บทวิเคราะห์ วิจารณ์ >>> 'สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย' จุดประกายละคร 'น้ำดี'

เราอ่านบทวิเคราะห์ วิจารณ์ อันนี้จบแล้ว เขียนได้ดีมากทีเดียว
จึงยกมาให้อ่านกันค่ะ

.
.


'สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย'จุดประกายละคร'น้ำดี'
'สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย'จุดประกายละคร'น้ำดี' : สกู๊ปบันทิง

    
          หากจะพูดถึงละครรีเมกที่ดูธรรมดาแต่ไม่ธรรมดาอย่าง "สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย" ของผู้จัดและผู้กำกับฝีมือดี "ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง" ทางช่อง 7 สี ละครที่ได้รับการชื่นชมเป็นเสียงเดียวกันว่า มีการฉีกรูปแบบเดิมๆ ของละครวิกหมอชิตโดยสิ้นเชิง สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจน คือความละเมียดละไมในการถ่ายทำ มุมภาพสวย เพราะมีการนำเทคนิคการถ่ายภาพยนตร์เข้ามาปรับใช้ในงานละคร  
    
          โดยอาจจะมีการใช้กล้องเดียวในการถ่ายทำ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะการถ่ายทำลักษณะนี้ในหนึ่งซีนนักแสดงจะต้องเล่นบทเดิมซ้ำหลายครั้ง เพื่อเก็บภาพให้ได้ทุกมุม ต่างจากการถ่ายทำละครตามปกติที่จะใช้กล้องหลายตัว เก็บภาพหลายมุม เพื่อความรวดเร็วในการถ่ายทำ ฉะนั้นทีมงาน นักแสดง รวมถึงผู้กำกับ จะต้องใช้พลังงาน และความอดทนอย่างสูงในการทำงาน
    
          มาดูในส่วนของนักแสดงนำในบท "หรั่ง" ที่พระเอกหนุ่ม "พอร์ช-ศรัณย์ ศิริลักษณ์" ถ่ายทอดออกมาได้มีเสน่ห์มาก สวมบทบาท "ลูกผู้ชาย" ในอุดมคติ จนสร้างความเชื่อได้ว่า "หรั่ง" กำลังมีชีวิตจริงๆ เพราะเป็นตัวละคร ที่มีคุณค่า "ความดี" ชัดเจนมาก ซึ่งตัวละครเอกอย่างนี้ อาจจะไม่ค่อยถูกจริตของคนดูในยุคปัจจุบันมากเท่าไหร่
    
          ด้วยบริบททางสังคม ค่านิยม การแข่งขัน รวมถึงสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด ที่ลดทอนความเชื่อในเชิงนามธรรม เพราะคนต้องการเสพความจริง ที่ใกล้เคียงกับวิถีชีวิตมากกว่า ทำให้ตอบโจทย์และหล่อหลอมความคิดที่ว่า คนดี ซื่อสัตย์ ฉลาด กตัญญู แบบหรั่ง คง "ไม่มีอยู่จริง" เพราะมันเข้าข่ายคำว่า "ดีเกินไป"  
    
          ทว่าสิ่งหนึ่งที่น่าประหลาดใจ และน่าชื่นชมคือ "บทละคร" กลับสร้าง "คนดี" ได้อย่างมีมิติ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคบนเส้นทางเดินของตัวเอง มีสถานการณ์ที่ต้องใช้การตัดสินใจ เพื่อสะท้อนแง่มุมในการใช้ชีวิตอย่างลูกผู้ชาย อันมีหลักยึดเพียงสองคำคือ ซื่อสัตย์ และกตัญญู ซึ่งสองคำนี้ ถ้าบทไม่ดี จะพาให้คนดูรู้สึกคาบเกี่ยวกับคำว่า "เลี่ยน" และ "เกินจริง" แต่ตัวละครของหรั่ง ดูแล้วให้ความรู้ว่า "ดี" แต่ไม่เลี่ยน เพราะบทไม่ได้ยัดเยียด ด้วยคำพูดสวยหรูเยิ่นเย้อ แต่ใช้ภาพจากการกระทำของหรั่ง สะท้อนให้เห็น ซึ่งมันสามารถโน้มน้าวให้คนดูรู้สึก "รัก" สุภาพบุรุษลูกผู้ชายคนนี้อย่างไม่รู้ตัว
    
