ย้อนอดีตเครื่องเล่นเกมพกพา HANDHELD 1989-2012

กระทู้สนทนา



นับตั้งแต่โลกเราได้รู้จักกับเกมพกพา หรือที่เรียกกันว่า "Handheld Game" อันหมายถึงเครื่องเล่นเกมที่สามารถพกไปเล่นที่ไหนก็ได้ มันปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2523 โดยเจ้าแรกที่ทำออกมาขายแล้วประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงก็คือนินเทนโด กับเครื่องเล่น Game & Watch ที่พัฒนามาจากไอเดียของคุณโยโคอิ กุนเปย์ ที่วันหนึ่งขึ้นรถไฟไปทำงานแล้วเหลือบเห็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่กำลังนั่งจิ้มเครื่องคิดเลขเล่นแก้เซ็ง จึงจุดประกายให้เขาเริ่มทำเครื่องเล่นเกมที่มีหน้าจอเป็น LCD เหมือนเครื่องคิดเลขเพื่อไว้ให้ผู้คนได้เล่นฆ่าเวลายามออกนอกบ้าน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มของตระกูลเกมพกพายี่ห้อนินเทนโดที่สานต่อมาจนถึงปัจจุบัน


แต่ว่า Handheld ที่เป็นเหมือนพลุหลากสีที่พุ่งทะยานขึ้นสู่ฟ้า ประกาศศักดาให้โลกได้รับรู้ถึงความน่าทึ่งของการเล่นเกมนั้นยังไม่ใช่ Game & Watch แต่ว่าเป็นทายาทรุ่นที่สองที่สืบทอดแนวทางต่อมา นั่นคือเจ้า GameBoy ที่ครั้งหนึ่งเคยครองใจเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลกทั้งๆที่มีหน้าจอแบบขาวดำเล็กนิดเดียว หากแต่ความสนุกและหลากหลายของมันกลับทำให้ได้รับความนิยมอย่างน่าทึ่ง

พอ GameBoy ฮิตติดตลาด จึงมีค่ายเกมหลายเจ้าที่พยายามทำเครื่องเล่นพกพาออกมาขายกันบ้าง แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีใครสามารถโค่นนินเทนโดให้ล้มจากอันดับหนึ่งลงไปได้ซักที ซึ่งศึกครั้งล่าสุดระหว่าง DS กับ PSP ผลจากยอดขายก็ออกมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า DS ชนะในด้านยอดขาย ส่วนศึกครั้งใหม่ที่กำลังขับเคี่ยวกันระหว่าง 3DS และ PSV ต้องมาดูกันว่าฝั่งไหนจะมีเกมระดับแม่เหล็กออกมาดึงดูดใจมากกว่ากัน ในโอกาสนี้เราจึงขอท้าวความย้อนหลังไปถึงเครื่องเล่นเกมพกพาที่เคยออกสู่ตลาดว่ามีชิ้นไหนที่น่าสนใจบ้าง






1989: Game Boy
เครื่องเล่นเกมขาวดำเครื่องนี้ถ้าดูจากประสิทธิภาพและการดีไซน์แล้วต้องเรียนตามตรงว่า แทบไม่มีอะไรดีซักอย่าง ทั้งระบบประมวลผลที่จุ๋มจิ๋มไม่สามารถแสดงผลกับเกมที่มีรายละเอียดมากๆได้ หน้าจอขาวดำก็มีความละเอียดที่ต่ำเนื่องจากเป็น LCD คุณภาพต่ำ มันสามารถแสดงเฉดสีโทนดำและเทาได้สี่ระดับ ซึ่งหลายคนคงจำได้ว่าจะมีปุ่มเลื่อนๆให้เราปรับความเข้มและความจางของจอ เวลาเล่นก็ต้องอยู่ในที่มีแสงไฟ ไม่งั้นจะมองไม่เห็นอะไรเลย จึงเป็นปัญหาเวลาที่เล่นเกมประเภทแอ็คชั่นลุยด่านซึ่งต้องใช้การกระโดดหรือหลบศัตรู


