ไม่ยึด ก็ไม่ติด... คำสอนสุดท้าย"พระมิตซูโอะ คเวสโก"

กระทู้ข่าว
โดย ศุภกาญจน์ เรืองเดช

"เป็นเรื่องจริงหรือฝันร้ายเจ้าคะที่ข่าวท่านลาสิกขา เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของพระป่า"

"มีคนมาบอกว่า หลวงพ่อมิตซูโอะสึกแล้ว และไปอยู่ต่างประเทศแล้ว เท็จจริงแค่ไหนคะ"

"ท่านลาสิกขาไปไหน"

"ขอให้กลับมานะครับผมจะรอ"

"วันนี้ร้องไห้ เสียใจที่หลวงพ่อท่านตัดสินใจแบบนี้... สมัยตอนบวชกับท่าน ถึงแม้นจะทำได้ไม่ดีแต่ก็ได้คำสอนส่วนตัว ที่หลวงพ่อท่านให้ไว้ใช้ มาใช้ประโยชน์ได้เสมอ ผมรักและเคารพหลวงพ่อท่านเหลือเกิน"

ถ้อยความเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนที่โพสต์ไว้บน หน้าแฟนเพจเฟซบุ๊กของพระอาจารย์มิตซูโอะ ที่มีผู้กดไลค์เกือบ 9 หมื่นคน ทั้งจากบรรดาลูกศิษย์ลูกหา รวมถึงผู้ที่มีจิตใจศรัทธาในตัวพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม จ.กาญจนบุรี หลังทราบข่าวว่าการลาสิกขาแบบกะทันหันและเดินทางไปต่างประเทศ โดยไม่มีกำหนดกลับ

แม้ข้อเท็จจริงยังไม่กระจ่างนักในช่วงแรก จนมีข่าวลือถึงสาเหตุการลาสิกขาต่างๆ นานา เช่น ปัญหาสุขภาพ ความอึดอัดใจกับพุทธพาณิชย์ เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นต้น

ทว่า การสึกของอดีตภิกษุชาวญี่ปุ่นรูปนี้ ยังคงสะเทือนสะท้อนก้องอยู่ในใจเหล่าลูกศิษย์ไม่น้อย

ภาพติดตาของพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่มีต่อพระอาจารย์มิตซูโอะ คือ การเป็นพระนักแสวงหาและเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของพระโพธิญาณเถร หรือหลวงพ่อชา สุภทฺโท พระป่าสายปฏิบัติผู้ก่อตั้งวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

หลังจากมิตซูโอะ ชิบาฮาชิ เรียนจบไฮสคูลจากโรงเรียนในจังหวัดอิวาเตะ ซึ่งเป็นบ้านเกิดแล้วจึงทำงานเก็บเงิน กระทั่งอายุ 20 ปีจึงท่องโลกเพื่อหาความหมายของชีวิต ทั้งอินเดีย เนปาล อิหร่าน ยุโรป กระทั่งเดินทางมายังประเทศไทยและบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ได้นาน 3 เดือนจึงไปกราบหลวงพ่อชา สุภทฺโท ตามที่มีคนแนะนำ ในที่สุดจึงอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2518 มีฉายาว่า "คเวสโก" หมายถึง "ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง"

นอกจากนี้ พระอาจารย์มิตซูโอะยังเป็นผู้บุกเบิกวัดป่านานาชาติ ชื่อว่า "วัดป่าสุนันทวนาราม" อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งชาวพุทธนิยมเดินทางไปทำบุญและเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมจำนวนมาก และริเริ่มมูลนิธิมายา โคตมี ที่ให้การช่วยเหลือทุนการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาสในอุบลราชธานี กระทั่งลาสิกขาในวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา

แม้หลายคนเสียใจต่อเหตุการณ์นี้ แต่ยังมีอีกหลายคนที่มองว่าเป็นการสอนหลักธรรมะอย่างหนึ่ง

"ถึงพระอาจารย์จะลาสิกขา แต่สำหรับผม พระอาจารย์ก็ยังคงเป็นพระอาจารย์เหมือนเดิมครับ ธรรมะอยู่ที่ใจครับ ไม่ใช่การแต่งตัวครับ"

"ไม่รู้นะ เราไม่มีความคิดว่าท่านจะลาจากพระพุทธศาสนา แต่เชื่อว่าท่านลาสิกขาเพื่อเข้าถึงคนบางกลุ่มได้ง่ายขึ้น เมืองไทยมีพระดี มีที่พึ่งทางใจมากมายแล้ว ท่านคงอยากไปเผยแพร่การปฏิบัติให้คนญี่ปุ่น ที่ที่สังคมยังต้องการการเยียวยาและที่พึ่งทางจิตใจมากๆ คนญี่ปุ่นไม่ค่อยเข้าวัด จะเข้าก็ต่อเมื่อทำพิธีกรรมต่างๆ และเมื่อตาย ซึ่งคงช้าไปหากจะปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์อย่างแท้จริง การที่ท่านเลือกวิธีเข้าถึงคนญี่ปุ่นลักษณะนี้ อาจเจออุปสรรคและต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างรากฐานการปฏิบัติให้เหมือนในเมืองไทย แต่เชื่อว่าสิ่งที่ท่านจะทำต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงต่อมวลมนุษย์ ขออนุโมทนา และเป็นกำลังใจให้ท่านให้ประสบความสำเร็จด้วยใจจริงค่ะ"

