(สามาก๊ก) แม่ทัพผู้ไร้อำนาจอย่างสุมาอี้ ทำไมถึงสามารถยึดอำนาจตระกูลโจได้ครับ

ดูจากในหนัง สุมาอี้ถึงจะเคยเป็นแม่ทัพใหญ่ที่เก่งกาจ แต่ก็ถูกริบอำนาจทางทหารมา 10 ปีแล้วไม่มีอำนาจอะไร ทำไมถึงยังสามารถทำให้พวกขุนพล ขุนนางที่อยู่ในตำแหน่งมาเป็นพวกได้ แล้วก็มาฉวยโอกาสยึดอำนาจจากโจซองที่ออกไปล่าสัตว์ได้สำเร็จ การดึงคนจำนวนมากมาร่วมงานที่เสี่ยงแบบนี้โดยข่าวไม่รั่วไหลไปถึงฝ่ายตรงข้ามเลย โจซองกับพวกตระกูลโจก็ไม่ระแคะระคายเลย สุมาอี้ทำได้ไงครับ ทั้งที่ตอนนั้นวุยก๊กก็ไม่ถึงกับว่าปกครองแย่อะไรมากมาย แล้วขงเบ้งก็ตายไปแล้วด้วยไม่ต้องเจอกับศึกใหญ่เหมือนเก่า บ้านเมืองก็ไม่ได้มีปัญหาถึงขนาดว่าต้องเปลี่ยนผู้ปกครอง
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 4
หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ เช่น จดหมายเหตุสามก๊ก (三國志) และจิ้นซู (晉書) หรือพงศาวดารราชวงศ์จิ้น ล้วนบ่งชี้ว่าสุมาอี้ไม่ได้ถูกริบอำนาจทหาร แต่ยังคงมีบทบาทเป็นแม่ทัพและดูแลราชการในราชสำนักมาอีกหลายปีครับ


สุมาอี้ (司馬懿 ซือหม่าอี้) ได้เป็นแม่ทัพคุมทหารทำศึกมาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าเว่ยหมิงตี้ (魏明帝) หรือโจยอย (曹叡 เฉารุ่ย) ได้สร้างเครือข่ายและบารมีอยู่ในหมู่แม่ทัพนายกองของวุยก๊กอยู่มาก เช่น กุยห้วย (郭淮 กัวหวาย) ที่ได้ออกศึกด้วยกันหลายครั้ง ไต่เต้าจนได้เป็นมหาขุนพล (大將軍) ตำแหน่งขุนนางฝ่ายทหารขั้นสูงสุด  หลังจากขงเบ้งตายก็ได้เป็น ไท่เว่ย (太尉) ตำแหน่งสูงสุดของซานกง

ต่อมาหลังจากปราบกบฏที่เหลียวตง เดิมสุมาอี้ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น อู่หยางโหว (舞陽侯) จึงได้รับบำเหน็จเป็นภาษีจากอำเภอคุนหยาง (昆陽) เพิ่มขึ้น ต่อมาในปลายรัชกาลก็ได้รับแต่งตั้งจากเว่ยหมิงตี้ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระเจ้าโจฮอง (曹芳 เฉาฟาง) ร่วมกับโจซอง (曹爽 เฉาส่วง)

เมื่อพระเจ้าโจฮองขึ้นครองราชย์ ราชสำนักได้เพิ่มตำแหน่งซื่อจง (侍中) ขุนนางใกล้ชิดจักรพรรดิ ให้สุมาอี้และโจซองอีกตำแหน่ง ทั้งสองได้รับคฑาอาญาสิทธิ์บัญชาการทหารทั้งในและนอกราชธานี ควบตำแหน่งลู่ซ่างซูซื่อ (錄尚書事) บัญชาการซ่างซูไถหรือสำนักราชเลขาธิการที่เป็นหน่วยงานฝ่ายบริหาร  ควบคุมทหารคนละ 3,000 นาย ผลัดเปลี่ยนมาทำหน้าที่ทหารรักษาพระองค์ในพระราชวัง

