Samsung, Wacom และ S-Pen กับการถือกำเนิดของ Galaxy Note

กระทู้สนทนา
เห็นว่าแปะไว้ในกระทู้หลักแล้วน่าสนใจ เลยเอามาใส่ไว้ในนี้เพื่ออ้างอิงนะครับ



ขณะที่หลายคนกำลังรอการเปิดตัวของ Galaxy Note รุ่นถัดไป ผมไปเจอบทความนี้มาจาก KnowMobile.com ที่กองบรรณาธิการได้ไปสัมภาษณ์ Masahiko Yamada ประธานของ Wacom ที่จะมาเล่าถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของ “S-Pen” ไว้น่าสนใจ ผมเลยถอดความและเรียบเรียงมาให้ได้อ่านกันครับ

เมื่อเอ่ยถึงชื่อของ Wacom หลายคนอาจรู้จักว่าบริษัทนี้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการสร้างปากกาดิจิตอล แต่ก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Wacom กลับกลายเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงของผู้บริโภคโดยเฉพาะในแวดวงมือถือกับผลิตภัณฑ์ซีรี่ย์ Galaxy Note ของ Samsung

ถ้าย้อนรอยประวัติไป เราจะพบว่าจริงๆ Wacom ตั้งมานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่เพิ่งขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดในด้านสินค้าเฉพาะทางอย่างปากกาดิจิตอลมาราว 10 ปีหลังนี้เอง ซึ่งสินค้าสร้างชื่อของพวกเขาก็คือ Graphic Tablet ที่เปิดตัวมาก่อน Tablet Computer ที่เรารู้จักกันในยุคปัจจุบัน



Graphic Tablet มักจะถูกนำไปเชื่อมต่อกับ PC หรือ MAC ผ่านสาย USB และมีลูกค้ากลุ่มหลักเป็นกลุ่มนักออกแบบ, ศิลปินดิจิตอล หรือผู้ที่มีหน้าที่ในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถวาดลงไปบน Tablet ด้วย Stylus ได้เลย โดยผ่านโปรแกรมวาดภาพอย่าง Adobe Photoshop บนจอคอมพิวเตอร์ และในช่วงปีหลังๆ Wacom ก็เริ่มติดตั้งจอภาพลงไปในอุปกรณ์ ซึ่งให้สามารถวาดได้ดีมากขึ้น

การที่ Wacom เป็นผู้นำตลาดปากกาดิจิตอล จึงทำให้ Samsung เดินเข้ามาขอร่วมงานเพื่อสร้าง Galaxy Note แต่ถึงกระนั้นการทำงานของ  Wacom และ Samsung ก็ไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะเมื่อสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาตอนแรกก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับขนาดหน้าจอที่ใหญ่ รวมถึงความสงสัยว่า Stylus จะประสบความสำเร็จหรือไม่เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สมาร์ทโฟนจะมีปากกา แต่สิ่งที่พิสูจน์และหักปากกาเซียนทั้งหลายก็คือ ผลิตภัณฑ์ Galaxy Note, Galaxy Note2 และตัวอื่นๆ ก็ประสบความสำเร็จ



Masahiko Yamada ประธานของ Wacom ได้เปิดใจเล่าให้เราฟังถึงเบื้องหลังการทำงานและความสัมพันธ์กับ Samsung ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ Wacom เคยคุยกับผู้ผลิตมือถือเจ้าอื่นมาหลายต่อหลายเจ้า เกี่ยวกับการเข้าสู่ตลาดมือถือ (จริงๆ Samsung ก็คุยกับบริษัทผู้สร้างปากกาดิจิตอลมาหลายที่เหมือนกัน ที่ไม่มีสักบริษัทที่สามารถสร้างปากกาดิจิตอลในแบบที่ Samsung ต้องการได้เลยสักราย) แต่วันหนึ่งพอทั้งคู่มาพบกัน Masahiko ก็พบว่า

