ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับวอลเลย์บอลชาย

กระทู้สนทนา
จากการที่วอลเลย์บอลชายทีมชาติไทยได้ทำการแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และสามารถเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายได้ในรอบ 6 ปี แต่ยังไม่สามารถผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศได้ จุดหนึ่งที่มีปัญหาคือ สภาพจิตใจ เพราะในรอบ 8 ทีมสุดท้ายเมื่อโดนนำห่างจะถอดใจไม่เอาใจใส่ในเกม จนเป็นเหตุให้ทีมพ่ายแพ้ และอีกปัจจัยหนึ่งคือการเรียกร้องให้มีการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวี เคเบิ้ลทีวี หรือทีวีผ่านดาวเทียม เนื่องจากกระแสวอลเลย์บอลไทยกำลังเป็นที่นิยม จึงมีข้อเสนอแนะดังนี้
1 ด้านการเตรียมทีม
ต้องมีการสร้างดรีมทีมแบบทีมวอลเลย์บอลหญิง ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น 16 ปี ตั้งแต่ปี 2540 – 2556 ทำให้ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยกลายเป็นทีมแกร่งระดับโลก นอกจากนี้ยังต้องมีการส่งทีมวอลเลย์บอลชายไปหาประสบการณ์ในการเจอกับทีมใหญ่ๆ เนื่องจากทีมวอลเลย์บอลชายมีรายการแข่งขันน้อย ไม่เหมือนกับทีมวอลเลย์บอลหญิง ซึ่งมีรายการแข่งขันมากกว่า นอกจากนี้การพัฒนาในด้านสภาพจิตใจทีมผู้ฝึกสอนต้องใช้เทคนิคเดียวกับทีมวอลเลย์บอลหญิง เนื่องจากทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมผู้ฝึกสอนจะสร้างสถานการณ์ให้นักวอลเลย์บอลเกิดภาวะกดดัน โดยเฉพาะในช่วงท้ายเกม เช่นช่วงคะแนน 23 เท่ากัน หรือฝ่ายเรานำอยู่ และเมื่อเจอสถานการณ์จริงจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเคยเจอมาแล้ว ในส่วนตัวนักวอลเลย์บอลชาย ในอดีตจะมาจากทีมเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น ทีมวอลเลย์บอลทหารอากาศ ในยุคที่มี ชูเกียรติ ไทยใหญ่ เป็นผู้ฝึกสอน และสร้างนักวอลเลย์บอลชายดังๆ มากมาย และบางคนเป็นผู้ฝึกสอนให้ทีมวอลเลย์บอลหญิง เช่น เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร (โค้ชอ๊อด) นัฐพนธ์ ศรีสมุทรนาค (โค้ชยะ) สมชาย จรรยาศิริ อำนาจ สามาอาพัฒน์ อภิศักดิ์ รักชาติยิ่งชีพ สุนทร โพสีดา มนต์ชัย ศุภจิระกุล (หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชายคนปัจจุบัน) เป็นต้น แต่ในปัจจุบันการสร้างทีมมีงบประมาณค่อนข้างจำกัด ทำให้ทีมวอลเลย์บอลชายไม่ได้รับความนิยม และทีมวอลเลย์บอลสโมสรทหารอากาศตกต่ำลงไป แต่ทีมวอลเลย์บอลหญิงมีจุดเด่นคือนักวอลเลย์บอลส่วนใหญ่เล่นมาด้วยกันเป็นเวลานาน บางคนพึ่งเล่นทีมชาติชุดใหญ่ปีแรกและทำผลงานได้ดีเยี่ยม นอกจากนี้สถานศึกษาที่นักวอลเลย์บอลเรียนหรือเคยเรียนอยู่ ก็ให้ความสำคัญกับกีฬาวอลเลย์บอลจนเรียกว่าเป็น Academy ลูกยางและยังให้นักวอลเลย์บอลทีมหญิงเข้าเล่นในสโมสรต่างๆ เช่น ไซโจเดนกินครนนท์, ไอเดียขอนแก่น, สวนสุนันทา วีซี, สุพรีมนครศรี เป็นต้น
2 ด้านการถ่ายทอดทีวี
ในอดีตวอลเลย์บอลหญิงยังไม่แข็งแกร่งในระดับโลก ไม่มีทีวีทั้งฟรีทีวี เคเบิ้ลทีวี หรือทีวีผ่านดาวเทียม ถ่ายทอดสดเลย แต่ในรายการวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย ปี 2009 (พ.ศ. 2552) มีการถ่ายทอดสดผ่านเคเบิ้ลทีวี และในปีนั้นทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยได้แชมป์ ทำให้ในการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงรายการต่อๆ มา มีการถ่ายทอดสดทั้งฟรีทีวี เคเบิ้ลทีวี หรือทีวีผ่านดาวเทียม ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทุกนัดที่ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยลงแข่งขัน ซึ่งการที่ไม่มีฟรีทีวี เคเบิ้ลทีวี หรือทีวีผ่านดาวเทียมถ่ายทอดสดทีมวอลเลย์บอลชายลงทำการแข่งขันนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่ในอนาคต หากทีมวอลเลย์บอลชายไปไกลถึงระดับ 1 ใน 4 เอเชีย อาจจะมีฟรีทีวี เคเบิ้ลทีวี หรือทีวีผ่านดาวเทียม ถ่ายทอดสดทุกนัดที่ทีมวอลเลย์บอลชายลงแข่งขันก็เป็นได้
3 ข้อเสนอแนะ
3.1 ในการแข่งขันรายการต่อไป เช่น ซีเกมส์ AVC CUP ทีมวอลเลย์บอลชายต้องซ้อมให้หนักขึ้นและปรับสภาพจิตใจให้มีความพร้อมที่จะแข่งขันกับทีมระดับเอเชีย
3.2 สถานศึกษาต่างๆ ที่ส่งทีมวอลเลย์บอลชายเข้าแข่งขันในรายการต่างๆ เช่น วิทยุการบินมินิวอลเลย์บอล วอลเลย์บอลการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต้องให้นักกีฬาที่มีฝีมือได้พัฒนาตนเองเสมอ เช่น เล่นให้สโมสรหรือจังหวัดบ้านเกิด ซึ่งวอลเลย์บอลหญิงได้นักกีฬาดาวรุ่งเสริมทีมในลักษณะนี้มาแล้ว

สมาชิกท่านอื่นๆ มีข้อคิดเห็นอย่างไร เชิญครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่