ลดเสียงรักษาสุขภาพหู

กระทู้สนทนา

  เวียนหัวบ้านหมุน หูหนวก หูตึง ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะของผู้สูงอายุอีกต่อไป แพทย์พบว่าคนวัยหนุ่มสาวเข้ามารักษาความผิดปกติทางการ  ได้ยินมากขึ้น
  การสูญเสียการได้ยินในผู้ใหญ่ อาจมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมาจากโรคประจำตัว อย่างเช่น เบาหวาน ความดันโลหิต ไขมันสูง โรคหัวใจ ตลอดถึงผลข้างเคียงของยาบางชนิดก็ได้ หรือคนทั่วไปที่มีอาการที่ว่าแถมอยู่ๆ ก็หูอื้อ หูตึง เวียนหัวบ้านหมุนเป็นนานเกินกว่า 3 วัน หรือเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน ให้รีบมาพบแพทย์ด่วน เพื่อรับการตรวจและการรักษา เพราะต้นเหตุที่พบอาจมาจากน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือหินปูนในหูหลุด ซึ่งรักษาให้หายได้

“ทุกวันนี้ เราใช้ชีวิตท่ามกลางมลภาวะทางเสียงที่ดังเกินกว่าหูของเราควรได้รับ หรือเกินกว่า 70 เดซิเบล อีกทั้งคนรุ่นใหม่เสพติดเทคโนโลยีทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ดูหนัง ฟังเพลง ร้องคาราโอเกะ ดูคอนเสิร์ต รวมถึงนิยมออกกำลังกายด้วยกีฬาประเภทที่ผาดโผน โจนทะยาน ห้อยหัวตีลังกา ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดปัญหาเรื่องการได้ยิน” พญ.สุจิตรา ประสานสุข ผู้อำนวยการศูนย์การได้ยิน การพูด และการทรงตัว เสียงในหู โรงพยาบาลกรุงเทพ และประธานองค์กรเพื่อการได้ยินนานาชาติ กล่าว

พฤติกรรมการทำร้ายหูที่คุ้นเคยกันดีก็คือ การใช้ไม้สำลีปั่นหู การใช้ไม้แคะหู รวมถึงพฤติกรรมที่ชอบฟังเพลงด้วยหูฟังในสถานที่มีเสียงดัง อย่างสนามบิน รถไฟ สถานที่ก่อสร้าง หรือแม้แต่บนรถเมล์ กิจกรรมเหล่านี้ผิดมหันต์ เพราะทำให้ต้องเพิ่มระดับเสียงของเครื่องเล่นให้ดังกลบเสียงด้านนอก และอาจทำให้ประสาทรับรู้การได้ยินมีปัญหาในระยะยาว

การใช้หูฟังกับเครื่องเล่นที่ถนอมการได้ยินนั้น คุณหมอแนะนำว่า ให้ฟังในสถานที่เงียบ แล้วเปิดระดับความดังไม่เกิน 50% ของเครื่องเล่นและไม่ควรฟังต่อเนื่องนานกว่าครั้งละ 1 ชั่วโมง รวมถึงหลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่มีเสียงดังต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ผับ ร้านคาราโอเกะ หรือสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงรบกวนตลอดเวลา เพราะอนาคตจะทำให้การได้ยินของหูมีประสิทธิภาพที่ลดลง จากระดับเสียงต่ำๆ เบาๆ ก็ได้ยิน กลายเป็นว่าต้องดังมากขึ้นเรื่อยๆ

การออกกำลังกายก็มีผลทำให้หูมีปัญหาได้เช่นกัน จึงควรเลือกชนิดที่ไม่ผาดโผนมากนัก เพราะมีประวัติคนไข้ที่ออกกำลังกายด้วยท่าทางที่ผาดโผน ห้อยหัวตีลังกา ส่งผลต่ออาการน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือหินปูนในหูเคลื่อนที่ได้ รวมถึงหากมีน้ำเข้าหูแล้วรู้สึกหูอื้อไม่หายก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หรือคนที่แก้วหูทะลุ เคยผ่าตัดทำให้เกิดช่องว่างในหู ถ้าน้ำหรือเชื้อโรคเข้าไปได้ก็เสี่ยงที่จะติดเชื้อและพัฒนาเป็นโรคหูน้ำหนวก และมีปัญหาทางการได้ยินได้ทั้งสิ้น

นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว พันธุกรรมและความประมาทของมารดา ก็มีส่วนทำให้เกิดความพิการทางการได้ยินในบุตรได้เช่นกัน อุบัติการณ์ปัจจุบันจะมีทารกแรกเกิด 3 ใน 1,000 คนที่พิการทางการได้ยินหรือหูตึงมาแต่กำเนิด ด้วยสาเหตุมาจากพ่อแม่ และผลจากโรคของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด จึงไม่ควรชะล่าใจที่จะตรวจคัดกรองการได้ยิน ไม่ว่าจะทารกหรือผู้ใหญ่ เพื่อการวางแผนรักษาหรือฟื้นฟูได้ทันการณ์

คุณหมอ บอกอีกว่า การทำความสะอาดที่ถูกต้องนั้นเพียงแค่ใช้ผ้าเช็ดบริเวณใบหูและปากรูหูด้านนอกเท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องล้วง แคะ แกะ เกาหรือเอาอะไรไปปั่น อีกทั้งเลี่ยงกิจกรรมที่ทำร้ายประสิทธิภาพในการได้ยิน และที่สำคัญที่สุดคือ ทุกคนควรช่วยกันลดเสียงที่ทุกคนก่อขึ้น พยายามใช้เสียงเท่าที่จำเป็นในทุกสภาวการณ์ ทุกระดับความเป็นอยู่ เราก็จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดเสียงดัง ไม่รบกวนกายใจสมองและหู

*****************

'ทารก' อย่าให้สายเกินไป

ปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด ใช้เวลาประมาณ 5 นาที และหากว่าไม่ผ่านซึ่งสงสัยว่าหูหนวกหรือหูตึง จะนัดตรวจยืนยันภายในเวลา 6 เดือนแรก เพื่อให้การรักษาและฟื้นฟูบำบัดโดยใช้เครื่องช่วยการได้ยิน รวมทั้งการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมและสอนพูดได้ทันเวลา ไม่ให้อาการหูตึงหูหนวกเป็นเหตุให้ไม่สามารถพูดได้ หรือเป็นใบ้ในที่สุด

ยิ่งตรวจพบความผิดปกติล่าช้า การฟื้นฟูจะเป็นไปได้ยาก เพราะพัฒนาการทางสมองส่วนการได้ยินจะสูญเสียไปภายใน 2 ขวบ ดังนั้น การฟื้นฟูอาการหูตึงในเด็กแรกเกิด ควรทำตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ขวบ เนื่องจากจะสามารถเสริมทักษะต่างๆ ได้ง่าย แต่ถ้าหากอายุเกิน 3 ขวบ การฟื้นฟูจะยากหรืออาจไม่เกิดผล เพราะสมองที่พัฒนาการพูดหยุดชะงัก

อย่างไรก็ตาม หากเด็กไม่ได้ผ่านการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่แรกเกิด ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการเริ่มต้นได้ อาทิ เด็กไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงหรือพูดด้วยไม่หัน ไม่รับรู้ ตรวจวินิจฉัยตลอดจนการไม่เลียนเสียงพ่อแม่ ออกเสียงไม่ชัดเจน

ส่วนการให้การรักษาฟื้นฟูจะเป็นไปตามช่วงอายุที่พบ แต่แพทย์จะให้ความรู้ในการเลือกเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกัน ส่วนการใช้การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมทำได้ในบางคนเท่านั้น

ข้อมูลจาก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20131022/537096/%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AB%E0%B8%B9.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่