“เรากับ Samsung  มีความเข้าใจที่คล้ายกันมากๆ ในเรื่องเทคโนโลยี Stylus โดยเราทั้งคู่มองว่าถ้าจะสร้างผลิตภัณฑ์ออกมา มันจะต้องเป็นอะไรบางอย่างที่คนจะได้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ในทุกๆ วัน  โดยการใช้งาน Stylus ในมือถือนั้นเราจะทำขึ้นมาเพื่อเน้นไปเพื่อ “สร้างสรรค์คอนเทนต์” คอนเทนต์ ซึ่งแตกต่างกับมือถือแบบทัชสกรีนทั่วไปที่มักจะใช้เพื่อการ “เสพย์คอนเทนต์”  การเล็งเห็นภาพที่ตรงกันในเทคโนโลยีแบบ Touch นี่เองที่ทำให้สองบริษัทนี้หันมาร่วมมือกัน

“คุณไม่สามารถเขียนโดยใช้นิ้วหรอก ทัชสกรีนสามารถช่วยคุณได้ในการซูมและการใช้งาน แต่ถ้าคุณต้องการเขียน นิ้วไม่สามารถช่วยคุณได้เต็มที่”

Masahiko ยังมองว่า Samsung ว่ามีแนวทางที่แตกต่างจากผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายอื่นๆ ในการพัฒนาคอนเซ็ปต์ของ Note เขากล่าวว่า “Samsung เป็นรายเดียวที่พยายามต่อสู้ให้กับสินค้า และมุ่งมั่นที่จะทำมันออกมาให้ได้”

ทำไมจะต้องต่อสู้เพื่อผลิตภัณฑ์? เหตุผลหลักที่ Masahiko กล่าวเช่นนั้น เป็นเพราะมือถือที่มี Stylus มักจะมี “แรงต้าน” จากผู้บริโภค เพราะจริงๆ แล้ว Galaxy Note ไม่ใช่มือถือตัวแรกที่มี Stylus หากแต่มีผู้ผลิตหลายรายที่ใช้ไอเดียนี้มาก่อน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ในเมื่อมีแรงต้าน Samsung ก็จะต้องสร้างตลาดใหม่ ทำความเข้าใจกับผู้บริโภคให้เห็นประโยชน์ของสินค้าในเซกเมนต์นี้ให้ได้ ซึ่ง Masahiko คิดว่าธุรกิจ Stylus เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากการทุ่มเทพลังรวมถึงการผลักดันทุกๆ ทางของ Samsung นั่นเอง

“ที่เจอมา มันก็มักจะมีคนมองไม่เห็นค่าของ Stylus อยู่เสมอ แต่มันกำลังจะเปลี่ยนไป ผมบอกได้ว่าเราอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการที่ผู้บริโภคจะหันมาใช้ Stylus มันอาจจะใช้เวลากว่าคนจะใช้ในวงกว้างแบบทั่วทุกคน แต่มันจะมาถึงแน่ๆ”

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้คนหันมาใช้ Stylus นี้จะเกิดขึ้นได้หากทาง Samsung และ Wacom ยังคงผูกสัมพันธ์เพื่อสร้างอุปกรณ์ใหม่ๆ ต่อไป (แต่เรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ต้องคิดกันมากนักเพราะล่าสุด Samsung ก็เข้าไปถือหุ้น 5% ใน Wacom เรียบร้อยแล้ว)

Masahiko ในฐานะผู้ผลิต stylus เขาให้ความเห็นว่า อุปกรณ์มือถือในยุคถัดๆ ไป จะต้องมีความสามารถของการสัมผัส และใช้ปากกาดิจิตอลด้วยกันได้มากขึ้น โดยเขามองว่ามันจะเกิดขึ้นแน่นอน โดยผู้คนที่ใช้สมาร์ทโฟนกลุ่ม Early adoptor จะเริ่มเห็นประโยชน์จากมันและใช้มัน และคนที่เป็น Late adoptor ก็จะเริ่มเดินตาม

Masahiko คิดว่ายังมีทางอีกมากมายสำหรับเทคโนโลยี Stylus บนมือถือ Tablet และ e-Reader เขาวาดภาพให้เราเห็นว่า สุดท้ายแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับ User Interface ที่อาจจะได้เห็น Stylus ว่าเป็นจุดสนใจที่มากขึ้นบน UI ที่เหมาะสมและง่ายต่อการใช้งานมากที่สุด และความต้องการของคนเราในเชิงของฟังก์ชั่นก็ยังไม่ถึงที่สุด ยังมีทางให้เดินต่อไปอีกมาก
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่