Start-up Nation คิดอย่างไรใหญ่อย่างอิสราเอล

“อิสราเอล”ประเทศขนาดเล็ก ถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง มีข้อจำกัดทั้งพื้นที่ ทรัพยากร ประชากร และทุน แต่กลับมีบริษัทเกิดใหม่มากที่สุดในโลก!



“อิสราเอลเป็นประเทศเล็กในด้านดินแดนและจำนวนประชากร ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะเป็นตลาดใหญ่ หรือพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดมหึมาได้ แต่ในความเล็ก ก็สร้างโอกาสในด้านคุณภาพ ทางเลือกอย่างเดียวของอิสราเอล จึงเป็นการสร้างคุณภาพโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก”

นี่คือคำกล่าวของ ประธานาธิบดี “ชีมอน เปเรส” แห่งอิสราเอล ประเทศเล็กๆ ที่ใครหลายคนเคยมองว่า “เศร้าหมอง” แต่กลับค้นพบความอยู่รอด รุ่งเรือง และทรงอิทธิพลกับเศรษฐกิจโลก ด้วยพลังความคิดและสองมือของพวกเขา



ในเวทีสัมมนา “ถอดบทเรียนความสำเร็จของคนอิสราเอล จุดประกายคนไทยมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ” ซึ่งจัดโดย ธนาคารกสิกรไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นานมีบุ๊คส์ และ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ชี้ชวนให้ผู้ประกอบการไทย ได้แหวกกรอบความคิดเก่าๆ มายิ่งใหญ่ได้แบบอิสราเอล

“มีอารมณ์ขัน มีความอดทน และมีความคิดสร้างสรรค์” คือนิยามสั้นๆ อธิบายความเป็นคนอิสราเอล ผ่าน คำ 3 คำ ที่ “ผศ.ดร. เอกชัย อภิศักดิ์กุล” คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย บอกกับผู้ร่วมสัมมนาฯ

ประเทศที่มีสงครามตลอดเวลา แต่คนอิสราเอลกลับยังมีอารมณ์ขัน และมีบริษัทเกิดใหม่ (startup company) จำนวนมาก มีทรัพยากรจำกัด คนน้อย อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่แร้นแค้น แต่คนยิวกลับถูกยกให้เป็นชนชาติที่ “ฉลาดที่สุดในโลก”

"คนอิสราเอลอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แร้นแค้น จึงทำให้เขาจำเป็นต้องมี “Creativity” เพราะความคิดสร้างสรรค์ทำให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้”

ผศ.ดร. เอกชัย บอกหนึ่งแรงผลักดันที่สร้างความสำเร็จให้กับอิสราเอล เช่นเดียวกับมุมมองในการสร้างเทคโนโลยี ที่ไม่ได้ใช้เงินซื้อ แต่เลือกสร้างเทคโนโลยีด้วยตัวเอง โดยใช้ต้นทุนจากสิ่งที่มีอยู่รอบตัว ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่

ขณะที่คนอิสราเอล มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีวัฒนธรรมที่ดี เขาบอกเราว่า หนึ่งวัฒนธรรมที่น่าประทับใจ คือ “เป็นคนที่ไม่เชื่อฟังคำสั่ง” สามารถแสดงความเห็นของตัวเองได้ แต่ก็สามารถทำงานเป็นทีมได้ดีเช่นกัน นี่เป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า “ความแตกต่างที่ลงตัว”

“ประเทศเขามีสัดส่วนทะเลทรายมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศ แต่มีเทคโนโลยีด้านการเกษตร และระบบชลประทานที่ดีมาก ซึ่งมันมีความ contrast กันอยู่ตลอดเวลา ตรงข้ามกับคนไทย เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สบาย เราเชื่อฟังคำสั่งสูง แต่กลับทำงานเป็นทีมได้ไม่ดีนัก”

“ประภัสสร เสวิกุล” ผู้แปลหนังสือ “Start-up Nation คิดอย่างไรใหญ่อย่างอิสราเอล” ของ Dan Senor และ Saul Singer บอกว่า ประเทศอิสราเอลมีวันนี้ได้ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “จินตนาการ” คือคิดว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองอยู่รอดได้ ในสถานการณ์ที่บีบคั้นอยู่รอบด้าน ทำให้ประเทศยิ่งใหญ่ได้ ภายใต้ข้อจำกัด ทั้ง พื้นที่ ทรัพยากร ประชากร และทุน

“ประธานาธิบดี ชีมอน เปเรส กล่าวว่า อิสราเอลไม่มีทรัพยากร แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือ “นวัตกรรม” ความคิดใหม่ๆ ของคนอิสราเอลทำให้เกิดสิ่งต่างๆ เกิดเป็นมูลค่าทางการค้า ทำให้อิสราเอลกลายเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็ง และเติบโตแทบจะสูงสุดในโลกปัจจุบันนี้”

ขณะที่ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่าอิสราเอล เป็นประเทศที่อนุญาตให้คน “ล้มเหลวได้” และนั่นคือปัจจัยสำคัญที่สร้างให้เกิด startup company อย่างมากมายในประเทศของเขา

