เดนิส มูเควเก นรีแพทย์ จากคองโก รับรางวัลโนเบลทางเลือก ช่วยรักษาหญิงโดนข่มขืน

กระทู้ข่าว
ผู้ที่ได้รับรางวัลสัมมาอาชีวะ ประจำปี 2556 หรือ Right Livelihood Award หรือมักรู้จักในชื่อรางวัลโนเบลทางเลือก ที่ก่อตั้งโดยนายยาคอบ วอน เอ็กซ์คุล เศรษฐีใจบุญชาวเยอรมัน-สวีดิชเมื่อปี 2523 เพื่อยกย่องและสนับสนุนผู้สร้างสรรค์แนวทางปฏิบัติได้และเป็นแบบอย่างรับมือกับสิ่งท้าทายในโลก แต่ถูกเพิกเฉยจากโนเบลซึ่งมักถูกวิจารณ์ว่าโยงใยกับบริบทการเมืองระหว่างประเทศ

รางวัลนี้ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียน เคยได้รับในปี 2528
สำหรับในปีนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น 94 คนจาก 48 ประเทศ มูลนิธิไรท์ส ไลฟ์ลีฮู้ด ในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ประกาศมอบรางวัลแก่ 4 ท่านเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา ประกอบด้วยนักเคลื่อนไหวกำจัดอาวุธเคมีชาวอเมริกัน นรีแพทย์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก นักวิชาการด้านเกษตรชาวสวิส และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวปาเลสไตน์ แต่ละท่านจะได้รับเงินรางวัลเกือบ 6 แสนบาท

เดนิส มูเควเก นรีแพทย์ วัย 58 ปี จากเขตคิวู ที่เต็มไปด้วยสงครามการสู้รบ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก(ดีอาร์ซี) ในฐานะหัวหน้าศัลยแพทย์โรงพยาบาลปันซี หมอมูเควเกและเพื่อนร่วมงาน ได้ช่วยบำบัดรักษาเหยื่อข่มขืนจากคู่อริในสงครามหลายหมื่นคน จนพัฒนาเป็นความรู้ความชำนาญในการรักษาอาการบาดเจ็บรุนแรงด้านนรีเวช แม้เคยถูกทำร้ายแทบเอาชีวิตไม่รอดแต่ก็ยังเคลื่อนไหวไม่เหน็ดเหนื่อย เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมให้เห็นผลเลวร้ายของสงครามคองโก ต่อเด็กหญิงและผู้หญิง

มูเควเกตัดสินใจเรียนเฉพาะทางด้านนรีเวชวิทยาและสูตินรี เพราะมองเห็นปัญหานี้ในประเทศ หลังจากเรียนจบจากฝรั่งเศส ได้เดินทางกลับคิวูในปี 2532 และปัจจุบัน โรงพยาบาลปันซี เป็นที่รู้จักว่ามีความเชี่ยวชาญด้านนรีเวชศาสตร์ รวมถึงการซ่อมอวัยวะทะลุภายใน
ความรุนแรงทางเพศที่สตรีทางภาคตะวันออกคองโกเผชิญ โหดเหี้ยมเกินบรรยาย คนไข้หญิงมาโรงพยาบาลในสภาพที่ช่องคลอดและทวารหนักถูกทำลายด้วยมีดและวัตถุอื่นๆ จำนวนมาก นับจากนั้น หมอมูเควเกและทีมงานที่โรงพยาบาลปันซี ได้ให้การรักษาเหยื่อเหล่านั้นราว 4 หมื่นคน โดยเฉพาะตัวหมอเองให้การรักษาคนไข้วันละ 20 คน จำนวนนี้ 7-10 คนบาดเจ็บจากความรุนแรงทางเพศ อาการเจ็บไข้ลักษณะนี้เป็นความท้าทายของผู้ให้การรักษาทั้งด้านเทคนิคและสภาพจิตใจ
ผู้หญิงบางคนได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ แต่แล้วก็กลับไปถูกข่มขืนอีกครั้งและกลับมาโรงพยาบาลอีก เกินกำลังที่แพทย์จะรักษาเยียวยาอวัยวะสืบพันธุ์ให้ได้เป็นครั้งที่สอง

หมอมูเควเก กล่าวว่า อาชญากรรมเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถมีบุตรได้ และบ่อยครั้งทำให้สตรีที่ตกเป็นเหยื่อ ติดเชื้อเอดส์และจะแพร่ต่อไป สามีของเหยื่อก็อับอาย เป็นการทำลายทั้งเหยื่อและทั้งสังคม ชุมชนและคนรุ่นหลังโดยไม่ต้องลงมือฆ่า แต่เพราะอวัยวะส่วนนั้น ไม่ใช่ส่วนที่มองเห็นกัน มันจึงไม่ชัดเท่ากับการตัดเฉือนเหมือนอวัยวะอื่น หนำซ้ำปัญหาใหญ่ในดีอาร์ซี คือผู้ก่อเหตุ ไม่เคยถูกดำเนินคดีต่อให้รู้ตัวก็ตาม
ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว หมอมูเควเกเรียกร้องให้ประชาคมโลกประณามกลุ่มกบฏที่ก่อความรุนแรงทางเพศ และเรียกร้องมาตรการรูปธรรมต่อประเทศสมาชิกที่สนับสนุนการกระทำป่าเถื่อน ปรากฏว่าหนึ่งเดือนหลังจากนั้น ชายติดอาวุธ 5 คนบุกทำร้ายถึงบ้าน แต่หนึ่งในทีมงานช่วยไว้และถูกฆาตกรรมแทน และแม้รู้ตัวผู้ก่อเหตุ แต่ไม่มีการดำเนินคดี ทำให้หมอมูเควเกตัดสินใจพาครอบครัวหลบหนีไปยุโรป

กลุ่มสตรีในท้องถิ่นพากันออกมาประท้วงต่อทางการ และเริ่มเรี่ยไรเงินเพื่อซื้อตั๋วกลับให้แก่คุณหมอ พร้อมกับสัญญาว่าพวกเธอจะคุ้มกันความปลอดภัยด้วยการผลัดกันเฝ้ายามตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยความประทับใจในความกล้าหาญและกำลังใจ หมอมูเควเกจึงตัดสินใจกลับไปยังคิวูเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ และปัจจุบัน ใช้ชีวิตและทำงานตลอดวันและคืนที่โรงพยาบาลปันซี โดยมีบอดี้การ์ด 2 คนขนาบข้างตลอดเวลา
สำหรับผู้สนใจที่ต้องการอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมรวมถึงผู้ได้รับรางวัลปีก่อนๆ เข้าไปที่ http://www.rightlivelihood.org/

คมชัดลึก

http://bit.ly/เพจข่าวดี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่