ท้องมาน/ท้องมาร มีอะไรในท้องกันแน่นะ เอ๊ะ!!!หรือจะมีมาร????

กระทู้สนทนา
สวัสดีครับพอดีเขียนเรื่องนี้เป็นบทความลงในเพจเลยเอามาลงใน pantip ด้วยครับ
เล่าให้ฟังนิดนึงก่อนครับว่าทำไมอยากมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง จริงๆเป็นประสบการณ์จากตอนเด็กๆเลยนะ
จำได้ว่า ตอนนั้นอยู่บ้านตาที่นครสวรรค์ แล้วก็มีเพื่อนยายหรือใครซักคนแถวๆบ้านนั่นแหละ แก่แล้ว และตอนนั้นเราก็เห็นแกท้องโตๆนะ
เด็กอะครับก็ไม่เข้าใจหรอกว่าคืออะไร ตากับยายก็บอกว่าเนี่ย ยายคนนั้นเป็น"ท้องมานๆ" ผมเองก็เข้าใจเอาเองแหละไม่ได้ถามใคร
ว่าเออสงสัยแกจะท้องละมั้ง แล้วท้องแกคงไม่ดีคนเลยเรียกกันว่า"มารๆ" 5555+ กลับมานั่งนึกตอนนี้แล้วขำตัวเอง
ก็เก็บความสงสัยมาเรื่อย จริงๆก็ลืมๆไปแล้วแหละ แต่พอได้มาเรียนหมอก็มาเจอเคสท้องป่องๆแบบยายคนนั้นเลยนึกขึ้นได้ ถึงได้รู้ว่า
"ท้องมาน" ไม่ใช่คนท้อง และไม่มี "มาร" อยู่ในนั้น เอ๊ะ!หรือจะมี หรือมีคุณไสยอะไรรึเปล่านะท้องเลยโตขึ้นมาได้ งั้นเรามาทำความรู้จักกับมันกันครับ


ท้องมานเป็นคำจำกัดความของอาการแสดงอย่างหนึ่งในผู้ป่วย มาจากภาษาอังกฤษว่า ascites
(แอสไซตีส มีคนขอเข้ามาว่าศัพท์เทคนิคภาษาอังกฤษบางครั้งไม่ถนัดอ่านจริงๆขอคาราโอเกะหน่อย จะพยายามจัดให้นะครับ)
Ascites คือภาวะผิดปกติที่มีการสะสม"น้ำอยู่ในช่องท้อง" ไม่ใช่ลม ไม่ได้อยู่ในกระเพราะ ไม่ได้กินเยอะจนท้องป่อง
ไม่ใช่การตั้งครรภ์ผิดปกติ ไม่มีเด็กนะอันนั้น"ท้องลม" คนละเรื่องกันอีกเรื่องนี้จะค่อนข้างซับซ้อนหน่อยเพราะต้องใช้พื้นฐานความรู้หลายเรื่อง
แต่เชื่อว่าจะทำความเข้าใจได้ครับจะพยายามเขียนอธิบายให้ง่ายที่สุดนะครับ  
อย่างแรกให้ทำความเข้าใจก่อนว่าช่องท้องของคนเรา มีอวัยวะหลายอย่าง และระหว่างอวัยวะต่างๆจะมีเยื่อหุ้มเป็นเยื่อบุช่องท้อง ในเยื่อบุช่องท้องนี้จะมีเส้นเลือด ท่อน้ำเหลืองเต็มไปหมด นอกจากนั้นก็จะมีพื้นที่ว่างๆระหว่างอวัยวะอยู่ด้วย ปกติช่องว่างนี้จะไม่มีน้ำอะไรอยู่เลยหรือมีก็น้อยมากประมาณ 15-20 cc.โดยเฉพาะในผู้หญิงช่วงมีประจำเดือนอาจพบน้ำในช่องท้องได้ครับ