“เขาพยายามทำเรื่องความล้มเหลวให้เป็น ความล้มเหลวที่สร้างสรรค์ เป็นประเทศที่อนุญาตให้คนล้มเหลวได้ มันเป็นการยากมากที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นเรื่องสร้างสรรค์ให้สำเร็จได้ในครั้งเดียว ทำธุรกิจก็มีโอกาสเจ๊งได้ แม้ทำการทดลองใหม่ๆ ก็มีโอกาสเจ๊ง แต่สังคมที่สร้างผู้ประกอบการ คือสังคมที่อนุญาตให้คนล้มเหลวได้โดยไม่มีตราบาป”
เขาบอกหนึ่งบทเรียนสำคัญ ที่ถอดได้จากประเทศอิสราเอล และคนไทยสามารถเรียนรู้ได้

ด้าน “ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยวิทัศน์ จำกัด แชร์ประสบการณ์ที่มีโอกาสเยือนอิสราเอลเมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และทึ่งกับความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการเกษตร ของที่นั่น

“การเกษตรสำหรับอิสราเอล คือ วิทยาศาสตร์ 95% อีก 5% คือแรงงาน” นั่นคือสิ่งที่เขาอยากสะท้อนถึงเกษตรกรไทย ให้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาทำให้ผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น ปลอดภัย มีราคาขึ้น และโลกรู้จักได้มากขึ้น โดยไม่ต้องหวังเพียงความช่วยเหลือจากรัฐบาล

“อีกเรื่องคือ ผู้นำของเขาไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ หรือเศรษฐกิจ แต่พยายามช่วยให้เด็กที่เก่ง มีความคิดดีๆ ให้หาคู่ได้ นั่นคือหาพวก Matching fund หา Venture capital ใครเก่ง ผู้นำประเทศจะหาทางให้รวย ให้ประสบความสำเร็จ ปล่อยให้หนุ่มสาว คิดกันให้เตลิดเปิดเปิง ล้มเหลวก็ไม่ดุ แล้วทำให้ความคิดนั้นไปสู่เป้าหมายปลายทางให้ได้”

สอดรับกับความคิดของ ผศ.ดร. เอกชัย ที่บอกว่ามีหลายปัจจัย ที่เอื้อให้อิสราเอลมีบริษัทเกิดใหม่ได้ง่าย ทั้งภาครัฐบาล ที่มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญ ว่าบริษัทเหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และประเทศจำเป็นต้องพึ่งพาพวกเขา บวกกับวัฒนธรรมที่คนไม่กลัวความล้มเหลว ก็ยิ่งเอื้อต่อธุรกิจเกิดใหม่มากขึ้น ซึ่งทัศนคติเช่นนี้สำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการไทย

ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ บอกว่า ความสำเร็จในสายตาของคนอิสราเอล คือการเป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่การทำงานมีเงินเดือนสูงๆ หรืออยู่ในองค์กรดีๆ ซึ่งเป็นคนละภาพกับที่ไทยมอง ซึ่งมักนึกถึงคนประสบความสำเร็จ ว่าคือบุคคลที่ร่ำรวย สังคมไทยไม่ได้บูชาคนที่วิธีการซึ่งนำมาสู่ความสำเร็จ แต่บูชาจุดหมายปลายทางของบุคคลเหล่านั้น

“สำหรับอิสราเอล คนที่เป็นฮีโร่ในสังคม คือ คนที่สร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมาได้ โดยมีนวัตกรรมแล้วทำให้แตกต่าง โดดเด่น ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการไทย มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเยอะมาก แต่ค่านิยมในสังคมเราไม่ค่อยเอื้อให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้แสดงออกและได้รับการยอมรับ กลายเป็นว่าไปวัดความสำเร็จในตัวเงินมากกว่า”

ยังมีอีกหลายความสำเร็จ ที่มาจากวิธีคิดแบบอิสราเอล อย่างการมีลูกบ้า กล้าคิด กล้าทำ มีความมุ่งมั่นในความสำเร็จอย่างยิ่งยวด เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้แจ้งเกิด โดยสร้างผู้ประกอบการ จากนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มองไกล และมองยาว ตามมาด้วยนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้

และนี่คือหลากความคิดที่สะท้อนถึงประเทศอิสราเอล ที่แตกต่างจากไทยชนิดเหมือนอยู่กันคนละขั้ว แต่เราก็สามารถเรียนรู้วิธีคิดเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทย จนได้แนวทางที่เป็น “วิถีไทย” ไปต่อกรชาวโลก


..........................
Key to success
คิดใหญ่ ไปให้รุ่ง แบบอิสราเอล
๐ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
๐ มีอารมณ์ขันและอดทน
๐ กล้าคิดต่าง แต่ทำงานเป็นทีมได้
๐ อนุญาตให้ล้มเหลว
๐ ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหัวใจ
๐ สนับสนุนคนรุ่นใหม่ได้สร้างธุรกิจ
๐ รัฐบาลมีนโยบายเอื้อต่อผู้ประกอบการใหม่
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่