สาธยายมาตั้งเยอะมีแต่ข้อเสียที่ไม่น่าทำให้เครื่องขายออกได้  ซึ่งมันกลับกลายเป็นตรงกันข้ามกัน เพราะว่า Gameboy ใช้เทคโนโลยีราคาถูกจึงมีต้นทุนที่ไม่แพง ดังนั้นเครื่องจึงออกวางขายได้ในราคาที่คนทั่วไปยอมรับกัน ใครๆก็สามารถซื้อหาไปเล่นกันได้โดยที่ไม่รู้สึกว่ามันฟุ่มเฟือย ถ้าเทียบกับเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าอย่าง Atari Lynx หรือ GameGear ซึ่งขายในราคาที่โหดกว่า นักเล่นเกมต่างยอมเล่นเครื่องที่เป็นจอขาวดำราคาเยาว์แต่มีเกมให้เล่นเยอะ ทั้งมาริโอ, เซลด้า ฯลฯ แทนที่จะเล่นจอสีแต่เกมแพงและมีให้เลือกน้อย นี่จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้ GameBoy ผงาดขึ้นมายืนได้โดยที่ไม่แพ้ใคร และที่สำคัญคือมีเกม Tetris ที่ทำให้แม่ค้าในตลาดสดบ้านเราหันมาสนใจการเล่นเกมฆ่าเวลายามที่ไม่มีลูกค้ามาซื้อของด้วย อิอิ






1989: Lynx
เกมพกพาจากค่าย Atari ตัวนี้ตามหลัง GameBoy มาติดๆพร้อมทั้งใส่ spec เครื่องที่เหนือล้ำกว่าเพื่อกะมาข่มให้ตายสนิท หน้าจอสีสวยงามพร้อมไฟ backlight เล่นได้ทุกสถานที่ แถมแสดงกราฟิคระดับ 16 bits ซึ่งถือว่าสุดยอดที่สุดแล้วในสมัยนั้น ซ้ำยังออกแบบมาให้คนที่ถนัดซ้ายก็สามารถเล่นได้อย่างสนุกไม่แพ้คนถนัดขวา

ทุกอย่างดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบไปซะหมด เพราะถ้าเทียบกับแล้วไม่มีอะไรเลยที่ GameBoy จะสามารถสู้ได้ แต่ทว่าในความไฮเทคกลับมีข้อจำกัดที่พวกเขาลืมนึกถึงไป นั่นคือเครื่องยิ่งแรงก็ย่อมต้องใช้ต้นทุนในการผลิตที่แพงไปด้วย ดังนั้นราคาขายของ Lynx จึงสูงกว่า GameBoy ถึงสองเท่า รวมทั้งมีอีกปัญหาที่ถือเป็นข้อจำกัดอย่างใหญ่หลวงของเกมพกพาในสมัยนั้น นั่นคือเรื่องของแบตเตอรี่ที่ยังใช้ถ่านไฟฉายหลายๆก้อนมาเป็นพลังงาน (สมัยนั้นยังไม่นิยมการใช้แบตชาร์ทในตัว)

Lynx ถือว่าเป็นเครื่องเกมที่เขมือบแบตมูมมามจนน่ากลัว คุณต้องซื้อถ่าน AA ถึง 6 ก้อนเพื่อเล่นเกมได้เพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น ในขณะที่ GameBoy ใช้ถ่าน AA แค่ 4 ก้อนแต่สามารถเล่นได้หลายวัน ยังไม่นับในเรื่องความหลากหลายของเกมที่ฝั่งนินเทนโดกินขาดแบบไม่ต้องตัดสิน ดังนั้น Lynx จึงตายสนิท ตั้งแต่เริ่มต้น






