5 ปี 5 พันลบ.ฝันไกล "บลิส-เทล"

กระทู้สนทนา
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



เพิ่งพลิกมี “กำไร” 22.15 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 แต่ “กันต์-จักรกฤษณ์ ธนวิรุฬห์” ขอ5 ปี ต้องติด 1 ใน 100 ของบริษัทจดทะเบียน

“ขาดทุน 2 ปีซ้อน” ปี 2554 ติดลบ 64.29 ล้านบาท ปี 2555 ขาดทุน 50.40 ล้านบาท ส่งผลให้ หุ้น บลิส-เทล” หรือ BLISS ต้องหยุดทำการซื้อขายตั้งแต่เดือนพ.ค.2554 ราคาสุดท้ายเฉลี่ย 0.04 บาท “บลิส-เทล” เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.25547 ด้วยการขายหุ้น IPO 6.20 บาท พาร์ 1 บาท ปัจจุบันแตกพาร์เหลือ 0.10 บาท

ผ่านมา 9 เดือน บริษัทพลิกมี “กำไรสุทธิ” 22.15 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี2555 ที่มีผลขาดทุน 48.97 ล้านบาท แม้ตัวเลขจะออกมาน้อยนิด แต่ “กันต์-จักรกฤษณ์ ธนวิรุฬห์” ผู้ควบเก้าอี้บริหารงาน “บลิส-เทล” มากถึง 3 ตำแหน่ง “ประธานกรรมการบริหาร-รองประธานกรรมการ-กรรมการผู้จัดการ” เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2556 มั่นใจในตัวเองเหลือเกินว่า “ภายในปี 2557 บริษัทจะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เหมือนเดิม” นั่นแปลว่า ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4/2556 ต้องเป็น “บวก” หลังไตรมาส 2/2556 มี “กำไรสุทธิ” แล้ว 6.83 ล้านบาท และไตรมาส 3/2556 มีกำไรสุทธิ 19.94 ล้านบาท

หลังบริษัทปรับโครงสร้างธุรกิจ จากผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือมาเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและโทรคมนาคม ด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ “ผู้บริหารป้ายแดง” มั่นอกมั่นใจว่า “ผมเชื่อว่า การที่มีทีมบริหารเก่ง โครงการสร้างธุรกิจแข็งแกร่ง จะนำพาองค์กรมุ่งหน้าสู่อนาคตที่มีแต่คุณภาพ”

ก่อน “บลิส-เทล” จะถือหุ้นใหญ่โดย “สุทธิกฤษฎิ์ ถนอมบูรณ์เจริญ” สัดส่วน 1,755.44 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.34 เปอร์เซ็นต์ และ “นิวัติ ลมุนพันธ์” 1,562.39 ล้านหุ้น คิดเป็น 8.22 เปอร์เซ็นต์ ครั้งหนึ่งบริษัทแห่งนี้เคยตกอยู่ภายใต้การดูแลของบุคคลหลากหลายกลุ่ม อาทิเช่น บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง หรือ IEC

“ฉัตรสุดา เบ็ญจนิรัตน์” หญิงนางหนึ่งที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “นอมินี” ของ “สอง วัชรศรีโรจน์” ชายผู้โด่งดัง หลังถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษในข้อหาร่วมกันปั่นหุ้น ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ หรือ บีบีซี เมื่อปี 2535 ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งยืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้อง “ประกายดาว เขมะจันตรี” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “บลิส-เทล” และกลุ่มสามารถคอร์ปอเรชั่น เป็นต้น

“กันต์-จักรกฤษณ์” บุรุษวัย 49 ปี ดีกรีปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตร MBA คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทคณะเศรษฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตย์พัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เคยผ่านการทำงานในองค์ใหญ่ๆอย่าง บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF นานถึง 8 ปี

ก่อนจะโยกมาทำงานด้านการเงิน ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ให้บริษัทชื่อดังหลายแห่ง ปัจจุบันนอกจากนั่งทำงานใน “บลิส-เทล” แล้ว เขายังรับหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“บลิส-เทล” กำลังจะดีกว่าอดีตจริงหรือ? ไม่แปลกหากนักลงทุนรายย่อยที่เคยยืนชมวิวบนยอดดอย นามว่า BLISS จะตั้งคำถามเช่นนี้ วันนี้เราปรับทีมงานบริหารใหม่ยกชุด แต่ละคนไม่ธรรมดา ยกตัวอย่าง “ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล” ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงินสภาผู้แทนราษฎร เราเชิญท่านมานั่งเป็นประธานกรรมการ

“สุรพล โอภาสเสถียร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร บริษัทเชิญมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตรวจสอบ เห็นชื่อแต่ละท่าน คงการันตีได้แล้วว่า บริษัทมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ การมี “คุณสุรพล” เข้ามาช่วยงาน ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก (ยิ้ม)

ถามถึงโครงสร้างธุรกิจใหม่ “ผู้บริหารคนใหม่” อธิบายว่า บริษัทจะทำงานบน 3 ธุรกิจ นั่นคือ 1.ธุรกิจติดตั้งเครือข่ายโทรคมนาคม และบริการติดตั้งระบบเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ให้กับบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE นอกจากนั้นยังมีธุรกิจไอที สุดท้าย คือ ธุรกิจซอฟต์แวร์และดิจิตอล มีเดีย