หลักฐานประวัติศาสตร์ระบุว่าโจซองอยากจะควบคุมอำนาจว่าราชการซ่างซูคนเดียว จึงทำตามแผนของเตงปิด (丁謐 ติงมี่) ยกสุมาอี้ให้มีตำแหน่งสูงขึ้นด้วยการให้น้องชายคือโจอี้ (曹羲 เฉาซี) ถวายฎีกาต่อราชสำนักว่าสุมาอี้มีความดีความชอบมาก ควรจะยกให้มีตำแหน่งสูงขึ้นเป็นไท่ฟู่ หรือต้าซือหม่า (大司馬) ซึ่งสูงกว่าต้าเจียงจวินที่โจซองเป็นอยู่    แต่จุดประสงค์คือผลักสุมาอี้ออกไปจากอำนาจบริหาร

แต่ราชสำนักเห็นว่าไม่เหมาะเพราะต้าซือหม่าในอดีต (โจหยิน โจฮิว โจจิ๋น) ต่างตายในหน้าที่ เลยตั้งสุมาอี้เป็นไท่ฟู่ (太傅) หรือมหาราชครู ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของขุนนาง มีหน้าที่แนะนำการปกครองให้ฮ่องเต้

จดหมายเหตุสามก๊ก ตอนประวัติฉีหวัง (โจฮอง) ซึ่งบันทึกพระราชโองการการแต่งตั้งสุมาอี้เป็นไท่ฟู่ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า  ให้สุมาอี้คงอำนาจบัญชาการทหารตามเดิม   (其以太尉為太傅,持節統兵都督諸軍事如故。)


สุมาอี้และโจซองยังได้รับอิสริยยศพิเศษเสมอเซียวเหอในสมัยพระเจ้าฮั่นเกาจู่และโจโฉในสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ คือไม่ต้องขานชื่อเวลาเข้าเฝ้า เดินเข้าเฝ้าไม่ต้องก้าวเท้าเร็วเหมือนขุนนางทั่วไป สวมรองเท้าและพกกระบี่เข้าเฝ้าได้  

ญาติของสุมาอี้อีกสามคนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเลี่ยโหว (列侯) หรือโหวกินศักดินา ส่วนอีกสี่คนให้เป็นจึ้ตูเว่ย (騎都尉) หรือนายกองทหารม้า แต่สุมาอี้สั่งให้ครอบครัวปฏิเสธตำแหน่งที่ได้รับทั้งหมด  

เครือญาติสุมาอี้ยังมีตำแหน่งสำคัญในสมัยพระเจ้าโจฮอง เช่น สุมาหูน้องชายเป็นซ่างซูลิ่งหัวหน้าซ่างซูไถ  สุมาสูบุตรชายได้เป็นซ่านจี้ฉางซื่อ (散騎常侍) ตำแหน่งมหาดเล็กที่ปรึกษา แล้วได้เลื่อนเป็นจงฮู่จวิน (中護軍) ผู้บัญชาการทหารองครักษ์


พิจารณาตามหลักฐานประวัติศาสตร์ สิ่งที่สุมาอี้ถูกริบไปคืออำนาจควบคุมสำนักซ่างซูที่เป็นอำนาจบริหาร ไม่ใช่อำนาจทางการทหาร  แต่อันที่จริงราชการฝ่ายซ่างซูเองยังมีสุมาหูช่วยควบคุมอยู่

ตอนแรกโจซองยังเสนอให้สุมาอี้ได้เป็นต้าซือหม่าที่เป็นตำแหน่งฝ่ายทหารสูงสุดด้วย จึงเข้าใจว่าโจซองเวลานั้นไม่ได้มีปัญหากับการให้สุมาอี้มีอำนาจทหาร  และสุมาอี้เป็นแม่ทัพคนสำคัญของวุยก๊กด้วย จะหาเหตุเพิกถอนอำนาจทหารง่ายๆ คงไม่ได้





