(ฉบับการ์ตูน) ชวนม่วนชื่น – ก้อนอิฐที่ไม่เข้าที่เข้าทางสองก้อน

กระทู้สนทนา



                หลังจากการซื้อที่ดินเพื่อสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ นั้น เราก็หมดตัวและเป็นหนึ้โดยที่ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ แม้แต่เพิงที่อาศัยได้บนที่ดินผืนนั้น ในช่วงสองสามอาทิตย์แรก เราต้องอาศัยนอนอยู่บนบานประตูเก่าๆ ที่ซื้อมาถูกๆ จากคนขายของเก่า เราหนุนบานประตูเก่าๆ นั้นให้สูงขึ้นจากพื้นดินด้วยก้อนอิฐ (เราไม่มีแม้แต่เบาะนอน นั่นก็เป็นของแน่อยู่แล้วเพราะว่าเราเป็นพระป่านี่)


                 ท่านเจ้าอาวาสได้บานประตูที่ดีที่สุด เป็นบานประตูเรียบๆ ส่วนบานประตูของอาตมาเป็นชนิดที่มีบัว แถมยังมีรูขนาดใหญ่พอควรอยู่ตรงกลางตรงบริเวณที่เคยติดลูกบิด โชคดีนะที่เขาถอดลูกบิดออกไปแล้ว แต่เจ้ารูนี่ก็ยังคงอยู่เกือบจะกลางเตียงประตูของอาตมาทีเดียว อาตมาเคยพูดตลกๆว่า อาตมาไม่ต้องลุกจากเตียงไปเข้าห้องน้ำหรอกนะ! ความจริงที่แสนหนาวก็คือว่า ลมสามารถพัดกรูผ่านเจ้ารูนี่มาถึงตัวอาตมา ทำให้อาตมาไม่ค่อยได้หลับได้นอนในช่วงค่ำคืนเหล่านั้น







                 พวกเราเป็นพระจนๆ ที่ต้องการอาคารที่พักอาศัย แต่ไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะจ้างช่างก่อสร้างได้ แค่ค่าวัสดุต่างๆ ก็แพงเกินพอแล้ว อาตมาจึงต้องเรียนรู้ว่าเขาทำงานก่อสร้างกันอย่างไร เตรียมฐานรากอย่างไร ตลอดจนถึงการผสมคอนกรีต การก่ออิฐการตั้งหลังคา งานประปา และทุกๆ อย่าง ก่อนจะบวชอาตมาเคยเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีและเป็นครูโรงเรียนมัธยมผู้ไม่เคยคุ้นกับการใช้แรงงานด้วยมือทั้งสองนี้ เพียงไม่กี่ปีอาตมากลายเป็นช่างก่อสร้างที่มีฝีมือไม่เบา ขนาดที่จะสามารถเรียกคณะทำงานของอาตมาได้ว่าบริษัทพุทธก่อสร้าง (BBC- Buddhist Building Company) แต่ขณะที่เริ่มต้นนั้นมันเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญเอามากๆ







                 การก่ออิฐอาจจะดูเป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแค่โปะปูนลงไปแล้ววางก้อนอิฐ แตะด้านนี้ทีด้านนั้นทีให้เข้าที่ ตอนอาตมาเริ่มก่ออิฐใหม่ๆ อาตมาแตะกดมุมหนึ่งลงเพื่อให้ได้ระดับ อีกมุมหนึ่งกลับยกขึ้น พออาตมากดด้านที่ยกขึ้นนั้นให้ลงมา อิฐก็เริ่มแตกแถวแตกแนว หลังจากที่อาตมาดันมันให้กลับเข้าที่ มุมแรกก็เริ่มสูงเกินไปอีกแล้ว โยมลองทำดูซิ!

                 เพราะอาตมาเป็นพระ อาตมาจึงมีความอดทนและมีเวลาที่จะทำงานได้โดยไม่จำกัด อาตมาจึงทำงานอย่างประณีตที่สุด โดยไม่สนว่าจะต้องใช้เวลายาวนานเท่าใด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอิฐทุกๆ ก้อนจะถูกวางไว้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ในที่สุดการก่อกำแพงอิฐแผงแรกของอาตมาก็สำเร็จลง อาตมาก้าวถอยออกมายืนชื่นชมผลงาน







