พุทธทรรศนะของพระพุทธเจ้าต่อนรกและสวรรค์



ภารกิจที่ต้องปฏิบัติประจำวันของพระพุทธเจ้าตามที่ท่านโบราณาจารย์จัดไว้นั้น  นอกจากจะติดต่อสัมพันธ์กับบริษัท  4  คือ  ภิกษุ   ภิกษุณี  อุบาสก   และอุบาสิกาในโลกมนุษย์ ยังมีช่วงเวลาหนึ่งที่พระพุทธเจ้าต้องติดต่อสัมพันธ์ติดต่อสัมพันธ์กับพวกเทวดา  ดังกำหนดการแสดงพุทธกิจประจำวันตั้งแต่เช้าไปจนถึงตอนใกล้รุ่งของวันใหม่ดังนี้

1.  ปุพฺพญฺเห ปิณฑปาตํ เวลาเช้า เสด็จออกบิณฑบาต

2.  สายญฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็น แสดงธรรม

3.  ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำคืน ประทานโอวาทแก่ภิกษุ

4.  อทฺฒรตฺเต เทวปญฺหํน เวลาเที่ยงคืน ตอบปัญหาเทวดา

5.  ปจฺจูเสว คเต  กาเล  ภพฺพาภพฺเพ  วิ  โลกนํ   เวลาใกล้รุ่ง  ทรงตรวจดูสัตว์โลก


จากกำหนดการพุทธกิจนี้  จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าต้องติดต่อสัมพันธ์กับพวกเทวดาและสวรรค์อยู่เป็นประจำทุกวัน  ข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกจึงมีเรื่องของพวกเทวดาและสวรรค์มาก  แต่ถ้ากล่าวถึงความสำคัญแล้ว  พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญแก่สวรรค์และนรกเท่าเทียมกัน  เพราะสวรรค์เป็นจุดหมายระดับหนึ่งของการทำความดี  และนรกเป็นจุดหมายที่รองรับผู้ทำความชั่ว  แม้เขาจะไม่ได้ตั้งจุดหมายเอาไว้ก็ตาม

ในการตรัสสอน  เรื่องนรกและสวรรค์   พระพุทธเจ้าจะตรัสถึงนรกก่อน  แล้วตรัสถึงสวรรค์ควบคู่กันไปเสมอ  และมีเป็นบางกรณีเช่นกันที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงเฉพาะเทวดา  (ซึ่งเท่ากับว่าตรัสถึงสวรรค์นั่นเอง)   โดยที่ไม่ได้ตรัสถึงนรก  หรือตรัสถึงเฉพาะนรกโดยที่ไม่ได้ตรัสถึงสวรรค์

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลทั้งผู้ประกอบด้วยธรรม  4  ประการ  ย่อมอุบัติในนรก....คือ บุคคลผู้ทำปาณาติบาตโดยปกติ  ทำอทินนาทานโดยปกติ  ทำกาเมสุมิจฉาจารโดยปกติ  พูดมุสาวาทโดยปกติ..”

(นิรยสูตร,องฺ.จตุกฺก.๒๑/๖๔.)

“.....บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม  4  ประการ   ย่อมอุบัติในนรก....คือ    บุคคลผู้ทำปาณาติบาตโดยปกติ   ทำกาเมสุมิจฉาจารโดยปกติ  ทำอทินนาทานโดยปกติ    พูดมุสาวาทโดยปกติ...บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม  4   ประการ  ย่อมอุบัติในสวรรค์....คือ  บุคคลเป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต   เว้นจากอทินนาทาน  เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร  เว้นจากพูดมุสาวาท....”

(ปาณาติปาตสูตร,องฺ.จตุกฺก.๒๑/๘๑.)

“....บุคคลประกอบด้วยธรรม   4   ประการ  ย่อมอุบัติในนรก...คือ  บุคคลเป็นผู้พูดมุสาวาทโดยปกติ  พูดส่อเสียดโดยปกติ   พูดคำหยาบโดยปกติ  พูดสำรากโดยปกติ   พูดสำรากโดยปกติ...บุคคลประกอบด้วยธรรม  4  ประการ  ย่อมอุบัติ ในสวรรค์...คือ บุคคลเป็นผู้เว้นจากมุสาวาท  เว้นจากพูดส่อเสียด  เว้นจากพูดคำหยาบ  เว้นจากพูดสำราก...”

