ขนาดความเร็วของ 3G ในแต่ละอุปกรณ์ที่รองรับ เข้ามาตรวจสอบได้ว่าแต่ละท่านใช้อุปกรณ์ไหน

อุปกรณ์ 3G ที่รองรับ 7.2 Mbps

อุปกรณ์ 3G ที่รองรับความเร็ว 7.2 Mbps ส่วนใหญ่จะเป็นแอร์การ์ด และโทรศัพท์มือถือในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลายรุ่นรวมทั้ง iPhone4 ด้วย อุปกรณ์เหล่านี้จะทำความเร็วได้จริงประมาณ 6 Mbps เมื่ออยู่ใกล้เสา และลดลงเรื่อยๆ เมื่ออยู่ห่างเสา จนกระทั่งเหลือประมาณ 1-2 Mbps เมื่ออยู่ตรงขอบเซล

ทำไมเราไม่สามารถทำความเร็วได้เต็ม 7.2 Mbps? เพราะความเร็ว 7.2 Mbps นั้นเป็นความเร็วดิบๆ ที่รวมการส่งสัญญาณทุกอย่างรวมทั้ง header ของโปรโตคอล IP ด้วย ถ้าอยู่ใกล้เสามากๆ เราอาจรับข้อมูลได้ 7.2 ล้านบิตในหนึ่งวินาที แต่ใน 7.2 ล้านบิตนั้น เป็นข้อมูลจริงๆ เพียง 6 ล้านบิต (ประมาณ 85% ของข้อมูลที่ส่งมาทั้งหมด) ที่เหลือประมาณ 15% เป็นสัญญาณที่ใช้ควบคุมการรับส่งข้อมูลซึ่งเราเอามาใช้งานไม่ได้ ดังนั้นอุปกรณ์ 7.2 Mbps จึงทำความเร็วได้จริงแค่ประมาณ 7.2 x 0.85 = 6 Mbps เท่านั้นเมื่ออยู่หน้าเสา  ในการทำ speedtest จริงความเร็วที่วัดได้อาจสวิงขึ้นลงบ้าง ดังนั้นหากได้เกิน 6 Mbps แว๊บๆ ก็อย่าแปลกใจครับ


อุปกรณ์ 3G ที่รองรับ 10.2 Mbps และ 14.4 Mbps

สัญญาณ 3G แต่ละเซลใช้ความถี่ 5 MHz โดยในแต่ละเซลยังมีการเข้ารหัสสัญญาณแบ่งออกเป็น 15 รหัส หรือ 15 code มือถือเครื่องหนึ่งอาจจะเข้ารหัสด้วย code ที่ 1 ในขณะที่มือถืออีกเครื่องหนึ่งเข้ารหัสด้วย code ที่ 2 ทั้งสองเครื่องสามารถรับส่งสัญญาณพร้อมกันโดยไม่กวนกัน เปรียบเสมือนมีช่องสัญญาณให้ใช้ได้ 15 ช่องในหนึ่งเซลสำหรับการรับส่งดาต้า (ถ้าเอาช่องสัญญาณนี้มารับส่ง voice จะใช้ได้ 8 คู่สายพร้อมๆ กัน)

การที่อุปกรณ์ 3G จะทำความเร็วได้ 7.2 Mbps จะต้องจับสัญญาณพร้อมๆกันให้ได้ 10 ช่อง หรือ 10 code ส่วนอุปกรณ์ 3G รุ่นที่ทำความเร็วได้สูงกว่า 7.2 Mbps จะต้องจับสัญญาณพร้อมๆ กันให้ได้ทั้ง 15 code นั่นคือทั้งเซลจะต้องมีผู้ใช้งานอยู่คนเดียว จึงจะได้ความเร็วสูงสุด ถ้ามีผู้ใช้งานหลายคนก็จะต้องสลับกันใช้ หรือถ้าใช้งานพร้อมกันก็จะต้องแบ่ง code กันไปตามส่วน