ในชั่วขณะนั้นแหละที่อาตมาสังเกตเห็น







                 …โอ้ย!… อาตมาก่ออิฐพลาดไปสองก้อน อิฐก้อนอื่นๆ เป็นแถวเป็นแนวสวยงาม มีแต่เจ้าอิฐสองก้อนนี่แหละที่เอียงๆ ทำมุมกับแนวอิฐก้อนอื่นๆ มันดูแย่มากๆ เลย มันทำให้กำแพงทั้งแผงดูไม่ดีเลย

                 ขณะนั้นปูนก่ออิฐก็แข็งเกินกว่าที่จะสามารถดึงอิฐออกมาก่อใหม่เสียแล้ว อาตมาจึงกราบเรียนท่านเจ้าอาวาส ขอทุบกำแพงเพื่อเริ่มต้นก่ออิฐใหม่อีกครั้ง หรือถ้าจะให้ดีก็อยากจะระเบิดมันทิ้งไปเลย อาตมาก่ออิฐไม่ดี และอาตมาก็รู้สึกอับอาย ท่านเจ้าอาวาสไม่อนุญาตให้รื้อ กำแพงนี้จะต้องคงอยู่







                 เวลาอาตมาพาแขกเยี่ยมชมวัดที่เริ่มตั้งใหม่ของเรา อาตมาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพาแขกเดินไปทางกำแพงนั้น อาตมาไม่อยากให้ใครๆ เห็นมันเลย







                 จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปได้สามสี่เดือน ขณะที่อาตมากำลังเดินอยู่กับผู้มาเยี่ยมวัดคนหนึ่ง เขาสังเกตเห็นกำแพงนั้น แล้วก็เปรยขึ้นมาว่า



“กำแพงนี่สวยดี”







                 อาตมาถามเขาด้วยความประหลาดใจว่า “คุณลืมแว่นสายตาของคุณไว้ในรถรึเปล่า? สายตาคุณเสื่อมรึเปล่า? คุณไม่เห็นรึว่ามีอิฐถึงสองก้อนที่วางไม่ดีจนทำให้กำแพงนี้เสียหายหมด?”







                 คำพูดที่เขาตอบอาตมานั้นได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติทั้งหมดของอาตมาต่อกำแพงนั้น ต่อตัวอาตมาเอง และต่อหลายๆ แง่มุมของชีวิต เขาบอกอาตมาว่า “ใช่ ผมเห็นอิฐที่วางไม่ดีสองก้อนนั้น แต่ผมก็ได้เห็นด้วยว่ามีอิฐอีก ๙๙๘ ก้อน ก่อไว้อย่างสวยงามเป็นระเบียบ”







                 อาตมาถึงกับอึ้งทีเดียว นับเป็นครั้งแรกในรอบสามเดือนที่อาตมาสามารถมองเห็นอิฐก้อนอื่นๆ บนกำแพงนั้นนอกเหนือจากเจ้าสองก้อนที่เป็นปัญหา







                 ไม่ว่าจะเป็นอิฐที่อยู่ด้านบน ด้านล่าง ด้านซ้าย และด้านขวาของเจ้าอิฐสองก้อนนั้น ล้วนแต่เป็นอิฐที่ก่อนไว้อย่างดีไม่มีที่ติ ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนอิฐที่ดีนี้มีมากกว่าเจ้าอิฐไม่ดีสองก้อนนั้นมากมายนัก ก่อนหน้านี้ตาของอาตมาจับจ้องเฉพาะแต่ที่อิฐสองก้อนนั้น ตาของอาตมามืดบอดต่อสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด อาตมาจึงไม่อาจทนมองกำแพงนั้นได้และไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้เห็นกำแพงนั้นด้วย เป็นเหตุให้อาตมาอยากจะทลายกำแพงนั้นทิ้ง เดี๋ยวนี้เมื่ออาตมาสามารถเห็นอิฐดีๆ แล้ว กำแพงนั้นก็ไม่น่าเกลียดอีกต่อไป มันก็เป็นเหมือนกับที่ผู้มาเยี่ยมคนนั้นพูด “กำแพงนี่สวยดี” เดี๋ยวนี้กำแพงนั้นก็ยังคงอยู่ แม้เวลาจะผ่านไป ๒๐ ปีแล้ว อาตมาเองก็ลืมเสียแล้วว่าเจ้าอิฐไม่ดีสองก้อนนั้นมันอยู่ตรงไหนแน่ อาตมาไม่สามารถเห็นจุดที่ผิดพลาดนั้นจริงๆ








