จากหายนะโรงไฟฟ้าฟุคุชิมะ ในความไม่รู้เราได้เรียนรู้อะไร

อ่านเจอบทความนี้ในกรุงเทพธุรกิจ ในความคิดของเรามันน่าสนใจดี ในการได้รู้เรื่องในมุมมองอื่นนอกจากข่าวที่รู้จากทางทีวี
เลยเอามาแปะให้อ่านกันค่ะ

แม้ผ่านไปสองปีกว่าแล้ว ภัยพิบัติไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุคุชิมะก็ยังคงเป็นบทเรียนสำคัญที่คนญี่ปุ่นและทุกคนบนโลกที่จะต้องเรียนรู้ร่วมกัน ข่าวร้ายล่าสุด ในเวลานี้คือ มีน้ำปนเปื้อนรังสีรั่วไหลออกมาและปริมาณรังสีรอบบริเวณโรงไฟฟ้าที่วัดได้จากน้ำที่รั่วไหลออกมานั้นเพิ่มไปจนถึง 18 เท่าจากที่เคยคาดการณ์ไว้

เรื่องนี้คงยังไม่จบง่ายๆ และแม้ญี่ปุ่นจะมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักหลังจากผ่อนปรนกฎวีซ่าสำหรับคนไทยแล้ว ในฐานะมิตรชิดใกล้ก็ย่อมเหมาะควรที่จะย้อนความกลับไปมองชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวญี่ปุ่นในแถบนั้น ทั้งนี้ กลุ่มแม่โขงวอช และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ญี่ปุ่น-ไทย หลังวิกฤตฟุคุชิมะ โดยหวังว่าเราจะไม่เดินไปซ้ำรอยเขาเข้าอย่างจัง

กลุ่มแม่โขงวอช คือกลุ่มนักอนุรักษ์ที่มีแกนขับเคลื่อนเป็นคนญี่ปุ่น ทำงานติดตามการพัฒนาลุ่มน้ำโขง มาครั้งนี้ คุณยูกะ เล่าด้วยความกังวลว่าลุ่มน้ำโขง จะกลายเป็นแหล่งที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่หรือไม่ เธอแสดงความกังวลต่อเรื่องที่ญี่ปุ่นว่า ภายหลังจากที่ภัยพิบัติได้เกิดขึ้นนั้น นอกเหนือไปจากความเสียหายที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ความไม่ชัดเจนในเรื่องราวต่างๆ ก็ปรากฏ เช่น ตัวเลขของจำนวนเงินชดเชย (ที่ผู้ประสบภัยบางคนเท่านั้นที่ได้รับ) เทคนิคในการกำจัดกัมมันตรังสี (ว่าทำได้จริงหรือไม่?) ข้อมูลข่าวสารที่แจ้งแก่ชาวบ้าน (เป็นความจริงครบถ้วนสมบูรณ์แค่ไหน?)

รัฐบาลจะตอบความจริงหรือไม่ อาจไม่จำเป็น เพราะสถานการณ์ที่สังเกตได้ฟ้องชัด ปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวน เด็กเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น ชาวบ้านที่อพยพออกจากพื้นที่ สารกัมมันตรังสีตกค้างในน้ำประปา เหล่านี้น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนให้กับสังคมได้ และสิ่งที่ตอกย้ำความรู้สึกที่ในทางลบต่อรัฐบาลคือ นโยบายการส่งออกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าอย่างน้อยจะมีการกำหนดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศเวียดนามซึ่งห่างเพียง 250 กิโลเมตรจากแม่น้ำโขงเท่านั้น ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ผู้ที่อาศัยใกล้บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงย่อมจะเสี่ยงต่อมลภาวะอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปไกลกว่านั้น พึงพิเคราะห์ก่อนว่าการก่อตั้งโรงไฟฟ้าานิวเคลียร์ในญี่ปุ่นได้ หาใช่แค่เรื่องเทคนิคอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการสร้างวาทกรรมและบริบททางสังคมด้วย อนึ่งมีการสร้างเรื่องราวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในทางที่ต้องการให้ประชาชนยอมรับโดยการสร้างจินตนาการเพื่อให้คนญี่ปุ่นคล้อยตาม เช่น “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อสันติภาพ” “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือสถานที่ปลอดภัย” การกำหนดอัตราค่าจ้างในการเข้าทำงานในโรงไฟฟ้า พร้อมโบนัสจำนวนมหาศาลเสมือนเป็น “ค่าปิดปาก” โดยมากับข้อกำหนดในการห้ามเจ้าหน้าที่ร้องเรียนปัญหา (ทำให้ไม่เห็นผู้ปฏิบัติงานในนั้นออกมาร้องเรียนเลย) กลายเป็นสิ่งที่ทับถมให้ความรู้ที่รัฐบาลสร้างขึ้นนั้นคือ “ของจริง”