(มุสาสูตร,องฺจตุกฺก.๒๑/๘๒.)

“....บุคคลประกอบด้วยธรรม  4  ประการ  ย่อมอุบัติในนรก  ....คือ  บุคคลไม่ใคร่ครวญไม่สอบสวนแล้วชมคนที่ควรติ  1,  ติคนที่ควรชม   1,  ปลูกความเลื่อมใสในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส 1,  แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะอันควรเลื่อมใส  1,......บุคคลประกอบด้วยธรรม  4  ประกอบ  ย่อมอุบัติในสวรรค์....คือ  บุคคลใคร่ครวญสอบสวนแล้วติคนที่ควรติ 1,  ชมคนที่ควรชม  1,  แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส  1,  ปลูกความเลื่อมใสในฐานะอันควรเสื่อมใส 1....”

(วัณณสูตร,องฺจตุกฺก.๒๑/๘๓.)

“......บุคคลประกอบด้วยธรรม  4  ประการ  ย่อมอุบัติในนรก.....คือบุคคลเป็นผู้หนักในความโกรธไม่หนักในพระสัทธรรม  1,  เป็นผู้หนักในความลบหลู่ท่าน  ไม่หนักในพระสัทธรรม  1,  เป็นผู้หนักในลาภ  ไม่หนักในพระสัทธรรม  1,  เป็นผู้หนักในสักการะ   ไม่หนักในพระสัทธรรม  1,...บุคคลประกอบด้วยธรรม  4  ประการ  ย่อมอุบัติในสวรรค์....คือ  บุคคลเป็นผู้หนักในพระสัทธรรม  ไม่หนักในความโกรธ 1,  เป็นผู้หนักในพระสัทธรรม  ไม่หนักในความลบหลู่ท่าน  1,   เป็นผู้หนักในพระสัทธรรม  ไม่หนักในลาภ 1,  เป็นผู้หนักในพระสัทธรรม  ไม่หนักในสักการะ  1,....”

(โกธสูตร,องฺ.จตุกฺก.๒๑/๘๔.)



โอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหมด  สรุปลงเป็น  3  อย่างคือ

เว้นจากความชั่วทุกชนิด  
ทำความดีให้ถึงพร้อม  
และทำใจของตัวเองให้ผ่องใสบริสุทธิ์
  

พุทธวิธีในการสอนจึงมุ่งให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโอวาททั้ง 3  ประการดังกล่าว  
โดยทรงแสดงให้เห็นว่าผลของการทำความชั่วคือนรก  ผลของการทำความดีคือสวรรค์  
แต่เนื่องจากภารกิจประจำวันของพระพุทธเจ้า  มีกำหนดการช่วงตั้งแต่เที่ยงคืนเป็นต้น  ไปทุกวันที่ต้องพบปะสนทนากับพวกเทวดา  จึงทำให้ดูเหมือนว่า  พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญแก่พวกเทวดาและสวรรค์มากกว่าในนรก   พระพุทธองค์ตรัสถึงกิจกรรมที่เป็นบุญซึ่งพวกเทวดากระทำและพฤติกรรมเล็กน้อยของพวกเทวดาให้หมู่ภิกษุฟังเสมอ

“....ก็โดยสมัยนั้นแล  ในชมพูทวีป  มีอาวาสอยู่  84,000  อาวาส  เมื่อล่วงไปได้พรรษาหนึ่งแล้วเทพดาทั้งหลายได้ร้องประกาศว่า  ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย   ล่วงไปพรรษาหนึ่งแล้ว  บัดนี้ยังเหลืออีก  5  พรรษา  โดยล่วงไป  5  พรรษา  ท่านทั้งหลาย  (ภิกษุ)  พึงเข้าไปพระนครพันธุมดีราชธานี  เพื่อสวดปาติโมกข์....”

(มหาปทานสูตร,ที.ม.๑๐/๕๓.)

