“หากจะต้องสูญเสียทุกอย่าง ความหวัง...ขอให้เป็นสิ่งสุดท้าย” (ภาค 1)

สวัสดีจ้าเพื่อนๆ ทุกคน  วันนี้เรามีเรื่องเล่าในการดูแลเด็กๆ ของเรา มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังค่ะ
ประโยคในหัวข้อกระทู้นี้เป็นเพลงเก่าของวง หิน เหล็ก ไฟ (บ่งอายุมากเรย^^)
เราจำขึ้นใจ มาตั้งแต่ฟังครั้งแรก และยึดถือเป็นหลักในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตมาตลอด
แต่ในกระทู้นี้  เราจะเล่าเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดูแลแมวและนกของเรานะคะ

เพื่อนๆ ที่เคยเห็นกระทู้ต่างๆ ของเรา อาจจะเคยเห็นเราบ่นเหนื่อย ท้อใจกับการดูแลแมวป่วยของเรา
จริงๆ แล้วถึงแม้เราจะบ่นบ้างอะไรบ้างตามประสาคนวัยคุณป้า^^
แต่ลึกที่สุดในใจนั้น เราไม่เคยสิ้นหวังเลย  เราไม่ยอมแพ้ และมีความหวังอยู่เสมอ

เรื่องแรกที่อยากเล่า คือเรื่องของหมูยอ   (เพื่อนๆ หลายๆ คน คงรู้เรื่องอยู่แล้ว)
หมูยอเป็นแมวพเนจรที่ถูกรถชนขาหัก หางหัก  แล้วถูกเอามาทิ้งไว้ที่คลินิค
คุณหมอที่คลินิคก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากฉีดยาแก้ปวด  เนื่องจากไม่มีครื่องไม้เครื่องมือและทักษะพอที่จะตรวจรักษาเค้า
และบอกว่าจะปล่อยไว้แถวนี้แหละ เค้าไม่เป็นไรหรอก เราฟังแล้วสงสารมาก
เลยรับเป็นเจ้าภาพพาเค้าไปหาหมอที่ รพส. A

คุณหมอที่ รพส. A เอ็กซเรย์แล้วบอกว่า ขาเค้าหักเป็นแฉกๆ แบบปากฉลาม ผ่าตัดยากมาก
โอกาสที่จะกลับมาเดินได้เหมือนเดิมนั้นน้อยมากๆ แนะนำให้ตัดขาข้างนั้นทิ้ง  
(ตอนนั้น เรายังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการเลี้ยงแมว ไม่ค่อยรู้จัก รพส. ต่างๆ หรือหมอเก่งๆ ด้วยค่ะ
ไม่รู้จักคำว่า second opinion ด้วยซ้ำ)

เราเลยโทร. กลับไปคุยกับหมอที่คลินิคเดิม  คุณหมอฟังข้อมูลแล้วบอกให้เอากลับมาที่คลินิค หมอจะตัดขาให้เอง
ได้ฟังอย่างนั้น เราก็คิดทบทวนอย่างรวดเร็ว  
แล้วประโยค “หากจะต้องสูญเสียทุกอย่าง   ความหวัง...ขอให้เป็นสิ่งสุดท้าย” ก็ดังขึ้นในหัว
เราตัดจบได้ทันทีว่าเราจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เราตัดสินใจหอบหมูยอพร้อมฟิล์มเอ็กซเรย์ไป รพส. B ทันที  
ทั้งที่ตอนนั้นเกือบ 2 ทุ่มแล้ว   รพส. B เกือบจะปิดอยู่แล้ว

พอเราไปถึง รพส. B  คุณหมอที่รับเคสหมูยอบอกว่าผ่าตัดยากจริงๆ  แต่คุณหมอที่จะผ่าตัดให้เก่งมากๆ สามารถผ่าได้
แต่ผลผ่าตัดนั้นต้องดูกันอีกทีว่าหมูยอจะเดินได้ขนาดไหน เพราะหมูยอเป็นแมวโตแล้ว
ไม่เหมือนแมวเด็กที่กระดูกยังซ่อมแซมได้ง่าย และต้องรอคิวอีก 1 สัปดาห์
(หมูยอถูกรถชนมามากกว่า 2 สัปดาห์แล้ว หางที่หักเริ่มจะมีน้ำเยิ้มออกมาแล้วค่ะ)
ระหว่างนั้นคุณหมอก็เข้าเฝือกที่ขาและหางและให้กินยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบไปพลางๆ ก่อน

ตัดไปถึงตอนผ่าตัด  คุณหมอครรชิต  พงษ์เพชร์ เป็นผู้ผ่าตัดหมูยอ  คุณหมอใส่เหล็กที่ขาให้
และตัดหางที่เริ่มจะเน่าแล้วทิ้งออกไปจนกุดชิดก้น และใส่เฝือกที่ขาให้  คุณหมอบอกว่าหางนั้นตัดทิ้งยากมากๆ
เพราะมีเส้นประสาทเยอะมาก ค่าผ่าตัดในส่วนของหางนั้นแพงกว่าในส่วนของขาที่หักและใส่เหล็กอีก
หลังจากเราดูแลเรื่องเฝือก เรื่องแผลมาเกือบ 1 เดือน  
ในที่สุด หมูยอก็หายเป็นปกติ กลับมาเดินได้ วิ่งได้เหมือนเดิมค่ะ
คุณหมอบอกว่าการที่ไม่มีหางแล้ว เค้าจะมีปัญหาเรื่องการทรงตัว และการปีนป่าย
แต่เท่าที่เห็นก็ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคกับชีวิตหมูยอเลย  นอกจากจะชอบส่ายหางกุดๆดุ๊กดิ๊กไปมา

ทุกครั้งที่เรามองย้อนกลับไปถึงเรื่องนี้  เรานึกขอบคุณตัวเราเองเสมอที่ไม่ยอมสิ้นหวังง่ายๆ
(และแน่นอนคนที่จะลืมไม่ได้คือ คุณหมอครรชิตที่ผ่าตัดให้)
ถ้าเราตัดสินใจผิดไปจากนี้นิดเดียว หมูยออาจจะตายไปแล้ว หรืออาจจะกลายเป็นแมว 3 ขา
หรืออาจจะเป็นแมวที่วิ่งเดินไม่ปกติเหมือนแมวตัวอื่น
แต่คิดอีกที  อาจจะเป็นโชคชะตาของหมูยอเองก็ได้ค่ะ  ที่จะได้วิ่งครึ่กๆ อยู่ในบ้าน อยู่ในสวนอย่างมีความสุข
และปกติเหมือนแมวตัวอื่นๆ แต่ยังไง เราก็มีส่วนด้วยหละที่ไม่ตัดโอกาสของเค้า ฮร่าๆ ยังไงก็ขออวยตัวเอง

กระทู้นี้จบแค่นี้นะคะ เดี๋ยวจะยาวเกินไป  ภาค (2)   เราจะเล่าเรื่องการดูแลแมวที่มีเชื้อ FIP ของเราค่ะ
ปิดท้ายด้วยรูปล่าสุดของหมูยอค่ะ



แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่