การเกิดไฮบริดออร์บิทัล (Hybrid Orbital) เกิดขึ้นยังไงและมีกี่ลักษณะครับ

กระทู้คำถาม
คืออยากทราบว่าการเกิดไฮบริดออร์บิทัลเกิดขึ้นยังไง และเหมือนกันหรือไม่กับคำว่า ไฮบริดไดเซชั่น (Hybridization) น่ะครับ.....ยังไงวอนผู้รู้ช่วยแถลงไขทีครับ ..... ขอบคุณครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
วันนี้อารมณ์ดี ขออธิบายแบบเล่าเรื่องยาวๆด้วยภาษาธรรมดาๆ
ก่อนจะอธิบาย แนะนำคำศัพท์ก่อนนะครับ ให้เข้าใจตรงกัน อมยิ้ม16
_________________________________________________
ไฮบริด หรือ hybrid (adj.) = ลูกผสม
ไฮบริไดส์ hybridise (v.) = ผสม (mix)
ไฮบริไดเซชัน hybridisation (n.) = กระบวนการผสม (mixing)  
ไฮบริดออร์บิทัล (hybrid orbital) = ออร์บิทัลลูกผสม
_________________________________________________

ตอบคำถามทีละข้อนะครับ

1. การเกิดไฮบริดออร์บิทัล (Hybrid Orbital) เกิดขึ้นยังไง?

(ยาวนิดนึง เป็นคล้ายๆเรื่องเล่า เข้าใจได้ไม่ยากลองอ่านดูก่อนนะ)

แนวคิดเกี่ยวกับไฮบริดออร์บิทัลเนี่ย แรกเริ่มเดิมทีเกิดจากการอธิบายการเกิดพันธะของคาร์บอน C  ด้วยทฤษฎีพันธะเวเลนซ์ (Valence Bond Theory: VBT) แล้วมันมีปัญหาเกิดขึ้น พูดง่ายๆ คือ คนคิดทฤษฎีนี้ "เงิบ" ไปต่อไม่ได้ ขอย้ำนะว่าเป็นแค่ทฤษฎีนะครับ มันไม่ใช่ กฎ

ทฤษฎีนี้หลักการง่ายๆ คือ อะตอมจะสร้างพันธะกับอะตอมอื่นๆต้องมีอิเล็กตรอนเดี่ยวในออร์บิทัล เพื่อใช้ในการจับคู่กับอิเล็กตรอนเดี่ยว (unpaired electron) ที่มาจากอะตอมอื่นๆอีกอะตอมโดยใช้ออร์บิทัลไปซ้อนเกย (overlap) กับอีกอะตอมหนึ่ง  (ไม่ขอลงรายละเอียดเรื่องควอนตัมนะครับ)

กรณีไฮโดรเจน (มีการจัดเรียงอิเล็กตรอน 1s1) ไม่มีปัญหา เพราะแต่ละอะตอมมีอิเล็กตรอนตัวเดียวเป็นอิเล็กตรอนเดี่ยว สามารถเกิดพันธะได้เลย แบบนี้



หรือ ฟลูออรีน (F มีการจัดเรียงอิเล็กตรอนเป็น [He]2s22px22py22pz1) มีอิเล็กตรอนเดี่ยวใน 2pz ก็เกิดพันธะได้เป็นโมเลกุล F2 ได้เลย แบบนี้



หรือการเกิดโมเลกุลโมเลกุลสารประกอบ เช่น ไฮโดรเจนคลอไรด์ (HCl) ก็เกิดได้เลยทำนองเดียวกัน



แต่กรณี คาร์บอน นั้นกลับ มีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากคาร์บอนมีอิเล็กตรอนเดี่ยวแค่ 2 ตัว ดังนั้น ตามทฤษฎีควรจะพบสารประกอบ CH2 ในธรรมชาติสิ แต่ไม่ใช่ ในชีวิตจริง เราพบว่าคาร์บอนสามารถเกิดพันธะเดี่ยวได้ 4 พันธะแน่ะ ในโมเลกุลของมีเทน CH4 i

(คาร์บอนมีการจัดอิเล็กตรอน 1s22s22px12py12pz0)

