1 ทศวรรษเอเอฟ

"1 ทศวรรษเอเอฟ" :
คอลัมน์มายาวิชั่น โดย เทพิตา

(จากเว็บ คมชัดลึก / 3 กรกฏาคม 56)
           เรียลิตี้ค้นหานักล่าฝัน ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย เดินทางมาถึงปีที่ 10 แล้ว ผู้ผลิต ทรู หวังเฉลิมฉลองให้ยิ่งใหญ่ในโอกาสครบรอบ 1 ทศวรรษ ปฏิวัติใหญ่ให้เห็นมากมาย นอกจากวาระฉลอง การเปลี่ยนแปลงมากมาย อาจมีนัยยะซ่อนอยู่ แง่ที่ว่าธรรมชาติแนวเรียลิตี้เมื่อผ่านไปหลายปี กระแสความสนใจของคนดูจะลดลงไป จึงต้องหาลูกเล่นใหม่เสมอๆ แล้วก็เกิดกับเอเอฟเช่นกัน เพราะปีหลังๆ แผ่วลงไม่น้อย

           เปลี่ยนแปลงแรกที่เห็น คือ การคัดเลือกผู้แข่งขัน ปกติทุกปี จะคัดเลือกตามภาคต่างๆ แต่ปีนี้มีรถคาราวานล่าฝันบุกไปหาคนมีฝันและความสามารถครบ 77 จังหวัด เป็นไอเดียดี อำนวยความสะดวกให้ทุกคนมีฝันทุกพื้นที่ แต่ประสิทธิภาพจากการค้นหากลับลดลงเมื่อผู้คัดเลือกเป็นทีมงานรายการ ไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามารถด้านร้อง เต้น และ แสดง แบบทุกปี ซึ่งประสบการณ์ย่อมทำให้แววตาแหลมคมกว่าแน่นอน ทำให้คิดว่าคุ้มหรือเปล่ากับการเปลี่ยนแปลง เพราะเอาเข้าจริงผู้เข้ารอบ 24 คนสุดท้ายค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ไม่กี่ที่ แล้วเกินครึ่งผู้เข้ารอบล้วนเป็นผู้เคยตกรอบมาจากเวทีเอเอฟ รวมถึง เดอะ สตาร์ จนคนดูคุ้นหน้าอย่างดี มองแง่ดีเป็นการให้โอกาสคนพยายาม แต่ 10 ปี เวทีนี้ทั้งทีควรได้ความสด ใหม่กว่านี้หรือไม่?
  
           แถมความต้องการให้ยิ่งใหญ่สมเป็น 1 ทศวรรษกลับสวนทางรายละเอียดบางอย่าง อย่างทุกปีที่การทำเวิร์กช็อปและออดิชั่นรอบสุดท้าย จะถ่ายทอดสดทางช่องเรียลิตี้ของตัวเอง แต่ปีนี้ไม่มี ไม่ปลุกกระแสให้รายการเป็นที่สนใจของคนดูเท่าที่ควรเป็น ส่วนคอนเสิร์ตแต่ละสัปดาห์ก็เปลี่ยนสถานที่จาก ธันเดอร์ โดม เป็น มูน สตาร์ ซึ่งเล็กลงมาก เป็นคำตอบที่น่าค้นหาว่าแล้วจะยิ่งใหญ่ในแบบที่เคยทำได้อย่างไร
  
           กติกาแข่งขันปีนี้ก็เปลี่ยนแปลงเยอะ แบ่งผู้เข้ารอบสุดท้ายเป็น 2 ทีม ทีมละ 12 คน โดยทั้ง 2 ทีมแข่งขันกัน ดึงให้คอมเมนเตเตอร์เป็นผู้ตัดสินหาทีมผู้ชนะ ทำให้ผู้มีคะแนนโหวตน้อยที่สุดในทีมผู้แพ้ต้องตกรอบสัปดาห์ละ 1 คน ดังนั้นสัปดาห์ที่ 12 วันประกาศผลสุดยอดนักล่าฝัน จะเหลือนักล่าฝัน 12 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดตั้งแต่มีเอเอฟมา แง่ความแปลกใหม่ก็ดี  แต่อาจถูกโยงว่าหวังเงินโหวต

           จุดดีที่น่าชื่นชมเห็นจะเป็นการเอาอดีตครูใหญ่เข้าบ้านมา อย่าง ครูโอ๋ ครูใหญ่ซีซั่น 1 ซึ่งคลาสนั้นที่ครูโอ๋เข้าบ้านมา ดูสนุก เพลิน มีสาระกับนักล่าฝัน หลังจากนี้น่าจะมีครูใหญ่ปีอื่นๆ วนเวียนเข้าบ้านมาอีก
  
