ปิดฉาก"ธนบุรีรามา" และวาระต่อไปของ "โรงหนังชั้นสอง"

กระทู้ข่าว
ปิดฉาก"ธนบุรีรามา" และวาระต่อไปของ "โรงหนังชั้นสอง"
วันที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 11:34:04 น.
โดย อรปวีณ์ วงศ์วชิรา

      อาจเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อโลกเปลี่ยน หลายสิ่งย่อมไม่สามารถคงอยู่ได้ "โรงหนังชั้นสอง" ก็เช่นกัน ที่วันนี้ไม่ต่างจากเเสงเทียนที่กำลังจะดับแสงลง เหลือเพียงเเค่ความทรงจำดีๆ ที่เเสงไฟนั้นเคยให้เเสงสว่างกับเรา
       เหมือนที่ โดม สุขวงศ์ เรียกสถานการณ์เช่นนี้แบบอารมณ์เย็น ว่า "ถึงเวลาแจ๋วหลบ" เมื่อหนังม้วนนั้นฉายจนเวียนจบครบรอบ เรารู้สึกใจหายเมื่อหนังจบ ขึ้นคำว่าอวสานบนจอ

        ในห้วงเวลาใกล้ๆ กับมีกระแสข่าวประท้วงราคาตั๋วหนังราคาแพง รวมทั้งเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยวที่ราคาสูงกว่าที่วางขายทั่วไปเป็นเท่าตัว "ธนบุรีรามา" หนึ่งใน 3 ของโรงหนังชั้นสอง (อีก 2 โรงคือ นครนนท์รามา และดาวคะนองรามา) ความบันเทิงของผู้มีรายได้น้อย เพิ่งปิดตัวลงไปเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากเปิดให้บริการมานานถึง 41 ปี
         ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับ สุทธิพงษ์ ชื่นภักดี เจ้าของโรงหนัง "ธนบุรีรามา" ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ก้าวมาถึงจุดวิกฤต
         "ผมอยู่กับที่นี่มา 40 ปีเเล้ว เห็นการเปลี่ยนเเปลงมาตั้งเเต่ยุครุ่งเรืองเเละตกต่ำ พยายามจะประคับประคองตลอดมา เพราะอยากจะรักษาสิ่งที่พ่อสร้างมากับมือ เเละรักษาโรงหนังชั้น 2 ให้นานที่สุด เพราะรู้ว่ามันต้องวาย ผมรอกงล้อหมุนมานาน เเต่มันไม่หมุนมาซักที เพราะวงมันใหญ่เกินไปเเล้ว 10 ปีให้หลังนี้ถือว่าหืดขึ้นคอ อึดมากเเล้ว" สุทธิพงษ์ กล่าวด้วยสีหน้าอึดอัด ก่อนจะย้อนอดีตถึงโรงหนังแห่งนี้ให้ฟัง
พร้อมระลึกเล่าย้อนอดีตว่า เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2515 ธนบุรีรามา โรงหนังชั้น 1 เปิดตัวขึ้น ก่อนการสร้างสะพานปิ่นเกล้า เเละห้างพาต้า เป็นโรงหนังโรงเเรกๆ ของฝั่งธนบุรี ฉายหนังของค่ายกรุงเกษม ฉาย "ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง" เป็นหนังเรื่องเเรก และได้รับการตอบรับจากคนดูอย่างหนาเเน่นเรื่อยมา
      "กระทั่งช่วงหนึ่งโรงหนังชั้น 2 เริ่มจะบูม เพราะไม่ฉายหนังเป็นรอบ คนจะเข้าหรือออกตอนไหนก็ได้ เลยลองจับหนังมาฉายเป็นเรื่องควบ ปรากฏว่า เป็นที่นิยม เพราะราคาค่าตั๋วไม่เเพง คนทุกระดับสามารถดูได้ จึงเปลี่ยนจากโรงหนังชั้น 1 มาเป็นโรงหนังชั้น 2 เเต่คุณภาพของโรงหนังตอนนั้นเทียบเท่ากับโรงหนังชั้น 1 หรือบางทีอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ"
       สุทธิพงษ์เล่าต่อว่า คนดูเริ่มลดลงตั้งเเต่ปี พ.ศ.2537 เพราะเริ่มมีโรงหนังระบบมัลติเพล็กซ์ในเมืองไทย คือโรงหนัง EGV ที่ใช้ระบบเสียงที่ดีที่สุดคือ Dolby Digital DTS เเละ SDDS ช่วงนั้น โรงหนังในเมืองไทยเเข่งขันด้านระบบเสียงกันมาก อีกทั้งมีระบบที่ไม่ยุ่งยาก ใช้เเรงงานคนเพียงคนเดียวต่อการฉายหนังในจำนวนมากโรง
