เกิดข้อผิดพลาดบางอย่าง
ขออนุญาตทางเวป TAF http://www.thaiarmedforce.com/ ครับ... เครดิตจาก http://www.thaiarmedforce.com/taf-special/611-tafspecial80.html
เป้าบินฝีมือคนไทย เพื่อกองทัพไทย (Tactical Target Drone for Royal Thai Armed Force) **TAF Special #80**
เป้าบินฝีมือคนไทย เพื่อกองทัพไทย (Tactical Target Drone for Royal Thai Armed Force)
การสร้างความคุ้นเคยเพื่อต่อต้านภัยคุกคามทางอากาศในยุคปัจจุบัน มีความจำเป็นต้องมีฝึกซ้อมด้วยระบบอาวุธจริงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การโจมตีทางอากาศไม่ได้มีแต่เพียงอากาศยานอีกต่อไปแล้ว แต่ยังมีรูปแบบอากาศยานไร้คนขับหรือจรวดร่อน ที่ล้วนแต่มีรูปแบบการเข้าถึงเป้าหมายที่แตกต่างไปจากในอดีต ระบบเป้าบินที่มีสมรรถนะสูง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการฝึกซ้อมของกำลังพล
กองทัพไทยทั้งสามเหล่าทัพ ต่างมีหน่วยต่อสู้อากาศยานของตัวเอง และมีการฝึกซ้อมในการป้องกันภัยทางอากาศประจำ โดยที่ผ่านมาได้จัดหาระบบเป้าบินจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการบินลากเป้าสำหรับการยิงของปืนต่อสู้อากาศยาน แต่ปัจจุบันกองทัพไทย ต้องการระบบเป้าบินที่มีขีดความสามารถมากขึ้นกว่าเดิม และยังต้องมีระบบที่สามารถสร้างความร้อนเพื่อใช้เป็นเป้าหมายสำหรับจรวดต่อสู้อากาศยานนำวิถีด้วยความร้อนอันเป็นหนึ่งในระบบต่อสู้อากาศยานที่มีใช้งานเป็นมาตรฐานในขณะนี้
เป็นที่น่ายินดีที่ส่วนหนึ่งของหน่วยต่อสู้อากาศยานของกองทัพไทย ได้จัดหาระบบเป้าบินที่พัฒนาและผลิตในประเทศ โดยระบบของ PST Defence System ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติตามความต้องการของกองทัพและได้รับเข้าประจำการเพื่อใช้งานจริงแล้ว โดย PST Defence System เป็นส่วนงานหนึ่งของบริษัท PST Jets บริษัทผู้ผลิตเครื่องไมโครเทอร์ไบน์ของไทย ที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในธุรกิจเครื่องบินเล็กวิทยุบังคับ ซึ่งเครื่องยนต์ไมโครเทอร์ไบน์ของ PST ได้ผ่านมาตราฐานขององค์กรการบินของสหรัฐและสามารถส่งออกไปจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก โดยทางบริษัทยังมีความชำนาญในการผลิตอากาศยานจำลองขนาดใหญ่ด้วยวัสดุคอมโพสิท การดัดแปลงนำเทคนิคในการผลิตอากาศยานจำลองมาพัฒนาระบบเป้าบินจึงไม่เกินขีดความสามารถของ PST ที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้มากว่าสิบปี
รูปแบบของเป้าบิน PST มีการผลิตออกมาแล้วคือ D-260 ,D-300 และ D-210J โดยตัวเลข คือ ขนาดความยาวปีกตามหน่วยเซ็นติเมตร โดยรุ่น D-260, D-300 ติดตั้งเครื่องยนต์ 4 สโต็ค 222 ซีซี สามารถทำการบินได้มากกว่า 1 ชั่วโมง มีความเร็วสูงสุด 280 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (151 น็อต) ส่วน D-210J จะเป็นรุ่นติดเครื่องยนต์ไมโครเทอร์ไบน์แบบพิเศษที่สามารถสร้างม่านไอร้อนเพื่อให้มีความร้อนเพียงพอต่อการจับเป้าของหัวรบขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานแบบนำวิถีด้วยความร้อน
