วิจารณ์: Man of Steel

“S” บนหน้าอกของคาลเอลหรือคลาร์ก เคนท์ ตัวละครพระเอกในหนัง Man of Steel ไม่ได้หมายถึงอะไรที่สุดยอดเหนือมนุษย์ แบบที่เราเคยเข้าใจกันมาตลอดตามที่โลอิส เลน เคยตั้งชื่อให้เขาว่า “ซูเปอร์แมน” จากสัญลักษณ์ต่างดาวคล้ายตัวเอสที่ใช้แทนตระกูลเอลบนหน้าอกเสื้อในหนังฉบับริชาร์ด ดอนเนอร์ แต่ในหนังฉบับใหม่นี้ จากการกำกับโดยแซ็ค สไนเดอร์ และจากบทหนังของเดวิด โกเยอร์  “S” ตัวนี้เป็นตัวอักษรดาวคริปตันที่ใช้แทนคำว่า “ความหวัง”

ความหมายใหม่ของ “S” ใน Man of Steel เป็นการบอกตรงๆ ว่า นี่จะเป็นการปรับโฉมใหม่ และยกเครื่องใหม่ให้แก่ซูเปอร์ฮีโร่ตัวแรกๆ ของโลก ที่มีอายุกว่า 75 ปี  การยกเครื่องใหม่ให้ซูเปอร์แมนเป็นจุดประสงค์สำคัญของผู้สร้างหนังซึ่งน่าจะเป็นการออกแบบของคริสโตเฟอร์ โนแลน ที่รับหน้าที่อำนวยการสร้าง และเคยปรับโฉมใหม่ให้มนุษย์ค้างคาวมาแล้วสำเร็จ โดยร่วมมือกับโกเยอร์ที่รับหน้าที่เขียนบท เพื่อให้ซูเปอร์แมนมีความน่าสนใจสำหรับผู้ชมรุ่นใหม่ ดูทันสมัยเข้ากับยุค 2000 ที่ตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ต้องเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จุดประสงค์นี้เป็นสิ่งที่ Man of Steel ทำได้ประสบความสำเร็จอย่างดี แต่แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ยังต้องถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์อื่นด้วย เพราะขณะที่มันต้องยกเครื่องใหม่และเล่ากำเนิดใหม่ มันต้องสร้างความบันเทิงแบบหนังซูเปอร์ฮีโร่ประจำซัมเมอร์ได้ และหนังเรื่องนี้ก็ยังพยายามจะเป็นหนังซัมเมอร์ที่ต้องลึกซึ้งและซับซ้อนด้วย มันเหมือนผู้สร้างพยายามให้หนังทำหน้าที่หลายสิ่ง หลายหน้าที่ แต่แบ่งเวลาให้การทำหน้าที่บางอย่างน้อยไป หรือไม่ก็อาจเป็นการทำหลายหน้าที่เกินไป แต่เวลาไม่พอ บางหน้าที่ทำได้แค่ผ่านๆ บางหน้าที่ก็ไปขัดขาอีกหน้าที่ ภาพรวมของหนังจึงทำได้เพียงแค่น่าพอใจ แต่ยังไม่รู้สึกว่าเต็มอิ่มพอ

ซูเปอร์แมนน่าจะเป็นตัวละครแรกๆ ที่เรานึกขึ้นมาเลยก็ได้เมื่อพูดถึงซูเปอร์ฮีโร่ เพราะการตีความตัวละครที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่ ทำให้เรารู้สึกเหมือนเขาเป็นซูเปอร์ฮีโร่จริงๆ เป็นซูเปอร์วีรบุรุษ ซูเปอร์มนุษย์ เหาะได้ แข็งแรงมหาศาล เป็นตัวละครที่ทำให้ผู้คนอยากเป็นแบบนั้นบ้าง เป็นตัวละครที่ทำให้เด็กน้อยอยากเอาผ้ามาผูกหลังเป็นผ้าคลุมแล้วทำท่าเหาะตาม เป็นซูเปอร์แมนที่อบอุ่น โรแมนติก ชวนฝัน มีอารมณ์ขันในบางครั้ง เป็นขวัญใจของทั้งชายและหญิง แต่ความรู้สึกเหล่านั้นแทบไม่มีเหลือในซูเปอร์แมนฉบับ Man of Steel ซึ่งมันมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง

คาลเอลในฉบับใหม่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นคนเดินดินมากขึ้น จับต้องได้มากขึ้น มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ได้ซูเปอร์ดีหรือเก่งสุดตัวโต่ง ขณะที่บุคลิกก็ดูเท่ สับสน เก็บกด อมทุกข์ ลึกลับ ซึ่งผู้สร้างทำแบบนี้ได้โดยการตัดความรู้สึกว่าเขาเป็นตัวละครจากหนังสือการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ออกไป หรือตัวละครแบบความฝันในวัยเด็กออกไป และใส่ความเป็นตัวละครที่เหมือนมาจากนิยายวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเอเลี่ยนแทน และทำได้อย่างพอเหมาะตรงที่ไม่เปลี่ยนโฉมจนเราไม่รู้สึกว่าไม่มีความเป็นซูเปอร์แมนเหลืออยู่เลย เขายังมีดีเอ็นเอของซูเปอร์แมนอยู่ เรายังดูออกว่านี่คือซูเปอร์แมน เพียงแต่ความรู้สึกที่มีต่อซูเปอร์แมนคนนี้ต่างออกไป มันอาจไม่โดนใจคนที่ชอบซูเปอร์แมนแบบฮีโร่จ๋านัก แต่ก็อาจถูกใจคอหนังรุ่นใหม่ที่อยากได้ตัวละครที่จับต้องได้มากขึ้น และเฮนรี่ คาวิลล์ ก็สวมบทบาทนี้ได้ดี มีการแสดงเหมาะสมกับบทที่ได้มา

การใช้ความเป็นนิยายวิทยาศาสตร์มาจับตัวละครซูเปอร์แมนเป็นแนวทางที่สร้างสรรค์  เราจะเห็นได้ว่าหนังใช้เวลาเกือบครึ่งเรื่องได้ในการพยายามอธิบายหลายอย่างเกี่ยวกับตัวคาลเอลในแบบที่หนังจากนิยายวิทยาศาสตร์มักทำ ตั้งแต่ว่าเขาเป็นใคร พ่อแม่เป็นใคร มาจากไหน มาได้ยังไง ทำไมมีพลังพิเศษ ชุดที่ใส่มาจากไหน ตัวเอสคืออะไร ละเอียดถึงขั้นสังคม การปกครอง และเทคโนโลยีบนดาวคริปตัน ซึ่งโทนของความเป็นนิยายวิทยาศาสตร์นี้ปกคลุมหนังทั้งเรื่องจนบางขณะทำให้เรารู้สึกว่าดู Star Trek อยู่ และตัวละครต่างดาวเหล่านี้อาจเป็นชาวคลิงออนหรือวัลแคนที่มาอยู่บนโลก มากกว่าเรากำลังดูหนังซูเปอร์ฮีโร่ แต่มันก็มีข้อดีในแง่ที่ว่ามันมีประสิทธิภาพอย่างมากในแง่การดึงให้คาลเอลดูเป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อ เป็นการทำให้รู้สึกว่าตัวละครเช่นนี้สามารถมีอยู่จริงบนโลกนี้ได้ เป็นการสร้างโลกของตัวละครนี้ขึ้นมาใหม่ในแบบที่เราสามารถเข้าถึงโลกแหน่งนี้ และเปิดทางให้มีตัวละครอื่นที่อาจเป็นทั้งซูเปอร์ฮีโร่และวายร้าย ให้เข้ามาอยู่ร่วมด้วยได้ในอนาคตได้อย่างไม่ขัดเขิน เป็นการทำให้การยกเครื่องใหม่ให้ตัวละครได้สมบูรณ์แบบจริงๆ

