++++ แบ่งปัน แนวทาง ในการวิเคราะห์ วิจารณ์ภาพยนตร์ +++++

กระทู้สนทนา
ออกตัวก่อนนะคะว่าเจ้าของกระทู้ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้มาเลย แต่เป็นคนชอบดูหนัง
และหลายครั้ง รู้สึกว่า เวลาที่ตัวเองดูหนัง แล้วอยากจะบอกว่า มันดีหรือไม่ดี ก็คิดว่ามันน่าจะมีทฤษฎีหรือแนวทางอะไรที่ทำให้ การวิจารณ์ หรือการดูหนังของเรา มันครบหลายๆด้านที่ควรจะต้องดู

วันนี้ว่างๆ เลยลองหาดูว่ามีคนเขียนเรืองนี้บ้างหรือเปล่า ไปเจออยู่สองบทความที่เขียนแล้วก็เข้าใจดี เลยอยากมาแบ่งปันเพื่อนๆ น่ะค่ะ

บทความที่ 1. กระดูกสันหลัง" ของการวิจารณ์หนัง โดยคุณ นันทขว้าง สิรสุนทร

Link ที่เกี่ยวข้อง http://www.oknation.net/blog/print.php?id=4856

กล่าวโดยสรุปของบทความ ขอตัดมาบางส่วนนะคะ เผื่อใครอยากอ่านแบบสั้นๆ

"นักวิจารณ์หนัง” ซึ่งจะต้องแสดงทัศนะเพื่อให้คนดูทราบว่า ผู้กำกับหรือคนเขียนบทภาพยนตร์ ต้องการสื่ออะไร โดยมีกระบวนการสำคัญใหญ่ๆ อยู่สองส่วน
ส่วนแรกคือ “การตีความ” interpretation
ส่วนที่สองคือ “การประเมินคุณค่า” หรือ evaluation

อ.กฤษดา เกิดดี เคยให้นิยามความหมายของหน้าที่สองส่วนนี้ว่า
การตีความ คือการค้นหาความหมายของภาพยนตร์เพื่อจะเข้าใจว่า ผู้สร้างหนังบอกการบอกอะไรในงานที่ผลิตออกมา หรือในทางหนึ่ง มันคือการพยายามอ่าน “สาร” เพื่อขยายขอบเขตความเข้าไปสู่ผู้ชม(หรือผู้อ่านคนอื่นๆ)

การประเมินคุณค่านั้น เปรียบไปก็คือการตัดสินโดยใช้เหตุใช้ผลว่า งานชิ้นนั้นมีคุณค่าอย่างไร ดีหรือไม่ดี มีคุณภาพหรือไม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้อ่านและผู้ชม

โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าบทบาทสองหน้าที่นี้ จะว่าไปก็มีลักษณะของ “หลงจู๊” ตามโรงรับจำนำ คือต้องคอยตรวจสอบคุณค่าของสินทรัพย์ที่ประชาชนนำมาจำนำ บางครั้งต้องบอกได้ว่าวัตถุชิ้นนั้น จริงหรือปลอม มีราคาค่างวดแค่ที่ใด
แต่เหนืออื่นใด การแสดงความคิดเห็นต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล

เมื่อเป็นการแสดงคิดเห็นอย่างใช้เหตุและผลแล้ว แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะมีความแตกต่างราว “ฟ้ากับเหว” ในคำตอบ นั่นไม่ใช่เรื่องผิด เนื่องเพราะแต่ละคนใช้เครื่องมือในการตีความ อ่านสาร แปลคุณค่าไปตามระสบการณ์ ระดับความเข้าใจและมุมมองของชีวิตที่มากน้อยแตกต่างกันไป
หนังอย่าง Titanic อาจเป็นหนังขยะสำหรับ โรเจอร์ อีเบิร์ต แต่ภาพยนตร์ทุนสูงในปี 1997 เรื่องนี้อาจเป็นงานที่มีคุณค่าอย่างสูงในสายตาของ ริชาร์ด คอร์ลิส แห่งนิตยสาร Time" และอีกส่วนหนึ่งกล่าวถึงทฤษฎี

