จับคู่วิเคราะห์หุ้น โดย : ดร.นิเวศน์

กระทู้สนทนา
จับคู่วิเคราะห์หุ้น
โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
http://bit.ly/17ijAMA
ในการวิเคราะห์หุ้นเพื่อที่จะหาว่าตัวไหนน่าลงทุนหรือไม่นั้น ในบางครั้งผมมักดูข้อมูลบริษัทสองแห่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

และอาจจะแข่งขันกันด้วย เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลด้านต่างๆ ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

การหาหุ้นที่คล้ายคลึงกันนั้น บางครั้งก็ง่ายเนื่องจากทั้งสองบริษัททำธุรกิจแบบเดียวกัน และมีฐานลูกค้าใกล้เคียงกัน ตัวอย่างเช่น บริษัททั้งสองต่างเป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ และมีฐานลูกค้าเป็นคนมีรายได้สูงและชาวต่างประเทศ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งอาจเป็นธุรกิจที่เป็นเครือข่ายโรงแรมชั้นนำและขายอาหารภัตตาคารและจานด่วนหลากหลาย เป็นต้น

แต่ในหลายกรณีการหาคู่บริษัท ที่จะมาเปรียบเทียบอาจจะไม่ง่ายนัก ในกรณีแบบนี้ผมมักจะหาทางเปรียบเทียบแบบอื่น ๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะใช้ในการ “ปิดท้าย” การวิเคราะห์แบบจับคู่ คือเรื่องมูลค่ากิจการที่ตลาดให้กับแต่ละบริษัท นั่นคือดูว่า Market Cap. ของแต่ละบริษัทเป็นเท่าไร สมเหตุผลหรือไม่?

โดยทั่วไปผมจะดูว่าหุ้นตัวไหนน่าจะถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกันทุกด้านแล้ว จากนั้นอาจจะตัดสินใจ บางครั้งอาจจะไม่เลือกทั้งสองตัว บางครั้งเลือกตัวที่เด่นและคุ้มค่ากว่า น้อยครั้งที่จะเลือกทั้งสองตัว วิธีการจับคู่วิเคราะห์หุ้นนี้ ที่จริงคนที่ใช้เป็นเรื่องเป็นราวก็คือ เบน เกรแฮม ที่เขียนไว้ในหนังสือ The Intelligent Investor อันโด่งดังนั่นเอง

ถ้ามีบริษัทที่คล้ายกันอยู่แล้ว การวิเคราะห์แบบจับคู่ก็ง่าย เริ่มต้นนั้นจะผมดูความสามารถแข่งขันก่อน สิ่งที่จะพิจารณาคือ บริษัทไหนแน่หรือเก่งกว่ากัน ซึ่งจะต้องดูว่าอะไรเป็นปัจจัยที่สำคัญของการแข่งขันในธุรกิจ เช่นถ้าเป็นเรื่องของโรงพยาบาล แน่นอนว่าความสามารถหรือชื่อเสียงของแพทย์ต้องเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนั้นเรื่องของสถานที่และอุปกรณ์ รวมถึงการบริการก็มีความสำคัญเป็นลำดับตามกันมา เสร็จแล้วผมจะให้เรทติ้งว่าใครเหนือกว่าใครและเหนือกว่ามากไหม จากนั้นจะต้องวิเคราะห์ตัวเลขผลประกอบการต่างๆที่ผ่านมา เพื่อที่จะ“ยืนยัน”ว่าสิ่งที่คิดนั้นจริงไหม โดยปกติผลประกอบการ เช่น อัตราทำกำไรเมื่อเทียบกับยอดขาย มักจะเป็นตัวบอกถึงความเข้มแข็งด้านการตลาด หรือความสามารถแข่งขันได้พอสมควร

นอกจากการวิเคราะห์สิ่งที่เป็นอยู่แล้ว ผมยังต้องดูถึงอนาคตว่าบริษัทไหนจะดีขึ้นหรือแย่ลงโดยเปรียบเทียบ สิ่งสำคัญคือเราต้องดูถึงกลยุทธ์ที่แต่ละบริษัทใช้ในการแข่งขันและเติบโต ดูว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นนั้น ใครกำลังโดดเด่นและใครกำลังถดถอย ข้อมูลชิ้นนี้มีความสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะถ้าบริษัทหนึ่งโดดเด่นขึ้นในแง่การขายและการตลาด และแสดงออกให้เห็นจากผลประกอบการเร็วๆนี้ที่ดีขึ้นมากกว่าคู่เทียบอย่างเห็นได้ชัด เพราะนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าอย่างแท้จริงในอนาคต

หลังจากการวิเคราะห์ตัวกิจการหรือบริษัทแล้ว สิ่งที่เราจะต้องดูต่อไปคือราคา คือดูว่าค่า PE ค่า PB อัตราผลตอบแทนปันผล Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นของบริษัท และอื่นๆที่จะบอกว่าหุ้นตัวไหนคุ้มค่ามากกว่ากัน

ในกรณีที่ใช้ค่า PE เป็นตัวดูความถูกแพง ผมจะเปรียบเทียบ “คุณภาพ” กับ “ราคา” หรือค่า PE ว่าแต่ละตัวเป็นอย่างไร ถ้าคุณภาพสูงกว่าแต่ค่า PE ต่ำกว่า แบบนี้ชัดเจนว่าผมคงจะเลือก แต่ถ้าพบว่าคุณภาพสูงกว่าแต่ค่า PE สูงกว่าด้วย ในกรณีแบบนี้ต้องใช้วิจารณญาณว่า คุณภาพสูงกว่าแค่ไหน และ PE สูงกว่าแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะบอก เพราะนี่เป็นศิลปะและคงต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน เป็นไปได้สูงเหมือนกันที่บางทีเราบอกไม่ได้ว่าตัวไหนดีกว่า

