ตรึงราคา ลักลอบค้าก๊าซรัฐเสียหาย5หมื่นล้าน

กระทู้สนทนา
ตำรวจเผยลักลอบค้าก๊าซผิดประเภท เสียหาย 4-5 หมื่นล้าน เตรียมเรียกโรงบรรจุก๊าซ-ปั๊ม รับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 30 ราย คาด 3 เดือนฟ้องศาล เผยผู้ค้ารายใหญ่โทรกดดัน เชื่อหลังจากดำเนินคดี การค้าขายก๊าซเป็นปกติ


ตำรวจเตรียมเรียกโรงบรรจุก๊าซ 15 โรง และปั๊มแอลพีจีกว่า 20 แห่ง รับทราบข้อกล่าวหาลักลอบขายก๊าซผิดประเภท เผยผู้ค้า มาตรา 7 ตื่นกดดันการทำงาน คาดสรุปสำนวนส่งศาลได้ภายใน 3 เดือน


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำผิดลักลอบจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เพิ่มอีก 30 ราย หลังจากแจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำผิดไปแล้วเกือบ 100 ราย คาดส่งฟ้องได้ทั้งหมดภายใน 3 เดือน


พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน คณะทำงานปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันที่ 30 พ.ค. นี้ จะมีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้เกี่ยวข้องกับการลักลอบจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) รวมประมาณ 30 ราย


"จะแจ้งข้อกล่าวหาโรงบรรจุก๊าซเพิ่มอีกกว่า 15 โรง และปั๊มแอลพีจี อีกกว่า 20 แห่ง ล่าสุดได้เรียกผู้ประกอบการโรงบรรจุก๊าซแอลพีจีมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว 76 ราย และปั๊มแอลพีจี อีก 47 แห่ง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอีก 111 ราย จำนวนนี้มีผู้ประกอบการประมาณ 30% ยังไม่ยอมเข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งทางตำรวจอยู่ระหว่างการออกหมายจับผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยง หรือทำลายหลักฐาน"


พ.ต.อ.อุเทน กล่าวว่า คาดว่าผู้ถูกกล่าวหาชุดใหม่ที่จะแจ้งความ น่าจะเป็นล็อตใหญ่สุดท้ายที่จะแจ้งข้อกล่าวหา


สรุปแล้วจากการตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่เดือนม.ค. 2555 จนถึงปัจจุบัน คาดว่าจะมีโรงบรรจุก๊าซกระทำผิดประมาณ 30% ของโรงบรรจุก๊าซทั้งหมด เท่ากับปริมาณแอลพีจีครัวเรือนที่รั่วไหลจากระบบ เพื่อไปจำหน่ายให้ภาคขนส่ง


ทั้งนี้ หลังจากแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีในล็อตนี้ทั้งหมดแล้ว เชื่อว่าการค้าแอลพีจีจะเข้าตามกรอบมากขึ้น






มั่นใจหลักฐานสาวถึงผู้ค้ารายใหญ่


พ.ต.อ.อุเทน กล่าวถึงโรงบรรจุก๊าซที่ถูกดำเนินคดีฉ้อโกงรัฐข้อหาหลีกเลี่ยงนำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ว่า ทำการค้าได้ตามปกติ หากผู้เสียหายคือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยอมความ เมื่อได้เงินคืนตามที่ได้จ่ายชดเชยไป ส่วนสถานีบริการแอลพีจีจะถูกดำเนินคดีในข้อหาซื้อเนื้อก๊าซแอลพีจีเถื่อน


สำหรับผู้ประกอบการที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาไปนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบเส้นทางการเงิน รวมถึงสอบตัวบุคคลทั้งผู้ค้าก๊าซ มาตรา 7 โรงบรรจุก๊าซ และสถานีบริการแอลพีจี รวม 300 แห่งทั่วประเทศ โดยมั่นในว่าเชื่อมโยงถึงผู้ค้ามาตรา 7 บางราย โรงบรรจุก๊าซ และสถานีบริการแอลพีจีแน่นอน


ส่วนความผิดตาม พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น เป็นอำนาจของกรมธุรกิจพลังงาน ที่จะเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีอีกกระทงหนึ่ง






เผยผู้ค้ารายใหญ่โทรกดดัน


"ส่วนผู้ค้ามาตรา 7 นั้น หลังจากที่มีข่าวว่าตำรวจอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานการกระทำผิดนั้น มีผู้ประกอบการ มาตรา 7 บางราย โทรศัพท์เข้ามากดดัน เพราะที่ผ่านมาคิดว่าตำรวจไม่ดำเนินการเรื่องนี้จริงจัง และชะล่าใจว่าจะไม่มีหลักฐานสืบสวนไปถึง โดยทางตำรวจจะเร่งดำเนินงานอย่างเต็มที่ คาดว่าภายใน 3 เดือนหลังจากนี้จะสามารถส่งสำนวนฟ้องศาลได้ครบทุกราย ทั้งโรงบรรจุก๊าซ ปั๊มแอลพีจี และผู้ค้าก๊าซตามมาตรา 7"


