จับตาเกมไล่ซื้อกิจการลบภาพ “เสี่ยน้ำเมา” เจาะแผนลึก “เสี่ยเจริญ” ยึดธุรกิจพลังงาน!

กระทู้สนทนา




* “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ประกาศความยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง!
       * ขอเป็นยักษ์ในธุรกิจพลังงานที่มีมูลค่ามหาศาล
       * เล็งไล่ซื้อกิจการหลายแห่งทั้งต้นน้ำ-ปลายน้ำที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อต่อยอดเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย
       * พร้อมนำโนว์ฮาวจากแคนาดา ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของโลกเข้ามาจัดทำ
       * ขณะที่ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” หนุน “เสี่ยเจริญ” ตั้งโรงงานผลิตพลังงานทางเลือก
       * ทุกปัจจัยล้วนหนุนส่งให้ “เจริญ” ประกาศลั่นจะก้าวสู่ผู้นำด้านพลังงานทดแทนในเร็ววันนี้
       
       ชื่อของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ไม่เพียงแค่รู้จักกันดีในฐานะนักธุรกิจระดับแนวหน้าในฟากฟ้าเมืองไทย หรือเจ้าพ่อน้ำเมาเท่านั้น แต่ชื่อของ เจริญ ยังเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับอินเตอร์ในฐานะนักธุรกิจ นักลงทุนรายใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งแหล่งเงินทุน บารมี และคอนเน็กชั่นทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่ระดับนักธุรกิจ ข้าราชการยันนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีทรัพย์สินนับแสนล้านบาท และติดทำเนียบเศรษฐีโลก จากการจัดลำดับของนิตยสารฟอร์บสด้วย แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ คนจะรู้จัก เจริญ ในภาพลักษณ์ใหม่ ในฐานะนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ในแวดวงพลังงาน
       
       นั่นเพราะ เจริญ กำลังก้าวเข้าสู่ธุรกิจพลังงานอย่างเต็มตัว ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการต่อยอดธุรกิจหลัก โดยนำที่ดินที่มีจำนวนมากกว่า 100,000 ไร่ ใน 56 จังหวัด มาปลูกพืชที่ใช้ทำพลังงานทดแทน ทั้ง ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง ไม่รวมที่ลงทุนกับนักธุรกิจชาวกัมพูชา เพื่อปลูกปาล์มบนพื้นที่ 100,000 ไร่ ในกัมพูชา รวมถึงลงทุนในโรงงานผลิตเอทานอล อีกทั้งยังปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา และข้าวอีกด้วย
       
       เส้นทางการดำเนินธุรกิจของ เจริญ ในช่วงที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เกือบทุกธุรกิจล้วนเป็นเบอร์ 1 หรืออย่างน้อยติดอันดับ 1 ใน 3 ในตลาด นั่นเป็นเพราะ เจริญ เป็นคนมองการณ์ไกล มองขาด กล้าได้กล้าเสีย และอ่อนน้อมถ่อมตน รวมถึงการเรียนลัด ด้วยวิธีเทคโอเวอร์ ซึ่งสามารถสร้างผลผลิตและผลตอบแทนกลับมาอย่างรวดเร็ว
       
       การเข้าสู่ธุรกิจพลังงานก็เช่นเดียวกัน เจริญ วางเป้าหมายขึ้นสู้ผู้นำตลาด เช่นเดียวกับธุรกิจน้ำเมาที่เป็นผู้นำตลอดกาล รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งถึงแม้ว่าจะเข้ามาในสนามไม่นาน แต่ เจริญ ก็วางเป้าหมายให้ บริษัท ทีซีซี แลนด์ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาด หรือ ติด 1 ใน 5 ในอนาคตอันใกล้นี้ อีกทั้งยังมีเป้าหมายนำธุรกิจพลังงานเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นธุรกิจที่ดีมีอนาคตดี ที่สำคัญเป็นธุรกิจสีขาว ที่คงไม่มีใครต่อต้านห้ามจดทะเบียนในตลาดฯเช่นเดียวกับเมื่อครั้ง เจริญ จะนำ บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ เพราะไทยเบฟฯเป็นธุรกิจที่ขัดต่อศีลธรรม จนทำให้เจริญ นำไทยเบฟไปจดทะเบียนที่สิงค์โปร์แทน
       