การสร้างความรู้สึกใหม่ให้ตัวละคร และการสร้างโลกแบบใหม่ให้ตัวละครซูเปอร์แมนก็ยังเข้ากันดีกับอีกหน้าที่หนึ่งของหนังที่พยายามจะเป็นด้วย นั่นก็คือเล่าจุดกำเนิดใหม่คล้ายกับการทำหน้าที่เป็นภาคต้นของหนัง Superman ที่เคยมีมา ให้ความรู้สึกเหมือนเป็น Superman Begins และบอกว่าทำไมตัวละครนี้ทำไมยังไม่อบอุ่น โรแมนติก ยังไม่เป็นซูเปอร์ฮีโร่ขวัญใจชาวประชา เพราะเขายังเป็นคนที่สับสนชีวิตอยู่ เขาไม่รู้ว่าทำไมถูกส่งมาบนโลกใบนี้ ยังรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยก เป็นตัวประหลาด และทำไมเขายังต้องปกปิดตัวเอง ซึ่งส่วนนี้ของหนังเล่าผ่านการใช้วิธีย้อนอดีต

ขณะที่คลาร์ก เคนท์ วัยหนุ่ม 33 ใช้ชีวิตอย่างเร่ร่อน เพราะยังสับสนถึงจุดประสงค์ของชีวิตและฐานะของตัวเองบนโลกใบนี้ และแอบช่วยเหลือคนในบางครั้งที่มีโอกาส หนังย้อนให้เราดูเป็นระยะๆ ว่า เขามีวัยเด็กที่ลำบากเพียงใดในการพยายามทำให้ตัวเองดูเป็นมนุษย์ธรรมดามากที่สุด แต่โชคยังดีที่เขามีพ่อแม่บุญธรรมอย่างโจนาธาน และมาร์ธา เคนท์ ผู้ที่ใจดี ใจเย็น เมตตา อบอุ่น ให้ความรัก และฉลาดในการเลี้ยงดู หนังให้เราได้เห็นว่าคาร์กได้ความอดทน ความมีเมตตา ความเป็นคนดีมาจากการอบอรมเลี้ยงดูของครอบครัวนี้

โจนาธานเชื่อว่าคลาร์กคือสิ่งที่พิเศษที่ถูกส่งมาเพื่อโลกใบนี้ แต่เขาก็กลัวว่าโลกยังไม่พร้อมสำหรับการมีอยู่ของซูเปอร์แมน “คนเรามักจะกลัวในสิ่งที่ไม่เข้าใจ” เป็นเหตุผลที่โจนาธานบอกคลาร์กในการให้พยายามปกปิดตัวเอง และโจนาธานก็เสียสละตัวเองอย่างใหญ่หลวงเพื่อช่วยปกปิด ซึ่งการแสดงของทั้งเควิน คอสเนอร์ กับไดแอน เลน ในบทนี้ รวมถึงบทหนังในส่วนนี้ทำให้เราหลงรักตัวละครคู่นี้อย่างมาก เมื่อมีฉากที่ต้องซาบซึ้งและสะเทือนอารมณ์อันเกี่ยวกับตัวละครคู่นี้ เราจะอดน้ำตาซึมไปด้วยไม่ได้ น่าจะเป็นอารมณ์เดียวของหนังเรื่องนี้ที่เรารู้สึกว่าทำได้ถึงที่สุด แต่น่าเสียดายที่หนังยังทำให้เรารู้สึกรักในตัวละครคลาร์ก เคนท์ ไม่ได้เท่านี้

คลาร์ก เคนท์ ใน  Man of Steel เป็นเพียงแค่คนที่เราได้รู้จัก ได้รู้ปูมชีวิต และรู้ว่าเขามีปัญหาชีวิตอะไร รู้ว่าเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือน“คนนอก” แต่หนังก็ยังขยี้ประเด็นปมความรู้สึกนี้ได้ไม่มากพอจนทำให้เราได้เข้าไปในใจเขาจริงๆ เรายังไม่เข้าถึงอารมณ์โดดเดี่ยวเดียวดายของเขาจนทำให้อยากสงสาร อยากเอาใจช่วย หรืออยากเป็นพวกเดียวกัน ที่จริงประเด็นทางอารมณ์คล้ายกันนี้ก็เคยถูกนำเสนอมาก่อนในหนังซูเปอร์ฮีโร่เรื่องอื่น เช่น X-Men ของไบรอัน ซิงเกอร์ และ X-Men: First Class ของแมทธิว วอห์น ที่พยายามปรับตัวให้เข้ากับมนุษย์ หรือพยายามให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งหนังทั้งสองเรื่องทำได้ในระดับที่เรารักตัวละครเหล่านั้นได้ รู้สึกร่วมกับตัวละครเหล่านั้นได้ และเอาใจช่วยให้พวกเขาเอาชนะอุปสรรคและกอบกู้โลกสำเร็จ

