[บทความพิเศษ] นี่แหละเมืองไทย รับกันได้หรือไม่? ( ภาค 1 )

http://ppantip.com/topic/31905813

ภาคจบมาแล้วครับ

-------------------------

บอกกล่าว :

- บทความนี้เขียนขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2556 ช่วงที่ผมกำลังมีวิวาทะเรื่องหาบเร่แผงลอย , โลกที่ 1 VS โลกที่ 3 , วินัยคนไทย ฯลฯ ดังนั้นสำนวนที่ผมใช้ จะออกแนวเกรียนๆ ประชดประชันสักหน่อย ตามอารมณ์ ณ ขณะนั้น ซึ่งผมจะไม่แก้สำนวนให้ Soft ลง เพราะต้องการให้ทราบถึงความในใจส่วนตัวของผมด้วย

- บทความนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เดิมกำหนดไว้ว่าจะมีราวๆ 8 - 10 ตอน ( ใช้คำว่าราวๆ เพราะเขียนจริงอาจจะยุบรวม หรือขยายออก ตามแต่ข้อมูลที่ผมหามาได้ ) แต่ผมกลัวว่า link หลายๆ ตัวจะหายไปก่อน เลยขอแบ่งเป็น 2 ภาค ซึ่งภาคแรกจะมีอยู่ 5 ตอน ส่วนภาคหลังตอนนี้ยังไม่เริ่มเขียน เนื่องจากช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมางานผมเยอะมาก

- และภาค 2 จะเผยแพร่อีกครั้ง เมื่อรวบรวมและสรุปได้ว่าเขียนได้ทั้งหมดกี่ตอน

- บทความนี้พยายามรวบรวมมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของไทย "ในแบบที่เป็นจริง" ไม่ใช่ "ในแบบที่อยากให้เป็น" โดยเริ่มจากประเด็นหาบเร่แผงลอย และขยายไปยังประเด็นอื่นๆ เท่าที่จะคิดออกมาและรวบรวมข้อมูลได้ ดังนั้นถ้าจะทำให้ขัดใจ หงุดหงิดขุ่นข้องหมองอารมณ์กับผู้อ่านบ้าง ก็คงเป็นเรื่องธรรมดา

------------------------------------

บทนำ

เมื่อพูดถึงกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงขนาดใหญ่อันดับ 15 ของโลก และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวนานาชาติ นอกจากวัดวาอารามแล้ว ชื่อเสียงของอาหารไทยยังเป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะเอกลักษณ์หนึ่งของอาหารไทย นั่นคือ “อาหารข้างทาง” ทั้งที่อยู่บนรถเข็นเล็กๆ หรือแผงย่อยๆ ที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย ที่เรียกกันว่า “หาบเร่แผงลอย” กับร้านอาหารตึกแถวจำนวนหนึ่งในบางพื้นที่ ที่จะต่อโต๊ะออกมารองรับผู้มาใช้บริการที่เพิ่มขึ้น เรียกว่า “ร้านอาหารข้างถนน” สำหรับหาบเร่แผงลอยพบได้ทั่วไปทุกจุดใน กทม. ส่วนร้านอาหารข้างถนน จะพบตามจุดชุมชนท่องเที่ยวเก่าเป็นหลัก เช่นถนนข้าวสาร – บางลำพู , เยาวราช สีลม เป็นต้น

ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้น และกำลังเป็นวิวาทะในสังคมออนไลน์ เริ่มจากร้านอาหารข้างถนนบางร้าน ตั้งโต๊ะปิดทางเท้าไปหมดทุกจุดจนประชาชนทั่วไปเดินไม่ได้ และไม่จบแค่นั้น หลายคนเริ่มระบายความคับข้อง – คับแค้นใจ พาลไปถึงบรรดาหาบเร่แผงลอยที่เป็นรถเข็นหรือร้านเล็กๆ ด้วย ซึ่งนั่นเป็นแรงบันดาลใจของผู้เขียนในบทความนี้