นอกจากการใช้ PE แล้ว ผมมักจะต้องพิจารณาถึงมูลค่าตลาดของหุ้นว่าบริษัทไหนมากกว่ากันและมากเท่าไร นี่เป็นการดูแบบ “ภาพใหญ่” ว่า หุ้นที่เปรียบเทียบกันนั้น ใครมีค่ามากกว่ากันและมากกว่าเท่าไร ถ้าพบว่าบริษัทหนึ่งมีคุณภาพด้อยกว่าหรือพอๆกัน และมีขนาดของธุรกิจใกล้เคียงกันแต่กลับมีมูลค่าตลาดสูงกว่ามาก แบบนี้อาจจะมองได้ว่าหุ้นอีกตัวหนึ่งน่าสนใจกว่า และควรจะเป็นตัวเลือกถ้าเราจะลงทุนระยะยาว

ในกรณีของหุ้นที่หาคู่วิเคราะห์เปรียบเทียบกับคู่แข่งไม่ได้เนื่องจากไม่มีบริษัทที่ใกล้เคียงในด้านของอุตสาหกรรมและขนาดที่เหมาะสม การจับคู่วิเคราะห์สำหรับผมก็มักจะเน้นไปทางด้านของ Market Cap. เสียเป็นส่วนใหญ่ ในกรณีแบบนี้บ่อยครั้งก็มักจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือค่อนข้างใหญ่ที่ธุรกิจหรือยอดขายของบริษัทนั้นมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม บางบริษัทอาจจะเกือบผูกขาดด้วยซ้ำ

หลักคิดผมคือ ถ้าอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่บริษัททำนั้น เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่หรือจะใหญ่มากในอนาคต บริษัทที่ใหญ่หรือยิ่งใหญ่จะต้องมีมูลค่าตลาดมากตาม แต่จะมากน้อยแค่ไหนนั้น เราอาจบอกได้ยาก ดังนั้นวิธีดีกว่าคือเปรียบเทียบกับอีกบริษัทหนึ่งที่ใหญ่หรือยิ่งใหญ่แบบเดียวกัน แต่อยู่ในอีกธุรกิจหนึ่งที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศเราเหมือนกัน พูดง่ายๆเปรียบเทียบกับบริษัทที่มีมูลค่าพอๆกัน -ข้ามอุตสาหกรรม

ถ้าบริษัทที่เราดูอยู่นั้น อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่น่าจะโตเร็วกว่ามาก และจะโตไปอีกมาก จนมีขนาดที่ใหญ่กว่าอีกอุตสาหกรรมหนึ่งมาก โอกาสที่บริษัทจะมีมูลค่าในอนาคตที่สูงกว่าบริษัทที่เราเปรียบเทียบก็จะมาก ดังนั้นเราจะบอกว่าหุ้นตัวนี้น่าจะมีมูลค่าสูงกว่าหุ้นอีกตัวหนึ่งโดยเปรียบเทียบ และถ้าให้เราเลือกที่จะลงทุนก็คงเลือกบริษัทนี้

การเปรียบเทียบข้ามอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่ทำไม่ง่าย ส่วนใหญ่แล้วจะเห็นไม่ชัดว่าหุ้นที่ดูอยู่นั้นถูกหรือไม่ แต่บางครั้งอาจจะพบว่าหุ้นบางตัวมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นตัวอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นที่มีคุณสมบัติด้านการแข่งขันในตลาดพอๆกัน แต่มีศักยภาพเติบโตน้อยกว่ามาก กรณีแบบนี้หน้าที่เราคือซื้อหุ้นและก็ถือไว้ให้ยาวนาน ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามคาด หุ้นจะปรับขึ้นจนมี Market Cap. หรือมีมูลค่าตลาดของหุ้น “สมกับศักดิ์ศรี” ของหุ้น

การจับคู่ หรือบางทีจับหุ้นหลายตัวโดยเฉพาะที่มีธุรกิจคล้ายคลึงกัน มาวิเคราะห์ร่วมกันนั้น ผมคิดว่าเป็นการวิเคราะห์เสริมที่มีประโยชน์ไม่น้อยทีเดียว

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ มันช่วยให้เราเข้าใจบริษัทมากขึ้นไปอีกจากการวิเคราะห์หุ้นตัวเดียว ทำให้รู้ว่าคุณภาพของหุ้นดีระดับไหนและมันแพงหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับอีกตัวหนึ่ง ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าเราอยากซื้อหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ ควรศึกษาเทียบกับแบงก์ใหญ่ที่คล้ายกัน เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยากซื้อแบงก์เล็ก เราก็ควรต้องเปรียบเทียบกับแบงก์เล็กด้วยกัน และบางทีเราก็อาจจะเปรียบเทียบกับแบงค์ใหญ่ไปด้วย

หรือถ้าเราต้องการซื้อหุ้นบันเทิง “ครบวงจร” ควรจะเปรียบเทียบกับหุ้นอีกตัวหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน เช่นเดียวกับหุ้นที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถจะเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจน เพราะพวกเขาทำธุรกิจที่ใกล้เคียงกันมากและแข่งขันกันตลอดเวลา

ถ้าจะสรุปก็คือ หุ้นจำนวนมากนั้น หาคู่ที่จะมาเปรียบเทียบได้เสมอ และ VI ผู้มุ่งมั่นก็ควรจะทำทุกครั้งที่มีโอกาส

https://www.facebook.com/#!/pages/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%A5/198068607020376
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่