ค.ศ. 241 สุมาอี้ได้เป็นแม่ทัพใหญ่คุมทหารไปรบกับง่อก๊กจนได้รับชัยชนะ พระเจ้าโจฮองทรงปูนบำเหน็จให้เพิ่มส่วยอำเภอเหยี่ยน (郾) และอำเภอหลินอิ่ง (臨潁) เป็นบำเหน็จแก่สุมาอี้ ซึ่งเมื่อรวมกับสองอำเภอที่ครองอยู่ก่อน สุมาอี้กินส่วยศักดินามากกว่าหนึ่งหมื่นครัวเรือน ญาติหลายคนได้บรรดาศักดิ์เป็นโหว จิ้นซูระบุว่าสุมาอี้ในเวลานั้นยังคงแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน นอกจากนี้ยังคอยสั่งสอนให้น้องชายและบุตรสำรวมกิริยา (คือประโยคที่ขุนอินทรีสามก๊กบอก)

ในปีเดียวกันเตงงาย (鄧艾 เติ้งอ้าย) ซึ่งเป็นคนที่สุมาอี้สนับสนุนได้รับตำแหน่งซ่างซูหลาง (尚書郎) ในสำนักซ่างซู อาจเรียกได้ว่าเป็นคนของสุมาอี้ในสำนักซ่างซูอีกคนหนึ่งของจากสุมาหู


ค.ศ. 242 พระเจ้าโจฮองทรงอวยยศย้อนหลังให้สุมาฮอง บิดาสุมาอี้ที่เสียชีวิตไปแล้วให้เป็น อู่หยางเฉิงโหว (舞陽成侯)

ในปีเดียวกันหมันทอง (滿寵 หมานฉ่ง) ซึ่งเป็นไท่เว่ยถึงแก่กรรม ไท่เว่ยคนต่อมาคือเจียวเจ้ (蔣濟 เจี่ยงจี้) ซึ่งมีความสนิทสนมกับสุมาอี้ จึงเห็นได้ว่ายังมีขุนนางตำแหน่งใหญ่ที่เป็นพันธมิตรของสุมาอี้อยู่ ต่อมาเจียวเจ้ร่วมมือกับสุมาอี้ยึดอำนาจโจซองด้วย


ค.ศ. 243 สุมาอี้เป็นแม่ทัพไปรบกับจูกัดเก๊ก (諸葛恪 จูเก๋อเค่อ) ที่เมืองหว่าน (皖) หรืออ้วนเซีย ฝ่ายจูกัดเก๊กเผาทำลายเสบียงที่เมืองหว่านหมดก่อนจะถอยกลับไป สุมาอี้จึงใช้ระบบถุนเถียนฟื้นฟูพื้นที่เกษตรและปรับปรุงระบบชลประทานขนานใหญ่ในแถบนั้น จนได้รับคำชมจากพระเจ้าโจฮอง

ช่วงนั้นสุมาอี้ยังคงมีอำนาจในการควบคุมทหารและมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองอยู่ตามเดิม


ในช่วงแรก โจซองให้เกียรติสุมาอี้มากเนื่องจากสุมาอี้มีทั้งวัยวุฒิและประสบการณ์สูงกว่า ยกย่องสุมาอี้เสมอบิดาและมักปรึกษาราชการกับสุมาอี้อยู่บ่อยครั้ง

