[บทความบอลเยอรมัน 2013-07-02] ปิดตำนาน จุ๊ปป์ ไฮย์เกส



ปิดฉากฤดูกาล 2012-13 อย่างยิ่งใหญ่สำหรับ เอฟเซ บาเยิร์น มิวนิค เพราะคว้าถ้วย เดเอฟเบ โพคาล สมัยที่ 16 หลังชนะ เฟาเอฟเบ สตุ๊ตการ์ท 3-2 เมื่อ 1 มิถุนายน ที่กรุงเบอร์ลิน กลายเป็นทริปเปิ้ลแชมป์รายการใหญ่รายแรกของเยอรมัน และลำดับ 7 ในยุโรป ถัดจาก กลาสโกว์ เซลติก (สกอตแลนด์, 1967), อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม (ฮอลแลนด์, 1972), พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น (ฮอลแลนด์, 1988), แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (อังกฤษ, 1999), บาร์เซโลน่า (สเปน, 2009) และ อินเตอร์ มิลาน (อิตาลี, 2010)

เตะบุนเดสลีกาหนแรกฤดูกาล 1965-66 (ที่ 4 จากขวา) ยิง 12 ประตูใน 27 นัด แบร์ตี้ โฟกท์ส อยู่ที่ 3 จากซ้าย


จุ๊ปป์ ไฮย์เกส เคยได้ดับเบิ้ลแชมป์ (ยูฟ่า คัพ และบุนเดสลีกา) สมัยเป็นกองหน้า มึนเช่นกลัดบัค ในปี 1975


การซิวแชมป์ เดเอฟเบ โพคาล 2012-13 ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับ บาเยิร์น เพราะพวกเขาคือเจ้าของสถิติครองแชมป์รายการนี้สูงสุดในประวัติศาสตร์ รวมแล้วเจอ สตุ๊ตการ์ท ในศึก เดเอฟเบ โพคาล 10 เกม ก็พ่ายครั้งเดียวเท่านั้น (0-3, 9 พฤศจิกายน 1989) แต่มันทำให้ โยเซฟ "จุ๊ปป์" ไฮย์เกส อำลาวงการลูกหนังอย่างสวยหรู เพราะนี่เป็นแชมป์รายการที่ 20 ตลอดชีวิตของเขา แถมเขาคือโค้ชด๊อยท์ชลำดับ 2 ที่ได้ 3 แชมป์รายการใหญ่ (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก, บุนเดสลีกา, เดเอฟเบ โพคาล) ฤดูกาลเดียวกัน ถัดจาก ราล์ฟ เคลเลอร์มันน์ ผู้พา เฟาเอฟแอล โวล์ฟสบวร์ก ทีมหญิง ซิวทริปเปิ้ลแชมป์ฤดูกาล 2012-13 เยอรมัน จึงเป็นประเทศแรกของยุโรปที่สโมสรฟุตบอลหญิง-ชาย ต่างกวาด 3 แชมป์ในปีเดียวกัน อ็อตมาร์ ฮิตซ์เฟลด์ อาจเคยได้ 3 แชมป์ แต่เป็น บุนเดสลีกา, เดเอฟเบ โพคาล, เดเอฟเบ ลีกาโพคาล (2000)

เคยไปอยู่ ฮันโนเวอร์ 3 ฤดูกาล แต่ผลงานตกลงเรื่อยๆ จึงย้ายกลับบ้านเก่า



สมัยเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 1974 กับทีมชาติเยอรมันตะวันตก


กุนซือวัย 68 ปี เกิดที่เมืองมึนเช่นกลัดบัค จึงเริ่มอาชีพค้าแข้งกับ โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค (1963-67) หลังไปอยู่ ฮันโนเวอร์ 96 (1967-70) ก็กลับมาสังกัด "ม้าหนุ่ม" จนกระทั่งแขวนสตั๊ด (1970–78) ตอนนั้นเป็นยุคทองของ มึนเช่นกลัดบัค โดยนอกจาก ไฮย์เกส ยังมีตำนานนักเตะอย่าง ไรเนอร์ บอนโฮฟ, กุนเทอร์ เน็ตเซอร์, ฮอร์สท์ ค็อปเปิ้ล, แบร์ตี้ โฟกท์ส, อัลลัน ซิโมนเซ่น, อูลี่ สตีลิเก้, โวล์ฟกัง เคลฟฟ์ รวมถึง แฮร์แบร์ต วิมเมอร์ ภายใต้การนำของตำนานกุนซือคือ เฮนเนส ไวส์ไวเลอร์ และ อูโด ลัทเท็ค เมื่อองค์ประกอบดี ไฮย์เกส จึงได้แชมป์ 6 รายการกับสโมสร (บุนเดสลีกา 1971, 1975, 1976, 1977, ยูฟ่า คัพ 1975, เดเอฟเบ โพคาล 1973) กองหน้ารายนี้คือผู้ยิงในบุนเดสลีกามากสุดอันดับ 3 (220) รองจาก แกร์ด มุลเลอร์ (365) กับ เคล้าส์ ฟิชเชอร์ (268) แถมอยู่ในทีมชาติเยอรมันตะวันตกชุดแชมป์ ยูโร 1972 กับ ฟุตบอลโลก 1974

