ทำอย่างไรให้ลูกไม่กลัวหมอ และ สอนลูกให้เข้าใจคำว่า “เจ็บ”

ทุกครั้งที่ลูกสาวลูกชายของมุกไปหาหมอ ไม่ว่าจะเป็นหมอเด็ก หมอฟัน หรือหมอเฉพาะทาง เด็กๆ จะไม่มีอาการหวาดกลัวหรือเอ่ยถามอะไรที่แสดงออกมาว่าเขากำลังหวั่นไหวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

เด็กสองคนมักจะตื่นเต้นที่ได้ไปฉีดวัคซีน (เพราะอยากได้วิตามินซีฟรี 555) เคยเป่ายิ้งฉุบแย่งกันเพื่อจะได้ฉีดยาก่อน จนทำให้คุณหมอขำมาแล้ว บางครั้ง ต้องฉีดสองเข็มก็ยื่นแขนซ้ายทีขวาทีด้วยความเต็มใจ ไม่มีร้อง ไม่มีสีหน้าหวาดกลัว ไม่มีการต่อรองหรือโวยวาย

เป็นไปได้อย่างไร???

เด็กสองคนเต็มใจที่จะไปหาหมอฟัน นอนทำฟันได้โดยที่ไม่ต้องมีแม่เข้าไปนั่งด้วยก็ได้ ลูกสาวเคยทั้งอุดฟันและถอนฟันได้ในวันเดียว และไม่เคยร้องเมื่อถูกฉีดยาชา (ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง มันโคตรเจ็บเลย) เมื่อเสร็จแล้วค่อยออกมาบอกแม่ว่า มันเจ็บชะมัดเลย เกือบจะทนไม่ไหวแล้ว แต่มันก็แค่แป๊บเดียว

ทำได้อย่างไร???

ลูกชายเคยเล่นพิเรนธ์แข่งกันเดินถอยหลังกับพี่สาวจนหัวโขกเข้ากับสันไม้ของประตูใหญ่ เป็นแผลหัวแตกเลือดออก แต่ร้องไห้เพียงแป๊บเดียว (ไม่ถึงนาที) และยอมให้แม่แหกแผลราดน้ำเกลือล้างแผลใส่ยา (เพราะดูแล้วแผลไม่ลึกขนาดที่ต้องไปเย็บ)  เสร็จแล้วรีบไปเล่นต่อเพื่อไม่ให้เสียเวลา

ทนได้อย่างไร???

เมื่อตอนที่พวกเขา หกขวบกับสามขวบครึ่ง เขาทั้งคู่ต้องนอนให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาล สิ่งที่ทำให้แปลกใจก็คือ พวกเขานอนนิ่งๆ ให้พยาบาลเสียบเข็มเข้าไปตรงหลังมือเพื่อต่อสายน้ำเกลือ ไม่มีการร้องไห้สักแอะ จนพยาบาลชมว่าเก่งและใจเด็ดมาก

ใจแข็งหรือใจกล้าหรือ...โรคจิต??? 555

สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะมุกแค่โชคดีที่ลูกๆ มีความอดทนสูง และเป็นเด็กที่ไม่กลัวอะไร แต่ส่วนหนึ่งมาจากการปลูกฝังตั้งแต่เขายังเป็นทารกค่ะ ซึ่งมุกเชื่อว่ามันทำได้นะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ลองทำดู มีเทคนิคง่ายๆ มาฝากค่ะ


อย่าพูดไปก่อน
คุณพ่อคุณแม่หลายคน เมื่อถึงเวลาพาลูกเข้าห้องคุณหมอ มักจะพูดว่า “เจ็บแป๊บเดียวนะลูก” หรือ “เจ็บแค่มดกัดเดี๋ยวก็หาย” หรือ “อยู่นิ่งๆ นะลูก อย่าเพิ่งขยับ” อะไรเช่นนี้เป็นต้น ประโยคเหล่านี้มุกมองว่ามันเป็นการกระตุ้มต่อมกลัวให้ทำงานมากกว่าการปลอบใจ

สิ่งที่มุกทำคือ ไม่พูดอะไรเลย คุยกับคุณหมอถึงอาการเจ็บป่วยหรือข้อสงสัยทั่วๆ ไป ปล่อยให้เขาเล่นกับของเล่นในห้องหรือปีนป่ายขึ้นสำรวจเตียง  และเมื่อถึงเวลาตรวจ โดยปกติคุณหมอเด็กส่วนใหญ่จะหลอกล่อเก่งอยู่แล้ว มุกก็จะเงียบปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอ เพราะบางทีการไปพูดแทรกหรือช่วยเสริมอาจจทำให้เด็กยิ่งวิตกกังวลมากเข้าไปอีก

และเมื่อถึงเวลาฉีดยา มุกถึงจะหันมาเล่นกับลูก ชวนคุยเรื่องที่ลูกชอบหรือเอาของเล่นมาเล่นด้วยกัน มุกสังเกตว่าคุณหมอเด็กส่วนใหญ่ ใช้เวลาไม่กี่วินาทีกับการจิ้มเข็มและดันยาเข้าไป แต่การไปบอกให้ลูกอยู่เฉยๆ หรือระวังเอาไว้ก่อน มันเหมือนการยืดเวลาแห่งความน่ากลัวให้มากเข้าไปอีก

