ประชาธิปไตยจำเป็นต้องเป็น "Secular State" หรือ "Liberal" เท่านั้นใช่หรือไม่

กระทู้คำถาม
http://ppantip.com/topic/30972706

เห็น BBC ทำสารคดีซีเรียออกมาแล้ว และก่อนหน้านี้ ก็เถียงกันพอสมควร ตั้งแต่ตุรกียันอียิปต์

ฝ่ายชนชั้นกลางของทั้งตุรกีและอียิปต์ ต้องการให้เป็น Secular State

(ผมก็ไม่เข้าใจคำๆ นี้มากนักว่าขนาดไหน อย่างฝรั่งเศสกับตุรกี ห้ามแสดงออกทางศาสนาในสถานที่ราชการ เช่น ผญ มุสลิม จะคลุมฮิญาบไปเรียนไม่ได้ ส่วนบ้านเราที่หลายคนชอบบอกว่าเป็นรัฐพุทธ แต่ให้สิทธิ ผญ มุสลิม สวมฮิญาบไปเรียน หรือทำงานในสถานที่ราชการได้)

ขณะที่คนระดับล่างส่วนมาก อยากได้สิทธิในการแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนา

(แต่บางคนบอกว่า Muslim Brothehood และพรรครัฐบาลของตุรกี ต้องการให้เป็นรัฐศาสนา แบบซาอุฯ หรือตาลีบัน)

เลยตีกันเละแบบที่เห็นในข่าว รวมถึงซีเรียด้วย

ขอตัดข่าวเ่ก่ามาลงนะครับ

----------------------------------

จาก‘ตุรกี’ถึง‘อียิปต์’ ‘สังคมไทย’ได้บทเรียนอะไรบ้าง?’

เชื่อว่าวันนี้ กระแสที่ทั่วโลกจับตามองมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเหตุวุ่นวายในอียิปต์ หลังจากรัฐบาลของ โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดี ที่มาจากการเลือกตั้งหนแรกหลังโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของ ฮอสนี มูบารัค เมื่อปี 2554 ถูกกองทัพยึดอำนาจ ทำให้กลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนนายมอร์ซีออกมาชุมนุมประท้วงจนเกิดการปะทะกันกับทหารและกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านนายมอร์ซี ที่ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตพุ่งไปเกือบพันศพแล้ว

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ที่ตุรกีก็มีเหตุชุมนุมประท้วง ต่างกันแต่เพียงจบเร็วและไม่นองเลือดเท่านั้น สาเหตุที่ระบุอย่างเป็นทางการ เกิดจากโครงการสร้างสวนสาธารณะ ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลของ เรเซ็ป ไตยิบ เอดวน นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา หากแต่มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า..ความวุ่นวายทั้งในตุรกีและอียิปต์ เป็นไปด้วยสาเหตุที่ซับซ้อนกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของข้อขัดแย้งทางความเชื่อในหมู่ประชาชน

โลกเก่า VS โลกใหม่

“อียิปต์เป็นประเทศที่เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังโลกสมัยใหม่ ก็เหมือนกับไทยที่ผ่าน 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภา กว่าจะมีประชาธิปไตยได้ แต่ทีนี้ในโลกมุสลิม มันแตกต่างจากที่อื่นๆ ตรงที่ว่าอิสลามเข้าไปมีบทบาทสำคัญ ในเรื่องสังคมและการเมือง”

มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะนักวิชาการผู้สนใจการเมืองโลกมุสลิม อธิบายถึงลักษณะทางสังคมในโลกอาหรับที่อาจจะต่างไปจากสังคมอื่นๆ ของโลกใบนี้ เนื่องจากศาสนาอิสลาม มีจุดเด่นสำคัญคือไม่ใช่เพียงพิธีกรรมอย่างศาสนาอื่นๆ เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปยังวิถีชีวิตของผู้นับถือทุกย่างก้าว ตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

