กว่าจะมาเป็น iPhone

กว่าจะมาเป็น iPhone



Jobs พูดถึงการสร้าง iPhone ไว้ตั้งแต่ช่วงเปิดตัว iPod เมื่อปี 2001 คอนเซป iPhone คือพกเครื่องเดียวทำได้ทุกอย่าง ทั้งเช็คอีเมล, โทรศัพท์ หรือฟังเพลง แต่ต้องพบกับข้อจำกัดมากมาย เช่น การเล่นอินเทอร์เน็ตหรือดาวน์โหลดไฟล์เพลงนั้นช้า เพราะข้อจำกัดทางด้านชิพและสัญญาณอินเทอร์เน็ต ส่วนอีเมลก็เจอปัญหาเจ้าตลาดอย่าง RIM (BlackBerry) แอปเปิลเคยถึงขั้นคิดซื้อ Motorola ในปี 2003 แต่ก็ล้มเลิกเพราะเป็นดีลที่ใหญ่เกินไป

Jobs ไม่อยากเป็นคู่ค้ากับบริษัทเจ้าของเครือข่าย เพราะอำนาจต่อรองของพวกเขาสูงมาก และสามารถบังคับให้บริษัททำมือถือแบบที่ต้องการได้ แอปเปิลเคยเกือบจะเป็น MVNO (Mobile Virtual Network Operator ผู้ให้บริการเครือข่ายภายใต้ผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่อีกที เช่น i-mobile 3GX เป็น MVNO ของ TOT) ของ Sprint แต่สุดท้ายได้เจรจากับ Cingular (ปัจจุบันคือ AT&T) สำเร็จในปี 2006 (อ่านเพิ่มเติม: Steve Jobs เคยถูก AT&T ติงว่าทำไม iPhone ไม่มีคีย์บอร์ด)

Tony Fadell หลักสำคัญอีกคนในโปรเจค iPhone เขาเคยเป็นหลักสำคัญในการสร้าง iPod ด้วย (Fadell ลาออกไปก่อตั้งบริษัท Nest ของตนเองในปี 2010) บอกว่า โปรเจคต่าง ๆ ของแอปเปิลมีความไม่แน่นอนอยู่เสมอ แต่โปรเจค iPhone นี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก

Jobs อยากให้ OS X ดัดแปลงรันบน iPhone ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องน่าปวดหัวมากสำหรับวิศวกร เพราะการรันระบบปฏิบัติการมโหฬารอย่าง OS X บนชิพขนาดจิ๋วอย่าง iPhone ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน โค้ดนับล้านบรรทัดต้องเขียนใหม่ และวิศวกรต้องจำลองความเร็วของชิพและการใช้แบตเตอรี่เอง เพราะกว่าชิพที่ต้องการจะออกมาให้ใช้ได้จริงก็ในปี 2006

ในเวลานั้นมีมือถือบางรุ่น เช่น Palm Treo ประสบความสำเร็จในการใส่หน้าสัมผัสแบบตรวจสอบแรงกด แต่หน้าจอมัลติทัชยังไม่เคยมีใครใส่เข้ามาในสินค้าได้ เทคโนโลยีสัมผัสแบบแบบ capacitive เริ่มมีงานวิจัยในช่วงปี 1960 ส่วนเทคโนโลยีหน้าจอมัลติทัชแบบ capacitive ก็เพิ่งจะมีงานวิจัยในปี 1980 จึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่เมื่อแอปเปิลจะนำหน้าจอแบบนี้มาใส่ใน iPhone แถมต้องผลิตในปริมาณมาก ๆ เพราะทำตัวต้นแบบก็แพงแล้ว

ในปี 2003 วิศวกรแอปเปิลได้หาวิธีนำเทคโนโลยีมัลติทัชใส่ในแท็บเล็ตได้สำเร็จ Joshua Strickon วิศวกรแอปเปิลในโปรเจคนั้นบอกว่าเพราะ Jobs ต้องการอุปกรณ์อ่านอีเมลในห้องน้ำ และโปรเจคนี้ได้หยุดชะงักไปในปี 2004 เพราะตัวโปรเจคมีทิศทางไม่ชัดเจนและหาคนทำต่อไม่ได้