" การวิจารณ์หนังนั้นโดยหลักๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1.การวิจารณ์ที่เน้นรูปแบบนิยม (formalist criticism) เน้นไปที่ฟอร์ม รูปแบบหรือเทคนิคกลวิธีในการนำเสนอเป็นหลัก กล่าวคือให้ความสำคัญกับรูปแบบ สไตล์ มากกว่าเนื้อหาหรือเรื่องราวในหนัง อาทิ การเคลื่อนกล้องในหนัง Citizen Kane ของออร์สัน เวลส์ในยุคสมัยนั้น, การเล่าเรื่องแบบสามองค์ของ amores perros ที่ทำกับ 21 Grams หรือสไตล์ที่หนังอย่าง The Matrix ใช้ในการเล่าเรื่อง


2.การวิจารณ์แบบมาร์กซิสต์(marxist criticism)

การวิจารณ์ประเภทนี้ อันที่จริงรวมไปถึงการวิจารณ์แบบที่เรียกกันว่า contextual criticism กล่าวคือ เน้นความสำคัญกับส่วนของ “เนื้อหา” ในหนัง โดยมีน้ำหนักหลักอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับบริบททางสังคม
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น มันคือการวิจารณ์โดยอิงกับเรื่องราวทางสังคมวิทยา เหตุผลก็คือ เพราะหนังไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่คือผลผลิตของสังคม หรือกระบวนการทางสังคม
ตัวอย่างเช่น ขณะที่นักวิจารณ์ประเภทแรก ชื่นชมการเล่าเรื่อง การใส่สัญลักษณ์มากมาย หรือรูปแบบที่น่าสนใจของหนัง American Beauty
แต่การวิจารณ์ประเภทที่สอง เน้นไปที่การแสดงความเห็นต่อเนื้อหาของสังคมอเมริกันที่ส่งผลหรือได้รับผลลัพธ์จากวัฒนธรรมสมัยใหม่ของตัวละคร


3.การวิจารณ์โดยให้ความสำคัญไปที่ผู้กำกับเป็นใหญ่(auteur criticism)

การวิจารณ์หนังโดยเน้นไป “ผู้กำกับเป็นใหญ่” นั้น ให้ความสำคัญกับความเป็น director ของคนๆ นั้น หรือเปรียบไปคือความเป็นนักสร้างสรรค์ของคนทำหนัง

อาจเป็นการค้นหาบุคลิกสำคัญ, ตัวละครที่มีลักษณะน่าสนใจจากหนังหลายเรื่อง หรือความเป็นส่วนตัวของผู้กำกับในงานของเขา
เช่นทำไม ตัวละเพศหญิงในหนังของ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก ถึงมักไม่ใช่คนดี, ตัวละครของเควนติน ตารันติโน มักเป็นพวกที่ใช้ชีวิตอยู่ในด้านมืดของสังคม, ทำไมเนื้อหาของหนัง โอลิเวอร์ สโตน ถึงมีน้ำเสียงของการวิพากษ์สังคมตลอดเวลา หรือทำไมตัวละครของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ถึงมีลักษณะของเด็กๆ อยู่เกือบทุกเรื่อง

สรุปก็คือ เป็นการมองไปยัง “จุดร่วม” หรือ “ความเหมือน” ที่กระจัดกระจายในภาพยนตร์ของเขา และสิ่งที่เป็นอยู่นั้น ถ้าทำการวิเคราะห์เจาะลึกลงไป เราจะพบว่ามีความเกี่ยวข้องอยู่ในระดับที่มากของภูมิหลังคนทำหนังเหล่านี้


บทความที่ 2. การวิจารณ์ตามทฤษฎีการเล่าเรื่อง ( Narrative Theory ) เรื่อง...สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก

Link ที่เกี่ยวข้อง http://talk.mthai.com/topic/350739

มุมมองในการวิจารณ์
1. โครงสร้าง (Plot)
2. ความขัดแย้ง ( Conflict )
3. ตัวละคร ( Character )
4. แก่นเรื่อง ( Theme )
5. ฉาก ( setting )
6. สัญลักษณ์พิเศษ ( Symbol )
7. มุมมองในการเล่าเรื่อง  ( Point of view )

ถ้าเพื่อนๆ ท่านไหนมีแนวทางในการวิเคราะห์วิจารณ์ภาพยนต์ด้วยทฤษฎีอื่นๆ อย่าลืมมาช่วยแชร์ด้วยนะคะ อยากฟังมุมมองอื่นๆดู
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่