เรื่องที่2ที่ต้องทำความเข้าใจคือแรงดันในเส้นเลือดครับ
ในเส้นเลือดของคนเราจะมีแรงดัน2 อย่าง คือ
1. hydrostatic pressure หรือแรงดันน้ำที่จะคอยดันให้ส่วนประกอบที่เป็นน้ำในเส้นเลือดออกมาอยู่ตามช่องว่างต่างๆ
2. Oncotic pressure คือ ความดันที่จะเก็บน้ำไว้ในเส้นเลือด โดยเกิดจากโปรตีนไข่ขาวอัลบูมินเป็นหลัก มีหน้าที่ในการช่วยพยุงน้ำให้อยู่ในเส้นเลือด
สาเหตุที่ไม่มีน้ำในช่องท้องในเวลาปกติเพราะความดันในเล้นเลือดฝอยทั้ง2อย่างนี้จะอยู่ในภาวะสมดุล และหากมีน้ำรั่วออกจากเส้นเลือดบ้าง ท่อน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วๆ จะทำหน้าที่ในการดูดซึมน้ำส่วนเกินต่างๆในช่องว่างของอวัยวะที่เกิดจากแรงดันเลือดนี้กลับเข้าสูร่างกายได้หมด แต่เมื่อเกิดภาวะผิดปกติขึ้น เกิดการเพิ่มขึ้นของแรงดันเส้นเลือดในอวัยวะต่างๆ เช่น ในตับ ทำให้น้ำในเส้นเลือด ถูกดันออกมานอกเส้นเลือดมาอยู่ตามช่องว่างในช่องท้อง
****มากเกินกว่าที่ระบบน้ำเหลืองจะดูดซึมกลับได้**** น้ำส่วนเกินเหล่านี้ก็จะสะสมอยู่ในช่องท้อง และทำให้ท้องโตขึ้นเรื่อยๆ


ตัวท้องมานเองนั้นเป็นอาการแสดง ไม่ใช่โรคครับเป็นเหมือนภาวะอย่างหนึ่งที่เกิดจากโรคต่างๆแล้วมาแสดงออกด้วยการมีน้ำสะสมในช่องท้อง สาเหตุหลักๆมาจากโรคของตับ กว่า80% นอกจากนั้นก็เป็นโรคของหัวใจ ไต และมะเร็ง
โรคของตับหลักๆที่ทำให้เกิดท้องมาน ก็คือโรคตับแข็ง (ตับแข็งคือสภาวะที่เนื้อเยื้อปกติของตับถูกทำลายไปจากเนื้อชมพูสวยๆกลายเป็นเนื้อแข็งๆตะปุ่มตะป่ำ สาเหตุหลักปัจจุบันคือแอลกอฮอล์และไวรัสตับอักเสบ)


ในตับจะมีระบบเลือด เส้นเลือดที่ค่อนข้างซับซ้อนเพราะต้องทำหน้าที่รับเลือดจากร่างกาย จากระบบย่อยอาหาร ลำไส้ มาผ่านขบวนการต่างๆแล้วจากนั้นจึงส่งกลับเพื่อไปรวมเข้าสู่หัวใจ
เมื่อเกิดตับแข็ง จะมีผล 2 อย่างที่ทำให้เกิดท้องมาน (ascites)
1. ความดันในเส้นเลือดดำต่างๆของตับเกิดสูงขึ้น (hydrostatic pressure เพิ่มขึ้น) ทำให้เกิดแรงดันน้ำในเส้นเลือดออกมาในช่องท้องมากขึ้น และระบบน้ำเหลืองดูดซึมกลับไม่ทัน
2. ความดันที่จะเก็บน้ำไว้ในเส้นเลือดลดลง (Oncootic pressure ลดลง) เมื่อเป็นโรคตับแข็งโปรตีนไข่ขาวที่สร้างจากตับเป็นหลักจะลดลง ทำให้ตัวโปรตีนที่จะพยุงน้ำไว้ในเส้นเลือดลดลง
ร่วมกันแรงดันในเส้นเลือดที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้น้ำรั่วออกจากเส้นเลือดมาอยู่ในเยื่อบุท้องมากขึ้นๆเรื่อยๆ และเกินความสามารถของระบบน้ำเหลืองในการดูดซึมน้ำเหล่านี้กลับเข้าสูร่างกาย ท้องจึงโตขึ้นๆเรื่อยๆจากการสะสมน้ำ โดยพบว่าสามารถมีน้ำอยู่ในช่องท้องได้เยอะมากถึง 30-35 ลิตรเลยล่ะครับ ลองนึกภาพดูสิครับ น้ำขวดละ 5 ลิตร 7 ขวดเลยนะ  
นอกจากโรคตับแล้วอีกสาเหตุนึงที่พบได้รองลงมาประมาณ 10% คือเป็นมะเร็งที่ลุกลามมาในช่องท้อง ทำให้เกิดการทำลายเส้นเลือดฝอยและระบบน้ำเหลืองน้ำจึงมาคั่งอยู่ในช่องท้องที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง คือมะเร็งรังไข่ครับ


