ว่าด้วยเรื่อง 'ภาพลักษณ์ของพุทธศาสนาไทย'

กระทู้สนทนา
ก่อนอื่นขอบอกว่านี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า ใครคิดเห็นอย่างไรสามารถนำมาแลกเปลี่ยนกันได้


ข้าพเจ้าเห็นว่า 'ภาพลักษณ์' ของศาสนาพุทธในประเทศไทยที่ถูกนำเสนอออกมานั้น ไม่มีความเกี่ยวโยงหรือสื่ออะไรถึง 'แก่น' ของพุทธศาสนาเลยแม้แต่น้อย

ซึ่งทำให้คนไทยส่วนใหญ่ (ข้าพเจ้าเชื่อว่าเกิน 50 %) ไม่เข้าใจพุทธศาสนา, เข้าใจพุทธศาสนาไม่ถูกต้อง หรือเข้าใจพุทธศาสนาในทางที่ผิดเพี้ยนไป
ทำให้ศาสนาพุทธถูกบิดเบือนไป, คนไม่ได้ประโยชน์จากพุทธศาสนาเท่าที่ควร หรือบางคนอาจจะถึงขั้นมีอคติกับศาสนาไปเลยก็ได้

ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก..

หากเมื่อพูดถึง 'ภาพลักษณ์ ' ของพุทธศาสนา.. คุณเห็นอะไร?
สิ่งที่ผมเห็นก็คือ
- ความน่าเบื่อ, ความไร้สาระ, ความงมงาย, มีพิธีกรรม ประเพณีอะไรมากมายก็ไม่รู้ วุ่นวายไร้สาระ, ไม่มีประโยชน์, เป็นเพียงแต่เรื่องของคนมีทุกข์(มาก) และไม่สามารถหาทางออกได้ จึงต้องไปเอาศาสนาเป็นที่พึ่ง..
- สิ่งที่ (ส่วนใหญ่) พูดกันก็พูดกันแต่เรื่องการทำบุญทำทานเพื่อให้ได้ผลอย่างนู้นอย่างนี้ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเอง 'ต้องการ' หรือพูดอีกอย่างคือทำบุญเพื่อ 'หวังผลตอบแทน' ใน 'อนาคต'  เช่น อยากรวยต้องทำบุญด้วยอันนี้ อยากสวยต้องทำบุญอย่างนี้.... ซึ่งก็ผิดจุดประสงค์ของการทำบุญทำทานที่แท้จริง และอาจยิ่งเป็นการสร้าง 'ตัณหา'  สร้าง 'ตัวตน' ให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย  
- พูดกันถึงเรื่อง ชาติก่อน ชาติหน้า นรก สวรรค์... ซึ่งคือเรื่องของความเชื่อล้วนๆ ไม่ได้มีสาระกับชีวิตอย่างแท้จริง (ไม่ได้บอกว่าไม่จริง)
จริงอยู่ที่มันก็อาจจะดีในแง่ที่ว่าทำให้คน 'ไม่กล้า' ทำไม่ดี เพราะ 'กลัว' ว่าชาติหน้า 'ตัวเอง' จะต้องตกนรก ความเชื่อที่ตั้งอยู่บนความกลัวนั้นทำให้ศาสนาพุทธ (ในลักษณะนี้) ไม่ได้ต่างอะไรไปจากศาสนาอื่น.. และท้ายที่สุดก็ยังคงเป็นเพียงเรื่องของ 'ตัวตน' หรือ 'อัตตา' ล้วนๆ
- เส้นไหว้, บนบาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์, โชคลาง, ฤกษ์.. เหล่านี้ ไม่ใช่ศาสนาพุทธ เพราะตั้งอยู่บนเพียง 'ความเชื่อ' และ 'ความศรัทธา' ไม่ต่างจากศาสนาอื่นอีกเช่นกัน.. หาได้มาจากความรู้ ความเข้าใจ หรือมาจากหลักเหตุและผลที่ 'คนทั่วไป' สามารถเข้าใจได้แต่อย่างใด