“...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สมัยหนึ่ง  เราอยู่ที่ควงไม้พญาสาลพฤกษ์  ในป่าสุภวัน  ใกล้อุกกัฏฐนคร  ภิกษุทั้งหลาย  เมื่อเรานั้นไปเร้นอยู่ในที่ลับ  เกิดความรำพึงในใจว่า ชั้นสุทธาวาส (ที่อยู่ของเทวดาอนาคามี)  ซึ่งเรามิได้เคยอยู่เลยโดยกาลอันยืดยาวนี้  นอกจาเทวดาเหล่าสุทธาวาสแล้วไม่ใช่โอกาสที่ใครจะได้โดยง่ายถ้ากระไร  เราพึงเข้าไปหาเทวดาเหล่าสุทธาวาสถึงที่อยู่.....”

“......ภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพนั่นเอง  เทพนับร้อยนับพันเป็นอันมาก  ได้เข้ามาหาเรา  เมื่อเข้ามาหาแล้ว  ได้ยืนอยู่ข้างหนึ่ง  เมื่อยืนอยู่เรียบร้อยแล้ว  ได้กล่าวกะเราว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญในภัททกัปนี้  (ภัททกัป  หมายถึงกัปที่โลกไม่ว่างจากพระพุทธเจ้า)   พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้เสด็จอุบัติในโลก    พระองค์เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ....”

(มหาปทานสูตร,ที.ม.๑๐/๕๕.)


เมื่อจะตรัสถึงเทวดาและสวรรค์มาก   แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ความสำคัญมากไปกว่านรกเลยทรงมองพวกเทวดาในฐานะเป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่งเท่านั้น  และเป็นสัตว์โลกที่เต็มไปด้วยปัญหาเช่นเดียวกันกับสัตว์โลกชนิดอื่น  พวกเทวดาในสวรรค์มีปัญหาหนึ่งที่เหมือนกันกับสัตว์ในนรก  คือ  ไม่มีพระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า  พระสาวกพุทธเจ้าเกิดขึ้นในสวรรค์และนรก  จึงมีโอกาสที่จะได้รับฟังธรรมเทศนาน้อยมาก  มีเป็นบางครั้งเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธสาวกจะขึ้นไปยังสวรรค์  หรือลงไปนรกเพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่อาศัย  อยู่ในที่นั้น  ๆ  พวกเทวดาอยู่ในฐานะที่ดีกว่าสัตว์ในนรกตรงที่นอกจากวิถีชีวิตจะเพียบพร้อมไปด้วยสมบัติพิเศษแล้ว   เมื่อมีปัญหา  ยังสามารถลงมายังโลกมนุษย์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธสาวกเพื่อเรียกถามวิธีแก้ปัญหาได้  ในทรรศนะของพระพุทธเจ้า  ความเป็นเทวาดจึงไม่ใช่สิ่งวิเศษที่พึงประสงค์สูงสุด  เพราะยังเต็มไปด้วยความทุกข์อยู่ในพระพุทธศาสนายังมีสิ่งที่พึงประสงค์สูงสุดยิ่งกว่านี้อีก  เพราะในวิถีชีวิตมนุษย์มีสิ่งพึงประสงค์อยู่  3  อย่าง  คือ  

1.  มนุษยสมบัติ ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ของสิ่งที่น่าปรารถนาในมนุษย์

2.   เทวสมบัติ ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ในสวรรค์   สมบัติของเทวดา

3.   นิพพานสมบัติ ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์คือพระนิพพาน

(นิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ,ขุ.ขุ.๒๕/๙.)

นรชนผู้มีวิชชาจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในความเป็นเทวดาในสวรรค์   บุคคลที่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นเทวดาในสวรรค์เป็นพวกที่ยังตกอยู่ในอำนาจกิเลสคืออวิชชา  มีความไม่รู้แจ้งในจิตสันดานหมักหมมไปด้วยกิเลส

“....ย่อมหมายรู้เทวดาโดยความเป็นเทวดา  ครั้นหมายรู้เทวดาโดยความเป็นเทวดา  ย่อมสำคัญหมายเทวดา  ย่อมสำคัญหมายในเทวดา  ย่อมสำคัญโดยความเป็นเทวดา  ย่อมสำคัญเทวดาว่าของเรา  ย่อมยินดีซึ่งเทวดา  ข้อนั้นเพราะเหตุไร   เราตถาคตกล่าวว่า  เพราะเขาไม่รู้”

(มูลปริยายสูตร,ม.มู.๑๒/๑.)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่