       เปิดแผนรุกธุรกิจพลังงาน
       พุ่งเป้าเทกโอเวอร์
       
       บันไดขั้นแรกของธุรกิจพลังงาน เริ่มจาก เจริญ เข้าเทกโอเวอร์ในโรงงานน้ำตาลถึง 4 โรง ในปีที่ผ่านมา และมีพื้นที่ปลูกอ้อยในจังหวัดกำแพงเพชร 7,000 ไร่ อุตรดิตถ์ 5,000 ไร่ สุโขทัย 3,000 ไร่ และมีแผนจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มด้วยในปีหน้า รวมถึงอยู่ระหว่างเจรจาเทกโอเวอร์โรงงงานน้ำตาลมิตรผล ของตระกูลว่องกุศลกิจ ซึ่งน้ำตาลมิตรผล เป็นผู้นำตลาดในเมืองไทย และเป็นผู้ผลิตน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก โดยกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล
       
       จุดเปลี่ยนอาณาจักร “เจริญ”
       จาก “น้ำเมา” สู่ “พลังงาน”
       
       จิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ต่อภาพธุรกิจสุราของกลุ่มของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มาสู่ธุรกิจพลังงานทางเลือก นั่นคือ “สายสัมพันธ์ที่ดี” ที่มีต่อกลุ่มทุนในหลายๆ ธุรกิจ รวมถึงสถานะที่เป็นผู้มั่งคั่งด้วยอาณาจักรธุรกิจที่มีเครือข่ายเกี่ยวเนื่องครบวงจร ที่นำมาต่อยอดธุรกิจสู่สนามพลังงาน ทั้ง 3 วงล้อธุรกิจหลักที่เป็นวงกลมส่งซึ่งกันแต่ละวงจาก “ไทยเบฟ” อาณาจักรน้ำเมา สู่ธุรกิจไม่เมา ไม่ว่าจะเป็นขาธุรกิจหลักที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำมาจากกลุ่มเครื่องดื่มเบียร์ช้าง แม่โขง และแสงโสม และวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่จะมาเจือจุนธุรกิจพลังงานให้สามารถหาวัตถุดิบมาป้อนโรงานผลิตเอทานอล เพื่อนำไปผสมกับน้ำมันเบนซิน และกลายเป็นแก๊สโซฮอล์ได้อย่างสบายๆ
       
       ขณะเดียวกัน ในขาธุรกิจอสังหาฯ ที่เป็น Rental Base และติดอันดับราชาที่ดินของเจริญที่ประเมินกันว่ามีสินทรัพย์ครอบครองกว่า 1 แสนไร่ ใน 56 จังหวัดทั่วประเทศ นับว่าเป็นจุดแข็งที่สำคัญในการทำธุรกิจพลังงานให้ได้ตั้งแต่ต้นน้ำ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการปูทางเอาไว้แล้วโดยวางบทบาทให้ กลุ่มทีซีซีอะโกร สายธุรกิจการเกษตรในเครือทีซีซี เดินหมากปลูกพืชพลังงานอาทิ อ้อย ปาล์มน้ำมัน นำร่องมาแล้วเกือบ 2 ปีแล้ว เพื่อที่จะนำผลผลิตที่ได้มาป้อนโรงงานสุรา ขณะเดียวในส่วนกากใยหรือโมลาสที่เหลือสามารถนำมาสู่ไลน์การผลิตเอทานอล ซึ่ง เป็นการเพิ่มจุดแข็งในเรื่องวัตถุดิบที่มีโมลาส หรือกากน้ำตาลของตัวเอง
       
