เผื่อเป็นประโยชน์กับใครบ้าง

กระทู้สนทนา
ประเภทของความผิดปกติทางจิตใจ

องค์การอนามัยโลกได้ประกาศปรับปรุงแก้ไขการ จำแนกประเภทของความผิดปกติทางจิตใจเป็นครั้งที่ ๙ เมื่อ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๒ กล่าวโดยย่อแบ่งความผิดปกติทางจิตใจออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ

โรคจิต

เป็นความผิดปกติของจิตใจ ซึ่งการทำงานของจิตใจเสียหน้าที่ไปอย่างเห็นได้ชัดเจน จนทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติ ประกอบด้วย อาการทั่วไป ๓ ประการ คือ

๑) บุคลิกภาพเดิมของผู้ป่วยเปลี่ยนไป เช่น เคยเป็นคนสะอาด และสุภาพ ก็เปลี่ยนเป็นสกปรก และหยาบคาย เคยเป็นคนพูดน้อยก็กลายเป็นพูดไม่หยุด ฯลฯ

๒) ไม่อยู่ในโลกของความจริง เช่น มีอาการ ประสาทหลอน ได้ยินเสียงคนด่าตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ ในขณะนั้นไม่มีใครด่าเขาเลย หลงผิดว่ามีคนคิดร้าย และกำลังตามฆ่าเขา

๓) ไม่รู้สภาวะตนเอง เช่น ไม่รู้ว่าตนเอง กำลังป่วย จึงขัดขืนไม่ยอมไปพบแพทย์ การขัดขืน บางครั้งรุนแรงจนถึงกับใช้กำลังกาย

โรคจิตแบ่งออกเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ คือ

๑. โรคจิตที่มีสาเหตุเนื่องจากพยาธิสภาพทาง กาย ผู้ป่วยจะมีอาการงุนงง สับสน สูญเสียความ จำ อารมณ์ผันแปรง่าย สติปัญญาเสื่อม

๒. โรคจิตอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับพยาธิสภาพทางกาย

โรคประสาท

โรคประสาทเป็นความผิดปกติ หรือความแปรปรวนทางจิตใจ อาการต่างๆ ที่ปรากฏคือ กังวล ย้ำคิด ย้ำทำ เหนื่อยง่าย ฯลฯ อาการเหล่านี้ไม่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการทำงาน หรือการเข้าสังคมอย่างเห็นได้ชัดเจน บุคลิกภาพไม่เปลี่ยนจนคนภายนอกสังเกตเห็นได้ ไม่มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน ไม่มีความคิดแปลกประหลาด ส่วนมากจะหยั่งเห็นสภาพของตน หรือรู้สภาวะของตนเอง รู้ว่าตนไม่สบายใจ หงุดหงิด และกลุ้มใจ ต้องการให้แพทย์หรือคนอื่นช่วยเหลือ

บุคลิกภาพแปรปรวน

บุคลิกภาพแปรปรวน เป็นความผิดปกติทางจิตเวช ที่มีลักษณะของการปรับตัวไม่ถูกต้อง ซึ่งมักแสดงออกทางพฤติกรรม ที่เริ่มในระยะต้น ของพัฒนาการทางบุคลิกภาพตั้งแต่วัยเด็ก แต่จะปรากฏชัดเจนในวัยรุ่น มีสาเหตุมาจากหลายด้านคือ

๑. โครงสร้างทางชีวเคมี กรรมพันธุ์ ประสาทสรีรวิทยาของบุคคลนั้นๆ เอง มีลักษณะชวนให้เกิดความแปรปรวนทางบุคลิกภาพ

๒. เลียนแบบบุคคลใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ คนเลี้ยง ทั้งทางพฤติกรรม อารมณ์ และท่าที ฯลฯ มาตั้งแต่วัยเด็ก แล้วรับเป็นแบบฉบับของพัฒนาการ ทางบุคลิกภาพของตนเอง เช่น พ่อมีลักษณะก้าวร้าว โมโหร้าย ลูกก็จะมีลักษณะเหมือนพ่อ

๓. ประสบการณ์บางอย่างตั้งแต่วัยเด็ก ที่ทำ ให้เด็กปรับตัวเข้ากับสภาพนั้นๆ จนยึดถือลักษณะนั้น เป็นส่วนของบุคลิกภาพของตน เช่น เด็กร้องไห้อยากได้ของเล่นทีไร แม่ก็ซื้อให้ทุกที เด็กก็จะแสดงอารมณ์ทุกครั้งที่เขาต้องการสิ่งใด แม้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็จะมีลักษณะเช่นนั้นติดไป

บุคลิกภาพแปรปรวน แบ่งออกเป็น ๙ ลักษณะ คือ

๑. บุคลิกภาพแบบระแวง มีลักษณะขี้ สงสัย อิจฉาริษยา ขี้หึง รู้สึกว่า ตัวมีความสำคัญกว่าผู้อื่น มนุษยสัมพันธ์ไม่ดี ปรับตัวเองไม่ได้ ชอบนินทา และตำหนิผู้อื่น มองผู้อื่นในแง่ร้าย ท่าทีไม่เป็น มิตรต่อผู้อื่น ก้าวร้าว

