"ผมอยู่ข้างหลังคุณ" กับ รักโง่โง่ Love Syndrome

7 ข้อสั้นๆ ถึง รักโง่ๆ (***) - 1.ขอยกให้ 'รักโง่ๆ' เป็นหนังไทยแนวโรแมนติกคอมิดี้ ที่ชอบที่สุดในหลายปีหลัง เพราะ จุดเด่นของหนัง คือ ความไม่น่าเบื่อ

สิ่งน่าเบื่อในหนังไทย โรแมนติกคอมิดี้ยุคปัจจุบัน คือ ความซ้ำซาก เช่น ถ้าไม่ซ้ำซากเป็นเครื่องจักรผลิตคำคม ก็ซ้ำซากตรงนักแสดงคนเดิมๆในบุคลิกแบบเดิมๆ หรือ ซ้ำซากตรงเนื้อเรื่องที่พาคนดูไปสู่ตอนจบ แบบ หลับไปครึ่งเรื่อง ก็ยังเดาได้ว่า ตอนจบจะเป็นยังไง

ส่วน รักโง่ๆ แม้ชื่อจะบอกว่า โง่ แต่ตัวหนังกลับทำตัวฉลาด และ แสดงตัวผ่านตัวละครในหนัง ประกาศให้รู้ว่าตูฉลาดเหมือน The Cabin in the Woods เวอร์ชั่นหนังโรแมนติกคอมิดี้

ดูหนังไปก็มองเห็นภาพเบื้องหลัง เหมือน คนทำหนังนั่งประชุมหลังดูหนังรักโรแมนติกมาหลายเรื่อง แล้วหยิบจุดซ้ำซากมาขึ้นกระดาน พร้อมตกลงกันว่า มีทางไหนที่มัน cliché มันไม่สมเหตุสมผล โอเค เราจะไม่ซ้ำทางเดิม

เช่น ถ้าเล่าเรื่องไปตามนี้ ทิศทางหนังจะไปลงที่อีหรอบไหน ก็จะไปยืนดักอยู่ตรงนั้น แล้วปรับเส้นทางใหม่ให้คนดูเหวอนิดๆ เพราะคิดว่าจะไปตามทางหนังรักที่เคยดู ซึ่ง ความเหวอเหล่านั้นก็คือ ความเพลิดเพลินประการหนึ่ง

การทำตัวฉลาด เป็น ข้อดีส่วนใหญ่ในหนัง แต่มันก็เป็นข้อเสียบ้าง เมื่อหนังไม่พยายามหยุดทำตัวฉลาด จนถึงช่วงท้าย ที่หากจับทางติดก็เริ่มรู้ทัน แล้วชวนให้หงุดหงิดกับ ความพยายามฉลาดที่มากเกินไป รู้ดีว่าหนังจะบอกอะไร ซึ่งถ้าหนังเลือกจะจบแบบไม่ฉลาด อาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

เพราะ เมื่อฉลาดไม่หยุด มันอาจกระตุกอารมณ์ของ คอหนังรักโรแมนติกให้ไม่ฟิน เพราะ หนังไม่ได้ยืนอยูบนจุดเดียวกับ The Cabin in the Woods ที่ตั้งใจเสียดสีเป็นแก่น แต่หนังเรื่องนี้มี แก๊กฉลาดเสียดสี เป็นตัวเสริม

ความคาดหวังของคอหนังที่ว่าดูหนังแนวนี้แล้วอยากแฟนตาซีบ้าง ไม่ได้อยาก realistic ให้มากจนเกินไป อยากได้ฟีลแบบหนังรักตอนจบ จึงคล้ายอารมณ์ค้างได้ เมื่อหนังยืนยันจะจบแบบฉลาด (เหมือน หนังหักมุม ที่เลือกจะไม่หักมุมตอนจบ แล้วคนดูจึงรู้สึกเซอไพรส์ เพราะกะไว้ว่าต้องหักมุม )

2.ชอบตัวละคร ที่ผ่านมาตัวละครในหนังโรแมนติกคอมิดี้แทบจะเป็นสูตรสำเร็จ ให้นึกถึง หนังGTH ที่ความฮาจะมาพร้อม ตัวละครแบบการ์ตูน คือ มันก็ตลกแต่เรารู้สึกจับต้องไม่ได้ เป็นตลกแบบ แจ๊ค แฟนฉัน , ตลกแบบ โอปอลล์ ฯลฯ หรือ หนังแบบยอร์ช ที่ ตลกแบบยิปซี , ตลกแบบโก๊ะตี๋ ฯลฯ ซึ่งสนุกดีแบบไม่มีชีวิตจิตใจเหมือนคนใกล้ตัวที่รู้จักในชีวิตจริง