นักวิชาการด้านมุสลิมศึกษารายนี้ เปรียบเทียบถึงวัฒนธรรมที่เคยคล้ายกันอย่างศาสนาคริสต์ในโลกตะวันตก ที่ครั้งหนึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คนไม่ต่างกัน จนกระทั่งถูกท้าทายจากกระแสปฏิวัติวิทยาการ สังคมยุโรปเริ่มตื่นตัวด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้อิทธิพลของศาสนาเสื่อมลง และถูกกันออกไปนอกวิถีของการเมือง หรือที่เรียกว่า รัฐฆราวาส (Secular State) ซึ่งกระแสนี้ได้แพร่ขยายไปทั่วโลก พร้อมๆ กับการล่าอาณานิคม

“โลกตะวันตกจะละทิ้งศาสนา แต่ในอิสลามไม่ใช่ ฉะนั้นพลังในโลกมุสลิมมันมีพลังอันหนึ่ง เรียกว่าพลังของอิสลาม เพราะอิสลามเป็นศาสนาที่บอกว่าคือระเบียบของชีวิต มันเป็นระบบหนึ่ง เหมือนๆ กับ Socialist (สังคมนิยม) Democracy (ประชาธิปไตย) อะไรเหล่านั้น อิสลามมีพลังตรงนี้ แต่โลกมุสลิมก็มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก”

อ.มูฮัมหมัดอิลยาส เล่าต่อไปถึงการปะทะทางวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่ยุคจักรวรรดินิยม ที่ต้องต่อสู้กับบรรดามหาอำนาจตะวันตก กับยุคกระแสสมัยใหม่ (Modernization) ที่พูดถึงสิทธิสตรี ความเท่าเทียมของมนุษย์ หรือแม้แต่สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สิ่งเหล่านี้ถือเป็น “คุณค่าใหม่” ที่สังคมอาหรับไม่คุ้นเคย แต่ที่เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น คือกลุ่มที่นิยมตะวันตกมีจำนวนน้อยกว่า จึงหันไปหากองทัพที่ฉวยโอกาสออกมาทำรัฐประหาร

ความลักลั่นของอุดมการณ์

ประเด็นถัดมา เมื่อพูดถึงข่าวการประท้วงในตุรกีและอียิปต์ เรื่องที่บรรดานักวิชาการ ตลอดจนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสีต่างๆ ในไทยนำมาพูดถึง คือความเหมือนกันของทั้ง 2 ชาติ ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมสายเคร่งเลือกตั้งเข้ามา ทั้งพรรคความยุติธรรมและการพัฒนาของตุรกี และพรรคภราดรภาพมุสลิมของอียิปต์ จากนั้นก็เกิดข้อสงสัยกันว่า..เหตุใดพรรคที่มีนโยบายเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม-ศาสนานิยม จึงได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ มากกว่ากลุ่มการเมืองที่อิงตะวันตก และเน้นเสรีนิยมแบบรัฐฆราวาส

อ.มูฮัมหมัดอิลยาส ชี้ให้เห็นถึงความลักลั่นเชิงอุดมการณ์บางอย่าง ในอียิปต์ กลุ่มหรือพรรคภราดรภาพมุสลิม พยายามช่วยเหลือคนยากจน ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งโรงพยาบาล สำนักงานทนายความ หรือโรงเรียน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ทั้งที่ควรจะเป็นนโยบายของกลุ่มอำนาจเก่าที่อ้างความเป็นรัฐฆราวาส อันเชิดชูหลักการสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมแบบตะวันตก

เช่นเดียวกับสถานการณ์ในตุรกี ที่กว่าพรรคความยุติธรรมและการพัฒนาจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องบ่มเพาะฐานเสียงเป็นเวลาหลายสิบปี ผ่านการเข้าไปให้ความรู้กับประชาชน จนกระทั่งมีพลังมวลชนมากพอจะเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ซึ่งใช้ศาสนาเป็นตัวจักรสำคัญ เพราะกับชาวบ้านรากหญ้าทั่วไปแล้ว ศาสนาเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายที่สุด