                 มนุษย์เราสักกี่คนที่ตัดสัมพันธ์หรือหย่าร้างเพียงเพราะเขาเพ่งมองเห็นแต่ ‘อิฐที่ไม่ดีสองก้อน’ ที่อยู่ในตัวคู่ชีวิตของเขา พวกเรากี่คนที่เคยรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังจนอาจจะคิดฆ่าตัวตาย เพียงเพราะเรามองเห็นแต่ ‘อิฐที่ไม่ดีสองก้อน’ ในตัวของเรา ทั้งๆที่ในความเป็นจริงมี ‘อิฐที่ดีและอิฐที่ดีจนไม่มีที่ติ’ มากมายอยู่เคียงข้างส่วนที่บกพร่อง ไม่ว่าจะมองไปทางข้างบน ข้างล่าง ข้างซ้าย ข้างขวา เพียงแต่เรามองมันไม่เห็นเท่านั้น แทนที่จะเห็นสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ สายตาของเรากลับเพ่งมองจดจ่อเฉพาะสิ่งที่ผิดพลาด ทั้งหมดที่เราเห็นมีแต่สิ่งผิดพลาด จนเราคิดอยากจะทำลายมันทิ้งเสีย มันน่าเศร้าจริงๆ ที่หลายครั้งหลายหนเราได้ลงมือทลาย ‘กำแพงที่ดี’ นั้นไปจริงๆ







                 เราทุกคนย่อมมี ‘ก้อนอิฐที่ไม่เข้าที่เข้าทางสองก้อน’ แต่แต่ละคนก็ย่อมมี ‘ก้อนอิฐที่ดีจนไม่มีที่ติ’ จำนวนมากมายกว่าข้อบกพร่องหลายเท่า เมื่อเรามองเห็นมันแล้ว สิ่งต่างๆ ก็ดูจะไม่เลวร้ายนัก ไม่เพียงแต่เราจะสามารถอยู่กับตนเองและข้อผิดพลาดบางประการของเราได้อย่างสุขสงบแล้ว เรายังสามารถมีความสุขกับการใช้ชีวิตร่วมกับสามีหรือภรรยาของเราด้วย นับเป็นข่าวร้ายสำหรับทนายความผู้เชี่ยวชาญเรื่องการหย่าร้างแต่เป็นข่าวดีสำหรับโยม







                 อาตมาได้เล่าเรื่องสั้นๆ นี้หลายครั้ง ช่างก่อสร้างคนหนึ่งที่ได้ฟังเรื่องนี้ได้มาพบอาตมาเพื่อบอกความลับเกี่ยวกับงานก่อสร้างเขาบอกว่า “ช่างก่อสร้างอย่างเราๆ นี้ มักจะทำสิ่งผิดพลาดได้เสมอ เพียงแต่เราจะบอกลูกค้าของเราว่ามันเป็นเอกลักษณ์พิเศษที่ไม่มีบ้านใดในละแวกนั้นมีเหมือน แถมเรายังเบิกค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสองสามพันเหรียญอีกด้วย”

                 ฉะนั้น มันเป็นไปได้ที่เอกลักษณ์พิเศษจะมีจุดเริ่มต้นมาจากความผิดพลาด ในทำนองเดียวกัน ถ้าเพียงแต่โยมจะเลิกมองจดจ้องอยู่แต่เฉพาะข้อผิดพลาด สิ่งที่โยมเห็นว่าเป็นข้อบกพร่องในตัวโยม ในตัวสามีหรือภรรยาของโยม และในชีวิตทั่วๆ ไปอาจจะกลับกลายเป็น ‘ลักษณะพิเศษเฉพาะตัว’ ที่จะเพิ่มคุณค่าให้แก่ชีวิตของโยมนะ”








-----------------

เรื่องเล่าส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ชวนม่วนชื่น”
เรื่อง “ก้อนอิฐที่ไม่เข้าที่เข้าทางสองก้อน”

ธรรมะบันเทิงหลายเรื่องเล่า
โดย พระอาจารย์พรหมวงโส

สามารถดาวโหลด เสียงอ่านหนังสือ(audio book) ฉบับเต็ม ของหนังสือนี้ ในรูป mp3 ได้ที่นี่
http://dhammaway.wordpress.com/2013/03/23/mp3-chun-mun-chune/

หรือดาวโหลดเป็น pdf ได้ที่นี่
http://www.thawsischool.com/old/dhamma-book/download/chuanmuanchaen.pdf

หนังสือ “ชวนม่วนชื่น” นี้ แปลมาจากหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษ
คือ “Openning the Door of Your Heart” แปลโดย ศรีวรา อิสสระ

นำเสนอผ่านรูปภาพประกอบโดย
http://dhammaway.wordpress.com/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่