แต่ใน รักโง่โง่ สร้างมิติของตัวละครได้ดีมากหลายตัว เช่น ตัวละคร พริกแกง ที่บทเธอพร้อมจะกลายสภาพเป็นตัวละครโก๊ะเอาฮาหาอะไรลึกซึ้งไม่ได้ แต่สุดท้ายก็พาขยี้ให้ถึงไคลแมกซ์ช่วงท้ายได้ด้วยการแสดงที่ยอดเยี่ยมสำหรับการเล่นหนังใหญ่ครั้งแรก

และ บทที่เขียนให้เธอมีความน่าเห็นใจ สำหรับ ผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่เคยเป็นที่ต้องการของใคร แล้วพบว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เธอได้รับความสำคัญ มีคนมองเห็นตัวตนของเธอ

หรือ กระทั่งบทฝ่ายชายที่เป็นยอดนักขายคู่กัน ถึงจะดูทื่อๆตามบท แต่เราก็เห็นด้านลึกที่ชวนให้เข้าใจและเห็นใจ(แต่กระนั้น หนังก็ยังไม่สามารถหนีความซ้ำซาก ที่จะต้องมีตัวละคร เกย์หรือกะเทย เป็น ตัวฮา คู่กับ ตัวนางเอกช้ำรัก ซึ่งสูตรนี้ในหนังเรื่องนี้ มันไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่)

ส่วนคู่ของโตโน่ กับ ยิปซี ก็ความบันเทิงที่ดูแล้วสนุกสะใจ อาจจะไม่ใช่แอคติ้งขั้นเทพ แต่สามารถทำให้ลืมบุคลิก โตโน๊โตโน่ หรือ ยิปซี๊ยิปซี เหมือนที่เคยชินจากภาพในจอที่ผ่านมา

3. การเล่นกับ เพศสภาพ (Gender) ของคู่รักสองคู่ในหนัง ถึงจะซ้ำกับหลายเรื่อง แต่ก็น่าสนใจที่เป็นการให้ความรู้อยู่กลายๆ เกี่ยวกับ ธรรมชาติและความจริงของเพศสภาพของมนุษย์ พร้อมกับทำให้เห็น ความสำคัญของบางสิ่ง ที่สำคัญยิ่งกว่า ความรัก เช่น ความไว้เนื้อเชื่อใจ และ ความจริงใจ ในความสัมพันธ์

แล้วหนังก็หยิบประเด็นสังคมหลายอย่างมาแทรกไว้ได้อย่างสนุกคิด เช่น ความเป็น liberal ในการเลือกใช้ชีวิต , สะท้อนภาพชีวิตอาชีพขายตรง ที่แม้จะยังคงกัดจุดเดิมแต่ก็ไม่เป็นการมองอาชีพนี้ด้านเดียว , นุ่งขาวห่มขาว ฯลฯ

4. มุกตลก เป็นอีกจุดอ่อนของหนังไทยยุคหลัง ที่ เลือกมุกมายิงเหมือนไม่ได้เลือก คือ บางมุกที่เราดูแล้วรู้สึกว่า ให้ตัวละครยืนหายใจฆ่าเวลาทิ้งยังดีกว่ายิ่งมุกตลกเฝื่อนๆแบบนี้ หรือไม่ก็เป็นมุกคำคมแบบหนังตระกูลส่ายหน้าของยอร์ช ที่หาอ่านได้ตามเฟซบุ้ค

แต่เรื่องนี้ ต้องชมว่า ละเอียดในการเลือกเฟ้นมุก ตัวมุกส่วนใหญ่นับว่าสด ฉลาด และ จิกกัดดี ทั้งมุกที่พูดออกมา และ มุกที่ไม่พูดแต่เล่นกับภาพ (เช่น สกรีนเสื้อยืดทั้งหลายของยิปซี หรือ ชุดของคุณป้ากับข้าวของส่วนตัว) และ หากมุกไหนจะแป้กไปบ้าง สังเกตว่ามาจาก จังหวะรับ-ส่ง-ชง-ตบ เสียมากกว่า

5.การเล่นกับชีวิตรักหลายคู่ มีมาไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่อง ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าว่ากันด้วย ‘แก่นความรัก’ ของแต่ละคู่ อาจไม่ใช่ของใหม่ ไม่ว่าจะเป็น

