียน จนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด





ชมพู่ ภัทราวรรณ มิสวีลแชร์สาวนักสู้ ผู้ไม่ย่อท้อต่อร่างกายพิการ

เมื่อ 5 ปีก่อน ชมพู่ ภัทราวรรณ พานิชชา ในวัย 16 ปี ประสบอุบัติเหตุถูกรถสิบล้อชนขณะนั่งรถจักรยานยนต์ จนต้องสูญเสียขา ไม่สามารถเดินได้อีกต่อไป ทำให้สาวสวยที่กำลังจะมีอนาคตสดใสรู้สึกท้อแท้กับชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเอง จนแทบทำใจไม่ได้ แต่เมื่อเธอตั้งสติได้ เธอก็เข้าใจว่าแค่เดินไม่ได้ก็ไม่เห็นจะเป็นไร และไม่มีเหตุผลอะไรที่เธอจะต้องมานั่งท้อแท้กับโชคชะตาที่เกิดขึ้น เพราะเธอยังมีคนในครอบครัวที่คอยให้กำลังใจอยู่ นับแต่นั้น ชมพู่ ก็ขอลุกขึ้นสู้กับชีวิตใหม่อีกครั้ง ด้วยการสอบเข้าไปเป็นนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เป็นลูกแม่โดมดังใจปรารถนา โดยหวังจะจบออกมาทำงานพัฒนาสวัสดิการของคนพิการ และประกาศให้คนในสังคมเปิดใจยอมรับและให้โอกาสกับคนพิการมากขึ้น

และเมื่อความพิการไม่ใช่ข้ออ้างในการเดินหน้าทำตามความฝัน เราจึงได้เห็น น้องชมพู่ ภัทราวรรณ พานิชชา ในวัย 21 ปี กล้าลุกขึ้นสู้กับตัวเองอีกครั้ง และความพยายามนั้นก็ส่งผลให้เธอสามารถคว้ามงกุฎ มิสวีลแชร์ ไทยแลนด์ 2012 (Miss Wheelchair Thailand 2012) มาเป็นรางวัลของชีวิต โดยสิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้จากตัวน้องชมพู่ก็คือ ความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บวกกับการมีทัศนคติเชิงบวก ทำให้ชีวิตของน้องชมพู่มีความสุขไม่แตกต่างจากคนทั่วไปเลย





ฟ้า ฟารีดา สาวบาร์ใจแม่พระ ผู้เป็นนางฟ้าของหมาจรจัด

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ "ฟ้า ฟารีดา เยาวะนิจ" สาวบาร์หาค่ำกินเช้าต้องรับผิดชอบดูแลสุนัขจรจัดกว่า 500 ชีวิตที่เป็นทั้งสุนัขเร่ร่อนบ้าง มีคนนำมาทิ้งไว้เธอบ้าง สุนัขได้รับบาดเจ็บบ้าง ทั้งที่เธอจะไม่เลือกรับภาระนี้ก็ได้ หากแต่หัวใจที่เต็มไปด้วยความเมตตา และร่ำรวยไปด้วยน้ำใจเรียกร้องให้เธอทำเช่นนี้

ทุกวันเธอจะตื่นแต่เช้าขึ้นมาทำความสะอาดสุนัข ทำความสะอาดกรง หาข้าวหาน้ำให้กิน จัดการดูแลทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่เธอจะทำได้ ก่อนจะออกไปทำงานในช่วงกลางคืน กลับเข้าบ้านก็ดึกดื่น เงินที่เธอได้ในแต่ละคืนไม่ใช่เงินจำนวนมากนัก ทำให้เธอต้องกู้หนี้ยืมเงินมาใช้จ่ายเป็นค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาลสุนัข และค่าใช้จ่ายอีกจิปาถะนับหมื่นบาท แต่เธอก็ยอมเพื่อให้สหายสี่ขาได้รอดตาย

"ณ ตอนนี้ เรามีชีวิตอยู่ ทำอะไรได้เราทำ เอาแค่วันนี้ให้ดีที่สุด วันนี้เราจะไปหาเงินยังไงให้เขาได้กิน วันนี้เราจะได้ทิปเท่าไหร่ เขาจะได้กินอะไรดี ๆ บ้าง ส่วนตัวเองไม่อะไรมาก แค่กินอิ่มแล้วมีงานทำ ไม่ต้องไปนอนอะไรมากเดี๋ยวก็สว่างแล้ว" นี่คือสิ่งที่นางฟ้าระลึกถึงอยู่เสมอ





ประสงค์ อุไรวรณ์ นายอำเภอท่าปลา ข้าราชการคนดีของแผ่นดิน

แม้จะย้ายมาประจำอยู่ที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ไม่นาน แต่เวลา 24 ชั่วโมงของ นายอำเภอประสงค์ อุไรวรณ์ ก็อุทิศให้กับชาวบ้านในทุกพื้นที่ที่เขารับผิดชอบ ด้วยการลงพื้นที่ทำงานอย่างจริงจัง ทั้งตรวจงาน ติดตามปัญหาที่ชาวบ้านร้องเรียนเข้ามา ช่วยทำฝาย ให้ความรู้กับชาวบ้าน ไม่ใช่เพียงแค่นั่งโต๊ะเซ็นเอกสารไปวัน ๆ แต่เป็นการทำงานในฐานะ "ข้าของแผ่นดิน" สมกับคำกล่าวว่า "บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน" อย่างแท้จริง

หลายคนอาจจะมองว่า คนเป็นถึงนายอำเภอไม่จำเป็นต้องออกมาลงมือลงแรงในหลาย ๆ เรื่องด้วยตัวเองขนาดนี้ แต่สำหรับนายอำเภอประสงค์ เขากลับมองว่า เกียรติและศักดิ์ศรีของนายอำเภอ คือ การที่ประชาชนยอมรับในตัวเขา หาใช่ตำแหน่งในชุดสีกากีไม่

"ผมว่าเกียรติของการเป็นนายอำเภอ คือการที่ประชาชนยอมรับจากตัวเราจริง ๆ จากการที่ตัวเราเป็นตัวเรา ไม่ใช่อำนาจตามกฎหมาย ตามตำแหน่งหน้าที่ ก็เหมือนกับที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านเคยกล่าวไว้ อำนาจไม่ได้อยู่ที่พระแสงศาสตรา แต่อยู่ที่ราษฎรยอมรับนับถือ ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ยั่งยืน และเป็นตัวตนที่แท้จริงของตำแหน่งนี้มากกว่า"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่