แต่ในระยะหลัง โจซองเริ่มรวบอำนาจในราชสำนักไว้ที่ตนเองโดยการตั้งญาติพี่น้องและคนสนิทเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะคนสนิทของโจซองหลายคนมีชื่อเสียง แต่มีความประพฤติไม่เหมาะสม ในสมัยเว่ยหมิงตี้ชอบรวมกลุ่มยกยอตนเป็นปราชญ์ผู้วิเศษ เว่ยหมิงตี้ไม่โปรดจึงให้ปลดออกจากราชการ แต่พอโจซองมีอำนาจก็นำคนกลุ่มนี้กลับมาใช้งาน   เช่น โฮอั๋น (何晏 เหอเหยี่ยน) เป็นซ่างซูฝ่ายมหาดไทย (吏部尚書) ควบคุมการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ, เตงเหยียง (鄧颺 เติ้งหยาง) และเตงปิด (丁謐 ติงมี่) เป็นซ่างซู (尚書) หัวหน้าแผนกในซ่างซูไถ, หลีซิน (李勝 หลี่เซิ่ง) เป็นข้าหลวงเหอหนาน (河南尹) ซึ่งมีอำนาจครอบคลุมถึงราชธานีลั่วหยาง, ปิดห้วน (畢軌 ปี้กุ่ย) เป็นซือลี่เซี่ยวเว่ย (司隷校尉) หรือผู้บัญชาการมณฑลราชธานี


ค.ศ. 244 เตงเหยียงกับหลีซินแนะนำโจซองให้สร้างความดีความชอบด้วยการเป็นแม่ทัพยกไปตีจ๊กก๊ก สุมาอี้คัดค้านโจซองแต่ไม่เป็นผล สุดท้ายโจซองพ่ายแพ้ยับเยิน


ค.ศ. 245 โจซองเปลี่ยนโครงสร้างทหารใหม่โดยยุบค่ายทหารจงเหลย (中壘) จงเจียน (中壘) ที่เป็นหน่วยทหารส่วนกลาง แล้วยกอำนาจบัญชาการให้โจอี้แทน  สุมาอี้คัดค้านเพราะขัดต่อข้อห้ามในรัชกาลก่อน แต่โจซองไม่สนใจ


ค.ศ. 246 สุมาอี้ได้รับพระราชทานราชรถเฉิงอวี๋ (乘輿) ซึ่งเป็นรถพระที่นั่งของจักรพรรดิสำหรับใช้นั่งเข้ามาในพระราชวังเป็นเกียรติยศพิเศษ

ปีนั้นง่อก๊กยกทัพมาตีเมืองจาจง (柤中) ราษฎรกว่าหมื่นหลังคาเรือนต้องอพยพขึ้นไปทางเหนือข้ามแม่น้ำเหมียนสุ่ย (沔水) สุมาอี้เห็นควรว่าให้ราษฎรอยู่เหนือแม่น้ำต่อไปเพื่อความปลอดภัย แต่โจซองเห็นว่าน่าจะส่งกองทัพไปรักษาทางใต้น้ำมากกว่าแล้วให้ราษฎรอพยพมาทางใต้ สุมาอี้แย้งว่า "หากข้าศึกส่งทหารสองหมื่นมาตัดทางข้ามน้ำ ส่งทหารอีกสามหมื่นมารบกับกองทัพของเราที่ใต้น้ำ แล้วส่งทหารอีกหนึ่งหมื่นไปตีเมืองจาจง แล้วเราจะคุ้มครองราษฎรได้อย่างไรเล่า" แต่โจซองก็ไม่ฟังอีกครั้ง แล้วสั่งให้ราษฎรอพยพมาทางใต้ ผลสุดท้ายถือง่อก๊กตีเมืองจาจงแตก แล้วกวาดต้อนราษฎรไปหมด


พฤติกรรมของโจซองยิ่งสร้างศัตรูในราชสำนักมากขึ้นตามเวลา ค.ศ. 247  จิ้นซูบันทึกว่าเดือน 4 จางชุนหัวภรรยาของสุมาอี้เสียชีวิต    โจซองฟังคำยุยงโฮอั๋น เตงเหยียง เตงปิด ออกคำสั่งบังคับให้โกยไทเฮา (郭皇后 กัวไท่โฮ่ว) มเหสีของเว่ยหมิงตี้ไปประทับที่วังหย่งหนิง (永寧宮) เพื่อบีบให้พระนางไม่มายุ่งเกี่ยวกับราชการอีก  และยังเพิ่มอำนาจตัวเองมากขึ้นด้วยการให้พี่น้องเข้ามาคุมทหารราชองครักษ์ ตั้งคนสนิทจำนวนมากเป็นใหญ่ เปลี่ยนแปลงระบบตามอำเภอใจ  สุมาอี้คัดค้านแต่โจซองไม่สนใจ ทำให้ทั้งสองคนแตกหักกันในที่สุด  