แท้จริงแล้วนั้น 'หลัก' ของพุทธศาสนานั้นไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เลย... สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง 'เปลือก' ที่ดูไม่มีสาระ จนทำให้คนรุ่นใหม่ที่มีมันสมองเต็มไปด้วยเหตุและผล ไม่อยากหรือไม่สนใจที่จะแกะเปลือกนี่เข้าไปเพื่อดูถึงแก่นแท้ของมันเลย

นี่แหละคือประเด็นหลัก ที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมโทรม และนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้บางคนที่อาจเรียกตัวเองว่าเป็น ชาวพุทธ.. แต่ยังไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วศาสนาพุทธคืออะไร?

ข้าพเจ้าเห็นว่า แก่น เนี่ยแหละคือสิ่งที่เราควรเข้าใจก่อนสิ่งอื่น (โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีอคติกับศาสนา)..

'ศาสตร์ ' นี้ เป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน ทุกเภท ทุกวัย ทุกศาสนา ทุกกาลเวลา .. เป็นเรื่องสากล
มันเพียงแค่มาอยู่ในรูปแบบของคำว่า 'ศาสนา' จึงทำให้ 'หลักธรรม' นั้นไม่สามารถเข้าถึงได้ สำหรับ 'มนุษย์' ทุกคน...

แล้วแท้จริงแล้ว 'หลักคำสอน' ของพระพุทธเจ้านั้นคืออะไร?
พูดอย่างเข้าใจง่ายๆที่สุดก็คือ เป็นเรื่องของการทำชีวิตให้มีความสุข หรือเรียกว่ามีความทุกข์ให้น้อยที่สุด.. จนถึงไม่มีเลย
เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ กฏของธรรมชาติ (อย่าลืมว่าแท้จริงแล้วมนุษย์เราก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งธรรมชาติ) ที่เกิดขึ้น-ดับไปตามเหตุและปัจจัย

ในภาษาพุทธท่านเรียกว่า "ปฏิจจสมุปบาท" หรือ "อิทัปปัจจยตา" ซึ่งนี่ถือเป็นหลักใหญ่ของพุทธศาสนาเลยก็ว่าได้ ซึ่งท่านก็ได้แจกแจงแยกย่อยไปเป็นหลักอื่นๆที่ทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้น เช่น หลักไตรลักษณ์, หลักอริยสัจ 4, กฏแห่งกรรม.. ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญของ 'ความรู้' เช่นกัน
(จะไม่ขอกล่าวในรายละเอียดตรงนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายกันยาว)

ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของปัจจุบัน เป็นเรื่องของเหตุและผล เป็นเรื่องของการเข้าใจธรรมชาติของตนเอง เป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อให้เห็นจริง..
พระพุทธเจ้าท่านไม่ใช่คนที่กำหนดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา.. ท่านเป็นแต่เพียงคนที่ทดลองพิสูจน์ด้วยตนเอง และค้นพบสิ่งเหล่านี้ ภายในตัวของท่านเอง แล้วจึงนำมาบอกต่อเป็นคำสอน เป็นหลักการ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และปฏิบัติให้เห็นจริงได้ง่ายขึ้น  เราไม่สามารถเข้าใจอย่างแท้จริงหรือเห็นจริงได้ หากไม่ลงมือ 'ปฏิบัติ' ... ท่านท้าให้พิสูจน์ ไม่ใช่ให้เชื่ออย่างงมงาย

แต่ถึงกระนั้น แม้เพียงในเชิงความรู้ (ปริยัติ) ของ 'หลัก' คำสอน ก็ถือว่ามีประโยชน์มากต่อทัศนคติหรือแนวความคิดในการใช้ชีวิต.. มันช่วยทำให้ชีวิตมีความสุขได้มากขึ้น มีความทุกข์น้อยลง เห็นใจและแบ่งปันผู้อื่นมากขึ้น เบียดเบียนผู้อื่นน้อยลง เข้าใจในหลักของเหตุและผล รู้จักสร้างเหตุปัจจัยที่เอื้อต่อผลที่ตนเองต้องการ โดยไม่รอฤกษ์หรือโชคชะตา หรือไปโทษคนอื่น โทษสภาพแวดล้อม โทษอะไรก็แล้วแต่ในผลเกิดขึ้นกับตัวเรา หรือแม้แต่ไปโทษกรรม.. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่มีใครมากำหนดหรือลิขิตแต่อย่างใด..

