ช่อง 3 วางแนวรุก รบสงครามคอนเทนต์

กระทู้สนทนา


ช่อง 3 วางแนวรุก รบสงครามคอนเทนต์

แม้ละครชุด “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” จะจบไปแล้วร่วม 2 เดือน แต่ดูเหมือนกระแสความนิยมในตัวหนุ่มๆ ยังคงไม่ลดลง โดยเฉพาะ “เจมส์ จิรายุ” ผู้รับบทพระเอกในตอน “คุณชายหมอพุฒิภัทร” ซึ่งล่าสุด ได้เป็นพรีเซ็นเตอร์แคมเปญล่าแสตมป์ของร้าน 7-11 แทนรุ่นพี่ร่วมช่อง และยังเป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรกของ “โยเกิร์ต บัลแกเรีย”

นอกจากนี้ เจมส์ จิรายุ ยังเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับ “วุฒิศักดิ์” “คริสปี้ครีม” “วีออส” และ “เอไอเอส” ขณะที่ค่ายคู่แข่งอย่าง “ทรู” ก็ดึง “คุณชายรณพีร์” หรือ “เจมส์ มาร์” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ประกบ โดยก่อนหน้านี้ทรูได้จ้าง “คู่จิ้น” ซุปตาร์ดาวรุ่งช่อง 3 เอาไว้แล้วถึง 2 คู่ คือ ญาญ่า-ณเดชน์ และบอย ปกรณ์-มาร์กี้

ว่ากันว่า รายได้ค่าพรีเซ็นเตอร์ของเจมส์ จิรายุ สูงถึง 8 หลักในทุกสินค้า มีเพียงวุฒิศักดิ์ที่ทุ่มได้แค่ 7 หลัก เพราะจ้างดาราไว้หลายคน พร้อมกันนี้ยังมีข่าวว่าเจมส์ จิรายุจะได้เป็นพรีเซ็นเตอร์น้ำดำยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งจะได้เห็นในช่วงปลายปี

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับละครชุด 5 หนุ่ม ช่อง 3 ยังมีละครซีรีส์ผู้หญิงๆ ในชื่อชุด “3 ทหารเสือสาว” อันประกอบด้วย “มายาตวัน” นำแสดงโดยญาญ่า อุรัสยา “มนต์จันทรา” นำโดย มาร์กี้ ราศี  และ “ฟ้ากระจ่างดาว” นำโดยแมท ภีรนีย์

ความโด่งดังของญาญ่าสะสมมาตั้งแต่แสดงนำในละครเรื่อง “ดวงใจอัคนี” คู่กับณเดชน์ คูกิมิยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในละครซีรีส์ชุด “4 หัวใจแห่งขุนเขา” อันเป็นละครชุดเรื่องแรกของทางช่อง 3 ออกอากาศเมื่อ 2 ปีก่อน

หากนับดูคร่าวๆ เชื่อว่า ณ วันนี้ ญาญ่าน่าจะเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาสินค้ามากถึง 20 ตัว เธอจึงครองตำแหน่ง “เจ้าแม่” พรีเซ็นเตอร์ประจำปีนี้ แซงหน้ารุ่นพี่ข้ามช่องและร่วมช่องหลายคน ขณะที่พระเอกคู่บุญอย่างณเดชน์ ก็ได้ชื่อเป็น “เจ้าพ่อ” พรีเซ็นเตอร์ประจำปีที่แล้ว โดยปีนี้แม้เจ้าของแบรนด์สินค้าจะมีตัวเลือกหน้าใหม่เยอะขึ้น แต่ณเดชน์ก็เพิ่งคว้าตำแหน่งพรีเซ็นเตอร์ให้กับแอร์เอเชีย เมื่อไม่นานมานี้

สมรักษ์ ณรงค์วิชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง3 เชื่อว่า ปรากฏการณ์ความดังของทัพนักแสดงหน้าใหม่ช่อง 3 นั้น ส่วนสำคัญหนึ่งเกิดจากการปรับกลยุทธ์การสร้างละครของช่อง 3 โดยใช้ยุทธศาสตร์ “ละครซีรีส์”