          อีกหนึ่งบทบาท ที่มาพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และแรงกดดันอย่าง "แพรวา" นำแสดงโดยนางเอกชั่วโมงบินน้อย "โบ-ธัญญะสุภางค์ จิรปรีชานนท์" เธออาจจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร และค่อนข้างจะขาดเสน่ห์กับบทคุณหนูเอาแต่ใจ แต่องค์ประกอบโดยรวมของเรื่อง สามารถดึงและช่วยสนับสนุนให้บทแพรวาผ่านไปได้ ฉะนั้นสิ่งเดียวที่เห็นในตัวโบ คือเธอมีความพยายาม และความตั้งใจ ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีของนักแสดงหน้าใหม่
    
          มาถึงตัวละครในบท "ก้อย" หญิงสาวตาบอด นำแสดงโดย "แนท-ณัฐชา นวลแจ่ม" ซึ่งเธอเล่นได้นิ่ง และน่าสงสาร สิ่งที่น่าชื่นชม คือเธอสวมบทบาทเป็นคนตาบอดได้แนบเนียนมาก แววตานิ่งจนแทบจะไม่หลุดโฟกัส ถ่ายทอดอารมณ์ได้ดี และเป็นนักแสดงอีกคนหนึ่งที่น่าจับตามอง
    
          รวมถึงนักแสดงอีกหลายคน ที่บทค่อนข้างเฉลี่ยให้มีเส้นเรื่องของตัวเอง และมีความสำคัญ จนอาจเรียกได้ว่า เป็นละครที่เรื่องราวความรัก แทบจะเป็นปัจจัยรอง ทำให้บางครั้งการเดินเรื่องดูเรื่อยและเอื่อยไปบ้าง แต่เข้าใจได้ว่า บทคงต้องการใส่รายละเอียดบางอย่างลงไป
    
          ในลักษณะสอดแทรกหลักการทำธุรกิจรูปแบบ "กงสี" ที่หลายคนรู้จักว่า เป็นการบริหารกิจการครอบครัว ที่มีศูนย์รวมอำนาจและเงินกองกลางไว้ที่เดียว รวมถึงการต่อสู้เชิงธุรกิจ และการเมือง ของคนหลายประเภท ที่ต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว สะท้อนความโลภ อำนาจ และชั้นเชิงในการต่อรองทางสังคม กับการสู้ชีวิตด้วยคัมภีร์ลูกผู้ชาย ที่ถูกบัญญัติเอาไว้ในตัวหรั่ง
    
          สุดท้ายแล้วละคร "น้ำดี" ที่ใครหลายคนอาจมองว่า เป็นแค่พล็อตเรื่องแสนเชย ไม่ได้แปลกแหวกแนว เข้าทำนองเรื่องราวของ "ดอกฟ้า" กับ "หมาวัด" เรื่องนี้ คงมีหน้าที่ซ่อนเร้นบางอย่าง เพื่อกระตุ้นเตือน และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ใครอีกหลายคนที่กำลังท้อถอย และสิ้นหวังกับความแปรผกผันในโลกมนุษย์อันแสนวุ่นวาย จนมีความคิดว่า "ทำดี ไม่ได้ดี ทำชั่ว ได้ดี มีถมไป" แล้วจะทำดีไปเพื่ออะไร?
    
          คำตอบง่ายๆ ที่สะท้อนจากชีวิต "ลูกผู้ชาย" ชื่อ "หรั่ง" บอกให้เชื่อมั่นไว้เถิดว่า การกระทำบางอย่าง "ใครไม่รู้ แต่ตัวเรารู้" เหมือนสุภาพบุรุษจุดประกาย ให้คิดแบบคน "โลกสวย" ว่า แค่เป็นคนดี ที่มีดี จะดีปานกลาง หรือดีมาก ดีน้อย เกิดมาทั้งที ขอให้มีความดี ติดตัวไว้ ก็เพียงพอแล้ว  




เครดิต :
http://www.komchadluek.net/detail/20131021/170963.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่