[เสียงคนวงนอก] Man of Steel : ทุกอย่างเริ่มต้นที่ “ครอบครัว”

[เสียงคนวงนอก] Man of Steel : ทุกอย่างเริ่มต้นที่ “ครอบครัว”


โดย : TonyMao_NK51
E-Mail : tonymao_nk51@hotmail.com
FaceBook : TonyMao Nk

“ช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าดีงามหรือเลวร้าย สิ่งใดก็ตามที่มนุษย์คนหนึ่งได้รับรู้ในช่วงเวลาดังกล่าว สิ่งนั้นมักจะติดตัวมนุษย์คนนั้นไป ตราบจนสิ้นอายุขัยของเขา”

ผู้เขียนไม่รู้หรอกว่าใครเป็นคนเริ่มกล่าวประโยคนี้เป็นคนแรก แต่ไม่ว่าจะเป็นใคร มันคงไม่สำคัญเท่าคำกล่าวนั้นเป็นจริงหรือไม่? ซึ่งกาลเวลาและประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้พิสูจน์แล้วว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความจริงเสียส่วนใหญ่ หลักฐานที่เป็นข้อพิสูจน์ก็คือ..มีการยอมรับกันว่าเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ดี ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ย่อมมีโอกาสที่จะกลายเป็นคนที่มีจิตใจดีงาม เป็นพลเมืองที่ดี มากกว่าเด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย

แน่นอนว่าครอบครัวที่ดี ไม่ได้หมายถึงครอบครัวที่ร่ำรวย ไม่ได้หมายถึงครอบครัวที่พ่อแม่ - ญาติพี่น้องจบการศึกษาระดับสูง ไม่ได้หมายถึงครอบครัวที่สมาชิกทุกคนประกอบอาชีพที่ได้รับความนับหน้าถือตาในสังคม

แต่เป็นครอบครัวแบบใดก็ได้ ที่พ่อแม่ – ผู้ปกครองสามารถเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้กับบุตรหลาน และพร้อมที่จะประคับประคอง ในเวลาที่บุตรหลานของเขารู้สึกสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวัยรุ่น ที่เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ( และแรงบันดาลใจ เกิดขึ้นจากการพบเห็นการกระทำ ไม่ใช่แค่การสอนด้วยคำพูด )

ท่านผู้อ่านไม่ต้องงงนะครับ ถึงยังไงบทความนี้ก็ยังพูดถึงภาพยนตร์อยู่ ซึ่งวันนี้ผู้เขียนพูดถึง Man of Steel หรือก็คือการนำเอา “บักอึดถลาลม” ( มีคนบอกผู้เขียนว่า ที่ประเทศลาวเขาเรียก Superman กันแบบนี้ จริงหรือเปล่าไม่รู้? ) ซุปเปอร์แมน ตัวการ์ตูนที่เป็นมากกว่าแค่การ์ตูน หรือพูดง่ายๆ ก็คือบุรุษในชุดน้ำเงิน สวมกางเกงในสีแดงไว้ข้างนอกกางเกง ( แต่ภาคนี้ไม่มีเอกลักษณ์ดังกล่าวแล้ว ) มีอิทธิฤทธิ์ทุกด้านในระดับสุดยอด ทั้งเหาะเหิรเดินอากาศ พละกำลังมหาศาล อ่านใจคน หูทิพย์ตาทิพย์ ฯลฯ ผู้นี้ เป็นเหมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของอเมริกันชน คนบนผืนแผ่นดินเสรี

33 ปีก่อน บนดาวไซย่า..เอ๊ย!ไม่ใช่ละ ผิดเรื่องๆ บนดาวคริปตัน โลกของชนเผ่าที่แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาลกำลังจะล่มสลาย เกิดความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำของอาณาจักร ว่าด้วยเรื่องอนาคตของเผ่าพันธุ์คริปตัน ระหว่าง 2 ผู้นำทหารอย่าง Jor - El กับนายพล Zod ฝ่ายแรกเชื่อว่าชาวคริปตันสามารถอยู่ร่วมกับเผ่าพันธุ์ท้องถิ่นบนดาวที่จะอพยพไปอย่างสันติ ขณะที่ฝ่ายหลังเชื่อว่าต้องทำลายล้างเผ่าดั้งเดิมให้หมด เพื่อให้ดาวดวงใหม่เป็นบ้านของชาวคริปตันอย่างสมบูรณ์..แน่นอนว่าหวยมาออกที่โลกมนุษย์ตามเคย

