ทำไมเราชอบซื้อหุ้นขาลง

กระทู้สนทนา
เครดิตบทความโดย..... ธนาคารเกียรตินาคิน


“กฎการลงทุนของ Jesse Livermore’’ “หมีใหญ่แห่งวอลสตรีท” ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นตำนานของนักเก็งกำไรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในโลก เขาทำกำไรกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการ Short ดัชนีในช่วงวิกฤตปี 1929 กฎการลงทุนของเขาสรุปย่อๆ มีดังนี้

1.ซื้อหุ้นที่กำลังเป็นขาขึ้น และขายหุ้นที่กำลังเป็นขาลง

2.อย่าเทรดทุกวัน จงเข้าเทรดเมื่อตลาดหรือหุ้นเริ่มแสดงความชัดเจนว่าอยู่ในขาขึ้นหรือขาลง และเทรดไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดเท่านั้น

3.ใช้จุดวกกลับ หรือจุดกลับเทรนด์ (Pivot Points) ควบคู่ไปกับการเทรดของคุณเสมอ

4.เข้าเทรดหลังจากที่ตลาดหรือราคาหุ้นได้ยืนยันความคิดของคุณ และควรลงมืออย่างรวดเร็ว

5.การเทรดที่ได้กำไรให้ทำต่อไป ยุติการเทรดที่มีผลขาดทุน (Cut Losses Short)

6.ปิดการเทรดเมื่อเห็นชัดเจนว่าหุ้นที่คุณกำลังได้กำไรอยู่ เริ่มถึงจุดเปลี่ยนเทรนด์แล้ว

7.ไม่ว่าจะเทรดในอุตสาหกรรมไหนก็ตาม จงเลือกหุ้นนำตลาด (Leading Stock) หุ้นที่แสดงให้เห็นเทรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุด

8.อย่าถัวเฉลี่ยหุ้นที่ขาดทุน (Never Average Losses)

9.รู้จักการบริหารจัดการเงิน เผื่อเงินสำรองให้ครอบคลุม Drawdown ที่รับได้เมื่อเขาขั้นวิกฤต รู้จักหยุดขาดทุน จงอย่า Over Trade หรือปล่อยให้ขาดทุนหนักจนให้ถูก Margin Call

10.Long เมื่อหุ้นทำ New High และ Short เมื่อหุ้นทำ New Low

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ข้อ 5 และข้อ 8 ซึ่งตรงกับพฤติกรรมแห่งความสำเร็จในการลงทุนตามรายงาน “การสำรวจพฤติกรรมของนักลงทุนบุคคลธรรมดาที่เน้นการลงทุนระยะสั้นในตลาดหุ้นไทย” ของตลาดหลักทรัพย์ปี 2553 ทำให้ผมมานั่งคิดว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงชอบขายหุ้นที่กำลังเป็นขาขึ้น แต่ไม่ยอมขายหุ้นที่กำลังเป็นขาลง และกลับทำตรงข้าม คือ ถัวเฉลี่ยหุ้นที่ขาดทุนไปเสียอีก เข้าทำนองที่ว่า “ขายหมู ซื้อควายป่วย”

เรื่องนี้ผมมองว่าเกิดจากพฤติกรรม 2 อย่างของคนเรา คือ

Loss Aversion คือ การรู้สึกเจ็บปวดเมื่อขาดทุน เมื่อหุ้นกำลังขึ้นก็จะรีบขาย เพราะกลัวว่าถ้าไม่ขาย เกิดหุ้นตกลงมาจะขาดทุน แต่ขณะเดียวกันเมื่อหุ้นตก ก็ไม่ยอมขาย เพราะยอมรับความรู้สึกเจ็บปวดที่ขาดทุนไม่ได้ ก็ทนถือต่อไป คาดหวังว่าเมื่อมันตกได้ เดี๋ยวมันก็ขึ้นได้ (ก็มันเคยขึ้นมาแล้วนี่)