ไฮย์เกส (ที่ 2 จากขวา) ทำสกอร์ 7-0 ก่อนถล่ม ดอร์ทมุนด์ 12-0 เมื่อ 29 เมษายน 1978


เริ่มงานโค้ชด้วยการเป็นผู้ช่วย อูโด ลัทเท็ค (ซ้าย) ก่อนได้คุมแทนตั้งแต่ปี 1979-8


สมัยนั้น ไฮย์เกส ช่วยให้ มึนเช่นกลัดบัค เป็นสโมสรเยอรมันแห่งแรกที่ได้ชิงฯ ยูฟ่า คัพ (1973) ก่อนพ่าย ลิเวอร์พูล ด้วยประตูรวม 2 นัด 2-3 ก่อนสมหวังใน 2 ปีต่อมา "ม้าหนุ่ม" จึงกลายเป็นทีมด๊อยท์ชรายแรกที่ซิวแชมป์รายการนี้ พวกเขาเข้ารอบชิงฯ ยูโรเปี้ยน คัพ 1977 แต่แพ้ ลิเวอร์พูล 1-3 โดยทั้ง 3 รายการ ไฮย์เกส ครองตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุดของการแข่งขันได้หมด เขายังซัดคนเดียว 5 ประตู ช่วย มึนเช่นกลัดบัค ถล่ม โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 12-0 เมื่อ 29 เมษายน 1978 ซึ่งเป็นการชนะ-แพ้มากสุดตลอดกาลของบุนเดสลีกา สถิติอันดับ 2 ก็ยังเป็นเกมที่พวกเขาถล่ม เอฟเซ ชาลเก้ 04 ขาดลอย 11-0 เมื่อ 7 มกราคม 1967 โดย ไฮย์เกส ทำแฮ็ตทริก ดาวซัลโวสูงสุดตลอดการของ มึนเช่นกลัดบัค แขวนสตั๊ดหลังรับใช้สโมสร 336 แมตช์ (บุนเดสลีกา 283) ยิง 221 ประตู (195) ส่วนตอนอยู่ ฮันโนเวอร์ ยิงไป 28 ลูก (25) จาก 92 นัด (86)

ได้แชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัยซ้อนกับ บาเยิร์น ช่วงปี 1989-90


ออกนอกเยอรมันครั้งแรกด้วยการคุม แอธ.บิลเบา ระหว่างปี 1992-94


ไฮย์เกส เริ่มต้นงานโค้ชกับ มึนเช่นกลัดบัค ด้วยการเป็นผู้ช่วย ลัทเท็ค ในฤดูกาล 1978-79 ปีต่อมาก็ขึ้นคุมทัพแทน กลายเป็นเทรนเนอร์อายุน้อยสุดในบุนเดสลีกายุคนั้น ผ่านไป 8 ปี 316 นัด ไม่ได้แชมป์อะไร แต่สามารถปั้นนักเตะอย่าง โลธ่าร์ มัทเธอุส, อูลี่ โบรอฟก้า, อูเว่ คัมป์ส, ดีเตอร์ เฮ็คคิงก์, อาร์มิน เฟห์, คริสเตียน โฮคสเต็ตเตอร์, อูลริช ซูเด้, มิคาเอล ฟร้อนท์เซ็ค, อูเว่ ราห์น กับ โธมัส ไอชิน ขึ้นมาประดับวงการ ก่อนย้ายมาคุม บาเยิร์น ยุคแรก (1987-91) จึงได้แชมป์ลีก 2 สมัยซ้อน (1989-90) และ ซูเปอร์ คัพ 1987, 1990 แต่ถูกไล่ออกหลังชนะ 4 จาก 12 เกมแรกของฤดูกาล 1991-92 ต่อมา "เสือใต้" ก็เข้าสู่ยุคเลวร้ายที่สุดช่วงหนึ่ง ขณะ ไฮย์เกส ได้คุม แอธเลติก บิลเบา (1992) กลายเป็นกุนซือชาวด๊อยท์ชคนที่ 3 ในลา ลีกา ต่อจาก ไวส์ไวเลอร์ กับ ลัทเท็ค (อยู่ บาร์เซโลน่า ทั้งคู่) อยู่ 2 ฤดูกาล จากที่ 8 ในปีแรก ก็ขึ้นมาอยู่อันดับ 5