“คุณประวิทย์ (มาลีนนท์) เคยบอกว่า ถ้าเปรียบละครเป็นสินค้า พอจะเอาสินค้าขึ้นหิ้งก็โปรโมตทีหนึ่ง แล้วไม่นานก็ต้องเอาลง เตรียมทำแผนโปรโมตชิ้นใหม่ต่อไป เราจะทำยังไงให้สินค้าขึ้นหิ้งยาวกว่าเดิมได้ ผมจำคำนี้มาคิดต่อ เพราะถ้าละคร 1 เรื่องอยู่ได้ 4-5 เดือนและคนดูติด เราก็สบายไปครึ่งปีเลย เราก็หาหลายรูปแบบ แต่ตอนนั้นคิดว่าละครซีรีส์จบในตอนเหมือนซีรีส์ฝรั่ง ยังไม่น่าจะถูกจริตผู้ชมคนไทยนัก”

สมรักษ์เล่าเพิ่มว่า ในเวลานั้น เขาได้พยายามระดมหาคนแต่งพล็อตเรื่องใหม่ขึ้นมา แต่เนื้อเรื่องยังไม่สนุกและคาแร็กเตอร์ของตัวละครก็ยังไม่แข็งแรงพอ หาอยู่นานจนกระทั่งไปอ่านเจอนิยายชุด “บ้านไร่ปลายฝัน” อันเป็นที่มาของละครชุด “4 หัวใจแห่งขุนเขา” ซึ่งออกอากาศตอนแรกเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2554

“สิ่งที่เราได้คือเราสามารถฉายละครได้ยาวขึ้น คนติดตามได้ทีหลายๆ เดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตั้งใจไว้ นอกจากนี้เรายังสามารถสร้างดาราได้อย่างน้อย 4-5 คู่ ในแง่ของการสร้างบุคลากรขึ้นมาใช้ถือว่าโอเค แล้วเรายังดันดาราเป็นแพ็กมาโปรโมตสร้างกระแสได้ด้วย”

นอกจากคำพูดของ “ประวิทย์ มาลีนนท์” อดีตบิ๊กบอสช่อง 3สมรักษ์บอกว่ายังมีอีกแรงบันดาลใจในการทำละครชุดขึ้นมา นั่นคือความพยายามในการสร้างนักแสดงหน้าใหม่ขึ้นมา เนื่องจากก่อนหน้านั้น นักแสดงส่วนใหญ่อยู่ในสังกัดของผู้จัดละคร บวกกับนักแสดงไม่พอ ทำให้เกิดการใช้นักแสดงซ้ำๆ โดยเฉพาะในค่ายเดิมหรือแนวละครเดิม

“จริงๆ มันมีการพูดคุยอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าแต่ละปี ผู้จัดฯ ทุกคนสร้างดาราขึ้นมาคนละคู่ เราจะมีนักแสดงใหม่หลายสิบคน เราพูดแบบนี้มาเป็นสิบๆ ปีก็ไม่เกิดขึ้น ตอนนั้นประเด็นแรกของผมคือ หาวิธีที่สร้างดารามาเป็น “กองกลาง” แล้วแชร์กันใช้งาน เรามีหน้าที่บริหารคิวไม่ให้เกิดการใช้ซ้ำบ่อยๆ”

หลังจากรู้สึกว่ารอให้ผู้จัดฯ หาอย่างเดียวคงไม่พอ เมื่อ 10 ปีก่อน ช่อง 3 จึงได้ตั้งแผนกบริหารศิลปินขึ้น โดยรุ่นแรก คือ ปอ-ทฤษฎี น้ำฝน-พัชรินทร์ และแพท-ณปภา รุ่นต่อมาก็เช่น แต้ว-ณฐพร เกรท-วรินทร โป๊บ-ธนวรรณ์ ญาญ่า, ณเดชน์ หมาก-ปริญญ์ มาร์กี้ บอย-ปกรณ์ ฯลฯ จนรุ่นล่าสุดคือ เจมส์ มาร์ เจมส์-จิรายุ บอม-ธนิน มิว-นิษฐา และเบลล่า-ราณี หรือก็คือนักแสดงหน้าใหม่เกือบทั้งหมดจาก “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ”

