อยากเล่าบ้าง จากกรณี รุ่นพี่บังคับ รุ่นน้อง ยกมือไหว้

สืบเนื่องจากกรณีรุ่นพี่ KU ศรีราชา ประจานรุ่นน้องนะครับ จากกระทู้นี้http://ppantip.com/topic/30620617

สำหรับ เด็กมหาวิทยาลัยหลายคนคงมองเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ ยิ่งถ้าตามต่างจังหวัด จะยิ่งเฉยๆกับเรื่องเช่นนี้

การที่บังคับรุ่นน้องยกมือไหว้รุ่นพี่ หรือ ให้ไปล่าลายเซ็นรุ่นพี่

แน่นอนครับ พี่เชียร์ หรือ พี่ว้าก(เรียกสุภาพว่าพี่วินัย) จะบอกเหตุผลว่า เพื่อให้รุ่นน้องได้รู้จักรุ่นพี่ และให้น้องมีสัมมาคารวะ

ผมบอกเสียก่อนว่า ผมเองเคยเรียนอยู่ ม.บูรพา 1 ปี แล้วซิวไป ม.นเรศวร

ตอนอยู่ที่บูรพา ผม เข้าเชียร์ เพียง 2 ครั้ง ซึ่งเป็น 2 ครั้งที่ รุ่นพี่มาขอร้องให้เข้าประชุมเชียร์ (ครั้งแรกพี่take ผู้หญิง มาบีบน้ำตาขอให้เข้า ครั้งที่สองรุ่นพี่ผู้ชาย เอาเสื้อมาให้เปลี่ยนพร้อมพานั่งมอเตอร์ไซค์ไปที่สนาม) ซึ่งที่สองครั้ง ผมไม่ได้โดนบังคับนะ และทำให้ผมได้สัมผัสการว้ากบ้าง

พอไปอยู่ ม.น. ผมไม่เคยเข้าประชุมเชียร์เลย (หลายคนคงนึกด่าผมว่า เห็นแก่ตัวไม่เสียสละร่วมกิจกรรม) ยกเว้นวันแรกที่เป็นการแนะนำตัวและจัดที่นั่งห้องเชียร์ ซึ่งผมถูกดึงให้ไปเป็นลีดคณะ ที่นั่งผมจึงหายไป แต่สุดท้ายผมก็ไม่ยอมเป็นลีดเพราะไม่ชอบ

ชักนอกเรื่องไปไกล ขอเข้าเรื่องดีกว่า

ตอนผมซิวไป ม.น.
แน่นอนครับ พี่เชียร์ พี่ว้าก พี่สรรฯ ต่างก็จะพยายามกดดัน ปีหนึ่งว่า ต้องเคารพระเบียบห้องเชียร์ แต่งกายตามกฎ ปีหนึ่ง ผู้ชายผูกไท กางเกงแสล็ก รองเท้าหนัง ผู้หญิง ติดกระดุมคอ ใส่รองเท้าขาว รวบผม กระโปงทรงA และทุกคนต้องมีป้ายคล้องคอ ตลอด

ซึ่งผมขบถ กับเรื่องนี้มาตั้งแต่วันแรก ผมไม่ผูกไท ไม่ใส่ป้ายชื่อ และไม่เข้าห้องเชียร์ (ประมาณมีชั่วโมงบินจาก ม.บูรพามา)

ผลที่ผมได้รับ คือ ได้รับความนับหน้าถือตา จากเพื่อนร่วมคณะ ที่มายกมือไหว้ผมตลอดทางไปเรียน (ยกเว้นเพื่อนที่อยู่สาขาเดียวกัน) ซึ่งแรก ผมก็ต้องพยายามบอกว่า รุ่นเดียวกัน แต่พอผมต้องไปเรียน ตึกคณะอื่น ก็เริ่มเอื้อมๆที่จะบอก เลยรับไหว้มันไปแทน นี่คือสิ่งที่ทำให้รู้ว่า การไหว้ไม่ได้มาจากความเคารพนับถือ แต่ รุ่นน้องถือว่าเป็นหน้าที่ต่างหาก

ส่วนเรื่องห้องเชียร์ ผมไม่คิดจะเขาเลย แม้เพื่อนจะมาขอร้องให้ผมเข้า เพราะโดนรุ่นพี่ลงโทษ ผมก็บอกเพื่อนๆว่า ถ้าทนไม่ไหวก็ไม่ต้องเข้าสิ สู้กลับห้องไปอ่านหนังสือ แล้วนอนดีกว่า (ห้องเชียร์จะเลิกประมาณ 4-5 ทุ่ม ทั้งที่ระเบียบมหาวิทยาลัยให้เลิกไม่เกิน 2 ทุ่ม) ซึ่งสุดท้าย มีเพื่อนผมคนหนึ่งเธอมาจากกรุงเทพเหมือนกัน ขณะที่โดนรุ่นพี่ว้ากสั่งให้หมอบกับพื้น เธอก็ลุกเดินออกมาเลย พอพี่ว้ากถาม "คุณจะไปไหน" เพื่อนผมเธอก็ทำหน้าหงุดหงิดแล้วตอบว่า "ก้อไปกินข้าวสิ หิว นี่มันกี่โมงแล้ว" ซึ่งหากใครเคยผ่านกิจกรรมนี้ คงพอจะเข้าใจ เลิกเรียนช้าสุดประมาณ ห้าโมงเย็น และห้องเชียร์ก็เริ่มห้าโมงเย็น ใครมาช้าเกินจะถูกลงโทษ มันหมายความว่า หากใครมีเรียนคาบสุดท้าย ส่วนใหญ่จะต้องถูกซ่อม และกลุ่มนี้แหละที่มาห้องเชียร์โดยที่ไม่ได้กินอะไรมาก่อน แต่รุ่นพี่ที่อ้างว่ารักน้องนักหนา ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย

สุดท้าย ผมที่เป็นขบถห้องเชียร์ ถูกเพื่อนคนนี้โทรมาให้ไปรับที่หน้าห้องเชียร์ และพาไปกินข้าว จากนั้นเธอก็มาร่วมอุดมการณ์กับผม

แน่นอน ผมกับเพื่อนถูกสายตาครหา จากเพื่อนๆ นอกสาขาไม่น้อย (ในสาขาไม่มีปัญหา เพราะว่าทุกคนเข้าใจและอยากทำแบบผมด้วยซ้ำแต่ไม่กล้า แถมผมเคยด่าความงี่เง่าของห้องเชียร์ให้เพื่อนๆฟัง ทั้งที่ มีพี่ว้ากยืนอยู่ห่างไเพียง เมตรกว่าๆ เพราะผมไม่รู้จักนิ ว่าใครคือ พี่ว้าก)

แต่สายตาแบบนั้นมองผมได้ไม่นาน เมื่อผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ตอนเช้า ผมไปนั้งเรียนคาบแรก 8 โมง จากจำนวนนิสิต ที่เรียนให้ห้องเดียวกัน ประมาณ เกือบ 200 คน มีคนมาเข้าเรียนเพียง 20 กว่าคน เป็น ปีหนึ่ง เพียง 5-6 คน นอกนั้นคือ ชั้นอื่นๆ ซึ่งวิชานี้คือวิชาพื้นฐานที่ส่วนใหญ่ นิสิตที่ลงทะเบียนคือ ปีหนึ่ง จึงเป็นเรื่อง

อาจารย์ หลายท่านในหลายวิชาที่สอนเช้าวันนั้น ส่งเรื่องไปยังรองคณบดีฝ่ายกิจกรรม และผลสรุป คือ คืนก่อนหน้า พี่ว้าก บังคับให้รุ่นน้อง นั่งตากฝนตั้งแต่หัวค่ำ ก่อนที่จะประชุมเชียร์ต่อ จนเกือบเที่ยงคืน ทำให้นิสิตหลายคนเป็นไข้ และหลายคนอ่อนเพลียไม่สามารถตื่นเช้ามาเรียนได้ คณะเลยยกเลิกห้องเชียร์ไปเลย

แต่ประสบการณ์เรื่องการบังคับรับน้องของผมยังไม่หมด เมื่อผมต้องก้าวขึ้นมาเป็นรุ่นพี่

ผมเชื่อหลายคน คงคิด ว่าตอนอยู่ปีหนึ่ง ไม่เข้าเชียร์ ไม่เข้าระเบียบ แล้วพออยู่ปีสองจะกล้ารับไหว้จากรุ่นน้องไหม จะกล้าสอนรุ่นน้องไหม

ผมบอกเลยว่าผมกล้า ครับ

มีรุ่นน้องแห่มาไหว้ผม ผมก็รับไหว้ แล้วบอกว่า น้องครับเจอกันครั้งหน้าแค่ยิ้มทักทายก็พอ ไม่ต้องไหว้หรอก พี่ยังไม่แก่

และที่ผมสอนน้องก็มี เพราะว่ามีอยู่วันหนึ่ง ผมกำลังเข้าแถวต่อจากอาจารย์สอนวิชาภาษาไทย เพื่อซื้ออาหาร รุ่นน้องที่เพิ่งเลิกเรียน เดินมายกมือไหว้ผมเป็นทิวแถว
ผมเลนได้แต่รับไหว้แบบเขิลๆ แล้วบอกรุ่นน้องไปว่า น้องครับมาไหว้พี่ทำไม อาจารย์อยู่นี่ครับ ถ้าไหว้ น้องต้องไหว้อาจารย์นะครับ พี่ว้ากไม่ได้สอนใช่ไหม (แอบแหนบเพื่อนที่เป็นพี่ว้าก ซึ่งนั่งซัดก๋วยเตี๊ยวอยู่) ซึ่งอาจารย์ ท่านก็หันมายิ้มให้ผม แล้วก็บ่นให้ฟังว่า นิสิตเคารพรุ่นพี่มากกว่าอาจารย์ซะอีก

ประสบการณ์นี้ เลยสอนให้ผมรู้ว่า สัมมาคารวะ ไม่ได้จากระบบห้องเชียร์ เลย เพราะสุดท้าย รุ่นน้องปีหนึ่งก็ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไร คือ บุคคลที่ควรเคารพ นอกจากคิดว่า มันคือ หน้าที่ที่ต้องเคารพ

"ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมฺุตตมนฺติ---บูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นอุดมมงคลอย่างยิ่ง"

ป.ล.1 เพื่อความสบายใจของ รุ่นน้องทุกคน เหตุการณ์ที่ผมเล่า เกิดในปี 2543 ครับ

ป.ล.2 ผมดีใจที่ทราบว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีการพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมเชียร์ ให้ดีขึ้นแล้ว

(แก้ไขเพิ่มป.ล.)
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่