หลังจากเหตุการณ์นี้ สุมาอี้จึงอ้างว่าป่วยและไม่ยุ่งกับราชการบ้านเมืองอีกเลย ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นจุดแตกหักที่ทำให้สุมาอี้เริ่มคิดการรัฐประหาร เพราะถ้าโจซองซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเข้มแข็งในเวลานั้นยังปรองดองกับสุมาอี้และยังมีความประพฤติที่สมควรอยู่ไม่ก่อความวุ่นวายในราชสำนัก สุมาอี้คงไม่ก่อรัฐประหาร และการก่อรัฐประหารนั้นก็น่าจะเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมเพื่อป้องกันไม่ให้โจซองคุกคามสุมาอี้กับครอบครัวในอนาคตด้วย


ปีเดียวกัน ซุนเล้ (孫禮 ซุนหลี่) ได้เป็นผู้ว่าราชการมณฑลกิจิ๋ว ซึ่งในตอนนั้นราชนิกุลสององค์คืออ๋องแห่งชิงเหอกับอ๋องแห่งผิงหยวนมีกรณีพิพาทเรื่องที่ดินในเขตกิจิ๋ว ซุนเล้นำเรื่องไปปรึกษาสุมาอี้ เมื่อได้ร่วมกันพิจารณาแผนที่ของกิจิ๋วแล้วจึงเห็นสมควรให้ที่ดินพิพาทเป็นของอ๋องแห่งผิงหยวน แต่ว่าโจซองสนิทกับอ๋องแห่งชิงเหอจึงใช้อำนาจของตนเองบีบไม่ให้นำแผนที่นี้มาพิจารณา ซุนเล้ประท้วงเรื่องนี้จึงถูกโจซองสั่งพักงานห้าปี  ซุนเล้ถูกพักงานอยู่ปีเดียว พวกซฺยงหนูกับเซียนเป่ยได้ยกทัพมารุกรานชายแดน จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้ซุนเล้เป็นผู้ว่าราชการมณฑลเปงจิ๋วเพื่อออกไปรับศึก ก่อนจะเดินทาง ซุนเล้ได้ไปพบสุมาอี้และแสดงความไม่พอใจในตัวโจซองออกมา สุมาอี้ได้บอกกับซุนเล้ว่าขอให้อดทนไปก่อนในเวลานี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเวลาไม่นาน เป็นการบ่งบอกว่าในตอนนี้สุมาอี้มีแผนจะล้มโจซองแล้ว

การพยายามกุมอำนาจของโจซองยังสร้างความไม่พอใจให้กับขุนนางวุยก๊กอีกหลายคน ยกตัวอย่างเช่น อองก๋วน (王觀 หวังก้วน) ผู้เป็นเสาฝู่ (少府) เสนาบดีกรมวังและพระคลังมหาสมบัติไม่ยอมให้โจซองเอาของในพระคลังไปตามอำเภอใจ จึงถูกโจซองย้ายไปเป็นไท่ผู (太僕) กรมพระอัศวราช  ต่อมาเข้าร่วมกับสุมาอี้ในการก่อรัฐประหารด้วย


โจซองแต่งกาย ใช้รถม้า มีเครื่องเสวยอย่างในวัง  บ้านเมืองในขณะนั้นวุ่นวายจนมีคำกล่าวกันในเมืองลั่วหยางว่า "โฮ(อั๋น) เตง(เหยียง) เตง(ปิด) ก่อจลาจลไปทั้งราชธานี"