รักของคนที่ไม่เชื่อในความโรแมนติก
รักของคนที่ไม่อาจเปลี่ยนใจ แม้รู้ว่าเป็นรักเขาฝ่ายเดียว
รักของคนที่ยอมทำทุกอย่าง ขอแค่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับความจริง
รักของคนที่อยากเอาชนะธรรมชาติ และ เชื่อว่าความรักชนะทุกอย่างได้

แต่จุดเด่นของหนัง คือ ความราบรื่นในการเล่าตัดสลับไปมา ซึ่งอาจมีบางคู่หายไปจนรู้สึกแบ่งน้ำหนักไม่สมดุลเท่าไหร่นัก แต่ก็พอมอข้ามไปได้

ที่ดีมาก คือ การลงรายละเอียดที่ต่างจากหนังไทยเดิมๆ ที่ทำให้แต่ละความรักที่ซ้ำซาก มีความน่าสนใจ เช่น ในส่วน รักของคนที่ไม่เชื่อในความโรแมนติก ก็เป็นการตีแผ่ ชุดความคิดของคนที่พยายาม realistic กับทุกอย่าง ซึ่งในเวลาเดียวกัน ก็กัดความโรแมนติกเพ้อฝันที่ชีวิตคนรุ่นใหม่มัก romanticized ในแทบทุกเรื่อง ซึ่งคนที่ไม่อยู่ในฟากโรแมนติก น่าจะสนุกกับการตีแสกความเป็นจริงเหล่านั้น ที่ไม่ค่อยมีหนังพูดถึง

6.การเลือกเพลง แพ้ใจ กับ รักคือสิ่งสวยงาม คือตัวเลือกที่ยอดเยี่ยม

มันสอดรับกับเรื่องราว แล้วถูกใส่เข้ามาถูกที่ถูกเวลาเอามากๆ เลือกใช้เพลงในจังหวะที่ดีมาก

ทำให้เมื่อหนังจบไปเปิดเพลงเหล่านั้นซ้ำ ภาพจำก็จะกลับมาได้อีก
(ขนาดฉากไฮไลท์กลางสนามบิน ที่อาจจะเชยไปแล้วกับมุกนี้ แถมถ้าทำไม่ดี ก็ยังเสี่ยงได้ แต่ เพลงสามารถแทนความในใจและสิ่งที่หนังปูมาได้ตลอดเรื่อง จึงส่งเสริมให้อินได้ยิ่งขึ้น)

7.ความจี๊ดที่สุดณ.จุดนี้ ขอ ยกให้ไคลแมกซ์ของพริกแกง และ บทพูดของน้องยูโดสาวตอนท้ายที่ตะคอกใส่ฝ่ายชาย

สรุป ... หนังโรแมนติกคอมิดี้เรื่องสุดท้ายของฝรั่ง ที่ดูจบแล้วรู้สึกว่า ได้อะไรใหม่ๆกลับไป จนอยากเขียนถึง คือ I Give It a Year หนังส่งตรงลงแผ่นจากฝั่งอังกฤษ ที่ดูเอาฮา ก็ฮาได้ที่ ตามสไตล์ผู้กำกับที่อยู่เบื้องหลังหนังอย่าง Bono กับ Borat แต่ที่น่าสนใจคือ การเล่นกับประเด็น การหย่าร้างและการแต่งงาน ที่ใหม่กว่าอีกหลายเรื่อง

เช่นเดียวกับ 'รักโง่ๆ' ที่แม้หน้าหนังจะชวนให้คิดถึงหนังรอมคอม ประเภท รักเจี๊ยวจ๊าว รักจุ๊บๆ รักเว้ยเฮ้ย รักสะแว้วว้าว ฯลฯ อะไรเทือกนั้น

แต่ดูจบแล้วรู้สึกว่าได้ อะไรใหม่ๆกลับมา ดูจบแล้วอยากเขียนถึง ซึ่งหลายเรื่องอาจเป็นหนังดีแต่ไม่มีอะไรที่อยากให้เขียนมากนัก

ภาพรวม ถึงจะไม่ได้ใหม่สดยกเรื่อง แต่ก็ถือว่า มีความน่าสนใจคุ้มแก่การเสียเงิน เสียเวลา มากกว่าหนังรอมคอมร่วมรุ่นหลายเรื่องในยุคหลัง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่