อุปกรณ์ 3G ที่รองรับ 10.2 Mbps ส่วนใหญ่เป็นมือถือยี่ห้อ Nokia (Nokia Symbian และ Nokia Asha บางรุ่นเช่น Asha 300) มือถือเหล่านี้จะต้องจับสัญญาณได้พร้อมๆกันทั้ง 15 code จึงจะได้ความเร็วสูงสุด แต่มีโอกาสน้อยมากที่ทั้งเซลจะไม่มีการใช้งานเลย ในเครือข่าย 3G ที่ยังว่างๆ อาจมีการใช้งานบ้างประปราย เราอาจประเมินว่ามีช่องสัญาณที่ยังว่างอยู่สัก 13 code จาก 15 code ดังนั้นความเร็วสูงสุดที่มือถือ 10.2 Mbps ทำได้จริงหน้าเสาคือประมาณ 10.2 x 0.85 x 13/15 = 8 Mbps ครับ

ในการส่งสัญญาณผ่านอากาศที่มีคลื่นรบกวนและสิ่งกีดขวาง มีโอกาสสูงที่สัญญาณจะผิดเพี้ยนไป ระบบสื่อสารข้อมูลไร้สายทุกชนิดจึงต้องมีการใส่รหัส error correction code ซึ่งสามารถแก้ไขความผิดพลาดของข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง รหัสเหล่านี้กินที่ไปประมาณ 1 ใน 4 ของข้อมูลที่ส่งออกอากาศทั้งหมด ระบบ 3G สามารถปรับการเข้ารหัสให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อมได้โดยอัตโนมัติ ถ้าสัญญาณใสกิ๊กก็ไม่ต้องใส่รหัสมากเพราะเปลือง แต่ถ้าสัญญาณแผ่วหรือมีคลื่นรบกวนมาก ก็ต้องใส่รหัส error correction code มากหน่อย

อุปกรณ์ 3G ที่รองรับ 14.4 Mbps จะทำความเร็วได้สูงสุดก็ต่อเมื่อจับสัญญาณพร้อมๆ กัน 15 code (ทั้งเซลมีผู้ใช้งานอยู่คนเดียว) แล้วเอา error correction code ออกจนเกือบหมดทำให้ความเร็วสูงขึ้น แต่ไม่สามารถทนต่อสัญญาณรบกวนได้เลย จึงทำความเร็วได้สูงสุดในสภาพแวดล้อมที่สัญญาณแรงสุดๆ และใสกิ๊กจริงๆเท่านั้น (สภาพแวดล้อมแบบนี้มักพบได้ในห้องแล็ป)

มือถือที่รองรับ 14.4 Mbps ที่สำคัญคือ iPhone4S, Nokia Lumia 620 และ Blackberry Q10 ซึ่งจะทำความเร็วสูงสุดหน้าเสาในสภาพสัญญาณใสกิ๊กได้ประมาณ 10 Mbps แต่ความเร็วสูงสุดหน้าเสาที่น่าจะทำได้จริงในทางปฏิบัติคือ 8 Mbps เมื่อใส่ error correction code เข้าไป 1 ใน 4 ของข้อมูลที่ส่งออกอากาศ ซึ่งก็พอๆกับเหมือนกับมือถือที่รองรับ 10.2 Mbps และความเร็วจะต่ำลงเรื่อยๆ เมื่ออยู่ไกลเสา จนเหลือ 1-2 Mbps ที่ขอบเซล



อุปกรณ์ 3G ที่รองรับ 21 Mbps

โทรศัพท์มือถือบางรุ่นจะแสดงสัญลักษณ์ 3G / H / H+ เมื่อจับสัญญาณ 3G สัญลักษณ์เหล่านี้มีความแตกต่างกันคือ

3G หรือ UMTS หมายถือการเข้ารหัสสัญญาณแบบ QPSK ทำความเร็วได้สูงสุด 384 kbps เน้นการใช้งาน voice เป็นหลัก เมื่อเริ่มมีการใช้งานดาต้าเครือข่ายมักจะปรับการเข้ารหัสเป็น H หรือ H+

H หรือ HSPA หรือ HSDPA หมายถึงการเข้ารหัสสัญญาณแบบ 16QAM ทำความเร็วได้สูงสุด 14.4 Mbps

