การรื่นเริงของคนพาล

๔. เรื่องพาลนักษัตร [๑๘]
ข้อความเบื้องต้น



               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนักษัตรของคนพาล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ปมาทมนุยุญฺชนติ” เป็นต้น.

               

คนพาลชาวเมืองสาวัตถีเล่นนักษัตร


               ความพิสดารว่า ดังได้สดับมา ในสมัยหนึ่ง เขาป่าวประกาศชื่อพาลนักษัตร (การรื่นเริงของคนพาล) ในพระนครสาวัตถี.
               ในนักษัตรนั้น พวกชนพาลผู้มีปัญญาทราม เอาเถ้าและโคมัย (มูลโค) ทาร่างกาย เที่ยวกล่าววาจาของ อสัตบุรุษไปตลอด ๗ วัน,
เห็นใครๆ เป็นญาติก็ตาม เป็นสหายก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ชื่อว่าละอายอยู่ ไม่มี, ยืนกล่าววาจาของอสัตบุรุษอยู่ที่ประตูทุกๆ ประตู.

               มนุษย์ทั้งหลายไม่อาจฟังอสัปปุริสวาทของพวกเขาได้ จึงส่งทรัพย์ให้กึ่งบาทบ้าง บาทหนึ่งบ้าง กหาปณะหนึ่งบ้าง ตามกำลัง,
พวกเขาถือเอาทรัพย์ที่ได้แล้วๆ ที่ประตูเรือนของมนุษย์เหล่านั้นๆ แล้วก็หลีกไป.
              ก็ในกาลนั้น พระนครสาวัตถีมีอริยสาวกประมาณ ๕ โกฏิ. ท่านเหล่านั้นส่งข่าวไปถวายพระศาสดาว่า
              “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้ากับภิกษุสงฆ์ อย่าเสด็จเข้าไปสู่พระนคร จงประทับอยู่แต่ในพระวิหารสิ้น ๗ วัน”,
ก็แลตลอด ๗ วันนั้น (ท่านเหล่านั้น) จัดข้าวยาคูและภัตเป็นต้น (ส่งไป) ในพระวิหารนั่นแลเพื่อภิกษุสงฆ์ แม้ตนเองก็ไม่ออกจากเรือน.
               ก็ครั้นเมื่อนักษัตรสุดสิ้นลงแล้ว, ในวันที่ ๘ อริยสาวกเหล่านั้น นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้เสด็จเข้าไปยังพระนคร ถวายทานใหญ่ นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ๗ วันของพวกข้าพระองค์ล่วงไปได้โดยยากอย่างยิ่ง,
               เมื่อพวกข้าพระองค์ได้ยินวาจามิใช่ของสัตบุรุษของพวกพาล, หูทั้งสองเป็นประหนึ่งว่าถึงอาการแตกทำลาย,
ใครๆ ก็ไม่ละอายแก่ใครๆ, เพราะเหตุนั้น พวกข้าพระองค์จึงไม่ให้พระองค์เสด็จเข้าภายในพระนคร, ถึงพวกข้าพระองค์ก็ไม่อาจออกจากเรือน.”

คนพาลกับคนฉลาดมีอาการต่างกัน

               
               พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของอริยสาวกเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า
               “กิริยาของพวกผู้มีปัญญาทราม ย่อมเป็นเช่นนี้,
               ส่วนผู้มีปัญญาทั้งหลายรักษาความไม่ประมาทไว้เหมือนทรัพย์อันเป็นสาระ ย่อมบรรลุสมบัติคืออมตมหานิพพาน”
               ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
                ๔.     ปมาทมนุยญฺชนฺติ พาลา    พาลา ทุมฺเมธิโน ชนา
                    อปฺปมาทญฺจ เมธาวี                    ธนํ เสฏฺฐํว รกฺขติ.
                    มา ปมาทมนุยุญฺเชถ    มา กามรติสนฺถวํ
                    อปฺปมตฺโต หิ ฌายนฺโต    ปปฺโปติ วิปุลํ สุขํ.

                                   พวกชนพาลผู้มีปัญญาทราม ย่อมประกอบ

                    เนืองๆ ซึ่งความประมาท, ส่วนผู้มีปัญญา ย่อมรักษา

                    ความไม่ประมาทไว้เหมือนทรัพย์อันประเสริฐ, ท่าน

                    ทั้งหลายอย่าตามประกอบความประมาท, อย่าตาม

                    ประกอบความเชยชิดด้วยความยินดีในกาม เพราะ

                    ว่า ผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งพินิจอยู่ ย่อมบรรลุสุขอัน

                    ไพบูลย์.


แก้อรรถ

               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พาลา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความเป็นชนพาล คือผู้ที่ไม่รู้จักประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า.
               บทว่า ทุมฺเมธิโน คือไร้ปัญญา. พวกชนพาลนั้น เมื่อไม่เห็นโทษในความประมาท ชื่อว่าย่อมประกอบเนืองๆ ซึ่งความประมาท
คือว่า ย่อมให้กาลล่วงไปด้วยความประมาท.
               บทว่า เมธาวี เป็นต้น ความว่า ส่วนบัณฑิตผู้ประกอบด้วยปัญญาอันรุ่งเรืองในธรรม ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้เหมือนทรัพย์
คือรัตนะ ๗ ประการอันประเสริฐ คือสูงสุด ซึ่งสืบเนืองมาแต่วงศ์ตระกูล.
               อธิบายว่า เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลาย เมื่อเห็นอานิสงส์ในทรัพย์ว่า “เราทั้งหลายอาศัยทรัพย์อันสูงสุด จักถึงสมบัติคือกามคุณ
จักทำทางเป็นที่ไปสู่ปรโลกให้หมดจดได้”, ย่อมรักษาทรัพย์นั้นไว้ฉันใด, แม้บัณฑิตก็ฉันนั้น เมื่อเห็นอานิสงส์ในความไม่ประมาทว่า “ชนผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมได้เฉพาะซึ่งฌานทั้งหลาย มีปฐมฌานเป็นต้น ย่อมบรรลุโลกุตรธรรมมีมรรคและผลเป็นต้น ย่อมยังวิชชา ๓ (และ)
อภิญญา ๖ (อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้, ทิพโสต หูทิพย์, เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่น, ปุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติได้, ทิพยจักขุ ตาทิพย์, อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้น, รวมเป็น อภิญญา ๖. สามข้อเบื้องปลาย เรียกว่า วิชชา ๓ ก็ได้. ) ให้ถึงพร้อมได้.”
               ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนทรัพย์อันประเสริฐ.
               บทว่า มา ปมาทํ ความว่า เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่าตามประกอบความประมาท คืออย่าให้กาลล่วงไปด้วยความประมาท.
               บาทคาถาว่า มา กามรติสนฺถวํ ความว่า อย่าตามประกอบ คือ อย่าคิด ได้แก่ อย่าได้เฉพาะแม้ซึ่งความเชยชิดด้วยอำนาจแห่งตัณหา กล่าวคือ ความยินดีในวัตถุกามและกิเลสกาม.
               บทว่า อปฺปมตฺโต หิ เป็นต้น ความว่า เพราะว่าบุคคลผู้ไม่ประมาทแล้ว โดยความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น เพ่งอยู่ ย่อมบรรลุนิพพานสุขอันไพบูลย์ คือโอฬาร.
               ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมากได้เป็นอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น.
               เทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว ดังนี้แล.

               เรื่องพาลนักษัตร จบ.
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=12&p=4
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ศาสนาพุทธ พระไตรปิฎก มหาสติปัฏฐาน 4
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่