ธุรกิจ Healthcare/วีระพงษ์ ธัม

กระทู้สนทนา
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=56733

คิด วิเคราะห์ แยกแยะ​
ธุรกิจ Healthcare​                วีระพงษ์ ธัม
23 ต.ค. 2556​​             www.10000Li.net


อมยิ้ม03

   ​ธุรกิจ Healthcare คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่างของการดูแลความเป็นอยู่ด้านสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมขอบเขตค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่เรื่องยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ การบริการรักษาพยาบาล  โดยแบ่งออกเป็นหลาย ๆ มิติ ทั้งการแบ่งตามอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ของมนุษย์ หรือแบ่งตามระดับความซับซ้อนในการรักษา เช่นถ้าปวดหัว เป็นไข้แล้วเข้าไปหาหมอทานยา ก็เป็นการรักษาแบบปฐมภูมิ (Primary Care) ถ้ามีความจำเป็นต้องวิเคราะห์สาเหตุให้ลึกกว่านั้น ก็ไปหาหมอเฉพาะทางซึ่งก็นับเป็นทุติยภูมิ (Secondary care) และหากจะต้องใช้เครื่องมือพิเศษและเพิ่มความซับซ้อนขึ้นไปอีก ก็จะเรียกว่าตติยภูมิ (Tertiary care) หรือ จตุตถภูมิ (Quaternary care) ตามลำดับ โรงพยาบาลในประเทศไทยส่วนมากจะเป็นการรักษาประเภทปฐมภูมิและทุติยภูมิเป็นหลัก

   ​โดยปกติแล้วค่าใช้จ่ายทางการรักษาพยาบาลต่อหัวจะแปรผันตามความมั่งคั่งของประเทศ หรือความเป็นอยู่ของประชาชน อย่างเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีอัตราส่วนการใช้จ่ายทางการแพทย์สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา เช่นสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ถึง 17% ต่อ GDP เปรียบเทียบกับประเทศไทยหรือประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมักจะแค่เพียง 2-5% เท่านั้น และยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างประชากร ถ้าประชากรเป็นวัยผู้สูงอายุจำนวนมาก ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์สูงกว่าประเทศที่มีประชากรวัยหนุ่มสาว เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสี่ที่อยู่ในลำดับท้าย ๆ หากประเทศยังเพิ่งสร้างตัว แต่จะเป็นค่าใช้จ่ายสูงลำดับแรก ๆ หากประเทศเริ่มถึงจุดอิ่มตัวแล้ว

   ​ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นได้ยาก เนื่องจากการสร้างฐานลูกค้าของโรงพยาบาลใหม่ ๆ มี Switching cost ที่สูง และต้องอาศัยการสร้างความคุ้นเคยของคนไข้เป็นอย่างมาก รวมถึงชื่อเสียงที่ต้องสั่งสมเป็นระยะเวลาหนึ่ง และยังจำเป็นต้องลงทุนสูงในเครื่องมือแพทย์ ดังนั้นบ่อยครั้งที่ธุรกิจนี้จะขาดทุนในช่วงเริ่มต้นก่อนที่จะทำกำไร แต่ในอีกแง่หนึ่ง ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ธุรกิจนี้มี Barrier to Entry ค่อนข้างสูง โรงพยาบาลเปิดใหม่ไม่ค่อยเห็นได้บ่อยนัก ถ้ามีการขยายมักจะเป็นการขยายตัวของโรงพยาบาลเดิม หรือเป็นการขยายของโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายกว้างขวางอยู่แล้วเสียมากกว่า

   ​ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ การหาแพทย์หรืออันที่จริงก็คือ Supplier สำคัญที่ช่วยให้บริการกับลูกค้าของโรงพยาบาล ดังนั้นหัวใจหนึ่งของความสำเร็จของธุรกิจ คือการดึงดูดแพทย์ที่มีความชำนาญเข้ามาร่วม รวมถึงความเสี่ยงด้านนโยบายภาครัฐก็มีอิทธิพลกับธุรกิจค่อนข้างมาก เพราะถือว่าเป็นความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชน

   ​แต่สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทย ถือว่าเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างโดดเด่นและสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ เป็นเพราะค่ารักษาพยาบาลที่ไม่แพง เมื่อเทียบกับคุณภาพและบริการที่ได้รับ นักเรียนแพทย์ของไทยก็มีชื่อเสียงในวงการแพทย์ต่างประเทศ หัวกะทิของประเทศนิยมที่จะเรียนหมอในประเทศไทย บวกกับคนไข้ในไทยก็ค่อนข้างเคารพหมอ ประเทศไทยยังมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว และเป็นศูนย์กลางหนึ่งของธุรกิจการบินอยู่เป็นทุนเดิม จึงทำให้เกิด Medical Tourism ของธุรกิจโรงพยาบาลที่ภาครัฐสนับสนุน และเฟื่องฟูในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ

   ​ปัจจัยบวกอีกอย่างหนึ่งคือโครงสร้างประชากรไทยใหญ่พอ และมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ด้วยฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงช่วยหนุนให้ธุรกิจมีฐานลูกค้าที่ช่วยลดต้นทุนการบริหารขึ้นไปอีก ด้วยปัจจัยข้างต้นทำให้ปัจจุบันประเทศไทย รวมไปถึงอินเดีย สิงค์โปร์ เหมือนกับโรงงานด้านการบริการสุขภาพของโลก เหมือนกับที่เคยเป็นโรงงานผลิตสินค้าให้กับโลกยามที่ค่าแรงบ้านเราถูก และส่งผลให้โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ที่รับลูกค้าต่างชาติของโลกจึงอยู่ในบริเวณนี้เกือบทั้งสิ้น

   ​อย่างไรก็ดี ธุรกิจ Healthcare ไม่ได้มีเพียงแต่โรงพยาบาล เพราะอันที่จริงแล้ว ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก คือธุรกิจยา และเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่อาศัยต้นทุนการวิจัยและพัฒนาในระดับสูง แต่หากวิจัยสำเร็จ ก็จะสามารถจดสิทธิบัตร และครอบครองสิทธิ์ในการขายโดยเด็ดขาด กำไรของกิจการก็จะสูงมาก กำไรจึงแปรผันตามความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา และอายุสิทธิบัตรพอสมควร ธุรกิจไบโอเทคโนโลยีซึ่งเป็นจุดกำเนิดหนึ่งของการคิดค้นยาและเครื่องมือแพทย์จึงเป็นธุรกิจแห่งอนาคตอย่างหนึ่งของประเทศที่พัฒนาแล้ว และในอีกด้านหนึ่งยาหรือเครื่องมือการแพทย์ที่หมดอายุสิทธิบัตรแล้ว แม้จะทำกำไรได้ต่ำกว่ามาก ก็เป็นธุรกิจที่มีการขยายตัวอยู่สูง ดังนั้นธุรกิจ Healthcare ในประเทศไทยจึงยังมีอะไรให้ทำอีกเยอะทีเดียว
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  หุ้น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่