ฤาว่ากฎ "Home grown payer" จะทำร้ายนักเตะอังกฤษด้วยกันเอง

กฎ "Home grown player" หรือถ้าจะให้แปลความหมายเป็นภาษาไทยว่า กฎ "นักเตะท้องถิ่น" ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ฤดูกาล 2010-2011 เป็นต้นไป ข้ออธิบายคร่าวๆของกฎนี้ก็คือ ในบรรดาแต่ละสโมสรในพรีเมียร์ลีก จะสามารถส่งผู้เล่นที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ได้ไม่เกิน 25 คน โดยที่จะต้องมีจำนวนนักเตะต่างชาติ ไม่เกิน 17 คน นั่นก็หมายความว่าสโมสรไหนที่ต้องการจะส่งผู้เล่นที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปมากกว่า 17 คน ผู้เล่นเหล่านั้นจะต้องเป็นนักเตะ Home grown

     ซึ่ง "Home grown player" ที่ว่านี้นั้น หมายถึง จะต้องมีคุณสมบัติ คือ จะต้องเป็นนักฟุตบอลที่เคยผ่านการฝึกซ้อมหรือลงแข่งขันฟุตบอลกับสโมสรในอังกฤษหรือเวลส์เป็นเวลา 3 ปี ( อยู่กับสโมสรนั้นๆ ตั้งแต่อายุไม่ถึง 18 ปีเต็ม เป็นเวลา 3 ปี ) ฉะนั้นนักเตะที่จะมีคุณสมบัติเป็น "Home grown player" นั้น ส่วนใหญ่จึงเป็นเด็กในสหราชอาณาจักร ที่อยู่อเคเดมี่ส์ของสโมสรในพรีเมียร์ลีกตั้งแต่เยาวชนนั่นเอง

     มองเผินๆเหมือนว่าจะดีนะครับสำหรับกฎนี้ น่าจะทำให้บรรดานักเตะอังกฤษมีโอกาสพัฒนาฝีเท้าจากทีมใหญ่ๆได้มากขึ้น แต่ถ้าวิเคราะห์กันในระยะยาวแล้ว ผมว่ากฎนี้แหละที่จะทำให้นักเตะอังกฤษถูกนักเตะต่างชาติ ที่ปั้นนักเตะส่งออกอย่าง บราซิล สเปน ฝรั่งเศส อาร์เจนติน่า และอีกหลายๆชาติ มาแย่งงานของนักเตะอังกฤษด้วยกันเอง

     ผลกระทบแรกของกฎ "Home grown player" นั้นก็คือ นักเตะอังกฤษมีค่าตัวที่เฟ้อเกินความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น

- แอนดี้ แคร์โรลล์ [ ลิเวอร์พูล ] >> 35 ล้านปอนด์
- ดาร์เรน เบนท์ [ แอสตัน วิลล่า ] >> 24 ล้านปอนด์
- โจลีออน เลสค็อตต์ [ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ] >> 22 ล้านปอนด์
- สจ๊วร์ต ดาวนิ่ง [ ลิเวอร์พูล ] >> 20 ล้านปอนด์
- เจมส์ มิลเนอร์ [ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ] :: 18 ล้านปอนด์
- ฟิล โจนส์ [ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ] >> 16.5 ล้านปอนด์
- จอร์แดน เฮนเดอร์สัน [ ลิเวอร์พูล ] >> 16 ล้านปอนด์



      และเมื่อบรรดานักเตะอังกฤษมีค่าตัวที่แพงเกินจริง หลายๆสโมสรก็เริ่มที่หาวิธีการแก้ปัญหาในจุดนี้ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไปครับ

<< อาร์เซน่อล >>

     อาร์แซน เวนเกอร์ มีปรัชญาการทำทีมแบบพอเพียง พวกเขาซื้อนักเตะเยาวชนจากทั่วโลกมาปั้น เพื่อที่จะรอวันที่นักเตะเหล่านั้นจะกลายเป็น "Home grown player" ในอนาคต วอจเซียค เซสนี่ , แจ็ค วิลเชียร์ , ธีโอ วัลค็อตต์ , แอรอน แรมซี่ย์ , โยฮันน์ ชูรู , ฟรานซิส คอเคแล็ง , วีโต มานโนเน่ , คีแรน กิ๊บส์ , เอ็มมานูเอล ฟริมปง , นิคลาส เบนด์เนอร์ , อเล็กส์ อ็อกเลด แชมเบอร์แลน , คาร์ล เจนกินสัน ทั้งหมดนี้เป็นนักเตะที่เป็น Home grown ของอาร์เซน่อลในตอนนี้   และในบรรดานักเตะที่ไล่รายชื่อมาทั้งหมด มีเพียง แจ็ค วิลเชียร์ เท่านั้น ที่เป็นเด็กของต้นสังกัดตั้งแต่เยาวชน



<< ลิเวอร์พูล >>

     ทางฝั่งของ FSG ก็มีนโยบายการซื้อตัวผู้เล่นที่ไม่แตกต่างจากอาร์เซน่อล แต่จะเน้นไปที่นักเตะในสหราชอาณาจักรมากกว่าที่อื่น มีเพียงแค่ สตีเว่น เจอร์ราร์ด , อังเดร วิสดอม , มาร์ติน เคลลี่ เท่านั้น ที่เป็นเด็กในอเคเดมี่ส์ของสโมสรตั้งแต่แรก นักเตะที่เป็น Home grown player ที่เหลือ มาจากการนำเข้าจากทีมอื่นๆทั้งหมด ไล่มาตั้งแต่ แบร็ด โจนส์ , เกล็น จอห์นสัน , โคโล ตูเร่ , ราฮีม สเตอร์ริ่ง , โจ อัลเลน , แดเนี่ยล สเตอร์ริดจ์ , ซูโซ่ , จอร์ดอน ไอบ์ และ ฟาบิโอ บอรินี่

<< แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด >>

     พลพรรคปิศาจแดง ยังคงมีนักเตะอังกฤษอยู่ในทีมชุดใหญ่เกินครึ่งทีม แต่มักจะเน้นไปทางอะไหล่สำรองมากกว่า ถ้าเทียบกับทีมใหญ่ๆทีมอื่นในพรีเมียร์ลีกแล้ว แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยังคงเป็นทีมที่ปั้นนักเตะจากอเคเดมีส์ของสโมสร ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ได้มากที่สุด ทั้ง ไรอัน กิ๊กส์ , แดนนี่ เว็ลเบ็ค , ทอม เคลฟเวอร์รี่ , จอนนี่ อีแวนส์ และ ดาร์เรน เฟลชเชอร์ แต่ถึงอย่างไรก็ดี นักเตะที่จากอเคเดมี่ส์ของพวกเขาที่ถูกดันขึ้นมาเล่นชุดใหญ่ในยุคนี้ มีจำนวนน้อยกว่าเมื่อ 10-15 ปีก่อนอยู่พอสมควร

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่