สมรักษ์เล่าว่า ช่วงแรกที่สร้างแผนกบริหารศิลปินขึ้นมา ช่อง 3 มีความตั้งใจที่จะหารายได้จากธุรกิจบริหารศิลปิน (ส่วนแบ่งจากค่าตัวศิลปินจากการรับงานอื่นๆ) เช่นเดียวกับบริษัทอื่น แต่หลังจากทดลองทำไปสักระยะจึงพบว่า เกิดปัญหาในการบริหารคิวของนักแสดงและบุคลากร เช่น การซ้อมและตระเวนคอนเสิร์ต คิวหนัง ฯลฯ บวกกับสุขภาพของนักแสดงก็ไม่ไหว จึงยกเลิกการทำธุรกิจบริหารศิลปิน

คงเหลือแต่แผนกบริหารศิลปิน ที่มีหน้าที่ดูแลคิวงาน พัฒนาการแสดง พัฒนาบุคลิก ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการรับงาน การเงิน เรื่องส่วนตัว และการวางตัวของศิลปิน

“คุณประวิทย์บอกว่า ให้เราเอาละครเป็นหลัก เพราะนี่คือรายได้หลักของช่อง ตอนนี้เราก็เลยไม่นึกถึงแง่รายได้จากธุรกิจบริหารศิลปินแม้แต่นิดเดียว คือเราต้องการสร้างบุคลากรสำหรับทำงานละครอย่างเดียว เรื่องอื่นเราให้อิสระเขา เราจะบอกเลยว่า คุณจะไปร้องเพลงหรือเล่นหนังก็ได้ แต่ต้องขออนุญาตเรา ถ้าเราไม่อนุญาตคือจบ แต่ในส่วนของอีเวนต์หรือโฆษณา เราให้สิทธิ์ แต่ต้องไม่ชนกับคิวละครของเรา”

การให้อิสระข้างต้นทำให้โมเดลลิ่งหลายแห่งอยากส่งนักแสดงในสังกัดของตนเข้ามาที่ช่อง 3 นี่จึงเป็นเหตุให้ช่อง 3 มักได้ตัวเลือกนักแสดงหน้าใหม่ก่อนใคร โดยญาญ่า จาก “ตือโมเดลลิ่ง” ณเดชน์ จาก “เอ ศุภชัย” หรือ “เจมส์ จิรายุ” ของ “ปิ๊ก ฌานฉลาด” ถือเป็นตัวอย่างสำคัญ

ไม่เพียงช่วยแก้เรื่องการโปรโมตบ่อยๆ และสร้างนักแสดงหน้าใหม่ได้เป็นแพ็ก การผลิตละครชุดยังเป็นมิติใหม่ในการทำงานของช่อง 3 ที่สมรักษ์ถือว่า เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ในการผลิตละครของช่อง 3 ยุคหลัง

“ก่อนหน้าที่จะเกิดซีรีส์ 4 หัวใจแห่งขุนเขา ผู้จัดฯ ซึ่งเป็นอิสระที่ทางช่องจ้างแต่ละรายจะไม่เคยทำงานร่วมกัน จะทำงานเป็นทีมไม่เป็น เพราะทุกคนเก่งหมด ก็จะไม่ฟังใคร แต่พอได้พูดคุยกันว่าจะทำซีรีส์เรื่องนี้ ซึ่งมันต้องประสานงานกันอย่างมาก ทั้งผู้จัดฯ ผู้กำกับ คนเขียน ฯลฯ มันก็เกิดการทำงานเป็นกลุ่ม งานชิ้นแรกนี้เป็นเหมือนการทดลองเหมือนกัน”
เริ่มต้นจากการทดลอง แต่ “ผลพลอยได้” ที่ได้รับในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องการยอมรับและความสามัคคีของทีมบุคลากร ทำให้เกิดการพัฒนาละครร่วมกันมากขึ้นและใกล้ชิดกันขึ้น โดยเฉพาะผู้กำกับ ผู้จัดฯ และผู้เขียนบท โดยผลลัพธ์ความสำเร็จถูกสะท้อนในละครชุด “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ”