       นอกจากนี้ การเข้ามาตีตลาดของความบันเทิงรูปแบบใหม่อย่าง "วิดีโอ" ทำให้โรงหนังยืนแทบไม่อยู่
       แต่นั้นมาภาพของโรงหนังที่เคยเต็มโรง รอบละ 1,000 คน ต้องเพิ่มเก้าอี้เสริม ทั้งยอมตีตั๋วยืนเพื่อให้ได้ดูหนัง ไม่เคยเห็นอีกเลย สุทธิพงษ์นั้นอาศัยที่ทางครอบครัวมีหลายกิจการสามารถนำเงินมาเจือจานได้พออยู่รอดบ้าง ขณะที่โรงอื่นๆ บางแห่งซอยเป็นหลายโรง เพื่อให้ผู้ชมได้เลือกดูหนังตามต้องการ
       บางโรงดิ้นเฮือกสุดท้าย ด้วยการฉายหนังโป๊ ประหยัดต้นทุนเพียงซื้อซีดีโป๊เเผ่นละไม่กี่บาทมาฉาย เเต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด
       "โรงของผมตั้งปณิธานว่าจะไม่ทำหนังโป๊ ถ้าทำหนังโป๊ก็ปิดโรงไปดีกว่า" สิทธิพงษ์ยืนยันความตั้งใจ และว่าช่วงที่ผ่านมานั้นถือว่าโรงหนังของเราอยู่ในยุคตกต่ำมาเรื่อยๆ มากบ้างน้อยบ้างไม่เท่ากันในเเต่ละเดือน ขาดทุนมาเเล้วร่วม 10 ปี เเต่ก็พยายามยื้อเวลากันมาตลอด กระทั่งบริษัทจัดจำหน่ายหนัง อย่าง ฟอกซ์ วอร์เนอร์ฯ ประกาศว่ากลางปีนี้จะเลิกเอาหนังระบบฟิล์มเข้ามา เเละจะใช้ระบบดิจิตอลเเทน
        "ระบบฟิล์มมันยุ่งยาก" เจ้าของโรงธนบุรีรามายอมรับว่า ตัวเเปรสำคัญของการอยู่หรือไปของโรงหนังที่นี่คือ ระบบเครื่องฉาย แต่ถ้าจะเปลี่ยนเป็นดิจิตอลต้องทุ่มเงินกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเราคงสู้ไม่ไหว หรือจะเอาหนังดิจิตอลมาฉายบนโปรเจ็กเตอร์เดิมที่มีอยู่ คุณภาพก็ไม่เท่า เพราะจอของเราเต็มกลืนเล้ว ถ้าจะเปลี่ยนก็หลักเเสน
        "ชั่วโมงนี้ โรงหนังชั้นสองอย่างผม ถ้าลงทุนหลักเเสนต้องคิดหนัก เเล้วนี่เป็นล้านก็จบกัน คงไม่ไหว"
        "...ถ้าเลิกกิจการไป ก็ยังไม่ทุบโรง"
        เพราะต้องดูทิศทางของโรงอื่นด้วยการอยู่รอดของเรา อาจจะปิดสัก 2 เดือน เพื่อดูว่าเขาไหวมั้ย เพราะการนำหนังมาฉายนั้น ย่อมมีลิขสิทธิ์ชานเมือง ถ้าหนังที่เราจะฉายมีโรงอื่นได้ลิขสิทธิ์ไปก่อนแล้ว นอกจากเราจะต้องเสียเงินซื้อลิขสิทธิ์เพื่อฉายต่อจากโรงที่ได้ลิขสิทธิ์แล้ว กว่าจะฉายได้ต้องรอหนังของเขาลาโรงเสียก่อน ซึ่งจะเสียเปรียบมาก
        "ถ้าเป็นอิสระไม่มีลิขสิทธิ์ โอกาสรอดยังมี...ทุกวันนี้ที่ปักหลักสู้ ซึ่งต้องสู้กับโรงหนังชั้น 1 ด้วย คนมีสตังค์น้อยจะได้ดูหนังด้วย" สุทธิพงษ์ ครุ่นคิดอยู่สักพัก ก่อนที่จะบอกว่า  "ถ้าเครื่องดิจิตอลเข้ามา เเล้วราคาถูกลง เเละคนในขณะนั้นยังนิยมดูหนังกับโรงหนังชั้น 2 อยู่ มียอดคนดูเพิ่มขึ้นก็พอจะสู้ไหว"
         และการเปลี่ยนเป็นโรงหนังชั้น 1 เกรด 2 จากเมื่อก่อนเป็นชั้น 2 เกรด 1 คือสภาพโรงไม่อำนวย เเต่ความสะอาดเป็นหลักอยู่เเล้ว คุณภาพเสียงเท่ากัน ราคาถูกกว่าแต่คุณภาพจอเเละสภาพเบาะด้อยกว่า โดยวีกเเรกฉายหนังชนโรงเรื่องเดียว ราคา 50 บาทถูกกว่านครนนท์ฯ 2 เรื่อง 60 บาท

