จุฬาฯ เปิดตัวโปรแกรม "อักขราวิสุทธิ์" ตรวจสอบการลอกงานวิชาการ

วันนี้ (26 ส.ค.) ที่ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการแถลงข่าว "จุฬาฯ กับมาตรการในการป้องกันการลักลอกผลงานวิชาการ" โดย ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า การลักลอกผลงานวิชาการเป็นเรื่องที่วงการวิชาการในต่างประเทศให้ความสำคัญมาก ซึ่งปัจจุบันพบรูปแบบการนำงานของคนอื่นมาเป็นของตนเอง หรือเอางานของผู้อื่นที่เขียนไว้มาอ้างว่าเป็นของตนเอง โดยไม่มีการบอกเล่าว่างานที่นำมานั้นไม่ใช่งานของตน ซึ่งไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ถือว่ารับไม่ได้ และในวงวิชาการนานาชาติถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงมาก ทางจุฬาฯ ก็ให้ความสำคัญโดยสภามหาวิทยาลัยได้กำหนดให้เป็นนโยบายในการตรวจสอบการลักลอกผลงานวิชาการ โดยเริ่มตรวจสอบในระดับบัณฑิตศึกษาก่อน จากนั้นจึงจะเข้าไปตรวจสอบในระดับปริญญาตรีที่มักพบว่ามีการคัดลอกมาจากวิกิพีเดีย

"ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นข้อเสียทำให้การลักลอกผลงานทำได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันสามารถก็อปปี้แล้วตัดแปะได้ทันที ไม่ต้องแม้แต่จะพิมพ์ซ้ำ แต่ข้อดีของเทคโนโลยีคือเราสามารถพัฒนาเครื่องมือด้านไอทีมาช่วยเพื่อตามให้ทันการลักลอกผลงานวิชาการ โดยจุฬาฯ จะเริ่มใช้มาตรการตรวจสอบการลักลอกผลงานวิชาการในระดับบัณฑิตวิทยาลัยผ่านโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเอง" รองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าว

รศ.ดร.อมร เพชรสม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ ยึดสโลแกน "จุฬาฯ ร้อยปีต้องไม่มี Plagiarism(การคัดลอกผลงาน)" โดยริเริ่ม 3 มาตรการในการป้องกันการลักลอกผลงานวิชาการ ได้แก่ 1.มาตรการสร้างจิตสำนึก อาทิ การอบรมและเปิดสอนรายวิชาจริยธรรมการวิจัยให้นิสิตทุกคน รวมถึงการอบรมอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์  2.มาตราการป้องปราม โดยกำหนดให้นิสิตเขียนวิทยานิพนธ์ด้วยโปรแกรม ซียู อี-ธีสิส(CU e-Thesis) ซึ่งนิสิตจะต้องส่งแบบรายงานความก้าวหน้าและแผนการทำวิทยานิพนธ์ทุกภาคการศึกษา โดยอาจารย์ที่ปรึกษาจะสามารถติดตามวิทยานิพนธ์ได้ตลอดเวลา และ 3 มาตรการติดตามตรวจสอบด้วยโปรแกรมเทิร์นอิทอิน(Turn it in)และโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ที่จุฬาฯพัฒนาขึ้นมา โดยปัจจุบันสามารถตรวจสอบข้อความที่เหมือนหรือคล้ายกัน แต่ในอนาคตจะพัฒนาโปรแกรมให้รองรับการตัดต่อหรือสลับข้อความ รวมถึงการคัดลอกข้อความโดยหลีกเลี่ยงใช้คำภาษาไทยอื่นๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันได้ด้วย

รศ.ดร.อมร กล่าวอีกว่า บัณฑิตวิทยาลัยจะเริ่มใช้โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2556 ซึ่งคาดว่าจะมีวิทยานิพนธ์ประมาณ 700-800 เล่มที่จะต้องถูกตรวจสอบ โดยฐานข้อมูลปัจจุบันของโปรแกรมนี้จะประกอบด้วย วิทยานิพนธ์ 15,000 เล่ม ย้อนหลังตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 สารนิพนธ์ 2,000 รายการ วารสาร, รายงานวิจัย และอีบุ๊คของจุฬาฯ ทั้งนี้ในอนาคตจะเพิ่มจำนวนวิทยานิพนธ์ประมาณ 2,500 เล่มต่อปี และสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหมดของจุฬาฯ รวมถึงในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จุฬาฯ จะพัฒนาโปรแกรมให้เชื่อมต่อฐานข้อมูลวิกิพีเดียและฐานข้อมูลอื่นๆ เพื่อช่วยให้การตรวจสอบดียิ่งขึ้น

“ในเบื้องต้นการคัดลอกผลงานกันเองในจุฬาฯ จะทำไม่ได้แล้ว เพราะในโปรแกรมมีฐานข้อมูลทั้งหมด และในอนาคตหากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เข้ามาร่วมใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ก็จะสามารถตรวจสอบวิทยานิพนธ์ได้ทั่วประเทศ ซึ่งทางจุฬาฯ ยินดีให้ใช้โปรแกรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษาเพราะโปรแกรมซียู อี-ธีสิส เปิดโอกาสให้อาจารย์ที่ปรึกษาเข้าไปติดตาม หากเห็นว่านิสิตมีผลงานดีขึ้นอย่างกะทันหันก็ต้องจับสังเกตได้ โดยโปรแกรมนี้ยังบันทึกการเข้ามาดูผลงานของอาจารย์ไว้ด้วย ส่วนการประมวลผลของโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์จะประเมินความเหมือนของข้อมูลออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้หมายความว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์มากจะบ่งชี้ว่าอาจมีการลักลอก ซึ่งผู้ตรวจสอบจะต้องดูด้วยว่าสิ่งที่เหมือนคืออะไร ถ้าสิ่งที่เหมือนเป็นข้อมูล เช่น ตารางหรือการวิจารณ์ผล หากเหมือนกันเป๊ะ แม้ผลลัพธ์จะระบุว่าไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องถือว่าเป็นปัญหา หรือในกรณีการตรวจสอบได้ผลปรากฎว่ามีเปอร์เซ็นต์การเหมือนกันแค่เปอร์เซ็นต์เดียว แต่เนื้อหาเหมือนกับลอกมาเลยก็ยังถือว่าเป็นความผิดได้เหมือนกัน” รศ.ดร.อมร กล่าว

http://www.dailynews.co.th/education/228770

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่