นักวิชาการธรรมศาสตร์ บรรยายสาธารณะ ท้าท้ายกรณีอธิการบดีสั่งหยุดการสอน

นักวิชาการธรรมศาสตร์ บรรยายสาธารณะ ท้าท้ายกรณีอธิการบดีสั่งหยุดการสอน


วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ประจักษ์ ก้องกีรติ ปิยบุตร แสงกนกกุล ฯลฯ จัดอภิปรายห้องเรียนประชาธิปไตย ที่มธ.รังสิต ชี้ การสั่งปิดมหาลัยของอธิการไม่เป็นประชาธิปไตย ระบุ นายกฯ คนกลางไม่สามารถเป็นไปได้ตามรธน.



3 ธ.ค. 2556 ที่โถงอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ คณะอาจารย์มธ. บางส่วน ประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ยุกติ มุกดาวิจิตร ประจักษ์ ก้องกีรติ ปิยบุตร แสงกนกกุล และอื่นๆ ได้จัดอภิปราย "ห้องเรียนประชาธิปไตย" แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการสั่งปิดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยระหว่างวันที่ 2, 3 และ 4 ในทุกวิทยาเขต โดยชี้ว่า เป็นการออกคำสั่งโดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาคมธรรมศาสตร์ทั้งหมด และอาจแสดงให้เห็นว่ามธ. ได้เลือกข้างทางการเมือง จากการหยุดการเรียนการสอนสอดคล้องกับการนัดหยุดงานของแกนนำกปปส. สุเทพ เทือกสุบรรณ


ยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา กล่าวถึงการแถลงของทปอ. วานนี้ ที่เสนอเรื่องให้มีรัฐบาลกลางและนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งว่า ทปอ. ไม่มีอำนาจทางการใดๆ เป็นเพียงสมาคม เพียงแต่เป็นบรรดาผู้มีหน้ามีตาในสังคมมารวมกัน โดยวัตถุประสงค์ของทปอ. ดั้งเดิม ตั้งขึ้นมาเพื่อคานอำนาจกับสกอ. ในระบบการศึกษาซึ่งมีหน้าที่ที่กำกับดูแลมหาวิทยาลัย


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทปอ. กำลังถูกบิดบือนเพื่อนำไปใช้ทางการเมืองและเข้าไปมีบทบาททางการเมือง อย่างผลการประชุมนัดสุดท้าย มีการแสดงความเห็นใจนศ.รามคำแหงที่ได้รับบาดเจ็บ โดยไม่พูดถึงความสูญเสียอื่นๆ ที่เกิดกับผู้ชุมนุมเลย

ยุกติกล่าวว่า จำเป็นที่ต้องร่วมกันแสดงบทบาทที่ปกป้องสถาบันการศึกษา ที่ ถ้าใครอยากแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสามารถทำได้ในนามส่วนตัว แต่อย่านำชื่อมหาวิทยาลัยเข้าไปร่วม อย่าทำเป็นว่าทั้งมหาวิทยาลัยเห็นชอบทั้งหมดร่วมกัน แม้เแต่เรื่องประกาศปิดมหาวิทยาลัยก็ยังไม่มีการประชุมร่วมกันในหมู่ผู้บริหารด้วยซ้ำ


ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. ตั้งคำถามกับการให้สัมภาษณ์ของอธิการบดีมธ. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ในฐานะประธานทปอ.ซึ่งพูดในเชิงว่าสามารถตั้งรัฐบาลกลางและนายกฯ ที่มาจากคนดี ว่าเป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนระบอบการปกครองนอกวิถีทางประชาธิปไตย และกล่าวว่า การที่อธิการบดีสั่งหยุดการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกวิทยาเขต โดยไม่มีการสอบถามความคิดเห็นจากประชาคมก่อน สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการขาดประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจทำให้ดูเหมือนว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปสนับสนุนการประกาศนัดหยุดงานของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณ


เขากล่าวว่า ทปอ. เวลาพูดอะไร พูดราวว่าประชาชนทั้งหมดคิดแบบเดียวกับสุเทพ การแอบอ้างประชาชนเป็นเรื่องอันตรายเพราะทำให้เสียงของคนอีกกลุ่มหายไปเลย ทั้งนี้ในทุกสังคมย่อมมีความเห็นต่างในทุกระดับ แม้แต่ในมหาวิทยาลัย ทั้งอาจารย์และนักศึกษา ก็ย่อมมีความคิดเห็นที่ต่างกัน


ประจักษ์อ้างถึงการให้สัมภาษณ์ของอธิการบดีว่า กองทัพยอมเป็นตัวกลางเจรจา แสดงว่ารัฐบาลยอมรับว่ากปปส. เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงไม่มีตำราที่ไหนบอกว่าทหารมีอำนาจรองรับองค์กรตามกฎหมายได้ ต้องแยกระหว่างการไปช่วยเจรจากับการรองรับให้เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ


"อธิการบดีให้ความคิดเห็นบางประการที่ให้ความชอบธรรมแก่บางองค์กร เป็นการบิดเบือนหลักการทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์หรือไม่ เรื่องนี้ต้องถูกตั้งคำถาม และการหยุดเรียนนี้ ก็เกิดขึ้นในบริบทที่สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ประกาศให้หน่วยงานราชการประกาศหยุดงานเพื่อเป็นการแสดงพลังสนับสนุนต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม เมื่อมธ. ประกาศหยุดเรียนที่หยุดต่อเนื่อง มีนศ.หลายคนที่ท่าพระจันทร์ก็ไม่เห็นด้วยกับการประกาศหยุดเรียน" ประจักษ์กล่าว

"การที่อธิการประกาศโดยไม่มีการประชุมหารือ ไม่มีการรับความคิดเห็น สะท้อนสภาวะในมธ. ว่าขาดประชาธิปไตยอย่างรุนแรง"

"นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัย ที่ท่าพระจันทร์เข้าใจ แต่สำหรับที่รังสิต นศ.ก็อยู่ที่นี่อยู่แล้ว ไม่ได้มีความยากลำบากอะไร จึงตั้งคำถามว่าทำไมจึงต้องงด ดังนั้นการประกาศหยุดเรียนหลายวัน และทุกศูนย์ เป็นการประกาศเพื่อจะสนับสนุนหรือเอื้อให้การประกาศสุเทพมีความชอบธรรมมมากขึ้นหรือไม่ เพราะเว้นจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการอื่นๆ ไม่มีใครหยุดทำงาน ยังมีการทำงานปกติตั้งแต่เมื่อวานนี้ ทำไมสถาบันการศึกษาจึงหยุด จากสถานการณ์ในทางการเมืองตอนนี้ จึงทำให้คิดว่านี่เป็นคำสั่งที่มีเจตนารมย์บางอย่างอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ผู้บริหารหรืออธิการบดีมีหน้าที่ที่ต้องตอบ"

"ปรชาชนก็แตกเป็นสองฝ่าย มธ.ในสภาวะที่สังคมแตกแยก มธ.ควรตั้งหลักให้มั่นในการทำหน้าเป็นสติให้สังคม และประคับประคองให้สังคมผ่านไปได้อย่างสันติและไม่ผิดรัฐธรรมนูญ"


เขากล่าวถึงคำให้สัมภาษณ์ของอธิการบดี ที่พูดเรื่องรัฐบาลกลาง และนายกที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นการเปิดช่องล่วงหน้าให้มีนายกคนกลาง นายกคนดี การให้สัมภาษณ์แบบนี้อันตราย ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชุมนุมตั้งแต่แรกมีการยั่วยุเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่อยู่นอกประชาธิปไตยและรธน. และเมื่อนักนิติศาสตร์ชั้นนำ และเป็นอธิการบดีให้สัมภาษณ์แบบนี้จึงอันตรายมาก ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เป็นวิถีทางนอกรธน.