         ในส่วนของโรงหนังอีกสองโรงนั้น สุทธิพงษ์บอกว่า "นครนนท์รามา" อยู่ได้เพราะฉายหนังชนโรง เเละรายได้จากโรงลูก เพราะได้ลิขสิทธิ์ชานเมือง ส่วน "ดาวคะนองฯ" ก็ฉายหนังชนโรงบางเรื่อง เเต่ที่อยู่ได้เพราะเจ้าของมีธุรกิจหลายอย่าง แต่โดยรวมแล้วก็ไม่น่าจะอยู่ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
         โรงหนังชั้น 2 ในปัจจุบันอาจมีขึ้นเพื่อให้คนหลายระดับได้ดู เพราะขึ้นชื่อในเรื่องของราคาถูก ถึงมีเงินไม่เยอะก็สามารถดูได้ ทำให้ใครหลายติดใจเมื่อก่อนราคาหนังเริ่มต้นจาก 5 บาท เเละไต่ขึ้นมาเรื่อยๆ กว่า 40 ปี ยังหยุดนิ่งอยู่ที่ 40 บาท ทุกที่นั่ง ถือว่าถูกมากทีเดียว เมื่อเทียบกับโรงหนังระบบมัลติเพล็กซ์ ที่ราคา 120 บาท ขึ้นไป
         "ผมจะพูดกับคนดูที่มาให้กำลังใจผมเสมอว่า ผมให้กำลังใจตัวเองมาตลอด ผมผูกพันกับมันมานานถึงได้สู้มาถึงทุกวันนี้ ตอนนี้ไฟอาจจะใกล้มอดเต็มที่ เเต่ก็ยังรอโอกาสอยู่บ้าง"
         อนาคตของโรงหนังชั้น 2 เปรียบได้กับเทียนไขที่จุดนั้น เราไม่มีทางรู้ได้ว่าเมื่อไหร่มันจะดับลงไป บางทีกระเเสลมอาจจะพัดมาช้าหรือเร็ว บางทีตัวเทียนเองอาจจะพยายามดับเทียนนั้น เพราะทนความร้อนไม่ไหว ไม่มีใครรู้...เหมือนเช่น "ธนบุรีรามา"
.....
     ธีรนาท เเสงสุข นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ลูกค้าประจำของโรงหนังที่นี่ เล่าว่า เข้ามาดูหนังที่นี่ตั้งเเต่เด็กๆ รวมถึงตอนนี้ก็ 10 ปีเเล้ว พ่อเเม่พามา บ้านอยู่เเถวนี้เลยแวะมาบ่อย ที่ชอบโรงหนังที่นี่เพราะชอบในความคลาสสิกของโรงหนัง อีกทั้งราคาถูก เเค่ 40 บาทดูได้ตั้งสองเรื่องมีรอบวนตั้ง 5 รอบ อย่างถ้ามาดูตอนเช้า เกิดมีธุระกะทันหัน ก็ค่อยกลับมาดูอีกทีตอนบ่าย เพียงเเค่โชว์ตั๋วที่ซื้อ อีกอย่างคือระบบที่นี่ไม่ยุ่งยาก อยากจะนั่งตรงไหนก็ได้ ไม่มีใครว่า อีกทั้งคนน้อย รู้สึกอิสระดี

หน้า 20, มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2556
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่