Tim Bucher ผู้บริหารระดับสูงของแอปเปิลในตอนนั้นบอกว่า ปัญหาของต้นแบบอีกอย่างคือระบบปฏิบัติการ OS X ที่ออกแบบมาให้ใช้กับเมาส์ ไม่ใช่นิ้วมือ

Jobs เรียก Fadell เข้าไปหา เขาเล่นสินค้าต้นแบบหน้าจอประมาณ 10-12 นิ้วและวิจารณ์ต่าง ๆ นานา เช่น มันใหญ่ไป, จะทำโทรศัพท์จากไอ้นี่จริง ๆ หรือ? ตอนนั้น Fadell ยังไม่รู้เรื่องโปรเจคนี้ดีเพราะเขารับผิดชอบด้าน iPod ซึ่งโปรเจคนี้เป็นโปรเจคฝั่ง Mac แต่ Fadell ฉลาดพอที่จะไม่ปฏิเสธ Jobs (การปฏิเสธ Jobs โทษสูงสุดคือไล่ออก) โดย Fadell ทดลอง 2-3 ครั้งกว่าจะพบวิธีที่ลงตัวที่สุดในการทำหน้าจอสัมผัสและผลิตขึ้นมาได้สำเร็จ

แอปเปิลไม่มีความรู้ด้านสัญญาณโทรศัพท์เลย แต่ต้องสร้างห้องปฏิบัติการทดลองสัญญาณโทรศัพท์ขึ้นมาเอง ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งคาดว่าโปรเจค iPhone นี้ใช้เงินไปกว่า 150 ล้านดอลลาร์



ต้นแบบ iPhone ในปี 2005 เป็น iPod ที่มีปุ่มหมุนโทรศัพท์ เหมือนที่ Jobs เล่นมุกตลกโชว์ใน Keynote วันเปิดตัว iPhone และกว่าต้นแบบจะเป็นรูปเป็นร่างคล้ายของจริงที่เปิดตัวก็เป็นต้นแบบรุ่นถัดมา 2006



ปัญหาต่อมาคือทีมงานออกแบบ นำโดย Jonathan Ive อยากให้ด้านหลัง iPhone เป็นอลูมิเนียมทั้งชิ้น Jobs ก็เห็นด้วย แต่ต้องเจอปัญหาการรับสัญญาณ ทีมงานออกแบบก็เป็นศิลปินทั้งนั้น ชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ล่าสุดของเขาคือ grade 8 (เทียบเท่า ม.2) แต่พวกเขามีอิทธิพลในบริษัทมาก Grignon และ Rubén Caballero (วิศวกรเสาสัญญาณ) ต้องเชิญ Jobs และ Ive เข้าไปอธิบายในห้องประชุม เขาเจอคำถามจากทีมออกแบบ เช่น “ทำไมเราไม่เจาะช่องเล็ก ๆ เพื่อให้สัญญาณผ่านเข้าไปได้?” ก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจให้ได้ว่าเพราะอะไร (ไม่งั้นนักออกแบบจะยืนกรานว่าต้องทำ) เป็นที่มาว่าทำไมด้านหลังของ iPhone รุ่นแรกจึงมีสองสี

ทีมงานระดับหัวกะทิของแอปเปิลที่ทุกคนมั่นใจว่าตัวเองเก่ง พอเจอโปรเจค iPhone ที่มีข้อจำกัดและอุปสรรคมากมาย หลายคนจึงเครียดและลาออกจากบริษัทไประหว่างทำโปรเจคหรือหลังจากโปรเจคเสร็จสิ้นแล้ว