๒. บุคลิกภาพแบบอารมณ์แปรปรวน มีอารมณ์เศร้าและสนุกครึกครื้นง่าย บางเวลากระตือรือร้น ทะเยอทะยาน สนุกสนาน บางเวลาหดหู่เศร้าหมอง ซึม เบื่อหน่าย

๓. บุคลิกภาพแบบเก็บตัว แยกตัวจากสังคม ชอบคิดเพ้อฝัน หลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ ไม่ชอบการแข่งขัน ผู้ที่มีบุคลิกภาพชนิดนี้อาจประสบความสำเร็จสูงส่งได้ ถ้ารู้จักเลือกอาชีพให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพ เช่น เป็นนักค้นคว้าวิจัยในห้องทดลอง แต่ไม่เหมาะที่จะเป็นนักแสดง หรือนักประชาสัมพันธ์

๔. บุคลิกภาพแบบก้าวร้าว หรือแบบระเบิดโผงผาง อารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รุนแรง แสดงความโกรธ เกลียด ก้าวร้าว ดุดัน โต้เถียง ด่าทอ เกรี้ยวกราด ชอบใช้อำนาจ มีเรื่องขัดใจเพียงเล็กน้อยก็มักควบคุมอารมณ์ไม่ได้

๕. บุคลิกภาพแบบย้ำคิดย้ำทำ มีลักษณะเคร่งเครียด เจ้าระเบียบ มีความรับผิดชอบสูง ทำอะไรต้องสมบูรณ์ บกพร่องไม่ได้ รอบคอบ ถี่ถ้วน
กลัวผิด วิตกกังวลเสมอ ถ้าเลือกอาชีพให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพ อาจได้รับความสำเร็จเป็นผลดี เช่น เป็นนักบัญชี นักวิทยาศาสตร์

๖. บุคลิกภาพแบบฮีสทีเรีย มีลักษณะพึ่งพิงผู้อื่น อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ไม่แน่นอน เรียกร้องความสนใจ ถูกชักจูงได้ง่าย มีท่าทียั่วยวน ถือตนเป็นจุดศูนย์กลาง ไม่บรรลุวุฒิภาวะ มักแสดงท่าทางคล้ายแสดงละคร บุคลิกภาพชนิดนี้พบในหญิงมากกว่าชาย

๗. บุคลิกภาพแบบอ่อนแอ มีลักษณะอ่อนแอ สมยอมเชื่องซึม ท่าทางเหนื่อยหน่าย ขาดความกระตือรือร้น และขาดความสนุกสนาน

๘. บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม หรืออันธพาล มีลักษณะเห็นแก่ตัว ขาดความรับผิดชอบ เอาแต่ได้ ไม่นึกถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น หุนหันพลันแล่น ชอบทะเลาะวิวาท ไม่ซื่อสัตย์ ไม่รักหมู่คณะ ไม่รู้จักหลาบจำ เมื่อถูกลงโทษ มักพบว่า ในวัยเด็กขาดการอบรม มาจากครอบครัวที่แตกแยก หรืออยู่ในถิ่นที่สิ่งแวดล้อมไม่ดี เช่น ชุมชนแออัด เป็นต้น

๙. บุคลิกภาพแบบก้าวร้าวอย่างเฉื่อย มีลักษณะผัดผ่อน หน่วงเหนี่ยวถ่วงเวลา ดื้อรั้นเป็นประจำ พบได้มาก โดยเฉพาะในคนไทย ซึ่งถูกอบรมให้กดเก็บความรู้สึก ถ้าไม่รุนแรงก็ดำเนินชีวิตไปได้ตามสมควร

ปัญญาอ่อน


ปัญญาอ่อน หมายถึง การมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติ ผู้ที่มีความผิดปกติชนิดนี้ จะมีพัฒนาการล่าช้าตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญา อาจเกิดจากสาเหตุภายนอก เช่น ติดเชื้อในครรภ์มารดา การเสียหายของเนื้อสมอง และโรคพีเคยู (phenylketonuria, PKU) ซึ่งเป็นโรคเกิดจากพันธุกรรม หรืออาจไม่พบสาเหตุใดๆ เลยก็ได้ การวินิจฉัยไม่ควรเคร่งครัดในเรื่องตัวเลข ของระดับเชาวน์ปัญญามากเกินไป

ระดับเชาวน์ปัญญาแบ่งออกดังนี้

ปัญญาอ่อนระดับน้อย (moron) ไอคิว (I.Q.) ๕๐-๗๐
ปัญญาอ่อนปานกลาง (imbecile) ไอคิว (I.Q.) ๓๕-๔๙
ปัญญาอ่อนมาก (fevere) ไอคิว (I.Q.) ๒๐-๓๔
ปัญญาอ่อนรุนแรง (idiocy) ไอคิว (I.Q.) ต่ำกว่า ๐-๒๐
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่