ท้องมานแบ่งความรุนแรงตามปริมาณน้ำในช่องท้องออกเป็น 3 ระดับ
ระดับที่ 1: ปริมาณน้อยตรวจเจอจากการอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เท่านั้น
ระดับที่2: ปริมาณน้ำปานกลางตรวจเจอจากการตรวจร่างกาย
ระดับที่3: ปริมาณน้ำมาก สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า

รูปแสดงน้ำในช่องท้องจากการส่องกล้องทางหน้าท้อง


การรักษาค่อนข้างซับซ้อนและมีการรักษาร่วมกันหลายอย่าง อย่างนึงที่ต้องทำเมื่อปริมาณน้ำในท้องเยอะมากคือการเจาะระบายน้ำออก
เพราะถ้าน้ำเยอะมากๆจะดันเข้าไปในทรวงอกได้ด้วยทำให้เกิดน้ำท่วมปอดตามมามีปัญหาการหายใจ แต่การเจาะระบายน้ำก็เป็นแค่การบรรเทาชั่วคราวเพราะตัวโรคไม่ได้รักษา อีกไม่นานน้ำก็จะสะสมเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนั้นก็จะมีการใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดปริมาณน้ำในเส้นเลือดเพื่อให้ความดันน้ำลดลงระมัดระวังเรื่องอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง เพราะจะทำให้เกิดการสะสมน้ำมากขึ้น เพิ่มโปรตีนไข่ขาวอัลบูมินทางเส้นเลือดในกรณีที่ค่าอัลบูมินต่ำมาก หรือให้กินไข่ขาวเพิ่มเตืม
และหากทำได้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษาตัวโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ตับแข็งก็ดูแลรักษาไม่ให้อาการแย่ลงเร็วและอาจพิจารณาเปลี่ยนตับ
รักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด การผ่าตัดหรือการฉายแสง ครับ


แฮ่ก!!!! ยาวมาก คิดว่าค่อนข้างครอบคลุมความรู้ที่เป็นพื้นฐาน และขจัดความสงสัยในใจของใครหลายๆคนได้ด้วย อ่านตรงไหนไม่เข้าใจลองพยายามใหม่อีกซักรอบนะครับ จริงๆยังมีรายละเอียดในแง่ของทฤษฎีอยู่อีกมาก แต่คิดว่ามันจะซับซ้อนเกินความจำเป็นครับ
ส่วนถ้าสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าคนใกล้ตัวหรือตัวเองจะมีอาการท้องมานหรือเปล่า ให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านนะครับ
ฝาก fanpage นิดนึงสนใจความรู้ทางการแพทย์ไปกด like ได้ที่ facebook.com/Drnextdoor ครับ
ป.ล. มีคนสงสัยว่าจขกท เป็นหมอรึเปล่า ถ้าเป็นหมอไม่น่ามีเวลาทำเพจ ขอตอบนะครับ เป็นหมอครับ บทความจากเพจก็เอามาpostลงหลายครั้งแล้ว หมอที่มีเพจก็เยอะครับ น่าจะลองอ่านดูบ้างครับ มีเพจหมอเป็นกว่า10เพจที่คนรู้จักเยอะๆ ส่วนตัวคิดว่าเวลาพอมีก็เอามาสร้างประโยชน์ให้คนหมู่มากบ้างครับ ที่ฝากเพราะอยากให้เข้าไปอ่านหาความรู้ เพจก็ทำกันเอง ไม่มีsponsorทำกัน3คน หมอ3คน จะไม่likeก็ได้เข้าไปอ่านเฉยๆก็ได้ครับ ไม่ต้องระแวงนะครับเป็นหมอแน่นอนตรวจสอบได้ครับ
คิดว่ากระทู้ดีมีประโยชน์กด + ทางซ้ายให้อยู่นานๆนะครับ ยิ้มยิ้ม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่