ในขณะที่ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติศาสตร์ มธ.และคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า ตามที่อธิการบดีมธ.ให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯ คนกลาง ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งนั้น แต่จริงๆ ตามรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะรธน.ได้กำหนดไว้ว่า หากมีการยุบสภา หรือนายกฯ ลาออก ยังจำเป็นต้องมีนายกฯ และรมต. รักษาการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่มีช่องทางไหนที่เปิดโอกาสให้มีการแต่งตั้งนายกฯ คนกลาง หรือสภาประชาชนได้


ปิยบุตร ชี้ให้เห็นถึงประกาศที่มหาวิทยาลัยออกเรื่องการให้หยุดเรียน โดยมีการอ้างถึงสถานการณ์ทางการเมืองในกม. และในตจว. ที่ได้พัฒนาไปสู่ความรุนแรง และมีการใส่ประโยคที่ว่า "ผู้รักษากฎหมายมิได้ทำหน้าที่ของตัวเอง" โดยประกาศฉบับดังกล่าวออกมาหลังการชุมนุมซึ่งเกิดการการปะทะที่รามคำแหง แสดงให้เห็นถึงอคติของอธิการบดีซึ่งออกประกาศฉบับนี้มา


"อย่างที่ลำปางหรือรังสิตก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่ไม่รู้ว่าจะให้หยุดทำไม การให้หยุดอาจจะให้แจ้งเป็นส่วนบุคคลก็ได้ เหตุใดต้องประกาศให้หยุดอย่างเหมาเข่งโดยไม่แยกแยะว่าเหตุการณ์ในที่ต่างๆ ไม่เหมือนกัน สถานการณ์มันต่างกันกับที่บชน. หรือการปะทะในที่อื่นๆ การประกาศของอธิการบดีที่ไม่มีส่วนร่วมของประชาคม ไม่มีการสอบถามกับอาจารย์หรือนศ.เลย ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ฉุกเฉินยังอยู่ห่างไกล" ปิยบุตรกล่าว


ปิยบุตรกล่าวถึงข้อเสนอเรื่องนายกฯ คนกลางของสมคิดว่า ตอนนี้การเมืองไทยยังไม่เป็นสุญญากาศแต่มีคนทำให้มันป็นสุญญากาศให้ได้เพื่อจะพึ่งอำนาจของพระมหากษัตริย์ เป็นการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแล้ว หากนายกฯ ลาออก ก็จะบังคับให้รมต. ชุดนี้ทำหน้าที่ต่อไป ถ้าไม่มีนายกฯ ก็รองนายกฯ ก็ต้องทำหน้าที่แทน ต่อให้ยุบสภาแล้วก็ไม่มีช่องทางใดที่เปิดทางให้นายกฯ คนกลางเข้ามา


“ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการงดใช้รธน.บางมาตรา เหมือนการรัฐประหารเหมือนที่สุเทพเคยเสนอ เพียงแต่แบบนี้มันดูเป็นปัญญาชนมากกว่าเท่านั้นเอง”


ด้านวรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มธ. และคณะนิติราษฎร์ อธิบายว่า การอ้างรัฐธรรมนูญมาตราสาม ของกลุ่มผู้ชุมนุมกปปส. เรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนเพื่อจัดตั้งสภาประชาชนนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะมาตราสามของรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้" เป็นเรื่องของการรแบ่งแยกอำนาจ ว่าประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยผ่านองค์กรต่างๆ ของรัฐ ซึ่งการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงของประชาชนที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การไปออกเสียงเลือกตั้งส.ส. และส.ว. ในฐานะผู้แทนใช้อำนาจ และการออกเสียงประชามติเท่านั้น ไม่มีส่วนไหนที่พูดถึงการตั้งสภาประชาชน



วรเจตน์กล่าวว่า หนทางที่เป็นไปได้ในการตั้งสภาประชาชน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ  เพื่อตั้งองค์กรให้มาปฏิรูประเทศ จะเห็นว่าการเสนอของอธิการบดีธรรมศาสตร์ เป็นการเสนอที่ไม่ได้อยู่บนหลักวิชาการ และเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยอำนาจนอกระบบ


อ้างอิง : http://prachatai.com/journal/2013/12/50169
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่