อนึ่ง..ผู้เขียนเคยคิดจะเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่บรรดา “ชนชั้นผู้ดี” ยอมรับไม่ได้ว่าประเทศไทยไม่ได้สวยงามแบบที่คนกลุ่มดังกล่าวคิดมานานแล้ว ( หรือความสวยงามที่พวกผู้ดีเชื่อนั้นเป็นเพียงวาทกรรม? ) ฉะนั้นในเมื่อไหนๆ จะเขียนเรื่องหาบเร่แผงลอยแล้ว ผู้เขียนก็จะขอรวมเรื่องดังกล่าวไปด้วยกันเสียเลย

เพราะนี่คือเรื่องจริงของประเทศไทย ที่หลายคนหลงลืม และหลายคนแกล้งทำเป็นลืม

--------------------------

บทที่ 1 : ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงเทพฯ

ก่อนที่จะถามว่า “หาบเร่แผงลอยมาจากไหน?” ขอให้ลองดูพฤติกรรมของพวกเขาเสียก่อน ผู้เขียนพบเห็นด้วยตนเองบ้าง ฟังจากหลายๆ คนบ้าง ทุกคนเห็นตรงกันว่า หาบเร่แผงลอยก็ดี ร้านค้าข้างถนนก็ดี จะเกิดขึ้นในจุดที่มีผู้คนพลุกพล่าน ยิ่งเป็นจุดชุมนุมชนมาก ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายย่อมมีมากไปด้วย ชนิดที่ต่อให้ขายในเขตผ่อนผัน ก็ยังแน่นทางเท้าอยู่ดี..สรุปได้ว่าหาบเร่แผงลอยกับร้านค้าดังกล่าว เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ เมื่อมีผู้เสนอ ( Demand ) ก็ย่อมมีผู้สนอง ( Supply ) เป็นธรรมดา

คำถามต่อไปก็คือ..ร้านอาหารที่มีอยู่ทั่วไปไม่เพียงพอหรือ? คำตอบคือมีทั้งที่พอและไม่พอ บางที่พอเพียง แต่ด้วยชีวิตที่เร่งรีบ ต้องซื้อสิ่งที่เรียกว่าอาหารจานด่วน พวกของปิ้งๆ ย่างๆ เอาไปกินในที่ทำงาน ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง มองว่าร้านข้างถนนดังกล่าวราคาถูก และอิ่มท้องกว่าร้านหรูๆ สวยงาม และที่เด่นชัดก็คือ ร้านพวกนี้ได้รับความนิยมจากคนทุกระดับ ตั้งแต่คนงานก่อสร้างยันเจ้าของกิจการขับรถมากิน

ซึ่งถ้าถามว่าคนมาจากไหนเยอะแยะ ผู้เขียนคงต้องพาทุกท่านย้อนไปดูประวัติศาสตร์รัฐไทยเสียหน่อย

พ.ศ.2504

ปีเดียวกับที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ในปีนั้นประเทศไทยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ “รัฐไทยใหม่” เนื่องจากสมัยนั้น เราเลือกที่จะมุ่งสู่ยุคสมัยแห่งอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการอพยพผู้คนอย่างมหาศาลจากทั่วสารทิศ เข้ามายังกรุงเทพมหานคร เมืองที่ใครๆ ก็เรียกว่า “นครแห่งความหวัง” ชาวนาชาวไร่มากมายละทิ้งที่นาเข้ามาเป็นกรรมกร เพื่อหวังจะมีรายได้ที่ดีขึ้น และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมโทรมของเมืองหลวงแห่งนี้ [1] [2] [3]