ท่านสอนให้รู้จักกับ 'อนัตตา' หรือความไม่มีซึ่งตัวตน ไม่มีเรา ของเรา
เราเป็นเพียงองค์ประกอบของสิ่งต่างๆที่มารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน หากเราได้พิจารณามองแยกย่อยลงไปในสิ่งที่เราเรียกว่า 'ร่างกาย' นี้ แยกเป็นส่วนๆไปเรื่อยๆ เราก็จะหาสาระ หรือความเป็นตัวเราอยู่ไม่ได้เลย ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่เป็นของเราโดยแท้จริง มีแต่เพียงสิ่งที่เราสมมุติกันขึ้นมา
ร่างกายนี้เป็นเพียงธรรมชาติ มีเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป (อยู่ทุกขณะ) และทุกข์ก็อยู่ในธรรมชาตินี้... แล้วทำไมเราต้องเอาทุกข์ในธรรมชาตินั้นมาเป็นทุกข์ของเราด้วยเล่า?

สิ่งที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้ ตามหลักของเหตุและผลก็น่าจะพอยอมรับหรือเข้าใจได้อยู่.. แต่เราไม่สามารถเข้าใจหรือเห็นถึงสิ่งเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง
หากไม่ปฏิบัติ.. ซึ่งการปฏิบัตินั้น พูดง่ายๆก็คือการมาเรียนรู้จักธรรมชาติภายในตัวเราเองนั่นเอง
เปรียบว่าร่างกายและจิตใจนี้คือ 'ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ '  

ถึงตรงนี้ข้าพเจ้าก็คิดว่าน่าจะทำให้พอเข้าใจหลัก(ภาพรวมคร่าวๆ)ของศาสตร์นี้กันขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย.. (ใครมีอะไรเสริมก็ยินดีครับ)

อีกเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าอยากให้เข้าใจกัน จากการที่เราชอบพูดกันว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว"
แท้จริงแล้วมันไม่ควรเป็นคำว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว.. มันควรจะเป็นคำว่า "ทำดีได้ความสุข ทำชั่วได้ความทุกข์" มากกว่า
เพราะคนเรานั้น 'ตีความหมาย' ของคำว่า ได้ดี หรือ ได้ชั่ว ไปคนละแบบ เช่น เห็นคนโกงชาติบ้านเมืองแล้วรวย ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมทำชั่ว แล้วจึงได้ดี? เพราะไปตีความหมายว่า ได้ดี นั้นคือ การมีเงินเยอะๆ รวย มีอำนาจ.. แต่หารู้ไม่ว่าการมีสิ่งเหล่านั้นไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เรามีความสุขเสมอไป

พุทธศาสนา(บ้านเรา) ชอบสอนกันแต่เรื่องความรู้ (ที่ไม่ใช่หลัก) และบอกกันแต่ให้ทำ แต่ไม่เคยบอกถึงเหตุผล (ที่เข้าใจได้) เช่น สอนให้ทำความดี ละเว้นความชั่ว สอนให้รักษาศีล สอนให้ทำบุญทำทาน(โดยหวังสิ่งตอบแทน..) สอนให้เคารพกราบไหว้พระพุทธ,พระธรรม,พระสงฆ์  สอนให้นั่งสมาธิ สอนให้สวดมนต์ สอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น สอนให้กลัวตกนรก?? ... ฯลฯ
เรื่องเหล่านี้เรารู้กันมาตั้งนานแล้ว.. แต่ไม่เคยเข้าใจจริงๆซักทีว่าทำไปทำไม...