เมื่อเรายังไม่รู้สึกมากพอว่าซูเปอร์แมนเป็นพวกเดียวกันกับเรา จึงส่งผลให้เราไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมกับฉากบู๊วินาศสันตะโรตอนช่วงท้ายเรื่องเท่าไหร่นัก แบบที่เราอยากเอาใจช่วยซูเปอร์ฮีโร่ในหนังเรื่องอื่น ความรู้สึกในฉากนั้นของเรากลับมีร่วมกับตัวละครที่ติดอยู่ในซากตึกแทน ที่เป็นเหมือนคนที่พยายามหนีตายระหว่างที่ Alien กับ Predator ปะทะกันจนตึกพังเป็นแถบๆ เราลุ้นให้พวกเขารอดมากกว่าลุ้นให้ซูเปอร์แมนรอด
ฉากบู๊กลางนิวยอร์กมีความสุดยอดด้านงานสร้าง ด้านเทคนิคพิเศษ และด้านการถ่ายทำมากกว่าฉากอาละวาดถล่มเมืองในหนังทุกเรื่องที่ผมเคยดู มันทำให้ผู้ร้ายใน The Avengers ดูกิ๊กก๊อกไปเลย และทำให้ฉากสู้กันในนิวยอร์กของ The Avengers ดูเป็นเด็กๆ ไปเลย แต่ในแง่อารมณ์ความสนุกแบบที่หนังซัมเมอร์ควรมีแล้ว The Avengers ทำให้เราปรบมือและสะใจได้มากกว่า เพราะ The Avengers ทำให้เรารักตัวละครได้มากกว่า

อีกส่วนหนึ่งของหนังที่เรารู้สึกว่ายังทำได้ไม่ถึงอารมณ์ก็คือด้านความโรแมนติก และความสัมพันธ์ระหว่างคาลเอลและโลอิส เลน ผมชอบการตีความโลอิส เลน ในฉบับ Man of Steel ที่ให้เธอถึงลูกถึงคน ฉลาด ดูเป็นนักข่าวภาพสนามจริงๆ ไม่ได้คอยแต่จะใช้ซูเปอร์แมนมาช่วย หนำซ้ำเธอยังเป็นฝ่ายช่วยซูเปอร์แมนในบางครั้ง และการแสดงของเอมี่ อดัมส์ ก็สร้างความลึกและเป็นธรรมชาติให้ตัวละครนี้ดีมาก แต่เนื้อเรื่องในส่วนความสัมพันธ์ของเธอกับคาลเอลดูไม่น่าเชื่อ แปลกแยก และเหมือนเป็นส่วนเกินอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งผมคิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการที่หนังเรื่องนี้ยังไม่พร้อมจะใส่ประเด็นความรักและความสัมพันธ์ของทั้งคู่เข้าไป หรือไม่ก็ยังใส่ได้อย่างไม่เนียนพอ