พ.ศ.2522

18 ปีต่อมา กระแสดังกล่าวยิ่งพุ่งทะยานมากขึ้นไปอีก หลังการสู้รบที่ยืดเยื้อมานาน ระหว่างรัฐบาลไทย ( ที่มีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง ) กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ( ที่มีจีนหนุนหลัง ) สิ้นสุดดลงจากนโยบาย 66/23 แนวร่วมต่อต้านอำนาจรัฐอ่อนแรงลงไปมาก ขณะเดียวกันประเทศไทยค้นพบแหล่งพลังงาน [4] พร้อมๆ กับเริ่มแผนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่เรียกกันว่า “อีสเทิร์นซีบอร์ด” ที่เตรียมตัวกันมาตั้งแต่ปี 2522 [5] และที่ตอกย้ำการทำให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางมากขึ้นไปอีก คือท่าเรือแหลมฉบัง [6] เพราะท่าเรือคลองเตยแออัดเกินไป  เนื่องจากสินค้าทุกสารทิศหลั่งไหลมาที่ กทม. ทั้งของนำเข้าและส่งออก

ส่งผลให้ทั้ง กทม. และเมืองปริมณฑล ลากยาวไปยัง จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง กลายเป็น “อาณาจักรใหม่” ขึ้นมาทันที ผู้คนจากทั่วสารทิศกระจายไปตามถิ่นที่มีโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมเพื่อหวัง “ขุดทอง” จนหลายจังหวัดกลายเป็นเมืองร้างที่มีแต่เด็กและคนแก่เต็มไปหมด เรียกว่าในวันนั้น ยิ่งในสมัยที่สงครามเย็นใกล้สิ้นสุด นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” เศรษฐกิจไทยยิ่งก้าวกระโดดในภาคอุตสาหกรรม ผู้คนยิ่งเข้ามาทำงานในเมือง ขนาดที่เราประกาศว่าจะกลายเป็น NICS หรือประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย [7] ก่อนที่จะดิ่งลงเหวจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540

ที่น่าสนใจคือวันนี้ผ่านมาได้กว่า 50 ปีแล้ว นับจากวันที่ใช้แผนฯ ฉบับที่ 1 แต่ความเจริญยังกระจุกตัวอยู่เพียงใน กทม. และจังหวัดปริมณฑล ( และ/หรือจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ๆ เช่นชลบุรี – ระยอง และพระนครศรีอยุธยาเท่านั้น ) ชนิดที่ว่าทิ้งห่างจังหวัดอื่นๆ อย่างมาก ทั้งรายได้ต่อหัวประชากร [8] และจังหวัดที่เก็บภาษีได้มากที่สุด [9]

จบวิชาประวัติศาสตร์รัฐไทย (สมัยใหม่) ไว้เพียงเท่านี้ก่อน

--------------------------

อ้างอิงบทที่ 1

[1] http://haab.catholic.or.th/bangkok/bangkok12/bangkok12.html

[2] http://www.thairath.co.th/column/pol/editor/238299

[3] http://life.cpru.ac.th/E%20leaning/07%20Humans%20and%20the%20environment/-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%883.doc-.htm ดูหัวข้อ “ประชากร การอพยพย้ายถิ่น และสิ่งแวดล้อม”

[4] http://www.komchadluek.net/detail/20110830/107624/%A1%EA%D2%AB%B8%C3%C3%C1%AA%D2%B5%D4%A8%D2%A1%CD%E8%D2%C7%E4%B7%C2%CA%D9%E8%C2%D8%A4%E2%AA%B5%D4%AA%E8%C7%A7%AA%D1%AA%C7%D2%C5.html#.UcXENjvwm-k  ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย สู่ยุคโชติช่วงชัชวาล

[5] http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000029013

[6] http://www.laemchabangport.com/index.php?option=com_content&view=article&id=103&Itemid=78&lang=th

[7] http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=78214:-1&catid=168:2009-03-19-04-04-05&Itemid=411

[8] http://archive.wunjun.com/keemao/26/185.html โปรดสังเกตว่า 5 จังหวัดที่เหนือ กทม. คือจังหวัดที่มีโรงงานเป็นจำนวนมาก

