ฮอลลีวู้ดแบบฝรั่ง ฮอลลีวู้ดแบบไทยๆ

กระทู้สนทนา
ผมได้อ่านนิตยสาร Bioscope เล่ม 137 (หน้าปกไรอัน กอสลิง) ซึ่งได้สรุปความจากการพูดของสตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก ไว้น่าสนใจมากในการปาถกฐาหัวข้อ”state of cinema” ในเทศกาลหนังซานฟรานซิสโก ที่พูดถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมฮอลลีวู้ดจนทำให้ตัวเขาถึงกลับยอมเลิกราแล้วไม่ยอมทำหนังอีกต่อไป โดยโซเดอร์เบิร์กได้แยกระหว่าง Movie กับ Cinema ออกจากกัน โดยเขากล่าวว่า Movie คือสิ่งที่เราดู แต่ Cinema คือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา หรือเจาะจงตามคำบอกเล่าของเขาหมายความว่า Movie คือหนังที่ทำขึ้นมาเพื่อฉายคนวงกว้าง แต่ Cinema อาจทำขึ้นมาโดยไม่ได้หวังจะฉายแต่ทำขึ้นเพราะมันน่าสนใจนั่นเอง

โซเดอร์เบิร์กบอกว่าในยุคที่อุตสาหกรรมที่สตูดิโอยึดครองนี้มันได้ทำให้หนังในแบบ Cinema ถูกลดทอนลง เพราะถูกรุกรานจากผู้บริหารซึ่งเป็นการหนุนเต็มกำลังจากผู้ชมด้วยอีกแรงซึ่งเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือทางการค้านั่นเอง เขายังกล่าวอีกว่าด้วยวิธีการทำงานแบบสตูดิโอมันทำให้ Cinema เสื่อมสลายลง แล้วหนังก็จะอยู่ในมือของคนสร้างที่ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องหนังแต่หนังเป็นการตลาดที่ต้องขายให้ได้เงินเพียงอย่างเดียว



แล้วการที่มองหนังแบบนี้มันทำให้เกิดการค่าใช้จ่ายมหาศาลในการนำหนังฉายเข้าโรงทั้งค่าการตลาดหรือโปรโมตตัวหนังที่บางเรื่องอาจมากกว่าค่าผลิตด้วยซ้ำไป เช่นถ้าจะฉายหนังในวงกว้างต้องใช้เงิน 30 ล้าน จะฉายต่างประเทศอีก 30 ล้าน เท่ากับว่าหนังเรื่องนั้นต้องทำให้ถึง 120 ล้าน(แบ่งให้โรงครึ่งหนึ่ง) ถึงจะได้ทุนคืน ซึ่งการสร้างหนังสักเรื่องมันจึงต้องแบกภาระในตัวมันเองอย่างมหาศาล ทั้งๆที่ค่าผลิตหนังอาจจะเพียง 5 ล้านเท่านั้นเอง

อีกเรื่องคือการที่เขาไม่เข้าใจว่าหนังภาคต่ออย่าง Iron Man จะต้องโปรโมตทุ่มเงินเยอะไปอีกทำไมเพราะมันทำกำไรมหาศาลได้อยู่แล้ว แต่กลับต้องยิ่งลงทุนโปรโมตสื่อทุกแขนงให้มากอีกขึ้นๆไปเพื่อสร้างการรับรู้ว่าหนังประสบความสำเร็จอย่างมโหฬาร

ยุค บล็อกบัสเตอร์



ที่ผมสรุปความมาทั้งหมดเพราะผมสนใจประเด็นที่คนในวงการฮอลลีวู้ดออกมาแฉหรือท้อใจกัอุตสาหกรรมที่กำลังดำเนินไปในแบบนี้ ซึ่งถ้าจะย้อนกลับไปจุดเริ่มในแบบที่มันเป็น หรือยุคหนังบล็อกบัสเตอร์ อาจะเริ่มต้นมาจาก Jaws(1975) ซึ่งการที่มันผ่านเวลามาอย่างยาวนานมีหนังแนวทางนี้ดำเนินต่อเนื่องกันมาเป็นสูตรสำเร็จ จนไม่น่าแปลกใจอย่างไรที่ถึงจุดที่คนในวงการเริ่มบ่นพ้อกันเอง จนต้องมองหาวิธีการใหม่นำเสนอ ซึ่ง ณ เวลานี้แม้จะยังไม่เห็นวี่แววว่ามันจะถึงจุดจบของระบบนี้ แต่เราก็เริ่มเห็นว่าในโลกยุคดิจิตอล ที่การทำหนังมันง่ายขึ้น ที่เชื้อเชิญเปิดกว้างให้คนใหม่ๆเข้ามาเล่นกันง่ายจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่หนังในแบบสตูดิโอจะได้เดินคู่ขนานไปกับหนังเล็กๆในโรงหนังมากขึ้นกว่าเดิม

ย้อนกลับมามองอุตสหกรรมหนังไทย เพื่อเปรียบเทียบกับฮอลลีวู้ด ถ้าในเวลานี้คนในฮอลลีวู้ดเริ่มมองเห็นช่องโหว่ของวงการหนังตัวเอง แต่สำหรับหนังไทยก็พยายามจะให้เกิดการการเติบโตกันมาตลอดเพื่อให้มีระบบระเบียบและคุณภาพ หรืออาจบอกได้ว่า วงการหนังไทยยังพยายามหาวิถีทางพัฒนาเพื่อให้เป็นสตูดิโอเพื่อผลิตหนังให้ได้คุณภาพแบบสูตรสำเร็จ คล้ายๆแบบฮอลลีวู้ด แต่เท่าที่สังเกตประวัติศาสตร์หนังไทยไม่สามารถยืนระยะยาวให้กลายเป็นระบบที่มีคุณภาพได้อย่างยืนยง มีการพูดกันนักต่อนักว่า หนังไทยเรานั้นมีปรากฎการณ์เรื่อง นางนาก(2542) ที่เป็นจุดเปลี่ยนสู่ยุดใหม่ของหนังไทย แต่เราก็จะเห็นว่า มันก็ยังบอกได้ไม่เต็มปากนักว่าวงการหนังของเราได้ยืนอยู่ระบบระเบียบที่จะเรียกว่าเป็นคล้ายบล็อกบัสเตอร์แบบฮอลลีวู้ดเสมือนแบบอย่างให้เราเดินตามได้แล้วหรือยัง

