เพื่อนๆเคยสงสัยรึเปล่าว่าทำไมเราจึงต้องเรียนศิลปะวาดภาพ?

มีคำถามที่สำคัญมากว่า ทำไมคนเราจึงต้องเรียนศิลปะ? และทำไมจึงต้องเป็นศิลปะวาดภาพ?  

มีการค้นคว้าของนักปราชญ์มาหลายยุคสมัยเกี่ยวกับการรับรู้ของมนุษย์ว่า ในบรรดาประสาทสัมผัสทั้ง 5  คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส  มีเพียง 2 อย่างเท่านั้นที่สามารถรับรู้ศิลปะและศาสตร์ขั้นสูงได้ คือ ตา และ หู  ซึ่งแตกแขนงออกมาเป็นศาสตร์ทางด้านภาพวาด Visual Art  และ ดนตรี

จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงเน้นศาสตร์ทั้งสองแขนง  ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน  สภาพบ้านเรือน สถาปัตยกรรม ซึ่งหากมีศิลปะเข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว นอกจากจะทำให้เกิดระเบียบความสวยงามแล้ว ยังทำให้เกิดความรู้สึกที่มนุษย์พึงมีต่อสิ่งหรือสถานที่นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกสบายผ่อนคลาย เมื่อเดินอยู่ตามท้องถนนที่มีต้นไม้และสิ่งก่อสร้างที่ถูกวางอย่างเป็นจังหวะ หรือความขลังน่ายำเกรงเมื่อเข้าไปในโบสถ์วิหาร ความรู้สึกอลังการน่าเกรงขามเมื่อเข้าไปในเขตของพระราชวัง และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่แปลกแยก  ซึ่งล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานมาจากศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ด้วยตาทั้งสิ้น

การเรียนรู้ศิลปะวาดภาพซึ่งต้องอาศัยตามนุษย์เป็นเครื่องมือ หรือ Visual Art นั้นเป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้ง และต้องอาศัยการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อจะนำไปสู่ขั้นสูงสุดคือจินตนาการที่สร้างสรรค์ ดังคำกล่าวของอัจฉริยะของโลก Albert Einstein กล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญยิ่งกว่าความรู้ “ ( Imagination  is more important than knowledge)  

มนุษย์เรามีจินตนาการทุกคน      แต่จินตนาการที่สร้างสรรค์จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากรากฐานของการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาพได้   หากปราศจากพื้นฐานรองรับจินตนาการก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็นความฟุ้งซ่าน เพ้อฝัน ที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

มีผลการวิจัยการทำงานของสมองคนเราพบว่า สมองทั้งสองซีกที่ทำงานต่างกัน คือสมองซีกซ้ายจะถูกใช้เมื่อคนเราใช้ความคิดทางด้านการคำนวณ ตรรกศาสตร์ และภาษา ส่วนสมองซีกขวาใช้เมื่อคนเรารับรู้และถูกใช้ในเรื่องของความสุนทรีย์ ด้านศิลปะ จินตนาการและการสร้างสรรค์ ทว่าเมื่อถึงเวลาทำงานจริงสมองทั้งสองซีกจะทำงานควบคู่กันไปอย่างแยกไม่ออก  Albert Einstein อัจฉริยะของโลกจินตนาการและคิดสิ่งต่างๆ เป็นภาพ  (สมองซีกขวา) ก่อน  จึงลงมือแปลงภาพออกมาเป็นเหตุผลเป็นขั้นตอน (สมองซีกซ้าย)

ตัวอย่างใกล้ตัวที่ชัดเจนอีก คือนักเรียนไทยที่ได้เหรียญทองในการแข่งขันฟิสิกส์ โอลิมปิกล่าสุด เล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ทำให้เขาเรียนฟิสิกส์ซึ่งเป็นเรื่องของการคำนวณเป็นหลักได้ดีนั้น ก็คือ เขาคิดโจทย์ทุกอย่างจินตนาการเป็นภาพได้ และทำให้เกิดความคิดที่สมจริงนำมาสู่การแก้ปัญหาได้ในที่สุด

การเรียนศิลปะวาดภาพที่ถูกต้องและเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างจินตนาการที่สร้างสรรค์ กล่าวคือเมื่อเกิดความคิดและจินตนาการก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดังใจคิดและสานต่อให้เกิดความสมจริง และเป็นจริงได้ในที่สุด  นอกจากนี้โดยตัวหลักของการเรียนรู้การวาดภาพก็ก่อให้เกิดจินตนาการที่ต่อยอดจากโซ่ความรู้ที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ จนเกิดเป็นแนวความคิด ทฤษฎีใหม่ๆ ดังเช่นศิลปินระดับโลกได้ปฏิบัติต่อๆ กันมาเป็นเวลากว่า 500 ปี  ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นกลุ่มศิลปิน Impressionist ก็ต้องเรียนรู้จากศิลปินในยุคคลาสสิก จนแตกแขนงต่อยอด ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ  หรือแม้แต่ศิลปินในยุค Modern ที่โลกยอมรับคือ Salvador Dali ก็ศึกษาพื้นฐานต่อยอดจาก Picasso  ซึ่งหากปราศจากรากฐานความรู้ซึ่งเป็นห่วงโซ่ร้อยต่อกันมา ก็ยากที่จินตนาการสร้างสรรค์ของศิลปินเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ และยังทรงพลังเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่