[9] http://www.siamintelligence.com/budget-distribution-and-tax-fairness-among-provincial/ เช่นเดียวกัน 5 จังหวัดที่จ่ายภาษีมากที่สุด ยังเป็นจังหวัดแถบเดียวกับ [8] ทั้งนี้สันนิษฐานกันว่าที่ กทม. เก็บได้มากที่สุดเพราะผู้ประกอบการมักจ่าย ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ไม่ใช่โรงงานย่อย

--------------------------

( อย่าเพิ่งปาดนะครับ มีต่ออีกเยอะ )
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 36
ผมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับ จขกท. นะครับ
ต้องออกตัวก่อนเลยว่า... ผมเป็นคนที่ต่อต้านหาบเร่แผงลอยอย่างชัดเจน แต่ถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าสังคมไทยบางอย่างมันแตะไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มันก็ต้องเป็นไปในทางประนีประนอม อะลุ้มอล่วย (ตอนนี้ผมขอแค่ให้หาบเร่แผงลอยใน กทม. รักษากติกาหยุดวันจันทร์เท่านั้นพอแล้ว จากนั้นค่อยว่ากัน อยากให้เห็นใจคนเดินถนน และคนทำงานเก็บกวาดของ กทม. ด้วย)

ประเด็นที่ผมเห็นด้วยกับคุณ
- ผมว่าคุณวิเคราะห์ปัญหาใช้ได้ในเรื่องของรัฐรวมศูนย์ ค่าครองชีพ และชนชั้น (อย่างหลังผมพบว่ามีความเชื่อมโยงกับปาฐกถาของ อจ.เสกสรรค์ เมื่อวานนี้อย่างประหลาด)
- ผมว่าคนจะแก้ปัญหานี้ได้มันต้องเข้าใจปัญหาก่อน แต่ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน(ทั้งในแง่การเมือง อำนาจ หรือทางธุรกิจ มันก็เลยแก้ไม่ได้ หรือไม่แก้ซะ)

ประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วย
- คือผมว่าคนที่โต้แย้งเรื่องหาบเร่แผงลอยหลาย ๆ คนเนี่ย(รวมทั้งคุณด้วย) คิดเข้าข้างตัวเองจนเกินไป โดยไปชูประเด็นเรื่องชนชั้น ความยากลำบากของคนไม่มีอันจะกิน(ทั้งตัวผู้ค้าและลูกค้า) แต่เอาเข้าจริงแล้วผมว่ามันเป็นเรื่องวัฒนธรรมความมักง่าย ทำอะไรตามใจคือไทยแท้เสียมากกว่า

ในแง่ของผู้ค้า... ถ้าคุณลองไปศึกษาดูดี ๆ หลายอย่างมันก็ไม่ใช่อย่างที่คุณคิดเลยครับ จริงอยู่ในภาพรวมผู้ค้าหาบเร่แผงลอยอาจจะเป็นชนชั้นล่าง-กลางล่างที่หาช่องทางโอกาสให้ตัวเอง หรืออับจนหนทางจริง ๆ แต่ในทางกลับกันผู้ค้าจำนวนมากไม่ได้ยากจนอย่างที่คุณคิดเลยครับ ตัวอย่างชัดเจนคือตามแผงลอยพวกสยาม, สีลม, สุขุมวิท, เซ็นทรัลเวิลด์ ฯลฯ พ่อค้าแม่ค้าหลายคนนี่ฐานะดีนะฮะ ขับรถป้ายแดงมารับ-ส่งของ หรือมีรถกระบะ 3-4 คันเลยด้วยซ้ำ (ผมเคยเห็นกับตาว่าแม่ค้าแผงลอยที่สยามคนนึงเป็นเจ้าของร้านจิวเวลรี่แถวบ้านเก่าด้วยน่ะสิฮะ) จริงครับถ้าอย่างแม่ค้าส้มตำ พ่อค้าไข่ปิ้ง อะไรงี้ ผมว่าไปว่าเขาไม่ได้จริง ๆ แต่ถ้าตามทำเลใหญ่ ๆ อย่างที่กล่าวมาแล้ว บางทีมันเป็นลักษณะของมาเฟียหรือกลุ่มผลประโยชน์เลยด้วยซ้ำไป (โดยเจ้าของตัวจริง มีพี่เบิ้มอยู่ไม่กี่คนหรอกครับ คนนึงเป็นเจ้าของหลายแผง หรือให้เช่าช่วง)