กระนั้น มาถึงวันนี้ ความจริงแท้คือความทุกข์ยังคงสะสมในพื้นที่ แม้ว่าสองปีผ่านข่าวจะซาลงไป เช่นใน “หมู่บ้านอิทะเทะ” ที่ห่างจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมะ 30 - 50 กม. ที่กลายเป็นที่รองรับผู้อพยพจากแผ่นดินไหว โดยที่ต่างคนต่างไม่ทราบเลย (ยกเว้นรัฐบาล) ว่าพื้นที่ในหมู่บ้านนั้นได้กลายเป็นพื้นที่อันตรายเนื่องจากวันหนึ่งลมนั้นเปลี่ยนทิศ จึงพัดเอาเมฆที่มีสารปนเปื้อนเข้ามาในแผ่นดิน กลายเป็นฝนและหิมะตกลงมาในพื้นที่หมู่บ้าน และจนถึงบัดนี้สิ่งที่หมู่บ้านอิทะเทะต้องเผชิญคือ ความสูญสลายของสถาบันครอบครัว เพราะเกิดการอพยพของคนหนุ่มสาวอย่างถาวร ปัญหาสุขภาพของคนชราและเด็ก

ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสะท้อนการกระทำของรัฐบาล คือ การผลิตสร้างชุดความรู้และข้อมูล จนอาจชวนสงสัยได้ว่าหวังผลทางการควบคุมสังคมและดำรงอุตสาหกรรมขนาดยักษ์มากกว่าจะคำนึงถึงประชาชน ความเสียหายที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาภัยพิบัตินิวเคลียร์ โนบุโยชิ อิโต (ผู้ดูแลศูนย์ฝึกอบรมด้านการเกษตรในหมู่บ้านอิทะเทะ โชมะ ฟุคุชิมะ) กล่าวว่า “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นเทคโนโลยีที่ไม่สามารถควบคุมได้ ด้วยความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน” ซึ่งคำถามที่อาจควรขบคิดต่อไปได้ คือ “ความรู้” ในการจัดการภัยพิบัติที่มีอยู่นั้นได้ถูกนำเอาออกมาใช้จริงหรือไม่? และความรู้ถูกบิดเบือนและปกปิดกับประชาชนนั้นยังมีหรือไม่ อย่างไร?

ความพินาศที่เกิดขึ้นสั่นคลอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนนั้นมีต่อระบบการเมืองการปกครอง และสายใยสังคมญี่ปุ่นเองไม่น้อย ทั้งๆ ที่พื้นฐานของคนญี่ปุ่นนั้นมีความคิดความรู้สึกแบบรวมหมู่ไม่แตกแถวเสียมาก มีความเชื่อมั่นในตัวผู้นำสูง ในขณะนี้ แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะออกมาแจงเหตุผลว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหลายที่ปิดเครื่องเพื่อตรวจสภาพ ควรกลับมาเดินเครื่องใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป แต่การประท้วงของประชาชน ก็ยังมีอยู่เนืองๆ

พร้อมกันนั้น ที่อีกซีกโลก หลังเหตุการณ์ฟุคุชิมะ เยอรมนีก็วางแผนลด ละ เลิก พลังงานนิวเคลียร์ และหาทางหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน อีกยังรวมถึงแผนการปฏิรูประบบพลังงาน ที่หวังลดทอนอำนาจบริษัทพลังงานขนาดยักษ์ใหญ่ 4 ที่มีมากในตลาดออกไป และกระจายศูนย์พลังงานให้ท้องถิ่นอีกด้วย

ท้ายนี้ ทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า แม้ในญี่ปุ่นเอง หลังฟุคุชิมะ ก็ยอมรับกันว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นทางเลือกที่ชัดเจนขึ้น ความมั่นคงทางพลังงานของท้องถิ่นเองก็เป็นประเด็นขึ้น และความโปร่งใสตรวจสอบได้ของนโยบายและการดำเนินกิจการพลังงานก็ยิ่งเป็นที่เรียกร้องมากขึ้นทุกที หากบ้านเราและชาวอาเซียนยังคงดิ้นรนที่จะใช้พลังงานที่เป็นเสมือนดาบสองคมนี้ โดยไม่เผื่อทางเลือกและสร้างอำนาจตรวจสอบ อนาคตของเราทั้งหมดก็คงคืบใกล้เข้าสู่หายนะด้วยน้ำมือตนเองเต็มที

ที่มา : คอลัมน์ มุมมองบ้านสามย่าน วันที่ 19 กันยายน 2556  หน้า11
         ผู้เขียน ปัญจภา ปิติไกรศร สถาบันวิจัยสังคม จุฬา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่