Reference Point Bias คือ การที่คนเรามักกำหนดจุดอ้างอิงในการตัดสินใจเสมอไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ในตลาดหุ้นก็เหมือนกัน สมมติว่าเราสนใจซื้อหุ้นตัวหนึ่งเมื่อ 3 เดือนที่แล้วราคาอยู่ที่ 30 บาท ตอนนี้ราคาเป็น 60 บาท ถ้าเป็นคุณ คุณจะตัดสินใจอย่างไร ซื้อหรือรอให้หุ้นตกมาที่ 30 บาทก่อนค่อยซื้อ คนส่วนใหญ่จะมองว่าที่ราคา 60 บาท หุ้นแพงไปแล้ว เพราะจุดอ้างอิงของเขา คือ 30 บาท สมมติว่าคุณตัดสินใจที่จะรอ ปรากฏว่าผ่านไป 2 สัปดาห์หุ้นตัวนั้นไม่ตกกลับพุ่งขึ้นไปถึง 100 บาท แล้วต่อมาตกฮวบลงมาเหลือ 70 บาท ทั้งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยทั้งภาวะตลาดและตัวหุ้น

คราวนี้คุณจะตัดสินใจ อย่างไร ซื้อเลยเพราะมองว่าหุ้นถูกเมื่อเทียบกับที่เคยขึ้นไปถึง 100 บาท  หรือไม่ซื้อเพราะยังแพงอยู่เมื่อเทียบกับราคา 30 บาท ที่เราเคยมองไว้  แล้วคุณคิดว่าคนส่วนใหญ่ตัดสินใจอย่างไร ใช่ครับ คนส่วนใหญ่จะกลับ มองว่าหุ้นราคา 70 บาท ตอนนี้ถูกน่าซื้อ เมื่อเทียบกับ 60 บาท เมื่อ 2  สัปดาห์ก่อน ทั้งที่เป็นหุ้นตัวเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิม ทำไมถึงเป็นเช่นนี้  เหตุผลก็เพราะการตัดสินใจของนักลงทุนมักจะขึ้นอยู่กับจุดอ้างอิง ในกรณี นี้ ราคาหุ้นที่เปลี่ยนไป เป็นจุดอ้างอิงในการตัดสินใจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น 30, 60, 100, หรือ 70 บาท แต่จุดอ้างอิงที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมาก
ที่สุด คือ จุดที่ใกล้ที่สุด ดังนั้นตอนที่หุ้นขึ้นจาก 30 บาท เป็น 60 บาท เราจึงมองว่าหุ้นแพง แต่ตอนที่หุ้นตกจาก 100 บาท เป็น 70 บาท เรากลับมองว่าหุ้นถูก เพราะเราเปลี่ยนจุดอ้างอิงจาก 30 บาท เป็น 100 บาทนั่นเอง เมื่อพฤติกรรมของคนเราเป็นอย่างนี้ จึงเป็นธรรมดาที่คนส่วนใหญ่ชอบซื้อหุ้นขาลง

จะเห็นนะครับว่าอารมณ์มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของเรามากเหลือเกิน (ที่สำคัญทำให้เราล้มเหลวในการลงทุนด้วย เหมือนที่กูรูหลายท่านเตือน) เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราควรทำอย่างไร ตอบง่ายๆ คือ มีสติ ครับ พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะนั่งดูหุ้นทุกวัน ก็มีโลภมีกลัวตามข่าวแต่ละวันอยู่แล้ว เดี๋ยวข่าวแบงก์ชาติออกมาตรการค่าเงินบ้างล่ะ ข่าววิกฤตยุโรปบ้างล่ะ ข่าวยุติ QE ของอเมริกาบ้างล่ะ แล้วทำอย่างไรดี

ในกฎการลงทุนของ “Jesse Livermore” ก็บอกไว้แล้ว ในข้อ 2 อย่าเทรดทุกวัน จงเข้าเทรดเมื่อตลาดหรือหุ้นเริ่มแสดงความชัดเจนว่าอยู่ในขาขึ้นหรือขาลง และเทรดไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดเท่านั้น เพื่อไม่ให้อารมณ์ตลาดครอบงำเรา และข้อ 7 เลือกหุ้นดาวรุ่งเท่านั้น คือ ดูที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก ว่าหุ้นถูกหรือแพงเมื่อเทียบปัจจัยพื้นฐาน เราจะได้ไม่ติดกับอารมณ์เราเองไปเทียบกับราคาก่อนหน้า

ปล. เป็นบทความที่ดีมากครับ หากเราไม่รู้อนาคต ก็อย่าไปเดาอนาคต แต่ให้ศึกษาพื้นฐานหุ้น พฤติกรรมตลาด และเทรนด์หุ้น ก็จะสามารถเอาตัวรอดได้ดีกว่า เล่นแบบหมอเดาฟันหักครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่