           แต่การเปลี่ยนแปลงแบบล้างไพ่ และมีข้อถกเถียงก็มีทั้ง ครูใหญ่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงเสมอ ครูใหญ่ปีนี้เป็นของ สุชาติ ชวางกูร เรื่องความสามารถการเป็นนักร้องคุณภาพคนหนึ่งของไทย ไม่ปฏิเสธ แต่การเป็นครูใหญ่ของเรียลิตี้บ้านเอเอฟอาจต้องมีมากกว่านั้น ซึ่งครูใหญ่สุชาติก็มีแบบแผนของตัวเอง บางจุดดีเลย แต่บางจุดก็ทำให้รายการดูตึงเครียด เป็นทางการไป ดูไม่สนุก

           แต่ถูกพูดถึงมาก คือ เปลี่ยนครูผู้ควบคุมการเรียนทั้ง 3 คลาส การร้องนำทีมโดย “ครูโรจน์”รุ่งโรจน์ ซึ่งฝีมือก็ไม่น่าห่วง เมื่อการันตีการเป็นครูร้องคุณภาพ แต่การสอนค่อนข้างจริงจังและเน้นวิชาการมากไป จึงขาดสีสันแบบที่ปีอื่นเคยทำไว้ ส่วนคลาสเต้น จัดจ้านด้วยครูเต้นคนดัง “ครูอู๋”เปรมจิตต์ การเรียนการสอนมีสีสันดี แต่บุคลิกส่วนตัวที่ชัดเจนในแบบมั่นใจจัดของครูอู๋ก็ทำให้ก่อเกิดเสียงวิจารณ์หนาหูทั้งแง่บวกและลบ ส่วนคลาสแอกติ้งเจอเยอะสุด เมื่อมีผู้ควบคุมคือ นักแสดงสาว “โดนัท”มนัสนันท์ เสียงวิจารณ์ตั้งแต่แรกว่าเธอมีความสามารถพอจะก้าวมาคุมงานสเกลใหญ่ แต่ทางปฏิบัติการสอนมีครูตัวแทนคือ “ครูร่ม” ซึ่งการสอนแอกติ้งก็มีเทคนิกดี แต่ยังดูวิชาการและจริงจังไป ส่วนโดนัท ก็เข้าบ้านบ้าง ซึ่งเมื่อเธอทำหน้าที่ครูสอนแอกติ้งก็ทำหน้าที่ตัวเองได้ดี เพียงแต่อาจอยู่ผิดที่ผิดทางกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่จนกลายเป็นเป้าวิจารณ์ การดึงเธอมาเป็นหัวหน้าทีมแสดงคงเป็นเรื่องการตลาดให้รายการดูน่าสนใจ ก็ไม่รู้จะเกี่ยวกับที่แฟนหนุ่มของเธออย่างหนุ่ม อนันดา เอเวอริ่งแฮม มาผลิตละครให้ทรูและมีความสนิทสนมกับโปรดิวเซอร์ใหญ่ของเอเอฟหรือไม่

           ส่วนที่ขาดหายอย่างเห็นได้ชัดของครูทั้ง 3 ทีม คือ การขาดทีมเวิร์กที่จะพาให้รายการดูสนุก เห็นชัดในวันซ้อมใหญ่วันพฤหัส ซึ่งทุกปีแฟนคลับเอเอฟจะติดตามล้นหลาม แต่ปีนี้กลับเละ เมื่อทีมเวิร์กไม่ชัดเจน ดูเหมือนทีมแดนซ์ของครูอู๋จะโชว์ความเหนือเหนือทีมอื่น ทีมอื่นเลยกลายเป็นตัวรองที่ดูจ๋อยๆ ที่สำคัญยังขาดตัวประสานที่ทุกปีจะเป็น “ครูรัก”ศรัทธา ที่จะทำให้การซ้อมเป็นระบบและดูสนุกมากกว่านี้ มากมาย

           บททดสอบด่านแรกที่ครูใหม่ทั้งหมดต้องเจอคือ การตั้งป้อมไม่ยอมรับของคนดู เพราะแฟนคลับเอเอฟค่อนข้างยึดติดกับครูเดิมๆ ที่เป็นรุ่นเก๋า ที่สำคัญยังเป็นสีสันของรายการที่ดูสนุกดีอยู่แล้ว  
  
           ไม่ปฏิเสธว่าครูใหญ่และครูสอนทั้ง 3 ทีมมีความเก่ง แต่บางครั้งความเก่งก็สวนทางกับการมาอยู่ในรายการเรียลิตี้ หากไม่รู้ธรรมชาติรายการแนวนี้ ซึ่งวัดได้ที่ความสนุกรายการที่ค่อนข้างจืดไปนิด
..................................................................................................
อ่านกันแล้ว  เห็นด้วยกันไหมครับ ? - จขกท.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่