H+ หรือ HSPA+ หมายถึงการเข้ารหัสสัญญาณแบบ 64QAM ทำความเร็วได้สูงสุด 21 Mbps

การเข้ารหัสสัญญาณแบบ 64QAM หมายความว่าสัญญาณที่รับได้หนึ่งลูกสามารถตีความหมายได้ถึง 64 อย่าง ขึ้นอยู่กับว่าสัญญาณมีหน้าตาอย่างไร การเข้ารหัสสัญญาณแบบ 64QAM จะทำได้ก็ต่อเมื่อสัญญาณแรงไม่ผิดเพี้ยน เพราะถ้าผิดเพี้ยนไปแม้แต่นิดเดียวอาจตีความหมายผิด ดังนั้น 64QAM จึงใช้ได้เฉพาะบริเวณใกล้ๆเสา ถ้าไกลออกไประบบ 3G จะปรับการเข้ารหัสเป็น 16QAM

อุปกรณ์ 3G ที่รองรับ 21 Mbps คือมือถือและแทบเล็ต high end ของค่าย Android เมื่อปีที่แล้ว ที่สำคัญคือ Samsung Galaxy S2 และ Samsung Galaxy Tab หลากหลายขนาด

ความเร็วสูงสุดที่อุปกรณ์เหล่านี้ทำได้ในชีวิตจริง คือ 16 Mbps ในสภาพสัญญาณใสกิ๊กหน้าเสา ซึ่งพบได้ไม่ง่ายนักนอกห้องแล็ป แต่ที่พอจะเห็นได้จริงคือ 12 Mbps หน้าเสาเมื่อเป็น H+

เมื่ออยู่ห่างเสาออกมา การเข้ารหัสสัญญาณจะถูกปรับเป็น 16QAM ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์ 3G ที่รองรับ 21 Mbps มีความเร็วไม่ต่างไปจากอุปกรณ์ 3G ที่รองรับ 14.4 Mbps และ 10.2 Mbps และความเร็วจะลดลงเหลือ 1-2 Mbps เมื่ออยู่ขอบเซล




อัพสปีดเป็น 2 เท่าด้วยอุปกรณ์ที่รองรับ DC-HSPA 42 Mbps

แต่ละเซลในระบบ 3G ใช้ความถี่ 5 MHz แต่ถ้าผู้ให้บริการ 3G มีความถี่ให้ใช้งานมากกว่า 5 MHz ก็สามารถส่งสัญญาณหลายๆ เซลซ้อนกันได้ทำให้รองรับการใช้งานได้มากขึ้น โทรศัพท์มือถือก็มีการใช้ประโยชน์จากการส่งสัญญาณหลายๆ เซลโดยจับสัญญาณ พร้อมๆกัน 2 เซล เรียกว่า Dual Cell – High Speed Packet Access (DC-HSPA) โดยเอาความเร็วของ 2 เซลมารวมกันเป็น 42 Mbps

อุปกรณ์ 3G ที่รองรับ 42 Mbps ก็คือมือถือรุ่น high end ในปีนี้ ที่สำคัญได้แก่ iPhone5, iPad3/4/Mini, Samsung Galaxy S4, Nokia Lumia 920/820, Sony Xperia Z

ความเร็วสูงสุดที่อุปกรณ์เหล่านี้ทำได้คือ 2 เท่าของ HSPA+ นั่นคือประมาณ 32 Mbps ใน perfect condition หน้าเสา, 24 Mbps หน้าเสาเมื่อเครือข่ายว่าง และ 16 Mbps เมื่ออยู่ไกลเสาออกไป ซึ่งนั่นก็คือ speedtest ที่หลายคนพบได้ในช่วงที่เครือข่ายว่าง

อุปกรณ์ 3G ที่รองรับ 42 Mbps เป็นอุปกรณ์ที่สามารถดึงเอาประสิทธิภาพสูงสุดของเครือข่าย 3G ออกมาในช่วงที่เครือข่ายว่างๆ หากอยากเห็นความเร็วขนาดนี้คงจะต้องคิดเปลี่ยนมือถือกันละครับ





Credit Links : http://aisclub.ais.co.th/WebboardDetail.aspx?mid=28&room=51&qid=27996
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่