Jon Rubinstein ผู้บริหารระดับสูงด้านฮาร์ดแวร์ในเวลานั้นเสนอว่าควรทำ iPhone สองขนาด คือ iPhone ขนาดธรรมดากับ iPhone ราคาย่อมเยาว์ แต่ทรัพยากรมีจำกัด ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง iPhone ราคาย่อมเยาว์จึงถูกตัดทิ้ง

ลับสุดยอด

โปรเจค iPhone ใช้วิศวกรและนักออกแบบนับร้อยทำงาน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พนักงานจะเอาเรื่องโปรเจคลับไปพูดให้ใครฟังไม่ได้ ถ้ารู้ว่าใครไปพูดให้คนอื่นฟัง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคู่สมรส คนพูดมีสิทธิ์ถูกไล่ออก พนักงานที่ผู้บริหารมองว่าจะดึงตัวมาทำโปรเจคต้องเซ็นสัญญาห้ามเปิดเผยความลับในออฟฟิศก่อนที่จะเริ่มพูดว่าเป็นโปรเจคเกี่ยวกับอะไร และหลังจากนั้นต้องเซ็นสัญญาว่าจะแพร่งพรายเรื่องนี้

Scott Forstall รองประธานฝ่าย iOS ที่เพิ่งถูกไล่ออกลาออกจากแอปเปิลในเดือนตุลาคมปี 2012 เล่าว่า Jobs ไม่ต้องการจ้างคนนอกบริษัทมาทำงานด้านส่วนติดต่อผู้ใช้ Forstall จึงหาหัวกะทิในบริษัทมาในห้องทำงานของเขาและบอกว่า “พวกคุณคือคนเก่งในหน้าที่ของคุณ ผมมีโปรเจคอื่นที่ต้องการตัวคุณ อยากให้คุณพิจารณา ผมบอกคุณไม่ได้ว่ามันคืออะไร บอกได้แค่ว่าคุณต้องสละเวลากลางคืนและวันเสาร์อาทิตย์ มันเป็นงานที่หนักกว่างานที่คุณเคยทำมาตลอดชีวิตแน่”

การจะติดต่อกับซื้อสินค้าจากบริษัทอื่น ต้องหลอกว่าเอามาทำ iPod รุ่นใหม่ ต้องเขียนแผนผังงานและออกแบบผลิตภัณฑ์ปลอม หรือแม้กระทั่งให้พนักงานปลอมตัวเป็นพนักงานบริษัทอื่นเพื่อไม่ให้รู้ว่าแอปเปิลทำอะไรอยู่

คนอื่นนอกจากคนวงในรวมทั้ง Jobs ไม่มีสิทธิ์เข้าห้องทำงานชั้น 1 ที่อาคาร 2 ของ Ive ได้เลย การรักษาความปลอดภัยเข้มงวดมาก ถึงกับมีความเชื่อว่า หากใครที่ไม่ได้รับอนุญาตินำบัตรพนักงานมาแตะเครื่องแสกนบัตร ระบบจะเรียกยามมาลากตัวออกไป

โปรเจคนี้ห้ามพนักงานในฝ่ายคุยกันเอง วิศวกรออกแบบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องทดสอบฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ปลอม ส่วนวิศวกรซอฟต์แวร์ก็ต้องทดสอบซอฟต์แวร์บนฮาร์ดแวร์เสมือน (simulator)

งานเปิดตัว

แอปเปิลจ่ายเงินเช่าหอประชุม Moscone ทั้งหมด สร้างเป็นแล็บทดสอบ iPhone และห้องพักของ Jobs หน้าประตูมียามเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง ผู้เข้าออกสถานที่ทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบรายชื่อจาก Jobs ส่วนพนักงานรับเหมาที่แอปเปิลจ้างให้จัดงานนี้โดยเฉพาะต้องนอนค้างในคืนก่อนวันงานเพื่อป้องกันความลับรั่วไหล