“เขา(ภราดรภาพมุสลิม) มีทุกอย่าง ที่รัฐบาลทหารไม่สามารถจัดหาให้ได้ แต่ Muslim Brotherhood หาให้ได้ คนตายที่ไหน คนเจ็บที่ไหนเขาไปถึง นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมเขาถึงชนะ แต่พวก Liberal หรือพวก Secularist เขาไม่เคยอยู่กับประชาชน นี่คือความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เรื่องรัฐอิสลามมันถกกันจบไปแล้ว เขาแค่ใช้คุณค่าแบบอิสลามเข้าไปให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมเท่านั้นเอง พรรคยุติธรรมของตุรกีก็เหมือนกัน” อ.มูฮัมหมัดอิลยาส กล่าว

ต้อง‘พูดคุย’เพื่อลด‘ความกลัว’

ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกมุสลิมรายนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ที่จริงแล้วกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ทุกวันนี้ไม่ได้ต้องการสถาปนารัฐอิสลามที่มีความสุดโต่ง อย่างที่บรรดากลุ่มนิยมรัฐฆราวาส ตลอดจนชาติตะวันตกหวาดกลัวกัน เพราะอุดมการณ์ดังกล่าวที่อาจได้รับความนิยมในยุคต่อต้านการล่าอาณานิคม แต่เมื่อภัยดังกล่าวสิ้นสุดลง ความนิยมในลัทธิดังกล่าวก็ลดลงไปด้วยตามลำดับ ไม่ต่างจากลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เคยเฟื่องฟูไปทั่วโลก ทว่าวันนี้คงไม่มีประเทศใดเรียกหาอีกเพราะล้าสมัยไปแล้ว

“มีการปลุกความคิดว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมจะตั้งรัฐอิสลาม ก็จะเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอล ต่อกลุ่ม Liberal (เสรีนิยม) ต่อกลุ่ม Secular (รัฐฆราวาส) ดังนั้นเขาเลยพยายามสร้าง Mentality (กระแสความเชื่อ) สร้างความรู้สึกต่อต้านให้มันเกิดขึ้น พอเห็นอะไรอิสลามหน่อยก็กลัว ถ้าเป็นสมัยก่อนก็ยึดอำนาจเลย แล้วแขวนคอคนได้เลย

ก็เหมือนกับไทยที่เคยกลัวผีคอมมิวนิสต์ ก็สร้างความกลัวตรงนี้ขึ้นมา เป็นการสร้างให้เกิดการคุกคามจากภายนอก มันเป็นการสร้างอำนาจอย่างหนึ่งให้จอมพล หรือทหารทั้งหลายในตอนนั้น”
อ.มูฮัมหมัดอิลยาส เปรียบเทียบ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแนวคิดต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมอาหรับเท่านั้น แต่เกิดขึ้นไปทั่วโลกระหว่างผู้นิยม “คุณค่าตะวันตก” ที่เชิดชูเสรีภาพของปัจเจกบุคคล กับคุณค่าอื่นๆ นอกจากขนบอิสลามที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมี “ขนบตะวันออก” เช่นวาทะของลี กวน ยู อดีตผู้นำสิงคโปร์ เกี่ยวกับคุณค่าแบบเอเชีย หรือไทยเองก็มีความเชื่อแบบ “แสวงหาคนดี” มาบริหารบ้านเมืองเช่นกัน

