แค้นเสน่หา พ่อก็เป็นท่านชาย แม่ก็เป็นท่านหญิง ทำไมลูกออกมาเป็นแค่คุณชายอ่ะ

สงสัยอ่ะครับ เป็นแค่หม่อมราชวงค์เองเหรอครับ ทำไมพ่อก็เป็นถึงท่านชาย (น่าจะหม่อมเจ้า) แม่ก็เป็นถึงท่านหญิง(น่าจะเป็นขั้นหม่อมเจ้าเช่นกัน) เพราะทั้งคู่ใช้คำราชาศัพท์ในการสนทนา แต่มาลูกชาย ชายเดียวทำไมเป็นแค่ คุณชาย ( น่าจะม.ร.ว.) ถึงในเรื่องจะเป็นลูกของหม่อมบุหลันก็จริง แต่ในเรื่องหญิงแขไขก็รับเป็นแม่โดยพฤตินัยอยู่แล้ว เลยแอบงงนิดหน่อย ใครพอจะไขความกระจ่างให้ผมหน่อย
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 16
ธรรมเนียมไทย ถือเรื่องยศฝ่ายชายเป็นหลัก แต่ยศฝ่ายหญิงก็มีผลครับ แต่ไม่ทุกกรณีครับ และยศของลูกหลานเชื้อพระวงศ์มีระเบียบการลดหลั่นของยศอย่างชัดเจนครับ ยกตัวอย่าง
พระเจ้าแผ่นดิน + พระอัครมเหสี = เจ้าฟ้าชั้นเอก
พระเจ้าแผ่นดิน + พระมเหสี = เจ้าฟ้าชั้นโท
พระเจ้าแผ่นดิน + หม่อมเจ้า และสามัญชน (ซึ่งจะได้ตำแหน่งเป็นเจ้าจอมมารดา) = พระองค์เจ้าชั้นเอก
เจ้าฟ้า + เจ้าฟ้า = เจ้าฟ้าชั้นตรี
เจ้าฟ้า + พระองค์เจ้า = พระองค์เจ้าชั้นโท
เจ้าฟ้า + หม่อมเจ้า = หม่อมเจ้า (แล้วอาจจะถูกยกขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นตรี (พระวรวงศ์เธอ) หรือโท (พระเจ้าวรวงศ์เธอ) ในภายหลัง)
เจ้าฟ้า + สามัญชน (จะได้ยศเป็นหม่อม) = หม่อมเจ้า
พระองค์เจ้า + เจ้าฟ้า = ไม่เคยมีเคสนี้ แต่เดาพระโอรสธิดาจะเป็นพระองค์เจ้าชั้นโท
พระองค์เจ้า + พระองค์เจ้า = พระองค์เจ้าชั้นตรี
พระองค์เจ้า + หม่อมเจ้า = หม่อมเจ้า
พระองค์เจ้า + สามัญชน (จะได้ยศเป็นหม่อม) = หม่อมเจ้า
หม่อมเจ้า + หม่อมเจ้า = หม่อมราชวงศ์
หม่อมเจ้า + สามัญชน (จะได้ยศเป็นหม่อม) = หม่อมราชวงศ์
หม่อมราชวงศ์ชายจะมีลูกเป็นหม่อมหลวงทุกกรณี
หม่อมหลวงชายจะมีลูกเป็นคนธรรมดาที่นามสกุลเติม "ณ อยุธยา"

เสริมอีกหน่อย เจ้านายไทยมียศเรียงดังนี้ครับ

พระเจ้าแผ่นดิน มี 2 ขั้น ได้แก่
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ผ่านพิธีบรมราชาภิเษก ทรงฉัตรขาว 9 ชั้น
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ยังไม่เข้าพิธีบรมราชาภิเษก ทรงฉัตรขาว 7 ชั้น