       ที่สำคัญ ตอบโจทย์ของธุรกิจพลังงานทางเลือกในปัจจุบันที่เริ่มประสบกับปัญหาวัตถุดิบที่จะมาป้อนตลาดเริ่มมีไม่เพียงพอ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับวิกฤติน้ำมัน ในตลาดโลกที่ราคาถีบตัวสูงขึ้นทำให้คนหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น


“บิ๊กธุรกิจ” ย้ายรบ
       สู้ศึกกลุ่มทุนพลังงาน
       
       ดูเหมือนการลงสนามธุรกิจ “พลังงาน” อย่างเต็มตัวของ เจริญ เป็นเพียงการต่อยอดทางธุรกิจ ทว่าความยิ่งใหญ่ของความเป็นกลุ่มทุนพลังงาน ที่ต้องอิงมากับกระแสพลังงานทดแทนที่มีแนวโน้มเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในวันนี้ ทำเอากลุ่มทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ต่างมุ่งปักหลักเข้ามาก่อสร้างโรงงานเอทานอลจำนวนมาก และดูจะมีแต่บรรดาบิ๊กๆ ยักษ์ใหญ่ของวงการต่างๆมุ่งปักหลักพลังงาน โดยเข้ามารูปแบบต้นน้ำ-ปลายน้ำ ก่อสร้างโรงงานเอทานอล หรือลงทุนทางด้านการเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน
       
       เมื่อพลังงานทดแทนได้กลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ ก็ทำให้ “เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี” โดดเข้าสู่ธุรกิจนี้ด้วย โดยเข้าในรูปแบบของการปลูกพืชพลังงานและโครงการผลิตไบโอดีเซล ไม่เว้นกระทั่งคู่กัดจากธุรกิจหลักจากตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่ายยักษ์ใหญ่เบียร์สิงห์ ก็ตามมารบสนามนี้เช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ได้เข้าลงทุนผ่านรายชื่อเหล่านี้ คือ กลุ่มสันติบุรี สันติ ภิรมย์ภักดี และเบียร์สิงห์ ถือหุ้นบริษัทบุญอเนก ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.ซีฮอร์ส ที่ดำเนินธุรกิจปลูกมันสำปะหลังเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลเพื่อจำหน่ายเป็นธุรกิจหลัก นอกจากนั้นยังมีโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน และเริ่มธุรกิจการขายเอทานอลได้ประมาณต้นปี 2554
       
       นอกจากความพร้อมพรั่งอุดมสมบูรณ์ภายในองค์กรของ เจริญ จะเป็นปัจจัยบวกที่สร้างความได้เปรียบในการก้าวสู่กลุ่มทุนที่ยิ่งใหญ่ของธุรกิจพลังงานแล้ว ปัจจัยภายนอกอย่างนโยบายรัฐยังช่วยส่งให้ฝันนี้ไปไกลขึ้น โดยมีรายงานก่อนหน้านี้ว่า อลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ทาบทามให้ เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งโรงงานผลิต ETBE (Ethyl Tertiary Butyl Ether) โดย ETBE เป็นเอทานอลรูปแบบหนึ่งที่ใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินและในรูปผสมเอทานอลผสมตรง เพราะเห็นว่าเป็นกลุ่มทุนที่มีศักยภาพมีเงินทุนพร้อมที่จะตั้งโรงงานผลิตได้ และถ้าจะผลักดันให้เกิดโรงงานผลิต ETBE ขึ้นเร็วและใช้เงินลงทุนไม่สูงมากก็น่าจะทำได้ในลักษณะปรับเปลี่ยนโรงงานผลิต MTBE (Methyl tertiary-butyl ether) ซึ่งเป็นสารเพิ่มออกเทนน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 มาเป็นการผลิต ETBEแทน ซึ่งแนวทางนี้ก็พิจารณาอยู่ด้วยเพราะต้องการจะผลักดันให้เกิดโรงงานผลิตETBE โดยมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตเอทานอล
  

  http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9520000091827  

===================================

อ่านต่อเองเน้อ แล้วก็คงจะเข้าใจอะไรได้มากขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่