ความสัมพันธ์ของคลาร์กกับโลอิสใน Man of Steel คล้ายกับคลาร์กกับโลอิส ใน Lois & Clark: The New Adventures of Superman ที่ทั้งคู่เป็นคู่รักกันแล้ว และโลอิสก็รู้จักตัวตนแท้จริงของคลาร์ก มันเหมือนเป็นเรื่องราวภาคต่อจาก Superman ฉบับหนังของริชาร์ด ดอนเนอร์ เราได้เห็นพัฒนาการความสัมพันธ์ของตัวละครมาพักใหญ่ก่อนที่ทั้งคู่จะมาเป็นคู่รักกัน แต่ความรักของทั้งคู่ใน Man of Steel ดูเหมือนจะข้ามขั้นไปที่จุดนั้น มันเร็วมากจนไม่น่าเชื่อ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทั้งคู่ไปรักกันตอนไหน อีกทั้งยังกลายเป็นส่วนเกินของหนังเพราะความตั้งใจหลักน่าจะเป็นการทำหน้าที่เป็นภาคต้น หรือยกเครื่องใหม่ให้ซูเปอร์แมนก่อน หนังควรเอาเส้นเรื่องความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไว้หลังฉากบู๊ในนิวยอร์ก อาจแค่ปูไว้ในระดับที่คลาร์กแอบปิ๊ง และทั้งคู่ยังสวนกันไปมา แล้วเอาเวลาที่ให้แก่ฉากความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องของทั้งคู่ไปใช้ในการขยี้ให้ผู้ชมได้เข้าถึงตัวละครให้มากกว่านี้จะดีกว่า อาจจะดีกว่านี้ถ้าให้ตัวละครอื่น เช่นเพื่อนในวัยมัธยม ทำหน้าที่บางอย่างในเนื้อเรื่องแทนโลอิส อาจจะทำให้เราได้รู้จักว่าซูเปอร์แมนเป็นพวกเดียวกับเราได้มากกว่านี้ และอาจทำให้ฉากพบกันของคลาร์กและโลอิสที่เดอะ เดลี่ แพลเน็ต เกิดประกายบางอย่างให้เราได้ลุ้นและอยากติดตามต่อในภาคต่อไป ต้องยอมรับว่าเส้นเรื่องเรื่องความรักของโลอิสกับคลาร์กก็เป็นอีกอย่างที่แฟนฉบับเก่าชอบมาก

สำหรับตัวละครอื่นในหนัง ไมเคิล แชนนอนทำหน้าที่ได้ดีในบทนายพลซ็อด แต่บทนายพลซ็อดก็เป็นตัวละครตัวร้ายที่ไม่ต่างจากตัวร้ายทั่วไปในแง่เหตุผลการเป็นตัวร้าย นั่นก็คือฉันร้ายเพราะถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิดให้ทำหน้าที่หนึ่ง จริงๆแล้วฉันอาจเป็นคนดีก็ได้ เหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่กลายเป็นตัวร้าย เพราะการทดลองบางอย่างมาเปลี่ยนนิสัยของฉันให้ร้าย เพียงแต่การบอกเหตุผลว่าทำไมฉันต้องร้ายก่อนสู้กันออกจะเป็นอะไรที่ดูเชยในแง่การเขียนบท

รัสเซล โครว์ก็ได้ออกฉากเยอะกว่าโจลเอลในฉบับอื่น และทำหน้าที่ของตัวละครได้ดีพอๆ กับโจนาธาน เคนท์ ในแง่การหล่อหลอมให้คาลเอลเป็นซูเปอร์แมน ขณะที่บทเพอรี่ ไวท์ของลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น แม้จะน้อยไป ยังไม่ได้แสดงอะไรมากเท่าไหร่ แต่ก็กำลังเหมาะกับเนื้อเรื่อง
ดนตรีของฮานส์ ซิมเมอร์ ก็ถือเป็นองค์ประกอบที่ดีมากของหนังเรื่องนี้ เทียบเท่ากับการถ่ายภาพ และงานสร้าง ช่วยส่งอารมณ์ของหนังในหลายฉากที่ได้มาก และมีความไพเราะจนติดหูระดับหนึ่ง แต่จะอมตะและเป็นที่จดจำได้เท่าของฉบับจอห์น วิลเลียมส์ หรือไม่ อาจต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ผมคิดว่าถ้าใครที่อยากชม Man of Steel ในแง่งานสร้าง ฉากบู๊วินาศสันตะโร เทคนิคพิเศษ ก็น่าจะเป็นหนังที่ถูกใจ แต่ถ้าจะไปดูเอาเนื้อเรื่อง เอาอารมณ์แล้ว ก็ยังถือว่าเป็นที่กังขาอยู่ อย่างไรก็ดี หนังทำหน้าที่ได้ดีที่สุดในแง่การให้กำเนิดใหม่แก่ซูเปอร์แมน ปูโลกใหม่ได้น่าสนใจ เปิดเส้นทางสู่เรื่องราวที่ให้ “ความหวัง” แก่เราได้ว่าจะมีอะไรที่พิเศษตามมา

7.5/10
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ภาพยนตร์ ภาพยนตร์ต่างประเทศ Man of Steel
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่