อันนี้ทำตอนที่เขาเริ่มฟังเข้าใจ แต่ถ้าเล็กๆ เป็นทารกเลยนี่ จะไม่พูดอะไรเลยค่ะ อุ้มและคุยกับเขา ไม่ก็ชี้ชวนดูภาพในห้องเพราะแป๊บเดียวมันก็ผ่านไปแล้ว แม้แต่บางครั้งที่เขาร้องไห้ มุกก็ไม่ได้ปลอบใจ แต่ชี้ชวนให้เขาดูเรื่องอื่นเพื่อเบนความสนใจของเขา และพบว่า มันเวิร์กแหะ (เด็กเล็กๆ หลอกง่ายออก)

หลังจากที่การฉีดยาผ่านไป เราจะชมเสมอว่าเขาเก่ง และบอกให้เขารู้ว่า ที่เพิ่งผ่านไป คือการฉีดยารับวัคซีน ซึ่งแม่หรือพ่อก็เคยผ่านการรับวัคซีนเช่นนี้มาเหมือนกัน มุกจะถามลูกว่า รู้สึกเจ็บมั้ย เมื่อเขาบอกว่าเจ็บ มุกก็จะบอกว่า ความรู้สึกแบบนั้นคือ ความเจ็บ แต่เป็นความเจ็บที่เราทนได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนทนได้ ต้องเป็นคนที่มีความอดทนเป็นเลิศจริงๆ ที่ไม่ร้องไห้หรือร้องโวยวาย และมีเพียงไม่กี่คนที่ทำได้ เขาก็จะแบบว่า ภูมิใจมากและมีความมั่นใจว่าครั้งหน้า เขาก็จะผ่านมันไปได้อย่างสบายๆ

ต้องไม่ลืมที่จะอวดความเก่งของเขาให้กับคนอื่นๆ ได้รับรู้ เช่นญาติๆ เป็นต้นค่ะ เพื่อให้เขาได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และสำคัญมากที่เขาสามารถทำได้

ในเคสของลูกชาย ตั้งแต่เป็นทารก เจ้าหมอนี่ฉีดยาไม่เคยร้องไห้เลยสักครั้งเดียว มุกเคยถามคุณหมอของลูก ว่ามันผิดปกติมั้ย หรือว่าประสาทสัมผัสผิดปกติ คุณหมอบอกว่า “เขาซนครับแม่ เด็กแบบนี้ เขาไม่เสียเวลาร้องไห้” โอเคค่ะ เข้าใจได้ 5555

ในเคสของลูกสาว ตอนเป็นทารก เขามีการร้องไห้เหมือนเด็กคนอื่นๆ แต่พอเขาโตขึ้น เริ่มฟังเข้าใจขึ้น และพอมุกใช้วิธีนี้ ก็พบว่ามันช่างง่ายสำหรับเขามากกับการไปหาหมอ และเมื่อคนโตง่าย คนเล็กก็ยิ่งง่ายตามค่ะ


อย่าโอ๋หรือโทษใครเมื่อเขารู้สึกเจ็บ
หลายครั้งที่มุกเห็นคุณแม่หรือคุณพ่อจะรีบโอ๋ลูกเมื่อเขาร้องไห้เพราะเจ็บจากการถูกฉีดยาหรือแม้แต่ล้มได้แผล หลายคนแย่กว่าตรงที่โทษในสิ่งอื่นหรือคนอื่น เช่น

“โอ๋ ไม่เจ็บแล้วนะ ไม่เจ็บแล้ว เสร็จแล้วลูก หม่าม้าสัญญาจะไม่ให้คุณหมอฉีดยาแล้วไม่ต้องร้องไห้แล้วนะคนดี” อืม...มันจะเป็นสัญญาที่เด็กรับรู้นะคะ แล้วครั้งหน้าที่ต้องมารับวัคซีนละคะ จะอ้างอะไรกับลูกดี

“ไหน ดูสิ เจ็บตรงไหน เจ้าโต๊ะตัวนี้เหรอที่ทำหนูเจ็บ มาเดี๋ยวพ่อตีเอง”
เออ...โต๊ะหรือพื้น อยู่ของมันเฉยๆ ค่ะ อย่าฝังนิสัยโทษคนอื่นให้กับเด็ก เพราะเมื่อมันติดตัวไปแล้ว มันติดไปนาน เด็กจะยอมรับความผิดพลาดของตัวเองไม่ได้ และจะไม่มีระบบการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองอีกด้วย

สิ่งที่ควรทำคือแค่สอนให้เขาเรียนรู้ว่า ความรู้สึกเช่นนี้เขาเรียกว่าเจ็บ ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นแล้วก็จะหายไปในที่สุด เมื่อเรานิ่งๆ ทำให้มันเป็นเรื่องเล็ก เขาก็รู้สึกว่ามันเล็กตาม แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเราไม่ใส่ใจ เพราะถ้ามีแผล เราก็ช่วยดู ช่วยรักษา ปลอบใจเขาพอประมาณ พาเขาไปหาสิ่งอื่นที่น่าสนใจกว่า ทั้งหลายเหล่านี้ ช่วยบ่มเพาะให้เขาเรียนรู้คำว่า “เจ็บ” และ “อดทน” และ “เข้าใจ” ได้ดีเลยค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่