ยศพิเศษที่สูงกว่าเจ้าฟ้าแต่ต่ำกว่าพระเจ้าแผ่นดิน ได้แก่
- ตำแหน่งพระอัครมเหสีต่าง ๆ (พระบรมราชินีนาถ, พระบรมราชินี, พระบรมราชเทวี, พระวรราชเทวี ซึ่งรัชกาลที่ 7 ให้แปลตำแหน่งเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษว่า Queen เหมือนกันหมด) ทรงฉัตรขาว 7 ชั้น
- ตำแหน่งพระบรมราชชนก พระบรมราชชนนี มีศักดิ์สูงกว่าพระยุพราชแต่ต่ำกว่าพระบรมราชินี ทรงฉัตรขาว 7 ชั้น
- ตำแหน่งพระยุพราช (หรือตำแหน่งรัชทายาท) ทรงฉัตรขาว 7 ชั้น
- ตำแหน่งเจ้าฟ้าชั้นพิเศษ เช่น พระบรมราชกุมารี ทรงฉัตรขาว 7 ชั้น

ยศชั้นเจ้าฟ้า มี 3 ระดับ ซึ่งทั้งหมดทรงฉัตรขาว 5 ชั้น ได้แก่
- เจ้าฟ้าชั้นเอก (ชั้นทูลกระหม่อม) เป็นโอรสหรือธิดาของพระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหสี (พระบรมราชินีนาถ, พระบรมราชินี, พระบรมราชเทวี, พระวรราชเทวี)
- เจ้าฟ้าชั้นโท (ชั้นสมเด็จ) เป็นโอรสหรือธิดาของพระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสี (พระราชเทวี, พระนางเธอ, พระอรรคชายา, พระวรราชชายา)
- เจ้าฟ้าชั้นตรี (ชั้นหลานหลวง) เป็นยศสำหรับเจ้าฟ้าที่เกิดแก่วังหน้าและวังหลัง รวมถึงเจ้าฟ้าที่เกิดจากกรณีพระบิดาและพระมารดาเป็นเจ้าฟ้าทั้งคู่ คำนำหน้าพระนามจะไม่มีคำว่า "สมเด็จ" นำหน้า

ยศชั้นพระองค์เจ้า มี 3 ระดับ ซึ่งทั้งหมดทรงฉัตรขาว 3 ชั้น ได้แก่
- พระองค์เจ้าชั้นเอก (เรียกลำบองว่า "เสด็จ") เป็นพระโอรสหรือธิดาของพระมหากษัตริย์ที่เกิดแก่เชื้อพระวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า และสามัญชนที่ได้เป็นเจ้าจอมมารดา มักมีคำนำหน้าพระนามแตกต่างไปขึ้นอยู่กับว่ามีความสัมพันธ์ใดกับพระเจ้าแผ่นดินขณะนั้น เช่น ถ้าเป็นพระญาติผู้ใหญ่ ก็จะเป็น "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ" ถ้าเป็นพี่หรือน้องก็จะเป็น "พระเจ้าพี่ยา/น้องยาเธอ" หรือ "พระเจ้าพี่นาง/น้องนางเธอ"
- พระองค์เจ้าชั้นโท (เรียกลำลองว่า "พระองค์" หรือ "องค์") เป็นโอรสหรือธิดาของเจ้าฟ้าที่เกิดกับเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ชั้นนี้จะมีคำนำหน้าพระนามว่า "พระเจ้าหลานเธอ" หรือ "พระเจ้าวรวงศ์เธอ"
- พระองค์เจ้าชั้นตรี (เรียกลำลองว่า "ท่านพระองค์") มักจะเป็นหม่อมเจ้าที่มีพระบิดาเป็นเจ้าฟ้าและมารดาเป็นสามัญชน (แต่เป็นหม่อมเอก) ซึ่งถูกยกจากชั้นหม่อมเจ้าให้มียศชั้นพระองค์เจ้า จะมีคำนำหน้าพระนามว่า "พระวรวงศ์เธอ"

ยศชั้นหม่อมเจ้า มีเพียงชั้นเดียว และหม่อมเจ้าจัดเป็นเจ้านายชั้นต่ำสุดที่มีการใช้ราชาศัพท์ แต่จะใช้อย่างง่าย ๆ หม่อมเจ้าเป็นเจ้านายชั้นที่ต้องใช้นามสกุล และจะต้องมีบัตรประชาชน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่