ระหว่างการต่อสู้ ในวันที่นายพล Zod พยายามยึดอำนาจจากสภาคริปตัน Jor – El ได้ส่งทารกน้อย Kal – El เล็ดรอดออกจากดาวคริปตันที่กำลังพินาศไปได้  ท้ายที่สุดฝ่ายนายพล Zod แพ้ จากคณะปฏิวัติก็กลายเป็นกบฏ ซึ่งโทษคือถูกส่งไปจองจำในภพภูมิที่มืดมิดที่สุด เท่าที่เราจะจินตนาการไปถึง ( ผู้เขียนขอแปลคำว่า Phantom Zone แบบนี้ละกันนะครับ เข้ากับคติพุทธแบบไทยๆ ดี )

กลับมาที่ Kal – El เด็กน้อยผู้ไม่มีโอกาสแม้แต่จะจำใบหน้าพ่อแม่ของตน เด็กน้อยที่อยู่ในสภาพเคว้งคว้าง

ไม่ใช่แค่เคว้งคว้างที่หมายถึงการล่องลอยในอวกาศ แต่เป็นเคว้างคว้างในฐานะ “คนแปลกแยก” ที่หาสาเหตุไม่ได้ ว่าอะไรทำให้เขาแตกต่างจากมนุษย์คนอื่นๆ ทั้งที่รูปร่างหน้าตานั้นก็ไม่มีอะไรต่างกัน..และเป็นธรรมดา เมื่อใครคนหนึ่งรู้สึกแปลกแยก เขาก็มักจะรู้สึกสับสน และกลายเป็นเด็กมีปัญหาไปด้วย  

แต่ก็อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้น ไม่มีอะไรประคับประคองชีวิตคนๆ หนึ่ง ได้ดีไปกว่าครอบครัวที่อบอุ่น ซึ่งเป็นโชคดีไม่น้อย ที่ยานลี้ภัยทารกจากดาวคริปตัน ไปตกในไร่ของครอบครัว Kent สองสามีภรรยาที่เป็นคนดี ทั้งคู่ได้ทำทุกอย่าง เพื่อให้เด็กที่ไม่ธรรมดาผู้นี้ รู้สึกว่ายังมีที่พึ่ง ยังมีความรักความเข้าใจ และสามารถเชื่อมั่น – เชื่อถือในความดีงามของมนุษยชาติได้

หาก Peter Parker เติบโตมาด้วยความมุ่งมั่นอยากช่วยเหลือผู้คน เพราะการอบรมสั่งสอน และเป็นแบบอย่างที่ดีมาตลอดของลุง Ben และป้า May จนกลายมาเป็น Spiderman แล้ว

แน่นอนว่า ที่ Kal – El หรือ Clark Kent แม้จะมีความสับสนในใจตนเองบ้าง แต่ท้ายที่สุดก็ไม่เคยละทิ้งการช่วยเหลือผู้คน จนกลายมาเป็น Superman ก็เพราะการอบรมสั่งสอน และเป็นแบบอย่างที่ดีมาตลอดของ Jonathan กับ Martha ที่เป็นพ่อแม่บุญธรรมของเขาเช่นกัน

( เป็นความบังเอิญที่ผู้เขียนว่าแปลกดีครับ ทั้งคู่เป็น Superhero ที่ชุดมีสีคล้ายๆ กันคือแดง – น้ำเงิน , ทำงานในสายงานเดียวกัน Peter Parker เป็นช่างภาพ ส่วน Clark Kent เป็นผู้สื่อข่าว และทั้งคู่ยังเป็นเด็กกำพร้า ที่โตมาในครอบครัวที่อบอุ่น จนหล่อหลอมให้กลายเป็นคนดีเหมือนกันด้วย แน่นอนว่าทั้งคู่อยู่คนละค่าย ไอ่แมงมุมอยู่กับ Marvel ส่วนบักอึดถลาลมอยู่กับ DC )

ผู้เขียนชอบบทสนทนาในฉากที่ Clark Kent ไปถามบาทหลวงที่โบสถ์ ว่าจะยอมสละตัวเองให้นายพล Zod จับตัวไปดีหรือไม่? ( เนื่องจากนายพล Zod ประกาศว่าถ้า Kal – El / Clark Kent ไม่มามอบตัวใน 24 ชั่วโมง จะฆ่ามนุษย์ให้หมดโลก ) เพราะใจหนึ่งก็อยากจะปกป้องมนุษย์ แต่อีกใจหนึ่งก็สงสัยว่ามนุษย์ไว้ใจได้จริงหรือ