ปัจจุบันการเกิดของค่าย GTH เมื่อปี 2546 ก็ทำให้เห็นวี่แววของระบบสตูดิโอที่มีคุณภาพในระยะยาวได้ เพราะหนังGTH กวาดรายได้เกินร้อยล้านอยู่เนืองๆซึ่งทำให้ระบบสตูดิโอแบบนี้เริ่มใกล้เคียงกับสตูดิโอแบบบล็อกบัสเตอร์ของฮอลลีวู้ดอย่างน่าสนใจ โดย GTH ก็มีสูตรสำเร็จหนังอยู่แล้วว่าเขาสร้างแต่หนังที่ทำให้เกิดฟีลกู๊ด แล้วถ้าดูวี่แววในเวลานี้ก็ดูจะมีแต่ GTH เท่านั้นที่ดูจะมีระบบที่จะสร้างหนังแบบบล็อกบัสเตอร์ออกมาโกยเงินคนดูที่ยินยอมเสียเงินแบบสมฤดี ยิ่งปีนี้(2556) เกิดปรากฎการณ์ของพี่มากพระโขนง ที่ทำสถิติรายได้อย่างน่าหวาดหวั่นและตกใจอีกด้วย ยิ่งพูดเกือบเต็มปากว่า ค่ายหนัง GTH เท่านั้นที่พอจะมีวิธีการสร้างหนัง วิธีคิด และการเข้าใจตลาดผู้ชม มากที่สุดในบรรดาค่ายทั้งหมด หรือผมคงทึกทักได้ว่า ค่ายนี้มีทิศทางการทำหนังที่สามารถผลิตหนังบล็อกบัสเตอร์ได้ดีที่สุดของไทยในเวลานี้ก็เป็นได้



ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดเพื่อต้องการให้เห็นว่า ในวาระที่ระบบฮอลลีวู้ดเองเริ่มเกิดการตั้งคำถามขึ้นจากคนวงใน ซึ่งก็อาจเป็นการแผ้วทางไปสู่ยุค Post-Blockbuster(ไม่ต้องตกใจผมนิยามศัพท์ขึ้นมาเอง) ก็เป็นได้ แต่ทิศทางหนังไทยนั้นกลับเพิ่งกำลังเข้าสู่ยุคที่การทำหนังเป็นระบบสตูดิโอที่มีระบบระเบียบและมีการทำหนังคุณภาพที่เป็นสูตรสำเร็จมากยิ่งขึ้น หรือเรากำลังเข้าสู่ยุค บล็อกบัสเตอร์ นั่นเอง โดยมีสตูดิโอที่อย่าง GTH แผ้วทางให้เห็นชัด แล้วเชื่อว่าจะมีค่ายอื่นเดินตามมาอีกไม่นานนี้ (ล่าสุดทาเลนต์ วัน ก็เพื่งเปิดตัวไป)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าต่อจากนี้เราจะเข้าสู่ยุดบล็อกบัสเตอร์จริงหรือเปล่านั้นก็โปรดดูกันต่อไป เพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เราเข้าสู่ยุดที่ว่าไว้ไม่ได้สักที แต่สมมตินะครับ-สมมติว่าตอนนี้เราเข้าสู่ยุดของบล็อกบัสเตอร์เหมือนที่ฮอลลีวู้ดเป็นตั้งแต่ 1975 แล้ว ผมก็ขอเดาได้เลยว่า สักวันหนึ่งเราก็ต้องมาตั้งคำถามถึงระบบสตูดิโอเหมือนที่วันนี้ สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก ได้นึกครึ้มออกมาตั้งคำถามเหมือนวันนี้ แต่ไม่รู้อีกจะเมื่อไหร่หรืออีกกี่สิบปี

แต่ ณ เวลานี้ ขอให้เราได้สูดกลิ่นความยิ่งใหญ่ของยุคสตูดิโอแบบไทยๆเราให้เต็มภาคภูมิกันเสียก่อนเพราะเชื่อว่าถ้าระบบสตูดิโอแข็งแรงหนังไทยก็จะมีคุณภาพมากขึ้นแน่ๆ

ขอจบบทความข้อคิดเห็นไว้ตรงนี้ ไว้มีอะไรเพิ่มเติมพบกันใหม่ตอนหน้าครับ

ปล.ที่ผมเขียนคือนั่งเทียนคิดออกมาทั้งหมดอะไรที่ผมเปรียบเทียบนั้นมั่วซั่วถั่วเขียวไปเรื่อยๆ เพียงแต่เมื่อคิดแบบนี้แล้วก็อยากบันทึกหรือแบ่งปันเท่านั้นเองนะครับเห็นด้วยหรือเห็นต่างสามารถแสดงความเห็นมาจอยกันได้เลย

ขอบคุณครับ
A-Bellamy

ฝากบล็อกด้วยครับ http://a-bellamy.com
อันนี้เพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/A.Surrealism
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่