พ.ต.อ. อุเทน กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสืบสวนทางลับอย่างเต็มที่ จนสามารถสาวถึงตัวผู้บงการรายใหญ่ โดยขณะนี้การรวบรวมหลักฐานมีความคืบหน้าไปกว่า 70% แล้ว คาดว่าภายใน 3 เดือน จะส่งฟ้องศาลได้อย่างแน่นอน






ปตท.ยันส่งตามโควตากรมธุรกิจ


แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับ ปตท. ซึ่งเป็นผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย และผู้ค้ามาตรา 7 แต่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจโรงบรรจุก๊าซ โดยโรงบรรจุก๊าซเป็นของเอกชนที่เป็นผู้ค้าต่างของ ปตท. และบางรายเป็นผู้ค้าต่างของผู้ค้ามาตรา 7 รายอื่นด้วย รวม 165 แห่ง ปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาดขายแอลพีจีทุกภาคส่วน เป็นของปตท. 35% เวิลด์แก๊ส 16% สยามแก๊ส 13% ยูนิค 12%


สำหรับการจัดสรรเนื้อก๊าซ จากการนำเข้าในแต่ละเดือนนั้น จะจัดสรรตามโควตา ที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ส่วนการขายส่งทั่วไป ปตท. จะจำหน่ายให้ลูกค้าทั้งโรงบรรจุก๊าซ สถานีบริการแอลพีจี รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้ติดตามตรวจสอบ ว่านำไปส่งที่โรงบรรจุ หรือสถานีบริการแอลพีจีอย่างไร เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่โดยตรงติดตามตรวจสอบอยู่แล้ว






คดียอมความได้ หากจ่ายค่าเสียหาย


ในส่วนของโรงบรรจุก๊าซที่เป็นผู้ค้าต่างของ ปตท. ยังไม่ชัดเจนว่าถูกดำเนินคดีกี่ราย อย่างไรก็ตาม ปตท.จะขอดูข้อเท็จจริงก่อน หากพบว่ามีการกระทำผิดร้ายแรง อาจยกเลิกการเป็นผู้ค้าต่าง


ทั้งนี้ กรณีที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะดำเนินคดีกับโรงบรรจุกว่า 30% ของโรงบรรจุทั่วประเทศนั้น เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วจะไม่ทำให้โรงบรรจุก๊าซต้องปิดไปตามจำนวนดังกล่าว เพราะเป็นคดีที่ยอมความได้ เมื่อจ่ายค่าเสียหาย ดังนั้นการดำเนินคดีครั้งนี้จะไม่กระทบ จนทำให้แอลพีจีขาดแคลน






ชี้ภาครัฐประเมินไว้แล้วมีปัญหา


แหล่งข่าวกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ภาครัฐสามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ว่าการแยกราคาออก และทยอยปรับราคาภาคขนส่ง และอุตสาหกรรมแล้ว แต่ยังไม่สามารถขึ้นราคาแอลพีจีครัวเรือนได้ จะทำให้เกิดการลักลอบจำหน่ายขายข้ามประเภท


ขณะเดียวกัน หากจะดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าที่ผ่านมา ในระดับนโยบายได้ตระหนัก และควบคุม ป้องกันปัญหานี้อย่างไร


"ราคาแอลพีจีที่ตรึงมานานด้วยเหตุผลทางการเมือง กระทั่งแยกราคาเมื่อปี 2555 แต่ยังตรึงแอลพีจีครัวเรือนต่อไป จนตอนนี้ ทำให้ราคาต่างกันถึง 3 บาทต่อกก. และจัดสรรโควตาแอลพีจีนำเข้าให้ผู้ค้ามาตรา 7 รายอื่นๆ ตามที่ต้องการ โดยไม่มีการควบคุมดีพอ ส่งผลให้ปัญหาสะสมมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นมากมายให้ปรับโครงสร้างราคาสะท้อนต้นทุน เพราะเป็นการแก้ปัญหาต้นทาง ทั้งการนำเข้าสูง จนโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอรองรับ การใช้เงินกองทุนฯชดเชยเข้าใกล้แสนล้านบาทในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การลักลอบขายข้ามประเภท การเพิ่มจำนวนการใช้มหาศาลในแต่ละปี และปัญหาความไม่ปลอดภัย รวมถึงการลักลอบจำหน่ายออกนอกประเทศ แต่นโยบายรัฐบาล ยังเลือกที่จะตรึงมาโดยตลอด" แหล่งข่าวกล่าว