“ปัญหาในการเข้าสู่ความเป็น Modern (ทันสมัย) กลุ่มตะวันตกบอกว่า ถ้าคุณจะ Modern คุณมีทางเดียวคือต้องเป็น Secular คุณต้องเดินทางนี้ ต้องแยกศาสนาออกไป ตะวันตกมีประสบการณ์อย่างไรคุณต้องเอาแบบนั้นมาใช้ ส่วนกลุ่มอื่นๆ ทั้งกลุ่มอิสลาม กลุ่มตะวันออก หรือกลุ่มละตินอเมริกา บอกว่าเราจะเข้าสู่ Modern ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านประสบการณ์แบบตะวันตก เรา Modern ได้ ในขณะที่เรายังมีศาสนา มีแบบแผนประเพณีอันดีงามของเรา คือมันเป็นข้อถกเถียงในเรื่อง Modernity”

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโลกมุสลิม กล่าวทิ้งท้าย พร้อมกับแนะนำว่า ที่ลัทธิสุดโต่งเกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ได้ เพราะสังคมนั้นๆ ไม่มีพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายมาพูดคุยกัน ทำให้ฝ่ายต่างๆ มีแต่จะหวาดกลัวซึ่งกันและกัน หรือไปเล่าลือปากต่อปากกันเองในทางลับ ปลุกระดมจนเติบโตเป็นกลุ่มที่แข็งกร้าวขึ้นมาได้ โดยยกตัวอย่าง “อินโดนีเซีย” เป็นประเทศที่บรรดานักคิดของอิสลามสายต่างๆ สามารถถกเถียงทางศาสนาได้อย่างเต็มที่นำมาซึ่งความเข้าใจและการแสวงหาทางออกร่วมกัน จนกลุ่มหัวรุนแรงสุดขั้วยากจะขยายตัวได้อย่างพื้นที่อื่นๆ

บทเรียนจากอียิปต์และตุรกี สะท้อนให้เห็นปัญหาสำคัญ 2 ประการ เรื่องแรกคือ การแสวงหาคุณค่าใหม่ๆ ทางสังคม พบว่า
แม้แต่คุณค่าที่ถูกยกย่องว่าเป็นสากลที่สุดตามที่โลกตะวันตกรับรองอย่างรัฐฆราวาส ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถูกใช้ไปเพื่อประชาชนคนรากหญ้าอย่างแท้จริง ตรงกันข้าม ค่านิยมอื่นๆ ที่ถูกตะวันตกตัดสินว่าล้าหลัง อย่างรัฐอาจมีบางส่วนที่อิงกับศาสนาบ้าง กลับมีแนวโน้มยืนอยู่ข้างประชาชนมากกว่า

อีกเรื่องหนึ่ง ความที่ทั้ง 2 สังคม เป็นสังคมที่รัฐค่อนข้างเป็นไปในทางบีบบังคับประชาชนในการแสดงออก ทั้งอียิปต์ที่เป็นเผด็จการมานาน ขณะที่ตุรกีแม้จะเป็นประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมาก็มีการตั้งข้อสังเกตบางประการ เช่นการออกกฎหมายห้ามสตรีมุสลิมสวมฮิญาบ (ผ้าคลุมผม) โดยอ้างว่าเพื่อขจัดอิทธิพลของศาสนา ว่าเป็นความหวาดกลัวเกินไปของผู้มีอำนาจรัฐ จนต้องลิดรอนเสรีภาพของประชาชนหรือไม่? สิ่งเหล่านี้เมื่อถึงจุดหนึ่ง จึงระเบิดออกมาเป็นเหตุรุนแรงดังกล่าว

ส่วนสังคมไทยจะซ้ำรอย 2 ประเทศนั้นหรือไม่? วันนี้ยังไม่มีใครกล้ารับรอง

SCOOP@NAEWNA.COM

ข่าวจาก : http://www.naewna.com/scoop/65336

--------------------------------

จากข่าว นักวิชาการคนนี้ บอกว่ากลุ่มที่ถูกตะวันตกมองว่าเคร่งศาสนา กลับอยู่ข้างประชาชนมากกว่าพวกไม่เคร่งศาสนา

คิดว่าไงดีครับ ปชต. จริงๆ แล้ว มันต้องอยู่กับ Secular หรือ Liberal State เท่านั้นหรือเปล่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่