1990: Turbo Express
เครื่องเล่นเกมสายพันธ์ฝรั่งนี้สร้างความฮือฮาได้อย่างมาก เมื่อมันสามารถเล่นเกมที่เป็นของเครื่อง TurboGrafx-16 ที่เป็นระบบคอนโซลได้ เพราะว่า slot ช่องเสียบการ์ดนั้นรูปทรงเหมือนกัน และมีระบบประมวลผลที่เหมือนยกคอนโซลมาใส่ในเกมพกพา ดังนั้นภาพจึงออกมาสวยงามเหนือล้ำกว่าเกมของเจ้าอื่นอย่างเห็นได้ชัด

แต่ปัญหาของมันก็ยังเป็นเรื่องเดิม นั่นคือแบตเตอรี่ที่ต้องใช้ปริมาณมหาศาลเพื่อทำภาพสวยงามให้ท่านได้ชมกัน ไม่ต้องคำนวนก็พอจะเห็นตัวเลขได้ว่าค่าถ่านที่ต้องซื้อเพื่อมาเล่นเกมนั้นน่าจะแพงกว่าค่าไฟเพื่อเล่นเกมในบ้านซะอีก เพราะมันต้องซื้อทุกวัน วันละหลายก้อน แถมเล่นได้ไม่ถึง 3 ชั่วโมงถ่านก็หมดเหี้ยน แถมราคาเครื่องก็แพงจนเอื้อมไม่ถึง คิดเอาเองว่าจะมีซักกี่ครอบครัวที่กล้าซื้อเกมราคาเหยียบหมื่นให้ลูกเล่น แถมยังไม่รวมค่าถ่านที่จะต้องใช้ในแต่ละวันอีกด้วยนะเออ สมควรแล้วที่จะดับอนาถไป






1990: Game Gear
คู่แข่งที่สูสีคู่คี่กับ GameBoy มากที่สุดเห็นจะเป็นเครื่องเกมพกพาจากค่ายเซก้า ซึ่งพวกเขาได้สถาปนาตัวเองให้เป็นคู่กัดทางการค้ากับฝั่งนินเทนโดมาโดยตลอด จนเพิ่งมาสงบศึกไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากที่เซก้าทุนหมดจึงขอยอมแพ้และเลิกพัฒนาทั้งเกมคอนโซลและเกมพกพา ส่วนเครื่อง GameGear นี้กะทำมาเพื่อฆ่าระบบขาวดำของ GameBoy โดยเฉพาะ แถมยังมีเกมที่น่าสนใจทั้งจากเซก้าและอีกหลายค่ายของญี่ปุ่น จึงทำให้ภาพลักษณ์ออกมาดูดีและน่าคบหาอย่างยิ่ง


เวลานั้นเครื่องคอนโซลอย่าง Megadrive ก็กำลังขับเคี่ยวกับเครื่อง Super Famicom อย่างเมามัน ทุกอย่างน่าจะไปได้สวยแล้ว เว้นแต่ว่าปัญหาเดียวกับที่สองเครื่องข้างบนต้องม้วนเสื่อกลับไป นั่นคือข้อจำกัดในการแสดงภาพที่หน้าจอเป็นสี ย่อมต้องรับประทานแบตมากกว่าหน้าจอขาวดำอย่างแน่นอน แต่ถึงกระนั้น GameGear ก็ยังสามารถทำยอดขายได้มากถึง 10 ล้านเครื่อง และมีเกมออกมามากมายกว่า 400 เกม ถือเป็นเครื่องพกพาที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องกินถ่านละก็น่าจะขายดีกว่านี้อย่างแน่นอน






1992: Watara Supervision
เครื่องนี้น้อยคนคงจะคเยได้เห็นหรือได้เล่นแบบตัวเป็นๆ เว้ากันซื่อๆเลยก็คือเจ้านี่เลียนแบบดีไซน์ของ GameBoy มาแบบไม่ต้องเกรงใจ แถมยังใช้วัสดุและ spec เครื่องที่คล้ายคลึงกัน ทั้งหน้าจอขาวดำ, ประหยัดถ่าน และราคาถูกกว่าเจ้าอื่น เพื่อใช้เป็นจุดขายสำหรับตลาดระดับล่างที่ยังไม่มี GameBoy ให้หันมาซื้อเครื่อง Watara ไปเล่นแทน