ช่อง 3 ถึงขนาดลงทุนสร้างห้องประชุมสำหรับนักเขียนบท และห้องประชุมสำหรับผู้จัดฯ ขึ้น ณ ชั้น 9 อาคารมาลีนนท์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการระดมความคิดและถกเถียงความเห็น โดยละครชุดเรื่องหลังสุด “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” ถือเป็นเรื่องแรกที่มีโอกาสได้ใช้ห้องประชุมทั้งสองห้องอย่างจริงจัง

ปัจจุบันช่อง 3 มีนักแสดงในสังกัดไม่ต่ำกว่า 100 ชีวิต และมีผู้จัดละครอีกไม่ต่ำกว่า 30 คณะ ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหา “ความไม่หลากหลาย” ซึ่งเป็นปัญหาดั้งเดิมของทางช่องได้เป็นอย่างดี

สมรักษ์มองว่า อีกสิ่งที่ต้องเร่งพัฒนาไปพร้อมกันคือ การสร้างบุคลากรเบื้องหลังให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้กำกับและนักเขียนบท โดยที่ผ่านมา ช่อง 3 เปิดโอกาสให้ผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่เข้ามาลองผลิตละคร ผ่านรายการ “หนังดังสุดสัปดาห์” และเปิดโอกาสให้นักเขียนบทหน้าใหม่ส่งเรื่องเข้ามาและนำเสนอผลงานเหล่านั้นผ่านช่วงละครที่มีอยู่หลากหลายช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของบทนั้นๆ

ด้วยความสำเร็จของละครชุด ทำให้ช่อง 3 เตรียมดันโปรเจ็กต์ซีรีส์ออกมาอีกหลายเรื่อง เช่น “ซิกส์ เซนส์ 2” ซีรีส์ชุด “ลูกไม้ของพ่อ” 5 เรื่อง “The Rising Sun” 3 เรื่อง และซีรีส์ชุด “มาเฟียเลือดมังกร” 5 เรื่อง อีกทั้งยังได้ซื้อลิขสิทธิ์ไว้อีกหลายชุด เช่น “ดวงดอกไม้” เป็นต้น

“เราศึกษามาเกือบ 5 ปีแล้ว มั่นใจว่าสิ่งที่จะสู้ได้ในธุรกิจนี้มีอย่างเดียว คือคอนเทนต์ ตราบใดที่เราทำคอนเทนต์ต่างจากคนอื่น เราสามารถอยู่ได้อย่างสบาย” สมรักษ์สรุป

เพราะรายได้จากค่าโฆษณาในธุรกิจโทรทัศน์บ้านเรามีมูลค่าสูงถึงหลักแสนล้านบาท โดยละครถือเป็นหนึ่งใน “แม่เหล็ก” สำคัญที่ดูดเม็ดเงินตรงนี้เข้าสู่กระเป๋าเจ้าของสถานีและผู้ผลิตรายการ ด้วยเหตุนี้เอง “ทรูวิชั่น” ที่ไม่เคยผลิตรายการประเภทละคร จึงอดใจไม่ไหว ขอกระโดดชิมลางผลิตละคร เพื่อปันเม็ดเงินตรงนี้ด้วยเช่นกัน แต่ก็คงเป็นเรื่องที่ยังต้องจับตา รอดูว่า “หน้าใหม่” รายนี้จะมีไม้เด็ดอะไรมาสู้กับเจ้าตลาดอย่าง ช่อง 3 ช่อง 7 และแกรมมี่

http://www.gotomanager.com/content/%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-3-%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%81-%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C

สรุป ซีรีส์ "ดวงดอกไม้" ทำแน่ๆ เตรียมหานิยายมาอ่านดีกว่า
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่