จริงหรือที่ H. G. Wells กล่าวว่า 'สยามไม่เคยให้อะไรแก่โลกเลย มีแต่เอาประโยชน์จากโลก'

กระทู้สนทนา
เมื่อสักสัปดาห์หนึ่งมาแล้วมีกระทู้ใน Pantip (tag วิทยาศาสตร์) ที่ตั้งไว้ว่า 'คิดยังไง ที่ H.G. Wells กล่าวว่า สยามไม่เคยให้อะไรแก่โลกเลย มีแต่เอาประโยชน์จากโลก' http://ppantip.com/topic/30954569

มีความเห็นส่วนหนึ่งที่สงสัยว่า H. G. Wells เคยพูดแบบนี้จริงหรือไม่ ซึ่งก็เป็นคนหนึ่งด้วย และอาจจะสงสัยมากเพราะค้นเน็ตยังไงก็ไม่พบ เบาะแสเดียวที่มีคือเรื่อง 'พระเจ้ากรุงสยาม' [1] ซึ่งเมื่อค้นดูในห้องสมุดก็พบว่ามีอยู่หลายเล่ม พอได้โอกาสเลยไปยืมมา

ในเล่มพบข้อความที่อ้างถึง H. G. Wells ที่หน้า 9 ตามรูปถ่าย ซึ่งดูแล้วก็สื่อความหมายไม่เหมือน ทางนี้บ่งบอกว่าไม่มีความสำคัญแต่ไม่ได้เหยียดหยาม (โดยเฉพาะถ้าอ่านบริบทและสำนวนของผู้แต่งทั้งก่อนหน้าและหลังเข้าไปด้วย)



แต่หนังสือก็ยังไม่ตอบโจทย์ว่าเอาข้อความด้านบนนี้มาจากไหน โชคดีที่บอกว่ามาจากหนังสือประวัติศาสตร์สากลซึ่งหาข้อมูลง่าย ถ้าเป็นพวกบทสัมภาษณ์หรืออย่างอื่นจะค้นยากกว่ามาก และเมื่อลองค้นดูผลงาน non-fiction ของ H. G. Wells โดยคร่าวๆ ก็พบว่ามีการเขียนถึงประเทศสยามหรือคนสยามดังนี้

ใน 'Experiment in Autobiography' [2] มีกล่าวถึงสยามสองแห่งที่หน้า 54 ที่กล่าวว่าอ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศต่างๆ กับที่หน้า 337 ช่วงการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกที่เรือพระที่นั่งออกจากท่าและมีการยิงสลุต

ใน 'The Outline of History' [3] มีกล่าวถึงสยามสี่แห่งใต้หัวข้อภาษาจีน ประวัติศาสตร์จีน และอิทธิพลของวัฒนธรรมจีน และอยู่ในรายชื่อประเทศที่เข้าร่วมสันนิบาตชาติ ที่หน้า 62, 73, 260, 492

ในฉบับย่อ 'A Short History of the World' [4] มีคำว่าสยามอยู่หนึ่งคำ บริบทเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาพุทธออกจากอินเดียที่หน้า 166

พอถึงตอนนี้ก็ชักจะตัน ต้องย้อนมาที่แหล่งข้อมูลอีกที ไหนๆ ข้อความที่ปรากฏอยู่ใน 'พระเจ้ากรุงสยาม' [1] ก็มีคำอังกฤษอยู่หนึ่งคำ คือ Contribute เลยลองค้นด้วยคำนี้ในเล่ม 'A Short History of the World' [4] ซึ่งกลายเป็น breakthrough อย่างไม่คาดคิด เพราะเจอข้อความที่น่าจะเป็นต้นฉบับ เพียงแต่ไม่ได้เกี่ยวกับสยามเท่านั้นแหละ

ข้อความที่คล้ายคลึงนี้ปรากฏใต้หัวข้อ LXIII European Aggression in Asia and the Rise of Japan ที่หน้า 400

But now a new Power appeared in the struggle of the Great Powers, Japan. Hitherto Japan has played but a small part in this history; her secluded civilization has not contributed very largely to the general shaping of human destinies; she has received much, but she has given little. The Japanese proper are of the Mongolian race. Their civilization, their writing and their literary and artistic traditions are derived from the Chinese. ...

ขอแปลอย่างหยาบๆ ไว้ว่า 'แต่บัดนี้ ญี่ปุ่นก็เป็นอำนาจใหม่ที่ปรากฏขึ้นท่ามกลางการแย่งชิงของเหล่ามหาอำนาจ ก่อนหน้านั้นญี่ปุ่นมีบทบาทไม่มากในประวัติศาสตร์ อารยธรรมที่โดดเดี่ยวตนเองไม่ค่อยมีผลกระทบมากต่อทิศทางชะตากรรมของมนุษย์ชาติ ประเทศนี้ได้รับ [อารยธรรม] จากภายนอกมาก แต่ให้ [มีอิทธิพล] กลับน้อย [ประชากรใน] ดินแดนญี่ปุ่นหลักเป็นชาติพันธุ์มองโกเลียน อารยธรรม อักษร วรรณกรรม และ ศิลปะวัฒนธรรม มีรากฐานมาจากจีน ...'

ประโยคเหล่านี้เป็นเพียงบทนำของข้อความต่ออีกยาวยืดเรื่องประวัติญี่ปุ่นว่าไม่ได้มีบทบาทมากในประวัติศาสตร์โลกก่อนเปิดประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้มีการเหยียดหยามอะไร และพูดตามตรงคือไม่ได้เข้าข้างการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่ส่งผลต่อการปิดประเทศด้วย

และเมื่อเจอตรงนี้ ก็ไปค้น 'The Outline of History' [3] ซึ่งเป็นฉบับละเอียด ก็พบเวอร์ชั่นร่ายยาวกว่าในหัวข้อประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น (หน้า 454) ด้วยตามคาด

สรุปด้วยข้อมูลปัจจุบันคือ H. G. Wells ไม่เคยแสดงความเห็น 'สยามไม่เคยให้อะไรแก่โลกเลย มีแต่เอาประโยชน์จากโลก' นี้เลย จึงขอเสนอเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียนถึงคำเล่าที่ไม่มีที่มาที่ไปหรือหลักฐานอ้างอิง

[1] ส.ธรรมยศ. Rex Siamen Sium หรือ พระเจ้ากรุงสยาม. สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2, 455 หน้า, 2547 (พิมพ์ครั้งแรก 2495).
[2] H. G. Wells. Experiment in Autobiography. Project Gutenberg Canada Ebook, First Published in 1934. http://www.gutenberg.ca/ebooks/wellshg-autobiography/wellshg-autobiography-00-h-dir/wellshg-autobiography-00-h.html
[3] H. G. Wells. The Outline of History. Internet Archive Ebook, First Published in 1920. http://archive.org/details/OutlineOfHistory
[4] H. G. Wells. A Short History of the World. Project Gutenberg EBook, First Published in 1922. http://www.gutenberg.org/files/35461/35461-h/35461-h.htm
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  วิทยาศาสตร์
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่