บริษัทจะเน้นกลยุทธ์ 4 ด้าน ในการทำงาน เพื่อนำพาองค์กรมุ่งหน้าสู่ความฝัน ประการที่หนึ่ง บริษัทจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและคุณภาพตรงตามต้องการของคู่ค้า ปัจจุบันเราพยายามสรรหาและใช้สายสัมพันธ์ที่มีอยู่ทำงานอย่างเต็มที่ ประการที่สอง เราจะพัฒนาคุณภาพของทีมงาน โดยจะพยายามคัดกรองคนที่มีประสิทธิภาพ เน้นดูความสามารถที่ผ่านมาในองค์กรอื่นๆเป็นหลัก

ประการที่สาม บริษัทจะสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับเหล่าพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่ผ่านมาเราทำงานหนักมากเพื่อที่จะแนะนำตัวเองให้เป็นที่รู้จักต่อบริษัทหรือหน่วยงานที่เป็นคู่ค้าของเรา “เหนื่อยแต่คุ้ม” เห็นได้จากผลตอบรับที่ออกมาดีมากๆ

ประการสุดท้าย คือ เราจะพัฒนาระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทได้เข้ามาพลิกฟื้นองค์กรแห่งนี้ เรียกว่า ทำงานหนักมาก เขาย้ำ เราปรับเปลี่ยนองค์กรเกือบทุกอย่าง ทำให้รู้ถึงกระบวนการทำงานในแต่ละ หน่วยงาน

“เมื่อบริษัทเดินมาพร้อม “ความหวัง-กลยุทธ์-พันธกิจ” เราจึงสามารถตั้งเป้าหมายได้ว่า องค์กรของเราควรยืน ณ จุดไหน จึงจะเรียกว่า ดีที่สุด”

เขา เล่าต่อว่า “เรื่องแรกที่มือบริหารอย่างผมอยากเห็น” คือ “รายได้รวม” เรื่องนี้ยอมรับตรงๆสำคัญมาก องค์กรจะมั่นคงและยั่งยืนได้ต้องมาจากส่วนนี้ วันนี้เรามียอดขายรอรับรู้รายได้ หรือ Backlog มูลค่าประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท คาดว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2556 จะทยอยรับรู้รายได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท หากเป็นเช่นนั้น สิ้นปี 2556 ฐานะการเงินของเราจะพลิกเป็น “กำไรสุทธิ” ทันที

“ผมจะพยายามผลักดันผลประกอบการให้เติบโตเฉลี่ยปีละ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า คงขยายตัวปีละ 1 เท่าตัว อย่างปี 2556 คงมีรายได้ 1,000 ล้านบาท ปี 2557 น่าจะประมาณ 2,000 ล้านบาท ปีหน้าเรามี Backlog แล้วประมาณ 700 ล้านบาท”

อะไรทำให้คิดว่า จะโกยตัวเลขนี้มาครอบครอง เขาบอกว่า ตลาดของธุรกิจไอซีทีและเทเลคอมยังมีมูลค่า “มหาศาล” งานเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ปัจจุบันผู้ประกอบการอย่าง AIS-DTAC-TOT-CAT-TRUE ถือเป็นบริษัทที่มีเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท เขาพร้อมลงทุนระบบ 3G และระบบ 4 G นั่นเท่ากับว่า เราจะได้รับประโยชน์ต่อเนื่องอีกมากมาย

ข้ามไปดูงานฝั่งรัฐบาล ปีหน้าเขาจะเปิดประมูลแท็บเล็ต มูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ ที่ผ่านมาเราได้จับมือกับบมจ.จัสมินเทเลคอม ซิสเต็มส์ หรือ JTS เข้าประมูลแท็บเล็ต ภายใต้แบรนด์ "DMA" ผลปรากฎว่า “ชนะการประมูล” งานหน้าคงต้องหาผู้ผลิตที่ดี เพื่อที่จะได้ส่งมอบงานได้ดีขึ้น

เราคุยกันภายในว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2556-2560) ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท หากทำได้เช่นนั้น เราจะติด 1 ใน 100 ของบริษัทจดทะเบียนที่ทำรายได้สูงสุด “กันต์-จักรกฤษณ์” เล่าความฝันแสนไกลให้ฟัง เราอยากเห็นบริษัทเป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้” เราจะไม่หยุดพัฒนาเทคโนโลยี ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้คู่แข่งตามเราไม่ทัน เขาไม่ลืมที่จะอวด..

“มือบริหาร” คุยเรียกเรตติ้งให้หุ้น BLISS ว่า เราเป็นบริษัทมหาชน ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นที่ร่วมชะตากรรมเดียวกับเรากว่า 4,200 คน คิดเป็น 19,000 กว่าล้านหุ้น ฉะนั้นหน้าที่ของเรา คือ ทำให้คนเหล่านั้น “มีความสุข” บริษัทจะพยายามคืนผลตอบแทนสู่นักลงทุนให้เร็วที่สุด เป้าหมายแรก คือ “การล้างขาดทุนสะสม” 208 ล้านบาท ตัวเลข ณ วันที่ 30 มิ.ย.2556 ให้หมดภายในปี 2558 (บริษัทหยุดจ่ายเงินปันผลมา 3 ปีแล้ว)

“เราจะพยายามทำทุกอย่างเกินความคาดหมาย ทั้งเรื่องเงินปันผล และส่วนต่างราคาหุ้น งานต่างประเทศเราเล็งไว้เหมือนกัน ตอนนี้มีประเทศเวียดนามและกัมพูชา ติดต่อให้เราไปวางระบบเทเลคอม กำลังดูๆอยู่ จริงๆในช่วง 1-2 ปีนี้ อยากเน้นทำงานในประเทศก่อน”

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่