ใน ค.ศ. 248 ขันทีเตียวต๋อง (張當 จางตาง) ลักลอบนำนางกำนัลฝ่ายใน 11 คนมามอบให้โจซอง ฝ่ายโจซองเห็นว่าสุมาอี้ป่วยหนักมากจึงวางแผนก่อกบฏปลดพระเจ้าโจฮองออกจากราชบัลลังก์แล้วตั้งโจซองเป็นฮ่องเต้แทน แต่โจซองยังระแวงสุมาอี้อยู่ เลยส่งหลีซินไปเยี่ยมไข้สุมาอี้ สุมาอี้แกล้งป่วยตบตาหลีซินจนโจซองเห็นว่าสุมาอี้ไม่เป็นภัยอีกต่อไป


ค.ศ. 249 โจซองกับพวกพาพระเจ้าโจฮองออกจากเมืองหลวงไปที่สุสานโกเบงเหลง สุมาอี้จึงได้จังหวะก่อการรัฐประหารโดยมีขุนนางวุยก๊กเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก สุมาอี้ไปเข้าเฝ้าพระนางโกยไทเฮาที่วังหย่งหนิงเพื่อขอพระราชเสาวนีย์ให้ปลดโจซองกับพวกออกจากตำแหน่ง

จากนั้นจึงแต่งตั้งโกหยิว (高柔 เกาโหรว) ผู้เป็นซือถู (司徒) เสนาบดีพลเรือนให้ว่าที่มหาขุนพลนำทหารไปจับโจซอง  ตั้งอองก๋วนให้ว่าที่จงหลิ่งจวิน (中領軍) ไปจับโจอี้  ส่วนตัวสุมาอี้กับเจียวเจ้ยกทหารออกไปถ่ายทอดพระราชโองการประกาศความผิดของโจซองและพลพรรค ฝ่ายโจซองยอมกลับเข้าเมืองหลวงและสละอำนาจทางทหารทั้งหมดเนื่องจาก สุมาอี้ส่งอินต้ายบก (尹大目 อิ่นต้ามู่) ไปเกลี้ยกล่อมว่าถ้ายอมถูกละเว้นโทษตาย

ฮวนห้อม (桓範 หวนฟ่าน) ผู้เป็นต้าซือหนง (大司農) หรือเสนาบดีการคลังและเกษตร ได้หลบหนีเอาตราประจำตำแหน่งมหาขุนพลมาให้โจซองและเสนอให้ระดมทหารหัวเมืองเข้ามา แต่โจซองห่วงลูกเมียที่อยู่ในเมืองจึงยอมแพ้ ฮวนห้อมถึงกับร้องว่า "เฉาจื่อตาน (โจจิ๋น) เป็นยอดคน ตัวท่านและพี่น้องล้วนปัญญาอ่อน ใย (โจจิ๋น) ถึงไม่คาดว่าวันนี้ตระกูลจะพินาศเพราะท่าน"


หลังจากนั้นเพียงสี่วัน  เตียวต๋องถูกจับมาสอบสวน ให้การซัดทอดความผิดถึงโจซองทุกข้อหารวมถึงเรื่องก่อกบฏด้วย (ซึ่งเรื่องนี้พิสูจน์ไม่ได้ว่าโจซองวางแผนกบฏจริงหรือไม่) สุมาอี้จึงใช้คำให้การของเตียวต๋องสั่งประหารโจซองและพรรคพวกสามชั่วโคตร แม้ว่าเจียวเจ้จะขอให้ละเว้นชีวิตโดยขอให้เห็นแก่คุณความดีที่โจจิ๋นสร้างไว้แต่ก่อน แต่สุมาอี้ไม่ยอม จึงนับว่าสุมาอี้สามารถกุมอำนาจในราชสำนักได้อย่างเบ็ดเสร็จ แลกกับการประหารชีวิตราชสกุลโจจำนวนมาก แต่สำหรับข้ารับใช้ของโจซองที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็น สุมาอี้ไม่ได้เอาผิดครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่