ไฮย์เกส (ซ้าย) ไม่ประสบความสำเร็จตอนย้ายมา แฟร้งค์เฟิร์ต


สมัยทำงานกับ ราอูล กอนซาเลซ (ซ้าย) ในค่าย เรอัล มาดริด และได้แชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 1998


เขากลับเยอรมันมาคุม ไอน์ทรัคท์ แฟร้งค์เฟิร์ต แต่มีปัญหากับสตาร์หลายคน และเจ้าตัวตัดสินใจย้ายออกจากสโมสรช่วงเดือนเมษายน 1995 ขณะอยู่อันดับ 13 พักสมองปีหนึ่ง ไฮย์เกส เลือกไปสเปนอีกรอบ คราวนี้พา เตเนริเฟ่ คว้าอันดับ 5 ได้โควตา ยูฟ่า คัพ ฤดูกาลต่อมานำทัพเข้าสู่รอบตัดเชือก ยูฟ่า คัพ ก่อนพ่าย ชาลเก้ ซึ่งเป็นแชมป์ในเวลาต่อมา เรอัล มาดริด เห็นฝีมือจึงจ้างไปอยู่ด้วย ภายในฤดูกาลแรกเขาตอบแทนด้วยการพาสโมสรซิวแชมป์ยุโรปหนแรกนับตั้งแต่ปี 1966 โดยเชือด ยูเวนตุส 1-0 ในรอบชิงฯ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 1998 แถมเป็นแชมป์ ซูเปอร์โกปา เด เอสปันญ่า 1997 แต่เพราะได้แค่อันดับ 4 ในลีก ตามหลัง บาร์เซโลน่า 11 แต้ม เลยโดนเด้ง ต่อมาไปอยู่ เบนฟิก้า ลิสบอน ในลีกโปรตุเกส (1999) แต่ก็มีปัญหากับดาราประจำทีมจนแฟนบอลไม่ชอบหน้า สุดท้าย ไฮย์เกส ต้องยอมสละเรือในเดือนกันยายน 2000

ไม่สามารถสร้างความประทับใจอะไรได้เลย สมัยที่อยู่กับ ชาลเก้


พอกลับมา มึนเช่นกลัดบัต ก็มีส่วนทำให้สโมสรตกชั้นในปี 2007


ไฮย์เกส ยังคงหาความสำเร็จไม่เจอ แม้กลับมาอยู่ แอธ.บิลเบา รอบ 2 (2001-03) โดยชวดโควตา ยูฟ่า คัพ คะแนนเดียว 2 ฤดูกาลซ้อน ย้ายไปช่วย ชาลเก้ (2003-04) ก็ต้องตกงานอีกภายในเวลาปีเศษ หลังได้แค่อันดับ 7 ในฤดูกาลแรก และพ่าย 3 จาก 4 เกมแรกของฤดูกาลต่อมา มึนเช่นกลัดบัค ให้โอกาสเขาเช่นกัน (2006-07) แต่ไม่วายต้องลาออกเพราะไม่ชนะในลีก 14 นัดติดต่อกัน จนตกมาอยู่รองบ๊วย กระทั่งได้คุม บาเยิร์น รอบ 2 แบบชั่วคราว 5 เกม แทน เยอร์เก้น คลิ้นส์มันน์ ที่ถูกปลดช่วงเดือนเมษายน 2009 และพาทีมชนะ 4 ใน 5 แมตช์ ทำให้ ไบเออร์ 04 เลเวอร์คูเซ่น เลือกจ้างมาทำงาน เขาสามารถพา "ห้างขายยา" ทำสถิติไม่แพ้ในลีกยาวนาน 24 นัด ฤดูกาลต่อมาก็เป็นรองแชมป์บุนเดสลีกา ตำแหน่งที่ดีสุดในรอบ 9 ปี แถมได้โควตาเตะ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก หนแรกในรอบ 6 ปี จน "เสือใต้" ดึงกลับมารอบ 3 เมื่อปี 2011

ไฮย์เกส คว้ารวดเดียว 3 แชมป์ในปี 2013 ล่าสุดคือ เดเอฟเบ โพคาล


นอกจากนั้นคือได้แชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก อีกสมัย แต่เป็นหนแรกกับ บาเยิร์น