นั่นก็เป็นเพราะคนที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาจริงๆ แต่ดันไปสร้าง 'เปลือก' ให้กับพุทธศาสนานั่นเอง

คนไปเน้น 'พิธีกรรม' มากกว่า 'คำสอน' หรือ 'การปฏิบัติ' ทำให้เราไม่เห็นสาระที่แท้จริงของพุทธศาสนา
พิธีกรรมเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้เราตระหนักถึงความดีงามและประโยชน์ที่พระพุทธศาสนามีให้แก่เรา เป็นการแสดงความนอบน้อม (ถ้าเราเข้าใจภาษาบาลีที่สวดกันเป็นชั่วโมงๆก็จะได้อะไรมากกว่านี้.. ) แต่ถ้าเรายังไม่รู้ว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร พิธีกรรมหรือสิ่งที่เราทำไปก็(แทบจะ)ไม่มีความหมาย..

และพิธีกรรมที่ว่านี้.. ควรทำให้ 'มี' หรือ ทำให้ 'เห็น' ประโยชน์ได้มากกว่านี้ได้มั้ย?

มาถึงตรงนี้ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้ 'เปลือก' นั้นสื่อถึง 'แก่น' ? คือให้ภาพลักษณ์นั้นสื่อถึงสาระของแก่นได้อย่างไรบ้าง?
ไม่ใช่เรื่องง่าย.. แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
- อย่างประเทศศรีลังกา ดอกไม้ที่วางไว้บูชาพระพุทธรูป แทนที่เมื่อเหี่ยวเฉาแล้วเขาจะนำเอาไปทิ้ง แต่เขาจะเก็บทิ้งไว้ซักระยะหนึ่ง เพื่อให้คนได้พิจารณาถึงความเป็นอนิจจัง สวยงามได้ซักประเดี๋ยวก็เหี่ยวเฉาและตายไป ไม่ต่างอะไรไปจากชีวิตของคน
แค่นี้ก็คือสาระเล็กๆน้อยๆที่สามารถทำได้

- หรืออย่างเช่น พระ(ไทย)บางแห่ง จะมีการพาไปดูผ่าศพ หรือคือการพิจารณาร่างกาย สังขาร ความตาย ความเป็นอนิจจัง เพื่อลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน นี่ก็ถือเป็นประโยชน์อย่างมาก...
จะเป็นไปได้มั้ยหากเราทำสิ่งนี้เป็นประเพณีให้คนธรรมดาสามารถดูด้วยได้ (ต้องอธิบายให้คนเข้าใจด้วยว่าดูไปทำไม) คนที่ตายก็ต้องบริจาคศพตัวเองเป็นอาจารย์ใหญ่ ซึ่งถือว่าได้บุญได้อานิสงค์ไม่ใช่น้อย.. ดีกว่าฝังศพเราไปหรือเผาไปเฉยๆ

- ควรเพิ่มการเรียนภาษาบาลีเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน.. เพราะหากเราเข้าใจภาษาบาลี หรือพอรู้ภาษาบาลีแล้ว อย่างน้อยก็จะทำให้เราพอเข้าใจบทสวดมนต์ที่เราสวดกันมากขึ้น ไม่ใช่สักแต่ว่าสวดไป เพื่อให้เกิดสมาธิ?..หรืออะไรก็แล้วแต่

- ...อย่างอื่นยังคิดไม่ออกครับ หากใครมีความเห็นอย่างไรเพิ่มเติมก็ยินดีเลยครับ

- แต่ที่แน่ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องของการสอนธรรมมะ ควรสอนให้อยู่บนพื้นของหลักคำสอน.. ไม่ใช่สอนเรื่องงมงาย เรื่องที่เป็นความเชื่อ
ข้าพเจ้าถือว่า เรื่องชาติก่อน ชาติหน้า นรก สวรรค์ ถือเป็นเรื่องความเชื่อ เพราะเราไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ (ไม่ได้บอกว่ามันไม่จริง ข้าพเจ้าก็ 'เชื่อว่า' มันมีจริง) และมันไม่ใช่เรื่องในปัจจุบัน
เราควรที่จะเข้าใจหลักของศาสนาพุทธให้ดีก่อน แล้วเรื่องพวกนั้นจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่... แต่มันไม่ใช่หลักที่เราควรไปยึดหรือไปพร่ำสอนกัน