ตร.คาดเสียหาย4-5หมื่นล้าน


พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจทีวี" ว่า การลักลอบที่เกิดขึ้นเป็นรูปแบบการนำก๊าซไปใช้ ไปขาย ผิดประเภทที่ได้แจ้งเอาไว้ ที่จริงแล้วราคาก๊าซเป็นสิ่งที่รัฐบาลซื้อมาจากต่างประเทศ ราคาลิตรละ 31 บาท ซึ่งรัฐมีนโยบายช่วยเหลือประชาชน โดยขายให้ประชาชนไปใช้เป็นก๊าซหุงต้มราคาในราคา 18 บาท ส่วนที่เหลือรัฐจ่ายชดเชยให้แต่ถ้าเอาไปขายเป็นก๊าซรถยนต์ราคา 21 บาท ที่เหลือรัฐก็ชดเชยให้เช่นกัน


การลักลอบดังกล่าวขณะนี้ กำลังรวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า น่าจะเสียหาย 4-5 หมื่นล้าน ขณะนี้กำลังตรวจสอบในรายละเอียดอยู่ และมั่นใจหลักฐานที่มีอยู่จะสามารถเอาผิดผู้กระทำความผิดครั้งนี้ได้


"ต้องเข้าใจอย่างนี้ว่า คนที่จะขายก๊าซได้หรือโรงบรรจุที่จะมีก๊าซนำมาบรรจุ ต้องสั่งจากคู่ค้า คือ ผู้ค้าที่ได้รับอนุญาตจากรัฐตาม มาตรา 7 ซึ่งมีประมาณ 7-8 ราย ซึ่งจะเป็นผู้นำก๊าซมาส่งให้กับโรงบรรจุ โรงบรรจุก๊าซหุงต้มก็สั่งก๊าซมาเพื่อที่จะมาโรงบรรจุนี้ แต่ข้อเท็จจริง คือ ไม่เอาก๊าซมาบรรจุ แต่เอาไปขายเติมรถยนต์ เอาไปที่ปั๊ม ได้กำไรเพิ่มขึ้น 3 บาท ตรงนี้เรามีหลักฐานชัดเจนว่ารถไม่เข้ามาที่โรงบรรจุเลย รถไปที่ปั๊มเรามีหลักฐานเอกสารทั้งหมด ปั๊มที่รับไปจำหน่ายต่อหรือว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่รับก๊าซตรงนี้ไปจำหน่ายต่อถือว่ามีความผิด"






ชี้ทำเป็นกระบวนการ


อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า หลักฐานที่มีอยู่นี้ สามารถเชื่อมโยงไปถึงตัวการใหญ่ได้ และคิดว่าผู้ค้ามาตรา 7 เองน่าจะมีส่วนร่วม โรงบรรจุไม่ได้เอาไปบรรจุถังแก๊สขายครัวเรือน แต่เอาไปขายที่ปั๊มก๊าซ โดยหลักฐานเชื่อได้ว่ามีส่วนรู้เห็นด้วยก็จะมีความผิดด้วยกัน ถือว่ากระทำกันเป็นกระบวนการ ส่วนใหญ่พื้นที่ที่พบการกระทำผิดนั้น ก็พบได้โดยทั่วไป ไม่มีการเฉพาะเจาะลงพื้นที่


สำหรับทั้ง 4 ราย ที่ตำรวจมีข้อมูลอยู่นั้น ถือเป็นผู้ค้ามาตรา 7 เป็นรายใหญ่ ซึ่งการแจ้งข้อหาผู้ค้ามาตรา 7 ยังไม่ได้มีการแจ้งความ เพราะตำรวจเพียงพบเบาะแส อยู่ระหว่างการสืบสวน โดยมีผู้ค้ามาตรา 7 อยู่รายหนึ่ง ซึ่งปกติผู้ค้ามาตรา 7 กับโรงบรรจุเป็นคนละนิติบุคคลกัน ผู้ค้าโรงบรรจุซึ่งมีอยู่กว่า 400 โรง และเป็นนิติบุคคลทำหน้าที่เอาก๊าซจากผู้ค้ามาตรา 7 มีอยู่ประมาณ 7-8 ราย มาบรรจุขาย


"ปรากฏว่ามีผู้ค้ามาตรา 7 บางรายนำไปบรรจุเอง ทำเป็นนอมินีขึ้นมา แต่ทำจำหน่ายก๊าซทางบัญชีว่ามาส่งที่โรงบรรจุ ข้อเท็จจริงคือโรงบรรจุไม่ได้ทำหน้าที่บรรจุเลย ตั้งไว้เฉยๆ แต่ก๊าซทั้งหมดกลับไปส่งที่ปั๊มก๊าซ ซึ่งจะได้ส่วนต่าง 3 บาท"





http://goo.gl/598j8
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  รัฐบาล
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่