แม้ต้องเป็นกุนซืออายุมากสุดในบุนเดสลีกา (66 ปี) แต่เจ้าตัวสามารถกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง ฤดูกาล 2011-12 ช่วงหนึ่งไม่แพ้ใครถึง 28 แมตช์ แต่สุดท้ายพวกเขาได้รองแชมป์ทั้ง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก (พ่าย เชลซี ในการดวลจุดโทษทั้งๆเตะรอบชิงฯที่บ้านตัวเอง), บุนเดสลีกา กับ เดเอฟเบ โพคาล เข้าสู่ฤดูกาล 2012-13 บาเยิร์น ทำผลงานโดดเด่นขึ้นอีกหลายเท่าตัว แถมทำสถิติใหม่ๆขึ้นอีกเพียบ ตั้งแต่ยิงคู่แข่งครบทุกนัด ชนะมากสุด 29 จาก 34 แมตช์ ชนะติดต่อกันมากสุด 14 เกม ไม่เสียประตูมากสุด 21 นัด โกยไปมากสุด 91 จาก 102 แต้ม เป็นแชมป์ที่ทิ้งห่างอันดับ 2 มากสุด 25 คะแนน มีผลต่างประตูดีสุด (+80) ทำผลงานช่วงครึ่งฤดูกาลหลังดีสุดตลอดกาล (ได้ถึง 49 จาก 51 แต้ม) และโดนคู่แข่งพังตาข่ายน้อยสุด (18 ประตู) ถือได้ว่า บาเยิร์น ชุดล่าสุดของ ไฮย์เกส คือทีมที่ดีสุดในประวัติศาสตร์บุนเดสลีกาเลยทีเดียว

ไฮย์เกส ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบุนเดสลีกาทั้งในฐานะนักเตะและกุนซือ รวมกัน 1,011 เกม มากสุดอันดับ 2 รองจาก อ็อตโต้ เรห์ฮาเก้ล (1,033) สามารถปิดฉากอาชีพในวงการลูกหนังด้วยตำแหน่งเทรนเนอร์ทีมแชมป์บุนเดสลีกาที่แก่สุด และพาต้นสังกัดประสบความสำเร็จครบทุกรายการ ทำให้เขามีภาพแห่งความทรงจำที่ดีสำหรับแฟนบอล และมันคงเป็นวิธีอำลาซึ่งน่าประทับใจ และเหมาะสมกับบุคคลผู้คู่ควรกับการเป็นตำนานฟุตบอลเมืองเบียร์แห่งยุคนี้ที่ชื่อ จุ๊ปป์ ไฮย์เกส จริงๆ

แฟนบอลขอบคุณ ไฮย์เกส เป็นการอำลา



เกร็ดน่ารู้เพิ่มเติม

*สโมสรฟุตบอลธนาคารกสิกรไทย เป็นทีมเดียวของเอเชียที่คว้า 3 แชมป์ คือแชมป์ระดับทวีป กับภายในประเทศ ในปีเดียวกัน (1995) ประกอบด้วยแชมป์ถ้วยพระราชทาน ก., ควีนส์ คัพ และ เอเชียน คลับ แชมเปี้ยนชิพ เป็นทีมแรกด้วยที่ป้องกันแชมป์เอเชียได้สำเร็จ

*มีอีก 3 ทีมยุโรปที่ซิว 3 แชมป์ปีเดียวกัน คือแชมป์ทวีป บวกแชมป์ในประเทศ แต่หนึ่งในนั้นเป็นถ้วยระดับรอง ประกอบด้วย เรอัล มาดริด (สเปน, 1957, ลา ลีกา, ยูโรเปี้ยน คัพ, ลาติน คัพ), ลิเวอร์พูล (อังกฤษ, 1984, ดิวิชั่น 1, ยูโรเปี้ยน คัพ, ลีก คัพ), บาเยิร์น (2001, บุนเดสลีกา, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก, เดเอฟเบ ลีกาโพคาล)

*และมีอีก 5 ทีมยุโรปที่ซิวแชมป์ ยูฟ่า คัพ บวกอย่างน้อย 2 แชมป์ในประเทศ คือ โกเตบอร์ก (สวีเดน, 1982), กาลาตาซาราย (ตุรกี, 2000, ปีนั้นได้ 4 แชมป์), ลิเวอร์พูล (2001, ปีนั้นได้ 5 แชมป์), ปอร์โต้ (โปรตุเกส, 2003 กับ 2011, ได้ 4 แชมป์ทั้ง 2 ปี) และ ซีเอสเคเอ มอสโก (รัสเซีย, 2005)

credit : www.siamsport.co.th   คอลัมน์ : สปอร์ตวาไรตี้ โดย.. นาร์ซีส์ซัส
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่