แต่ทว่ามันออกมาสายเกินไปแล้ว เนื่องจากในเวลานั้นเครื่องเกมของนินเทนโดได้ยึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จไปเรียบร้อย ดังนั้นเรื่องที่เครื่องเกมยี่ห้ออื่นจะมามีเอี่ยวในตลาดนั้นจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ เอาแค่คุณภาพและจำนวนเกมที่ออกมามันก็ต่างกันแบบลิบลิ่ว ดังนั้น Watara จึงเป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่มาวูบเดียวแล้วก็หายไปโดยที่ไม่มีใครจำมันได้






1997: Game.com
เชื่อไหมว่านี่ไม่ใช่ชื่อเว็บไซท์ในอินเตอร์เนท แต่มันเป็นชื่อของเครื่องเกมพกพาที่ครั้งหนึ่งเคยออกมาให้เล่นกัน และนี่คือเครื่องเกมพกพาเจ้าแรกในโลกที่รองรับระบบสัมผัสจอ หรือระบบทัชสกรีน!! การดีไซน์ของมันทำออกมาในลักษณ์กึ่ง PDA ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นอุปกรณ์สุดไฮเทคที่หลายคนไม่กล้าแม้จะฝันเป็นเจ้าของ

Game.com มาพร้อมกับปากกาสไตลัสที่ใช้จิ้มหน้าจอ LCD ขาวดำเพื่อเล่นเกมหรือบันทึกข้อมูลแบบง่ายๆ รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อกับโมเด็มความเร็ว 14k ได้ด้วยนะเออ แต่ว่าดูจากในภาพแล้วเหมือนจะดี หากแต่ของจริงนั้นเครื่องมันมีขนาดที่ต้องเรียกว่า "โคตรใหญ่" คือต้องมีมือที่ใหญ่เหมือนหมีจึงจะถือได้อย่างถนัด ส่วนยอดขายนั้นเงียบสนิท เพราะว่าเกมเมอร์ไม่ให้ความสนใจ และมองมันเป็นเหมือนอุปกรณ์เสริมทักษะสำหรับเด็กเล็กมากกว่าจะเอาไว้เล่นเกม






1998: Game Boy Color
หลังจากที่ทู่ซี้ใช้หน้าจอขาวดำมาเป็นสิบปี ในที่สุดนินเทนโดก็ยอมเปลี่ยนมาใช้หน้าจอแบบสีจนได้ ที่จริงจะว่าไปแล้ว GB Color ก็เหมือนกับการเอา Famicom มาเป็นเกมมือถือซะมากกว่า เพราะประสิทธิภาพและรูปแบบของเกมไม่หนีห่างกันซักเท่าไร กราฟิคมีข้อจำกัดในเรื่องคุณภาพ และหน้าจอไม่มีแสงไฟ backlight แถมเกมยังดูไม่สวยงามเท่ากับเครื่องที่ออกมาเมื่อ 12 ปีก่อนอย่าง Lynx เสียอีก

แต่ว่ามันก็ยังได้รับความนิยมอย่างสูงเหมือนกับรุ่นพี่ขาวดำตัวเก่า จุดเด่นที่ชัดเจนก็คือมีเกมให้เล่นจำนวนมากหลากหลายค่าย แถมยังใช้ไฟน้อยไม่เปลืองถ่าน ราคาก็ไม่แพงจนเกินไป แถม Pokemon ก็แจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัวกับเครื่องเกมรุ่นนี้ ถ้าไม่มี GB Color ก็คงไม่มี Pokemon จนถึงวันนี้หรอก จริงไหม?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่