"แด่ พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก หนูศรัทธาในความดีงามที่พระอาจารย์ได้เมตตาชาวไทย ชาวพุทธมาโดยตลอด คุณความดีของพระอาจารย์ และธรรมะที่ถ่ายทอดจากองค์พระศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะโดยวัตรปฏิบัติที่งดงาม และทางวัตถุธรรมที่เผยแผ่ออกมา เพื่อให้ชาวพุทธทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข "สุขภาพใจดี" จะคงอยู่ในความทรงจำของหนูตลอดไป เชื่อเหลือเกินว่า ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาท หรือสถานภาพใดๆ พระอาจารย์คือผู้ที่ช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป... ด้วยความศรัทธาไม่เสื่อมคลาย"

จากความหลากหลายทางความคิดเห็นทั้งจากสื่อออฟไลน์และสื่อออนไลน์ จึงถามไถ่ไปยัง *อาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์* รองผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์หัวหิน ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา ว่ามีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับกรณีนี้

อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ แสดงความเห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องปกติ แต่การที่พระผู้มีชื่อเสียงโด่งดังสึกออกไปอาจเป็นเรื่องที่น่าตกใจ หรืออาจมีคนกังวลว่าศาสนาพุทธในไทยจะเสื่อมและอื่นๆ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 4 เป็นภิกษุผนวช ซึ่งพระองค์เป็นภิกษุชื่อดังกว่าพระอาจารย์มิตซูโอะเสียอีก พระองค์ท่านบวชนานถึง 27 พรรษาและเป็นผู้ปฏิรูปพุทธศาสนา ตั้งนิกายธรรมยุต กระทั่งลาสิกขาเพื่อขึ้นครองราชย์ สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนากล่าวต่อไปว่า อยากให้มองว่าพุทธศาสนาจะเจริญนั้นไม่ได้อยู่ที่พระดังหรืออยู่ที่สถาบันสงฆ์ แต่อยู่ในวิถีชีวิตของชาวพุทธ พระพุทธศาสนาอยู่ที่ความเข้าใจของเรา อยู่ในการศึกษาและการปฏิบัติ ไม่อยากให้ยึดติดกับพระหรือสถาบันสงฆ์ แต่เนื่องจากชาวพุทธในไทยคิดแบบนี้กันมานาน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกอยากพึ่งพาพระมากขึ้น

"ผมเข้าใจว่าที่ศรัทธา คนที่ใกล้ชิด เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็เป็นเรื่องปกติที่จะเสียดายและเสียใจ แต่ผมคิดว่าเมื่อเราเคารพท่าน ก็ควรนำคำสอนของท่านมาปฏิบัติ นำมาอยู่กับเราดีกว่า เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้ายังเคยกล่าวไว้ว่า "แม้แต่คนที่อยู่กับพระองค์เอง ถ้าไม่ทำตามคำสอนพระองค์ก็ไม่มีความหมาย" นั่นเพราะท่านสอนให้คนเราใช้สติปัญญาของตัวเอง พึ่งตัวเอง เพื่อให้ชีวิตตัวเองดีงาม" อ.สุรพศกล่าว

และว่า การสึกของพระอาจารย์มิตซูโอะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะทางวินัยไม่ได้ห้าม การเป็นฆราวาสก็สามารถปฏิบัติธรรมและศึกษาธรรมะได้เหมือนกัน เมื่อท่านมิตซูโอะสึกไปอาจไปเปิดสำนักปฏิบัติธรรม สอนกรรมฐานเอง และอาจทำได้ดีกว่าการเป็นพระที่มีวินัยสงฆ์เป็นข้อจำกัด การเป็นฆราวาสอาจได้ใกล้ชิดปัญหาและเข้าใจปัญหาของคนทางโลกได้มากกว่าการเป็นพระก็ได้

ไม่ว่าอดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนารามจะตัดสินใจลาสิกขาด้วยเหตุผลใดก็ตาม การตัดสินใจครั้งนี้ย่อมเกิดจากการคิดและตรึกตรองดีแล้วด้วยดุลพินิจของท่านเอง เราในฐานะพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง ต้องเคารพในการตัดสินใจของท่าน

สำหรับคนที่ยังรู้สึกเสียดายหรือเสียใจ ลองมองอีกมุมหนึ่งคงไม่เสียหาย ว่าการลาสิกขาของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ครั้งนี้ถือเป็นคำสอนสุดท้ายในฐานะภิกษุ ที่ย้ำเตือนให้เราชาวพุทธตระหนักว่า ทุกอย่างบนโลกใบนี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรเที่ยงแท้และคงสภาพเดิมอยู่ตลอดกาล เว้นแต่ความดีที่ได้สร้างไว้

เฉกเช่นความดีและคำสอนของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ที่จะอยู่ในใจของศิษยานุศิษย์และผู้ศรัทธาตลอดไป

หน้า 20,มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2556
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่