เอาไงล่ะทีนี้ คนคิดทฤษฎีนี้ ii เขาจึงเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ ไฮบริไดเซชัน (hybridisation) ขึ้นมา โดยพูดง่ายๆ คือ เขาพยายามหาคำอธิบายให้ได้ว่าอะตอมคาร์บอนมันเตรียมตัวเพื่อให้มีอิเล็กตรอนเดี่ยว 4 ตัว เพื่อเกิดพันธะทั้ง 4 พันธะได้ยังไง โดยแนวคิดนี้มองว่าคาร์บอนมีการปรับตัวด้วยการเอาออร์บิทัลมา ไฮบริไดส์ (hybridise) หรือ ผสม (mix) กัน แล้วสร้าง "ออร์บิทัลใหม่" ขึ้นมา เรียกว่า ไฮบริดออร์บิทัล (hybrid orbital) หรือ ออร์บิทัลลูกผสม   

กรณีของมีเทนนั้น คาร์บอนต้องมีอิเล็กตรอนเดี่ยว 4 ตัว เขาจึงเสนอว่า มันต้องเกิด sp3 ไฮบริไดเซชัน ถึงจะมีอิเล็กตรอนเกี่ยว 4 ตัวได้ ใน 4 ออร์บิทัลใหม่ (note:sp3 อ่านว่า เอส-พี-ทรี หรือแบบไทยๆ คือ เอส-ดี-สาม เอา s ออร์บิทัลมา 1 เอา p ออร์บิทัลมา 3)

เกิดแบบนี้



หรือเป็นภาพสวยๆ (รูปก๊อบเค้ามา) ได้แบบนี้  อมยิ้ม17



ทีนี้ก็สบายเลย เกิดพันธะได้ 4 พันธะกับไฮโดรเจน ได้โมเลกุลมีเทน แบบนี้



นอกจากนี้เนี่ย เจ้าคาร์บอนอาจจะเกิดแบบอื่นๆได้ อีก 2 แบบ คือ sp2 และ sp ไฮบริไดเซชัน

sp2 ไฮบริไดเซชัน
(อ่านว่า เอส-พี-ทู หรือแบบไทยๆ คือ เอส-ดี-สอง เอา s ออร์บิทัลมา 1 เอา p ออร์บิทัลมา 2)



หรือ รูปสวยๆได้แบบนี้



สังเกตว่า มี 2p ออร์บิทัลเหลือ 1 อัน ไม่ได้ถูกไฮบริไดส์ไปกับเขา เจ้า อันที่เหลือนี้มันก็จะตั้งฉากกับ sp2 ไฮบริดออร์บิทัลที่เกิดใหม่ ลองนึกภาพ 2px 2py 2pz วางตัวตามแกน x y z ถ้าเราใช้ 2px 2py ไป เราก็จะเหลือ 2pz ที่ตั้งฉากกับอีก 2 อันนั้นถูกป่ะ? ออร์บิทัลอันนี้แหละ ที่มันเกิดพันธะไม่เหมือนชาวบ้านเขา เรียกว่า พันธะไพ (pi) หรือ พันธะพายยยยย คือ เอาข้างๆมาซ้อนเกย (overlap) กับชาวบ้าน ส่วน ไฮบริดออร์บิทัลทั่วไปก็จะซ้อนเกยกันแบบตรงๆตามแนวแกนจะเรียกว่าพันธะซิกมา (sigma) แบบนี้



ทีนี้ก็เกิดพันธะได้สบายเลย โดยมีทั้ง พันธะซิกมา และ พันธะไพ แบบนี้



อีกแบบคือ sp ไฮบริไดเซชัน รอบนี้ใช้แค่ 2px ก็จะเหลือ 2py 2pz ตั้งฉากกันอยู่ และ sp ไฮบริดออร์บิทัลก็ไปตามแนวแกน x เท่านั้น

  

ภาพสวยๆแบบนี้



เวลาเกิดสารประกอบก็มันล่ะทีนี้ มีทั้งพันธะซิกมา และพันธะไพอีก 2 แนว อมยิ้ม07




2. มีกี่ลักษณะครับ? อมยิ้ม19

ตอบ มีเยอะแยะมากมายเลยครับ
ในตารางนี้เท่าที่เราเรียนตั้งแต่ ม.ปลาย จนถึงระดับมหาวิทยาลัย
จะเห็นได้ว่า ชนิดของไฮบริดออร์บิทัลสามารถทำนายรูปร่างโมเลกุลได้



ส่วนนี่ เป็นตัวอย่างอื่นๆ ที่จะพบได้หากเราทำวิจัย หรือศึกษาสารประกอบที่มากขึ้น
โดยเฉพาะสารประกอบโคออร์ดิเนชันของโลหะทั้งหลาย อมยิ้ม21



นี่รูปร่างของบางอันที่แปลกหูแปลกตา แต่ก็เป็นไฮบริดออร์บิทัลที่ใช้อธิบายสมบัติของสารหลายตัว อมยิ้ม08



และพันธะก็ไม่ได้มีแค่ พันธะซิกมา กับ พันธะไพ แค่สองอย่าง อมยิ้ม20
แต่มีพันธะเดลตา พันธะ...บลา บลา บลา




3. ไฮบริดออร์บิทัล เหมือนกันหรือไม่กับคำว่า ไฮบริไดเซชัน (Hybridisation)?