“Zod เชื่อถือไม่ได้ แต่มนุษย์ไว้ใจได้หรือ?” Clark ถามบาทหลวง

บาทหลวงตอบ “ก่อนจะไว้ใจ ต้องมีศรัทธา ศรัทธาทำให้เกิดความเชื่อมั่น”

ตรงนี้ผู้เขียนขอเดาเอาเอง ว่าคำว่า “ศรัทธา” นั้นหมายถึง..แม้ชีวิตของ Kal – El / Clark Kent จะเต็มไปด้วยความรู้สึกแปลกแยก คนรอบตัวหลายคนหวาดกลัวเขา หรือบางคนก็เคยรังแกเขา ( ซึ่งเขาเลือกที่จะไม่สู้ เพราะไม่งั้นคงร้ายแรงถึงชีวิตเนื่องด้วยยังไม่สามารถควบคุมพลังได้ ) ความรู้สึกแบบนี้มันคงเจ็บปวดไม่น้อย หากไม่ได้รับความห่วงใย เอาใจใส่จากครอบครัว Kent มาตลอดหลายปี ดังนั้นเมื่อได้เห็นตัวอย่างดีๆ เช่นนี้ตั้งแต่เล็กจนโต จึงยังมีความรู้สึกโดยรวมว่ายังศรัทธาในความดีงามของมนุษย์อยู่ ( แม้จะเจอคนเลวๆ นิสัยแย่ๆ บ้าง แต่ก็ยังมีคนดีๆ นิสัยดีๆ อีกมากมาย เราจึงไม่อาจเหมารวมมนุษย์ได้ในทางใดทั้งหมด – ผู้เขียน )

สำหรับ Man of Steel น่าจะถือเป็น Superman ที่ถูกฉายภาพในด้านของ “มนุษย์คนหนึ่ง” มากที่สุด มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีความรู้สึกสับสน รัก และโกรธ ไม่ต่างจากคนทั่วๆ ไป นอกเสียจากพลังวิเศษที่มีเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะดูรายชื่อทีมงานแล้ว ทั้ง Christopher Nolan ที่เพิ่งปิดตำนานไตรภาค Hero ร่วมค่าย DC อย่าง Batman : The Dark Knight Rise ไปเมื่อปีก่อน ที่ครั้งนี้ก็ยังลากเอา David S. Goyer มือเขียนบทคู่บุญ ที่ร่วมกันทำ Batman ตลอด 3 ภาค มาเขียนบทให้ Superman ด้วย ดังนั้นเนื้อเรื่องจึงเข้มข้นแน่นอน

แต่คนที่น่าจะดีใจที่สุด น่าจะเป็น Zack Snyder ที่หลังจากทำหนังในตำนานอย่าง “300” (ใช้คำว่าตำนานได้แน่ๆ เพราะมีคนเอาฉากกับตัวละครใน 300 ไปล้อเลียนเยอะมาก พอๆ กับ Star Wars , Alien , Predator หรือ Terminator ) หนังเรื่องอื่นๆ ต่อมาก็เข้าข่าย “แป้ก” ไม่ว่าจะเป็นหนัง Hero เครียดๆ งงๆ อย่าง Watchmen , อนิเมชั่นสงครามนกฮูกอย่าง Legend of the Guardians : The Owls of Ga’Hoole หรือเรื่องคนไข้ในโรงพยาบาลบ้า หาทางหนีออกไปแบบบู๊แหลก อย่าง Sucker Punch จนวันนี้ถือว่าแก้ตัวได้สำเร็จ เพราะหนังได้ทั้งรายได้ และคำชมอย่างล้นหลามทีเดียว

โดยเฉพาะฉากต่อสู้ที่หลายคนบอกว่า..อืม! นี่แหละมันถึงจะเชื่อได้ว่าระดับเทพสู้กัน ต่อยกันทีต้องพังตึกเป็นหลังๆ เอาให้บ้านเมืองวินาศสันตะโรให้หมด เรียกว่าการต่อสู้ของสิ่งมีชีวิตระดับนี้ ต้องทำให้เชื่อได้ว่าโลกสามารถพินาศได้ในพริบตา จากพลังเหนือขีดจำกัดที่มนุษย์ทั่วไปจะเข้าใจ ( ดีว่า Man of Steel ไม่มีปล่อยพลัง เพราะถ้าชาร์จพลังยิงกันมันจะกลายเป็น Dragonball แทน หลายฉากนี่แอบคิดไปว่าทีมงานเขาได้แรงบันดาลใจจาก DBZ ตอนเบจิต้า & นัปปะบุกโลกหรือเปล่า? ) อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่มีฉากที่เป็นลายเซ็นต์ของ Snyder หรือก็คือฉากต่อสู้กันแบบ Slow Motion ที่ค่อยๆ เห็นทุกอิริยาบถของตัวละครในการออกอาวุธ ทั้งที่ผ่านๆ มา หนังเรื่องอื่นๆ ของเขาจะมีฉากดังกล่าว ที่ถิอว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะเสมอ

( ถึงกระนั้น..ฉากที่ Clark Kent ไปช่วยคนบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน สภาพหนวดเครารุงรังพร้อมกับกล้ามเป็นมัดๆ แบบนั้น ก็ทำให้นึกถึง Leonidas ใน 300 อยู่เหมือนกัน )

นอกจาก Henry Cavill กับ Amy Adams ที่เป็นพระ – นาง ( Clark Kent กับ Lois Lane ) แล้ว ยังมีดารารุ่นใหญ่ 2 คนที่รู้จักกันดีอย่าง Russell Crowe ในบท Jor – El ( เชื่อละ!..แกเหมาะกับบทแม่ทัพ , นักรบ หรือผู้นำจริงๆ ตั้งแต่ Gladiators แล้ว ) กับ Kevin Costner ( หลายคนคงยังจำได้กับ Dances with Wolves และ The Bodyguard ) ในบท Jonathan Kent มารับบทเป็นบิดา 2 คนของ Superman คนแรกเป็นพ่อจริงๆ ส่วนคนหลังเป็นพ่อบุญธรรม ซึ่งถือว่าดีมากที่ได้ทั้งคู่มารับบทดังกล่าว เพราะทั้ง Jor – El และ Jonathan Kent ถือเป็นตัวละครที่สร้างแรงบันดาลใจบางอย่าง ให้ Kal – El / Clark Kent เลือกเดินบนเส้นทางที่ถูกที่ควร ดังนั้นการได้นักแสดงที่หลายคนชินตาในบทนักรบ , ผู้นำที่ดูยิ่งใหญ่มาแสดง ยิ่งทำให้หนังมีน้ำหนักมากขึ้น รวมทั้ง Michael Shannon นักแสดงที่ชื่อไม่คุ้นหูคนไทยมากนัก ในบทนายพล Zod ตัวร้ายที่จะว่าไปแล้วหลายคนคงโกรธไม่ลง เพราะทั้งหมดเขาทำ ก็เพื่อให้เผ่าพันธุ์คริปตันอยู่รอด เรียกว่ายึดมั่นในหน้าที่ยิ่งชีพสมกับเป็นทหาร ( เพียงแต่ใช้วิธีรุนแรงเท่านั้นเอง )

โดยรวมแล้วถือเป็นหนัง Superhero ของเด็กๆ ที่เนื้อเรื่องไม่เด็กเลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้น เด็กก็ยังพอดูได้ เพราะไม่ได้มีฉากโหดๆ เลือดสาดแต่อย่างใด ( แต่ไม่แนะนำดีกว่า เพราะกับเด็กเล็กๆ อาจจะเข้าใจยากเกินไปก็ได้ ) ดังนั้นไม่ควรพลาดครับ

ก่อนจะจบบทความหนนี้ อย่างที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด คือครอบครัวที่ดีอาจไม่ได้อยู่ที่ขนาด ความหรูหรา ระดับฐานะทางสังคม ฯลฯ แต่อยู่ที่ความเข้าอกเข้าใจ และช่วยกันประคับประคองคนกันและกัน ให้เดินไปในในทางที่เหมาะสม อย่างที่ใครก็ไม่รู้ ( อีกแล้ว ) ชอบพูดว่า “ถึงบ้านมันจะเล็ก แต่มันก็คือบ้าน ถึงครอบครัวจะไม่ใหญ่โต แต่ก็เป็นครอบครัวที่มีความสุข”

ผู้เขียนจึงฝากคำถาม ถึงทุกท่านครับ..ว่า “วันนี้ ท่านสามารถเป็นแบบอย่างที่ดี แก่ลูกหลานท่านได้แล้วหรือยัง?”

แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า..สวัสดีครับ

…………………….

ปล.ส่วนผู้อ่านไม่ต้องย้อนถามคำถามเดียวกันกับผู้เขียนนะครับ รู้ๆ กันว่าผู้เขียนหมดสภาพจะไปเป็นแบบอย่างที่ดีกับใครได้นานแล้ว ( เอ้า!..จัดไป “คนหลงทาง – Big Ass” )

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่