ในแง่ของลูกค้า... ผมเข้าใจไงครับ อย่างที่คุณเล่ามา ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของหาบเร่แผงลอยก็คือแรงงาน/คนทำงานชนชั้นล่าง-กลางนี่แหละ แต่ในทางกลับกันผมว่ามันก็สะท้อนลักษณะนิสัยความมักง่ายของคนไทยเสียมากกว่า เพราะตอนที่พึ่งจะมีเคส กทม. ขอให้หยุดแผงลอยวันจันทร์ใหม่ ๆ แม้แต่เพื่อนผมที่เป็นชนชั้นกลาง(ค่อนไปทางสูง) และน่าจะเลือกหม่อมเป็นผู้ว่าฯด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งยังบ่นด้วยความไม่พอใจว่าทำให้หาของกิน/ช็อปปิ้งลำบาก ฉะนั้นผมว่าเผลอ ๆ มันอาจจะข้ามประเด็นของชนชั้นด้วยซ้ำไป แต่เป็นวัฒนธรรมรักความสะดวกสบายของคนไทยเสียมากกว่า (ด้วยความเคารพ และด้วยความสัตย์จริง ผมเองก็คล้าย ๆ คุณ เป็นชนชั้นกลาง-ล่างที่ไต่เต้าสถานะในสังคม กทม. เช่นกัน ตอนสมัยเรียนมหา'ลัย ผมก็เคยไปเป็นลูกจ้างพนักงานห้าง ปัจจุบันก็ยังเป็นแค่ชนชั้นกลาง-ล่างที่ไม่กลางจริง ๆ เสียที รถส่วนตัวก็ยังไม่มี จากประสบการณ์ตรงผมว่าถ้าคุณหรือใครหลาย ๆ คนเดินหน่อย หาหน่อย ร้านอาหารอะไรมันไม่ได้หายากลำบากขนาดนั้นหรอกครับ ตลาดก็มีออกเยอะแยะ ฉะนั้นผมจึงคิดว่ามันเป็นข้ออ้างมากกว่าที่ว่าถ้าไม่มีแผงลอยแล้วคนทั่วไปจะลำบาก)