ตอบ คือ ดูคำอธิบายศัพท์ข้างบน และตัวอย่างประโยคข้างล่างดูนะครับ

อะตอมของคาร์บอนใช้ 2s ออร์บิทัล และ 2p ออร์บิทัล ในการเกิดไฮบริไดเซชัน เพื่อสร้าง sp3 ไฮบริดออร์บิทัล

___________________________________
สรุปภาษาชาวบ้าน คือ ไฮบริไดเซชัน เป็นการรวมออร์บิทัลผสมเข้าด้วยกันเพื่อเกิดเป็นออร์บิทัลใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อม (เตรียมอิเล็กตรอนเดี่ยวและออร์บิทัล) ในการเกิดพันธะ พึงระลึกไว้เสมอว่ามันไม่ใช่กฎ ไม่ใช่ว่า คุณเกิดมาเป็นอะตอมคาร์บอนคุณต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น แต่เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาเพื่ออธิบายสมบัติบางประการของสารเท่านั้นเอง และธาตุอื่นๆก็เกิดได้ แต่ไม่ขอลงรายละเอียด อยากรู้อ่านเพิ่มเองนะครับ และแนวคิดนี้ไม่ใช่กฎเพราะมันอธิบายได้เพียงการเกิดพันธะและรูปร่างโมเลกุล แต่ไม่สามารถอธิบายสมบัติอื่นๆได้ เช่น การเกิดสี สมบัติแม่เหล็ก ต้องใช้ทฤษฎีอื่นๆมาอธิบาย เช่น ทฤษฎีออร์บิทัลเชิงโมเลกุล (Molecular Orbital Theory: MOT) ที่อธิบายการเกิดพันธะ การเกิดสเปกตรัม สมบัติแม่เหล็กได้ แต่ดันอธิบายรูปร่างไม่ได้ และทฤษฎีอื่นๆมากมาย

i จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ถ้าในธรรมชาติ เราพบ CH2 เต็มไปหมด แทนที่จะเป็น CH4 แนวคิดนี้อาจจะไม่เกิดก็ได้ในตอนนั้น ดังนั้น ยังอาจจะมีแนวคิดและทฤษฎีที่พร้อมจะถูกสร้างขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ได้เสมอๆ ไม่ได้เป็นกฏธรรมชาติครอบจักรวาลที่รอการค้นพบอย่างเดียว  

ii คนคิดแนวคิดและทฤษฎีที่ว่านี้ คือ ลินัส เพาลิง (Linus Pauling) เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีจากการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของพันธะเคมี นั่นเอง อ่านเพิ่มได้ที่  THE NATURE OF THE CHEMICAL BOND มีบทความวิจัยเป็นซีรี่ย์เลย

___________________________________
อ่านเพิ่ม:

1. THE NATURE OF THE CHEMICAL BOND. APPLICATION OF RESULTS OBTAINED FROM THE QUANTUM MECHANICS AND FROM A THEORY OF PARAMAGNETIC SUSCEPTIBILITY TO THE STRUCTURE OF MOLECULES
Linus. Pauling., J. Am. Chem. Soc., 1931, 53 (4), pp 1367–1400 DOI: 10.1021/ja01355a027
http://dx.doi.org/10.1021/ja01355a027

2. Atomic orbitals, symmetry, and coordination polyhedra (Review Article)
R.Bruce King., Coordination Chemistry Reviews, Volume 197, Issue 1, February 2000, Pages 141-168
http://dx.doi.org/10.1016/j.bbr.2011.03.031

3. Orbital hybridisation
http://en.wikipedia.org/wiki/Orbital_hybridisation

ขอบคุณภาพจาก:

1. Chemistry. Rothstein, Logan McCarty and Robert C. Fay (2003). eText.

2. Atomic orbitals, symmetry, and coordination polyhedra (Review Article)
R.Bruce King., Coordination Chemistry Reviews, Volume 197, Issue 1, February 2000, Pages 141-168
http://dx.doi.org/10.1016/j.bbr.2011.03.031
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่