ในขั้นตอนการสาธิตการปฏิบัติงานของระบบเป้าบิน D-300 ได้ดำเนินการที่สนามทดสอบของบริษัท PST ในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นการสาธิตการปฏิบัติงานจริงเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การลำเลียงแท่นยิง ที่ระบบเป้าบินทั้งหมดหนึ่งชุด จะถูกบรรจุอยู่ภายในแท่นยิงนี้ เมื่อถึงพื้นที่สามารถลำเลียงระบบเป้าบินนี้ออกมาทำการเตรียมบินได้อย่างรวดเร็ว ตัวแท่นยิงกางออกในตำแหน่งพร้อมยิงได้ในทันที ระบบควบคุมการยิงออกแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน หลักการดีดตัวเป้าบินจะแตกต่างจากระบบของต่างประเทศที่ใช้การดีดตัวของหนังยาง ระบบของทีม PST เลือกที่จะใช้ระบบไฮดรอลิกที่มีความง่ายต่อการเตรียมยิงมากกว่า ประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการใช้หนังยางสำหรับดีดอากาศยานที่จำนวนการดีดที่จำกัด และมีอัตราการเสื่อมสภาพที่เร็วกว่าเมื่อนำมาใช้งานในประเทศไทยที่มีความร้อนชื้น จากการทดสอบแท่นดีดเป้าบินของ PST สามารถทำน้ำหนักการดีดได้มากกว่า 50 กิโลกรัม
การสาธิตเริ่มจากการบินขึ้นลงตามแบบปกติเพื่อให้คุณลักษณะของตัวยาน ก่อนจะทำการบินลากเป้าซึ่งตัวยาน D-300 สามารถลากเป้าที่ผูกติดกับสายเคเบิ้ลได้อย่างสมบูรณ์ จากนั้นจึงเป็นการดีดตัวยานเป้าบินจากแท่นยิง น้ำหนักพร้อมบินของ D-300 คือ 35 กิโลกรัมสามารถดีดออกจากแท่นยิงและลากสายเคเบิ้ลได้อย่างปลอดภัย รูปแบบการลากเป้าหมายเป็นไปตามรูปแบบที่หน่วยต่อสู้อากาศยานของกองทัพกำหนดไว้ ตัวแผ่นเป้าที่เห็นอยู่นี้จะติดตั้งอุปกรณ์ตรวจนับกระสุนที่เข้าเป้าในอากาศได้ในทันที ก่อนที่ตัวยานจะควบคุมลงจอดจะทำการปลดแผ่นเป้าลงสู่พื้นด้วยร่มหน่วงความเร็ว ซึ่งการลงสู่พื้นของระบบเป้าบินนี้ทางบริษัทผู้ผลิตยังมีอ๊อปชั่นเสริม ด้วยการติดร่มหน่วงความเร็วที่ตัวยานเพื่อนำเครื่องลงสู่พื้นสำหรับการนำไปปฏิบัติในพื้นที่ที่ไม่มีทางวิ่งสำหรับการลงจอด
ในการสาธิตครั้งนี้ทีมงาน PST ได้ทำการบินยานเป้าบินทั้งหมด ทำการลากเป้ารูปแบบต่างๆทั้งแผ่นป้ายและเป้าแฟลร์ ส่วนการดีดตัวด้วยแท่นยิง ทำการปล่อยทั้งสิ้นห้าเที่ยวบิน โดยระบบทั้งหมดไม่มีการติดขัดหรือเกิดความเสียหายใดๆทั้งสิ้น
นอกเหนือไปจากระบบเป้าบินที่ใช้ระบบใบพัดในการขับเคลื่อน บริษัท PST ยังเปิดตัวระบบเป้าบินความเร็วสูง ขับเคลื่อนด้วยระบบไมโครเทอร์ไบน์หรือเครื่องเจ็ทขนาดเล็กอันเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทอีกแบบหนึ่ง ระบบเป้าบินนี้คือ D-240J/JT ที่สามารถทำความเร็วได้ถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในรุ่นเครื่องยนต์เดี่ยว(J) และจะสูงถึง 450 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในรุ่นสองเครื่องยนต์ (JT)
ระบบเป้าบินของ PST ในชุด D-300 นี้ได้รับการจัดหาจากสองเหล่าทัพแล้วคือกองทัพบกและกองทัพเรือ ด้วยคุณสมบัติที่ไม่ด้อยกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ ที่ช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดหาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สามารถทำการฝึกได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพราะมีความคล่องตัวในการซ่อมบำรุง เนื่องจากการดำเนินการซ่อมทำสามารถทำได้ด้วยบุคลากรในประเทศล้วนๆทำให้ประหยัดเวลา ช่วยให้ระบบการฝึกมีความพร้อมในการใช้งานตลอดเวลา
ขออนุญาตทางเวป TAF http://www.thaiarmedforce.com/ ครับ...
เครดิตจาก http://www.thaiarmedforce.com/taf-special/611-tafspecial80.html