-อย่างเรื่องทำบุญทำทานก็เช่นกัน  สอนว่าอยากรวยต้องทำบุญด้วยสิ่งนี้ อยากสวยต้องสิ่งนี้ อยากฉลาดต้องสิ่งนี้  นี่ผิดหลักของศาสนาพุทธโดยสิ้นเชิง... การทำบุญทำทานนั้นก็เพื่อเป็นการรู้จักการให้ การแบ่งปัน ลดความยึดมั่นถือมั่นในของๆตนเอง การรู้จักการมีความสุขจากการให้ ให้โดย 'ไม่หวังผลตอบแทน'  ให้เพื่อหวังจะช่วยเหลือหรือเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น (ไม่ใช่สักแต่ว่าให้อะไรก็ได้) ความสุขที่เกิดขึ้นขณะให้ นั่นแหละ คือ 'บุญ' ที่เราได้จริงๆ.. อย่างอื่นก็เป็นเพียงผลพลอยได้

- อย่างเรื่องการรักษาศีล ก็ไม่ใช่บอกว่าถ้าไม่รักษาแล้วชาติหน้าจะเกิดเป็นอย่างนู้นอย่างนี้ มันเป็นเพียงการสร้าง 'ความกลัว' ต่อการทำสิ่งไม่ดี
ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของการรักษาศีล และทำให้ความหมายของการรักษาศีลผิดเพี้ยนไป  การรักษาศีลไม่ควรต้องเกิดจากความกลัว.. แต่ควรเกิดจากความเข้าใจและศรัทธา เราต้องอยากรักษาศีล ไม่ใช่เพราะเป็นข้อบังคับ
เมื่อเรารักษาศีล ศีลก็จะรักษาเรา คือป้องกันไม่ให้เราไปทำเรื่องที่จะทำให้เราเกิดความทุกข์หรือทำสิ่งไม่ดีกับตัวเราหรือผู้อื่นนั่นเอง

- ระบบของวัด กิจกรรมในวัด ก็ควรที่จะเน้นสอนปริยัติให้เข้าใจก่อน และปฏิบัติให้มากๆ ไม่ใช่ไปเน้นที่พิธีกรรม ท่องบทสวดมนต์ยาวเหยียดกว่าจะจำได้ต้องนั่งท่องเป็นเดือนๆ แต่ไม่รู้ถึงความหมาย  ..เพียงเพื่อสืบทอดพิธีกรรม.. ไม่มีความเข้าใจในหลักธรรม
1 ปีแรกที่เข้าไป ควรห้ามไม่ให้มีการพูดคุยกัน หรือพูดคุยกันน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดผลดีต่อการปฏิบัติมากที่สุด สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่ม สภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญมาก.. หากพระไม่ปฏิบัติจนเห็นได้จริงแล้วด้วยตนเอง แล้วจะมาสอนลูกศิษย์ได้อย่างไร?

- ปริยัติ 'ความรู้' เป็นสิ่งสำคัญก่อนที่จะปฏิบัติ การปฏิบัตินั้นก็มีหลายแบบหลายวิธีมากมายให้ศึกษาและลองปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับจริตคน
ผิดถูกอย่างไรขอให้ศึกษากันให้ดีๆ.. มีหลายคนที่อ้างว่าตัวเองปฏิบัติได้ถึงระดับนู้นนี้ แต่ยังคงมาด่าว่า ใช้อารมณ์ แสดงมานะ(ความหลงตน)กันในอินเตอเนต นั่นก็แสดงให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติเหล่านั้นไม่ได้มีปัญญา หรือเข้าใจในหลักคำสอนเพียงพอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่