จริงหรือเปล่าที่ สส.จะได้เบี้ยยังชีพ 15000ไปตลอด คิดแล้วพูดไม่ออกเบี้ยยังชีพคนชราทำไมได้แค่ 500

อยากทราบ เห็นข่าวว่า สส จะได้เบี้ยยังชีพ 15000 ไปตลอดจนกว่าจะตาย มีกฏเกณฑ์อะไรในการให้ไหม ว่าต้องเป็น สส กี่สมัย ต้องอายุเท่าไหร่ ถึงจะได้

ถ้าไม่มีเงื่อนไข อย่างนี้ คนเป็น สส 1 สมัย สมัยหน้าไม่ได้เป็น เขาจะได้เบี้ยยังชีพ นี้ด้วยหรือเปล่า แล้วได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ 60ปีแล้วจึงมีสิทธิ์ได้ หรือ พอเลิกเป็น เช่น ได้เป็น สส ครบวาระตอนอายุ 45 ครั้งหน้าไม่ได้เป็นแล้ว ก็ยังได้ เบี้ยยังชีพ ตั้งแต่ 45 นี้ไปเลย

คือ รู้สึกว่า ท่านทำเพื่อตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า มันจำเป็นไหมที่ต้องมีเบี้ยยังชีพแบบนี้ แล้ว คนชราล่ะ ที่ได้เดือนละ 500 600 นี่ ท่านคิดว่าเขากินพอไหม ต่อเดือน

ถ้าเป็นเรื่องจริง คิดว่า น่าละอายมาก ที่สุด ถ้าท่านจะรับเงินนี้ ควรจะรับในภาวะที่ประเทศเรา มีเบี้ยยังชีพให้คนชรา สัก เดือนละ 3000 ก็ยังดี อย่างนี้ก็เอาไปซื้อ ข้าว ปลา น้ำ กินได้ เดือนละ 500 นี่ โห กินไรได้ นอกจากขอข้าววัดน่ะ

ปล. ไม่ได้อยู่ฝ่ายไหนทั้งนั้น เห็นข่าวก็เอามาถาม สลดใจมากข่าวนี้ ทำไปได้
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 8
ว่ากันโดยหลักการ  การมีกองทุนยังชีพเป็นสิ่งดี เหมือนกับการคุ้มครองแรงงาน พนักงาน ข้าราชการทั่วไป
แต่ว่ากันในทางปฏิบัติ ผมว่ายังมีปัญหาหลายเรื่อง

ก่อนอื่น ขอให้อ่านพระราชบัญญัติ กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖ ก่อนนะครับ
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/A/044/1.PDF

ดูที่มาตรา ๕ ก่อนครับ ว่าท่านเหล่านั้นได้อะไรบ้าง
(๑) การจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ
(๒) การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล
(๓) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ
(๔) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม
(๕) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร
(๖) สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

แล้วมาดูว่ารายได้ของกองทุนนี้มาจากไหนที่มาตรา ๖
มาตรา ๖ กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(๑) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
(๒) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจําปี
(๓) เงินที่สมาชิกรัฐสภาส่งเข้ากองทุนในอัตราที่คณะกรรมการกําหนด
(๔) เงินที่โอนมาจากกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๓
(๕) เงินและทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน
(๖) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการบริจาค
(๗) ดอกผลของเงินกองทุน

อ่านมาตรา ๑๖ แล้วเหมือนว่าแต่ละท่านจะได้ไม่เท่ากัน ตามระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง แต่ทำไมข่าวออกมาว่าได้ท่านละ ๑๕,๐๐๐.- บาท
มาตรา ๑๖ สมาชิกรัฐสภาซึ่งได้ส่งเงินเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้หลักเกณฑ์จำนวนอัตราเงินทุนเลี้ยงชีพ อันจะพึงได้รับจากกองทุนนั้น ให้นำระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งการเป็นสมาชิกรัฐสภาของผู้นั้นมาคิดคำนวณด้วย

และมาตรา ๑๘ บอกว่าสิ่งนี้ตกไปสู่ลูกได้ด้วยนะ
มาตรา ๑๘ ในกรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม ให้บุคคลตามลำดับดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินจากกองทุนก่อนหลัง
(๑) บุคคลที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้แสดงเจตนาเป็นหนังสือให้เป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินจากกองทุน
(๒) คู่สมรส
(๓) บุตร
(๔) บิดามารดา
-------------------------
ลองอ่านดูนะครับ
ตอบคุณเจ้าของกระทู้ก่อนนะครับ กรณีว่าได้รับเมื่อไหร่ เท่าไหร่ อ่านที่มาตรา ๑๖ นะครับ ส่วนจำนวนเงิน  คีย์เวิร์ดอยู่ที่ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ตอนนี้ผมยังไม่ทราบว่าคณะกรรมการท่านออกระเบียบไว้อย่างไรบ้าง
ผมไม่ได้รังเกียจที่จะให้จัดตั้งกองทุนนี้

แต่...
ควรจะจ่ายให้ทุกคนหรือไม่?
ควรจะเป็นเงินจำนวนเท่านี้หรือไม่?
ตกทอดให้บุตร ภรรยา สมควรหรือไม่?

ลองดูงบประมาณที่ต้องใช้

หักเงิน ส.ส. /ส.ว. คนละ ๓,๐๐๐.- บาทต่อเดือน มีสมาชิก ๕๐๐ คน จะเก็บได้เดือนละ ๑,๕๐๐,๐๐๐.- บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน)

จ่ายให้ส.ส./ส.ว. คนละ ๑๕,๐๐๐.- บาทต่อเดือน ข่าวว่ามีผู้ได้รับสิทธิ์ ๓,๐๐๐ คน ต้องจ่ายเดือนละ ๔๕,๐๐๐,๐๐๐.- (สี่สิบห้าล้านบาทถ้วน)

หมายความว่ากองทุนนี้จะขาดทุนเดือนละ ๔๓,๕๐๐,๐๐๐.- (สี่สิบสามล้านห้าแสนบาทถ้วน) หรือปีละ ๕๒๒,๐๐๐,๐๐๐.- (ห้าร้อยยี่สิบสองล้านบาทถ้วน)

เงินจำนวนนี้ ต้องใช้ภาษีของประชาชนทั่วไปเข้ามาอุดหนุน มีความเหมาะสมหรือไม่?
ผมเห็นด้วยด้วยในหลักการครับ ว่าควรต้องมีกองทุนนี้ แต่ไม่เห็นด้วยในรายละเอียดการปฏิบัติครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่