เต่าทะเลกลืนพลาสติกเพิ่ม 2 เท่าใน 25 ปี

ที่มา: http://www.komchadluek.net/detail/20130907/167499/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A12%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%9925%E0%B8%9B%E0%B8%B5.html




ปัญหาเศษขยะพลาสติกหน้าตาละม้ายคล้ายแมงกะพรุนสร้างความสับสนให้เต่าทะเลเวลาออกหาอาหาร เมื่อกลืนกินเข้าไปอาจทำให้ตายได้ เพราะพลาสติกจะเข้าไปอุดตันในกระเพาะอาหาร ทำให้มันกินอาหารไม่ได้จนตาย หรือไปทิ่มแทงระบบย่อยอาหาร

นอกจากนี้ พลาสติกที่สัตว์ทะเลกินยังอาจปล่อยสารพิษเข้าไปในตัว ทั้งสารพิษจากสารเคมีในตัวพลาสติกเอง หรือจากสารเคมีที่พลาสติกเหล่านี้ดูดซึมขณะลอยอยู่ในมหาสมุทร สัตว์อาจไม่ตายจากการกินเศษขยะพลาสติกทันที แต่ขยะอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ เช่น วงจรการสืบพันธุ์ และยังมีผลกระทบในระยะยาวอีกด้วย

แต่ปัญหานี้หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ เพราะมลพิษพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นมากและก่อตัวเป็นแพขยะขนาดมหึมากลางสมุทร คาดว่ามีแต่จะขยายเพิ่มต่อไปอีกเป็นศตวรรษทีเดียว ผลการวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร ชีววิทยาอนุรักษ์ เมื่อไม่นานมานี้พบว่า แนวโน้มที่เต่าทะเลจะกลืนกินเศษขยะในทะเลเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา

ผลการศึกษาซึ่งวิเคราะห์จากผลวิจัยเกี่ยวกับเต่าตนุและเต่ามะเฟืองที่ใกล้สูญพันธุ์ นับจากปี 2528 พบว่า เต่าหนุ่มสาวที่มักออกไปไกลๆ ในทะเล กลืนกินพลาสติกเข้าไปมากกว่าเต่าอายุมากที่มักอยู่ตามแนวฝั่ง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่ากังวลสำหรับสัตว์ที่มีอัตราการแพร่พันธุ์ต่ำ

สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ยิ่งอยู่ไกลจากคนยิ่งอันตราย อย่างเต่าทะเลที่พบใกล้ๆ กับแนวฝั่งนครนิวยอร์กซึ่งมีประชากรหนาแน่น ไม่ค่อยพบเต่าที่กินขยะพลาสติกหรือขยะอื่นๆ เข้าไป แต่กลับเป็นเต่าที่พบในพื้นที่ที่ยังไม่มีคนเข้าไปมากนัก อย่างทางตอนใต้ของบราซิล

กระนั้น ขยะพลาสติกในทะเลร้อยละ 80 มาจากชายฝั่ง ดังนั้น การทำความสะอาดเกาะโคนีย์หรือชายหาดดังโคปาคาบานาจะเป็นประโยชน์กับเต่าทั้งที่ใกล้และไกลออกไป อย่างไรก็ดี การจะลดความเสี่ยงไม่ให้เต่าตนุและเต่ามะเฟืองต้องตายหรือได้รับอันตรายจากขยะในทะเลอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ จะต้องมาจากการจัดการและสำนึกระดับโลก ตั้งแต่ผู้ผลิตลงมาถึงผู้บริโภค

แม้ความพยายามที่จะลดมลพิษพลาสติกมีคืบหน้าบ้าง จากการหันมาใช้วัสดุย่อยสลายเป็นสารชีวภาพได้ หรือการนำกลับมาใช้ใหม่เริ่มเป็นกระแสที่ผู้คนเห็นความสำคัญ ขณะที่หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกเริ่มใช้กฎหมายแบนถุงพลาสติก แต่ก็ยังไม่มากพอ เนื่องจากปัจจุบันมีการประเมินว่า ทุก 10 วินาทีมีการใช้ถุงพลาสติก 2.4 แสนใบทั่วโลก และถูกนำไปรีไซเคิลไม่ถึง 5%
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่