สุดท้ายนี้ผมก็ฝากให้คุณไปคิดต่อยอดแล้วกันครับ... ผมเข้าใจสิ่งที่คุณอธิบาย เข้าใจการวิเคราะห์ปัญหาของคุณ แต่ในทางกลับกันก็อยากฝากถามว่า... "แล้วเราจะสนับสนุนสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องล่ะ?" บ้านเรามันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ถูกทำให้เป็นสีเทา เส้นแบ่งคลุมเครือ อย่างกรณีหาบเร่แผงลอยก็อ้างเรื่องชนชั้น อ้างเรื่องคนทำมาหากิน ทั้งที่มันเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมเรา และมีการทำผิดละเมิดหลาย ๆ อย่าง เช่น การละเมิด กม. ทางเท้า, ละเมิดสิทธิของประชาชนคนเดินถนนและคนรอรถเมล์, การกระทำผิดที่เข้าข่ายคอรัปชั่น เช่น การจ่ายส่วยให้ จนท. หรือผู้มีอิทธิพลบางคน, หรือความคลุมเครือในเรื่องการเสียภาษี, รวมทั้งการก่อปัญหามลภาวะ(อยากให้คุณลองไปดูพวกทำเลทอง เช่น สยาม, เซ็นทรัลเวิลด์ ฯลฯ ตอนดึก ๆ อ่ะครับ ขยะงี้ล้นเละเทะสุด ๆ ผมเห็นแล้วสงสารคนเก็บกวาดถนนครับ, นี่ยังไม่รวมพ่อค้าแม่ค้าที่เขาเปิดร้านและเสียภาษีถูกต้องที่ได้รับผลกระทบอีกนะครับ
ความคิดเห็นที่ 39
อ่านแล้วไม่ค่อยสบอารมณ์เลย คล้ายๆกับพวกที่เวลาทำอะไรผิดแล้วก็มาอ้างว่ามันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ แถมไปว่าคนอื่นว่ามารังแกอีก
เอาง่ายๆนะ ต่อให้คนในกรุงเทพจะมีมากกว่านี้อีกกี่เท่าหรืออาหารการกินจะหายากแค่ไหนก็ตาม แต่ทางเดินก็คือทางเดินมันออกแบบมาแบบนั้นแต่แรกอยู่แล้ว ถ้าอยากจะให้ขายของด้วยก็ไปกำหนดสเปคมาใหม่จะขยายพื้นที่เก็บค่าเช่าอะไรก็ว่ากันไป

แล้วกรุณาแยกคำว่าผู้ดีโลกสวยกับระเบียบวินัยให้ออกว่ามันคนละเรื่องกัน ขืนยังเอาแต่ใจตัวเองแบบนี้ อยากจะขายตรงไหนก็ขายต่อไปแล้วจะมีทางเดินไปทำไม อีกหน่อยถ้ามีทางจักรยานก็คงโดนยึดไปทำที่ขายของอยู่ดี

สุดท้ายอยากให้จำไว้ประเทศไทยไม่ได้ตกต่ำเพราะนักการเมืองอย่างเดียวหรอก ต้นตอทุกอย่างมันเกิดจากความเห็นแก่ตัว มักง่าย ไร้วินัยของคนไทยหลายๆคนนี่แหละ ต่างพากันโกงคนละนิดคนละหน่อยใครขว้าได้ขว้าเอา พอประเทศไม่เจริญก็ด่าแต่นัการเมืองไม่ได้มองดูตัวเองและคนรอบข้างเลย
ความคิดเห็นที่ 15
เขียนดีแล้วครับ แล้วยังมีเอกสารอ้างอิงอีกด้วย อย่างนี้ดีมากครับ ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเขียนยาวมากๆ แล้วคนจะไม่อ่านกัน อย่าไปสนใจคนประเภทที่ทั้งปีอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัดเลยครับ อยากบอกให้ทราบไว้ว่า คนไทยที่อ่านหนังสือเกินกว่า 8 บรรทัด  และอยากอ่านข้อเขียนของคุณก็ยังมีอีกมากมาย
ความคิดเห็นที่ 5
จบแล้วครับสำหรับภาคแรก

เชิญเชียร์ - แช่ง( แต่คาดว่าส่วนมากจะแช่ง ) กันตามอัธยาศัย

ปล.ภาค 2 คร่าวๆ ที่จะเขียน คือเรื่องประเพณีไทยกับการท่องเที่ยว , ระเบียบวินัย , ทุนข้ามชาติและทุนใหญ่ของไทยกับคุณภาพชีวิตของประชาชน , พัฒนาตนเองกับข้อจำกัดด้านสติปัญญาหรือ IQ

ตามนี้นะครับ กรอบคร่าวๆ อาจเปลี่ยนแปลงได้อีก ถ้าหาข้อมูลได้ - ไม่ได้

ลงเมื่อไร ก็ต้องดูก่อนว่าผมจะเขียนเสร็จเมื่อไรครับ ( ปลายปี งานยุ่งแน่ๆ )
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่