Jobs ยืนกรานต้องสาธิตสดเท่านั้น จะไม่อัดเทปมาเปิดในงาน เขาซ้อมพรีเซ้นท์ก่อนวันงานติดต่อกัน 5 วัน ทีมวิศวกร iPhone ต้องนั่งดู Jobs ซ้อมด้วย หากผิดพลาด Jobs จะไม่โทษตัวเองแน่ ทีมงานจึงต้องรับมือกับการระเบิดอารมณ์ของเขาโดยจะเจอกับเสียงด่ามาพร้อมคำพูดแรง ๆ เช่น “แกมัน…(คำหยาบ)…ของบริษัทฉัน” หรือ “ถ้าเราเจ๊งกันหมด มันเป็นความผิดของแก”

Jobs อยากให้การสาธิตบนเวทีฉายหน้าจอ iPhone บนโปรเจคเตอร์ด้วย สำหรับอุปกรณ์ขนาดเล็ก บริษัททั่วไปก็มักจะมีกล้องวิดีโอด้านหลังฉายขึ้นจอ แต่ Jobs ไม่ต้องการแบบนั้นเพราะมือเขาจะบัง วิศวกรจึงต้องสร้างบอร์ดพิเศษแปะไว้หลังเครื่องและต่อออกไปที่โปรเจคเตอร์

ซอฟต์แวร์เสารับสัญญาณ Wi-Fi ของ iPhone ยังไม่เสถียร iPhone ในงานจึงถูกต่อขยายเสาสัญญาณเพื่อให้สัญญาณนิ่ง และต้องเปลี่ยนความถี่ Wi-Fi ทั้งของ iPhone และตัวส่งเป็นความถี่พิเศษของญี่ปุ่นที่ไม่มีอุปกรณ์ใดในอเมริการับได้ เพราะหากใช้คลื่นความถี่มาตรฐาน แม้จะซ่อนเครือข่ายเฉพาะสำหรับ iPhone ไว้ได้ แต่คนที่นั่งอยู่ในหอประชุมนั้นเป็นเซียนคอมพิวเตอร์ทั้งนั้น พวกเขาสามารถแฮกสัญญาณได้และต้องเกิดการผิดพลาดกลางงานแน่

Jobs จะโทรออกจริง ๆ ระหว่างสาธิตด้วย AT&T จึงต้องมาตั้งสถานีฐานเคลื่อนที่ (cell tower) ใกล้ ๆ งาน เพื่อให้สัญญาณแรงพอ วิศวกรต้องเขียนโปรแกรมให้หน้าจอแสดงสัญญาณโทรศัพท์เต็ม 5 ขีดตลอดเวลา เพราะโอกาสที่ซอฟต์แวร์เสาสัญญาณจะแครชและรีบู๊ตใหม่ในช่วง 90 นาทีของ Keynote นั้นมีสูงมาก

iPhone มีปัญหาเกี่ยวกับแรม ตัวเครื่องมีแรมแค่ 128MB ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ก็ยังมีขนาดใหญ่และไม่ลงตัว หากใช้ iPhone สักพัก แรมจะเต็มเครื่องจะรีสตาร์ท จึงต้องมีอุปกณ์ไว้สาธิตหลายเครื่อง เพราะหากเครื่องหนึ่งแรมเต็มและรีบู๊ต Jobs จะเปลี่ยนเครื่อง การพรีเซ้นท์จะมีลำดับการโชว์ฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่วางแผนกันมาอย่างดีแล้วว่าจะไม่เจ๊งกลางงาน

ในงานเปิดตัว Grignon ซื้อเหล้าสก๊อตมา เหล่าวิศวกรทั้งหลายนั่งลุ้นตอน Jobs สาธิต iPhone หากถึงส่วนรับผิดชอบของใคร คนนั้นก็จะซดเหล้า 1 shot และสุดท้ายงานก็ผ่านไปด้วยดี เป็นการสาธิตที่ดีที่สุดที่เคยมีมา หลังจบงาน Keynote ทีมงาน iPhone ก็ได้เข้าเมืองไปดื่มฉลองจนเมาเลยทีเดียว

ที่มา : macthai

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่